xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารบ้านเรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนเครื่องทรง “พระแก้วมรกต”
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม. พ.ศ. 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงฤดูหนาว เป็นเครื่องทรงฤดูร้อน ถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต

ทั้งนี้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างเครื่องทรงฤดูร้อนและฤดูฝน ถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร อย่างละสำรับ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างเครื่องทรงฤดูหนาวอีกสำรับหนึ่งตามฤดูกาล

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทางกรมธนารักษ์ สำนักพระราชวัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรชุดใหม่ขึ้น เพื่อทดแทนชุดเดิมที่มีสภาพชำรุดยากแก่การซ่อมบูรณะให้สวยงามดังเดิม และยังเป็นการรักษาเครื่องทรงชุดเดิมมิให้ชำรุดมากขึ้น อีกทั้งเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช 2539

โดยในแต่ละปี ได้กำหนดวันเปลี่ยนเครื่องทรงตามฤดูกาลถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ไว้ดังนี้ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 เปลี่ยนเครื่องทรงฤดูหนาวเป็นฤดูร้อน วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เปลี่ยนเครื่องทรงฤดูร้อนเป็นฤดูฝน วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 เปลี่ยนเครื่องทรงฤดูฝนเป็นฤดูหนาว

สธ.จับมือไปรษณีย์ไทยฯ ส่งยาถึงบ้านผู้ป่วย นำร่องโรงพยาบาลในสังกัด 19 แห่ง
กระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาศักยภาพการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาไปยังบ้านผู้ป่วย/หน่วยบริการ” กับบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ในการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาไปยังบ้านผู้ป่วย/หน่วยบริการ โดยเป็นบริการโดยความสมัครใจ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย ภายหลังเข้ารับการตรวจรักษา สามารถรอรับยาได้ที่บ้านตนเอง

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดพัฒนาระบบบริการ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ เข้าถึงบริการได้สะดวก ลดเวลารอรับบริการในโรงพยาบาล ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติ ในปี 2558 ผู้ป่วยนอกที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีจำนวนสูงถึง 187,632,580 ครั้ง แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลถึงความแออัด มีระยะเวลาการรอคอยในการรับยา การชำระค่าบริการ ปัญหาของการจราจรติดขัดหรือไม่มีที่จอดรถ เป็นต้น

ดังนั้น จึงได้พัฒนาระบบคุณภาพในการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ ให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้รวดเร็วขึ้น ได้รับบริการที่สะดวกขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับยา ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดภาระการสำรองยาคงคลังของโรงพยาบาล และลดปริมาณการจ่ายยาให้ผู้ป่วยครั้งละจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเสื่อมคุณภาพของยาได้ ด้วยบริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาในโรงพยาบาลไปยังบ้านของผู้ป่วย รวมทั้งบริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาโรงพยาบาลไปยังหน่วยบริการอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

โดยในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการในโรงพยาบาล 19 แห่ง คือ รพ.บุรีรัมย์ รพ.สงขลา รพ.สุรินทร์ รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.ศรีสะเกษ รพ.กาฬสินธุ์ รพ.แพร่ รพ.นครพิงค์ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.ขอนแก่น รพ.ร้อยเอ็ด รพ.ลำปาง รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.พุทธชินราช รพ.หาดใหญ่ รพ.อุดรธานี รพ.มหาสารคาม และรพ.อุตรดิตถ์ ก่อนจะขยายไปยังโรงพยาบาลที่เหลือต่อไป

กรมศิลป์เร่งพัฒนาบุคลากรงานสถาปัตย์รุ่นใหม่ สืบสานแนวพระราชดำริ รัชกาลที่ 9
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กรมศิลปากรได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสำนักสถาปัตยกรรม เพื่อศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรม วิศวกรรม มัณฑนศิลป์ และการอนุรักษ์โบราณสถานตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษา และสืบทอดงานด้านช่างฝีมือ สร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทย ตลอดจนการออกแบบตกแต่งภายใน และศิลปสถาปัตยกรรม ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ วัด และหน่วยงานที่สำคัญของประเทศ

จึงตั้งเป้าหมายให้บุคลากรได้นำแนวพระราชดำริ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนางานด้านการออกแบบของไทย ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 9 อาทิ ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก โดยสถาปัตยกรรมที่เกิดจากแนวพระราชดำริ มีความเรียบง่าย อยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง

สธ.สร้าง “อาคารภูริทตฺตเถระแพทย์แผนไทย-กายภาพบำบัด” ยกระดับบริการการแพทย์แผนไทย
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารแพทย์แผนไทย-กายภาพบำบัด โรงพยาบาลโพนนาแก้ว จ.สกลนคร ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาระบบบริการแพทย์แผนไทย และระบบยาสมุนไพรแห่งชาติ ให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานคู่ขนานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ดังนี้ 1. การพัฒนาระบบบริการ โดยจัดทำแผนการจัดบริการ (Service plan) สาขาการแพทย์แผนไทย เพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2. พัฒนางานแพทย์แผนไทยให้เป็นงานหลักในบริการระดับปฐมภูมิ อาทิ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ขนาดใหญ่ อย่างน้อยอำเภอละ 2 แห่ง 3. พัฒนาโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศ 4. ส่งเสริมการนวดไทยให้เป็นมรดกโลก

ส่วนการปฏิรูประบบอุตสาหกรรมยาสมุนไพร ได้ขับเคลื่อนแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยสมุนไพรไทยฉบับที่ 1 พัฒนาเมืองสมุนไพร 4 ภาคในรูปแบบประชารัฐ โดยจังหวัดสกลนครเป็น 1 ใน 4 จังหวัดต้นแบบเมืองสมุนไพร มหานครแห่งพฤกษเวช มีการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร ทั้งการเพาะปลูก การแปรรูป และการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเด่นประจำพื้นที่ รณรงค์การใช้ยาแพทย์แผนไทยประจำท้องถิ่น แทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน

สำหรับโรงพยาบาลโพนนาแก้ว เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2537 เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง และได้เปิดให้บริการแพทย์แผนไทย-กายภาพบำบัดเมื่อปี 2551 ปัจจุบัน พื้นที่ให้บริการไม่เพียงพอ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพระดับอำเภอ และพระราชวิสุทธินายก เจ้าอาวาสวัดสุทธาวาส เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต) ได้ร่วมจัดหาปัจจัยสมทบทุนสร้างอาคารขึ้นใหม่ ตั้งชื่อว่า “อาคารภูริทตฺตเถระแพทย์แผนไทย-กายภาพบำบัด” เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว ให้บริการตรวจรักษาด้วยวิธีแพทย์แผนไทย นวด อบ ประคบ ปรุงยาแผนไทยเฉพาะราย เช่น โรคปวดเข่า ข้อเข่าเสื่อม บริการด้านกายภาพบำบัด ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายเดือนธันวาคม 2560 พร้อมเปิดให้บริการต้นปี 2561

พระราชโองการโปรดเกล้าฯ ถอดสมณศักดิ์ “พระธัมมชโย-พระทัตตชีโว” วัดพระธรรมกาย
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถอดถอนสมณศักดิ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ด้วย พระเทพญาณมหามุนี (พระไชยบูลย์ สุทธิผล) วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี เป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีกระทําความผิดข้อหาร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และรับของโจร ตามที่ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับ ที่ 942/2559 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 และยังถูกกล่าวหาในคดีอาญาฐานอื่นอีกหลายฐานความผิด ซึ่งอัยการคดีพิเศษ มีความเห็นสั่งฟ้องในบางคดีด้วยแล้ว แต่พระเทพญาณมหามุนีไม่ยอมมอบตัวตามหมายเรียก และได้หลบหนีคดีดังกล่าว จึงไม่สมควรดํารงอยู่ในสมณศักดิ์ต่อไป และได้นําความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมต่อไปแล้ว

บัดนี้ ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถอดถอน พระเทพญาณมหามุนี(พระไชยบูลย์ สุทธิผล) ออกจากสมณศักดิ์ ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2560
ประกาศ ณ วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2560

ผู้รับสนองพระราชโองการ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถอดถอนสมณศักดิ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ด้วย พระราชภาวนาจารย์ (พระทัตตชีโว หรือเผด็จ ทัตตชีโว) วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี เข้าข่ายการเป็นผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการให้ที่พักพิงแก่ผู้ต้องหา และการนําเงินของวัดพระธรรมกายไปเล่นหุ้น เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และยังเป็นผู้ต้องหากระทําความผิด โดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2560 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 โดยพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามาพบ และรายงานตัว แต่ผู้ต้องหาไม่มาตามกําหนด พนักงานสอบสวนจึงได้ออกหมายเรียกอีก จนถึงปัจจุบันผู้ต้องหาก็ยังไม่มาพบพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด จึงไม่สมควรดํารงอยู่ในสมณศักดิ์ต่อไป และได้นําความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมต่อไปแล้ว

บัดนี้ ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถอดถอน พระราชภาวนาจารย์ (พระทัตตชีโว หรือเผด็จ ทัตตชีโว) ออกจากสมณศักดิ์ ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2560

ประกาศ ณ วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2560

ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

สธ. เตรียมขยายคลินิกชะลอไตเสื่อม ในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยมีผู้ป่วยไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน มีผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 1 หมื่นคน แนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ในจำนวนนี้ป่วยระยะสุดท้ายกว่า 70,000 คน ต้องฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วย และใช้งบประมาณรัฐดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

กระทรวงสาธารณสุข ได้รณรงค์คัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไต ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยการตรวจเลือดและโปรตีนในปัสสาวะ เพื่อประเมินความสามารถในการทำงานของไต วินิจฉัยโรคให้ได้ตั้งแต่ระยะแรก จัดระบบการรักษาในโรงพยาบาลให้เหมาะสมกับระยะการเจ็บป่วย ด้วยทีมสหวิชาชีพและติดตามดูแลรักษาผู้ป่วยลงไปในชุมชนด้วยทีมหมอครอบครัว เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย “รู้เร็ว รักษาเร็ว” โดยเปิดบริการคลินิกชะลอไตเสื่อมในโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่กว่า 30 เตียงขึ้นไปทุกแห่ง และตั้งเป้าขยายบริการไปในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กอย่างน้อยร้อยละ 50 ในปี 2560

จัดสร้างพระโกศ “9 เหลี่ยม” ทรงพระบรมอัฐิ รัชกาลที่ 9 สื่อ9คำพ่อสอน ประดับเพชร5,368 เม็ด สุดอลังการ
นายอำพล สัมมาวุฒิ นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระโกศทรงพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งจะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดสร้างว่า

คณะกรรมการจัดสร้างพระเมรุมาศ ได้เห็นชอบแบบพระโกศทรงพระบรมอัฐิ และได้จัดสร้างหุ่นจำลองปูนปลาสเตอร์เสร็จแล้ว โดยหุ่นงานช่างบุ จะนำหุ่นไปหล่อไฟเบอร์กลาส นำทองมารีดเป็นแผ่น เพื่อขึ้นหุ่นทองคำสลักลวดลาย อย่างพิถีพิถันต่อไป

โดยพระโกศทรงพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 9 เป็นพระโกศเก้าเหลี่ยมตลอดองค์เป็นครั้งแรก เพื่อให้สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ 9 ยอด ซึ่งแตกต่างจากแบบของพระโกศทรงพระบรมอัฐิที่นิยมสร้างกันมาเป็นพระโกศแปดเหลี่ยม ทั้งนี้เพื่อสื่อถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระบรมราโชวาทของพระองค์ หรือ 9 คำพ่อสอน อาทิ ความเพียร ความซื่อสัตย์ ความดี คุณธรรม ความรู้ตัว ความพอดี และพอเพียง โดยเฉพาะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สำหรับองค์พระโกศประกอบด้วย 5 ส่วน ดังนี้ ส่วนฐานประกอบด้วยฐานสิงห์ ถัดขึ้นมาเป็นหน้ากระดานล่างประดับด้วยลายประจำยามก้ามปู เหนือขึ้นมาเป็นลายแข้งสิงห์ ประดับด้วยกาบแข้งสิงห์ ปากสิงห์ พื้นลายลงยาสีแดงทำเป็นลายก้านขดใบเทศ ทั้ง 9 ด้าน เหนือลายแข้งสิงห์เป็นลายบัวหลังสิงห์ เหนือจากฐานสิงห์ประกอบด้วยฐานบัวเชิงบาตรซ้อน 2 ชั้น ถัดขึ้นมาเป็นลายบัวหงายรับหน้ากระดาน ส่วนฐานยังประกอบด้วยลายท้องไม้ ลายกลีบบัวหงาย ลายเกสรบัว ประดับรัตนชาติ ส่วนลวดลายฐานเป็นไปตามแบบพระราชประเพณี แสดงโครงสร้างใช้สำหรับตั้งสิ่งที่สำคัญ ควรเคารพ และบ่งบอกฐานานุศักดิ์พระมหากษัตริย์

ส่วนองค์พระโกศเป็นลายกลีบบัวจงกลซ้อนขึ้นไปหาปากพระโกศ จำนวน 4 ชั้น ตรงกลางทำเป็นพระนามาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ประดับรัตนชาติให้มีความเด่นชัด ส่วนฝาพระโกศทำเป็นยอดทรงมงกุฎเกี้ยวมาลัยทองเรียงลำดับขึ้นไปตั้งแต่ชั้นที่ 1,2,3 และ 4 ช่างศิลปะไทยโบราณเรียก "ทรงจอมแห" ส่วนยอดพระโกศสร้างสองแบบ ได้แก่ แบบพุ่มข้าวบิณฑ์ ทำด้วยเงินบริสุทธิ์ประดับเพชร และแบบสุวรรณฉัตร ฉัตร 9 ชั้น ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร ในส่วนเครื่องประดับพระโกศ ทำด้วยเงินประดับด้วยเพชร อย่างดอกไม้เอว ดอกไม้ไหวหรือดอกไม้เพชร เฟื่องอุบะและดอกไม้ทิศ จะมีขนาดลดหลั่นกันตามความเหมาะสม

“ยอดพระโกศที่เป็นสุวรรณฉัตรของพระโกศทรงพระบรมอัฐิที่ผ่านมา ทำฉัตร 5 ชั้น 7 ชั้น แต่พระโกศองค์นี้สร้างเป็นพระนพปฏลมหาเศวตฉัตร ฉัตร 9 ชั้น เป็นฉัตรทองประดับลวดลายกรวยเชิงประดับเพชรที่มีกระจังเข็มขัดล้อม ใช้อัญเชิญพระโกศทรงพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศเข้าพระบรมมหาราชวัง จนกระทั่งเก็บรักษาไว้บนพระวิมาน พระบรมอัฐิก็จะถอดเปลี่ยนเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ นอกจากพระโกศทองลงยาแล้ว ยังมีพระโกศศิลา และฐานไม้กลึงแกะสลักลงรักปิดทอง สำหรับรองรับยอดพระโกศเมื่อถอดผลัดเปลี่ยนในงานราชพิธี” นายอำพลกล่าว

นายอำพล กล่าวด้วยว่า พระโกศทองคำลงยาสีองค์นี้วัดจากฐานถึงยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ สูง 80 ซม. วัดจากฐานถึงยอดฉัตร สูง 99 ซม. ขนาดฐานกว้าง 20 ซม. ประดับเพชรอย่างอลังการ เพื่อให้สมพระเกียรติ รวม 5,368 เม็ด ส่วนยาสีที่ใช้ตกแต่งพระโกศ มี 3 สี ได้แก่ สีเหลือง สีประจำวันพระราชสมภพ สีแดง สีแห่งความเข้มแข็ง การหลอมรวมดวงใจของคนในชาติ และสีเขียว สีแห่งความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ของประเทศด้วยพระเมตตาบารมีแด่ประชาชนทุกภาค

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 196 เมษายน 2560 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น