xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : เผากิเลส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ
สาธุ เม ภนฺเต ภควา สงฺขิตฺเตน ธมฺมํ เทเสตุ
ยมหํ ภควโต ธมฺมํ สุตฺวา เอกา วูปกฏฺฐา อปฺปมตฺตา
อาตาปินี ปหิตตฺตา วิหเรยฺยนฺติ


บัดนี้ จักได้แสดงศาสนธรรม อันเป็นคำสั่งสอนในทางพระพุทธศาสนาว่าด้วยเนื้อความในโคตมีสูตร เพื่อเป็นเครื่องอบรมปัญญา ส่งเสริมสัมมาปฏิบัติ คือ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของท่านสาธุชนเป็นลำดับไป

เนื้อความในโคตมีสูตรนั้นมีว่า ครั้งหนึ่ง พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระน้านางของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และทูลขอให้ทรงแสดงธรรม เพื่อพระองค์ได้สดับแล้ว จะได้ปฏิบัติโดยถูกต้องตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา โดยคำกราบทูลของพระนางปชาบดีโคตมี ซึ่งได้ยกขึ้นไว้เป็นนิกเขปบทในเบื้องต้น นั้นว่า

สาธุ เม ภนฺเต ภควาสงฺขิตฺเตน ธมฺมํ เทเสตุ
ยมหํ ภควโต ธมฺมํ สุตฺวาเอกา วูปกฏฺฐา อปฺปมตฺตา
อาตาปินี ปหิตตฺตา วิหเรยฺยนฺติ


แปลเนื้อความว่า หม่อมฉันขอประทานวโรกาสเถิดพระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงแสดงธรรมแก่หม่อมฉัน ที่หม่อมฉันได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เป็นผู้ผู้เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียรเป็นเครื่องแผดเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วอยู่ ดังนี้

เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมีกราบทูล ดังนี้แล้ว สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโปรด โดยความว่า

“ดูก่อนโคตมี ท่านพึงรู้อย่างนี้ว่า ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความกำหนัดยินดี ย้อมใจ ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อประกอบทุกข์ ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความอยากอันใหญ่ ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่ด้วยคณะ ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก พึงรู้เถิดว่าธรรมเหล่านั้นไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา

แต่ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อปราศจากความกำหนัดย้อมใจ เป็นไปเพื่อไม่ประกอบทุกข์ เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกองกิเลสไว้ เป็นไปเพื่อความอยากอันน้อย เป็นไปเพื่อสันโดษยินดีตามมีตามได้ เป็นไปเพื่อวิเวก สงบสงัด เป็นไปเพื่อความเพียร เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย พึงรู้เถิดว่าธรรมเหล่านั้น เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา”
ดังนี้

เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระนางมหาปชาบดีโคตมีชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จบเนื้อความในโคตมีสูตรเพียงเท่านี้

ในพระสูตรนี้แสดงหลักธรรม ซึ่งเป็นเครื่องตัดสินธรรมวินัย คือทรงแสดงว่า ถ้าใครมาสอนข้อที่สอนนั้นเป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ เป็นไปเพื่อความสั่งสมกิเลส ให้กิเลสมีมากขึ้น เป็นไปเพื่อประกอบทุกข์ คือ ทำทุกข์ให้มีให้เป็นขึ้น เป็นไปเพื่อยั่วให้เกิดความอยากมักมาก เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ละโมบโลภใหญ่ เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่ชน ด้วยหมู่คณะ เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เป็นไปเพื่อความเป็นผู้เลี้ยงยาก คำสอนนั้นไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระบรมศาสดา

ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ อย่างเรื่องที่ล่วงมาแล้วเมื่อ ๖-๗ เดือนนี้ ถ้าใครมาชวนว่าไปที่สระโกสินารายณ์เถิด น้ำที่นั้นศักดิ์สิทธิ์ เป็นเกลื้อนเป็นกลากอาบหายหมด ปวดหัวตัวร้อนก็หาย เป็นตาแดงก็หายอย่างปลิดทิ้ง ปวดท้องปวดฟันก็หาย เหมือนยาเทวดา ดังนี้ ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่สอนอย่างนั้นเป็นตัวอย่าง

คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ถ้าใครนำมาอ้างมาสอน แต่คำสอนนั้นเป็นไปเพื่อปราศจากความย้อมใจ คือ ทำให้หายย้อม ทำใจไม่ให้เปลี่ยนสี ทำจิตใจให้เป็นประภัสสรจิต คือ จิตผ่องแผ้ว ให้เป็นไปเพื่อไม่ประกอบทุกข์ ไม่ทำทุกข์ให้มีให้เป็นขึ้น มีแต่จะปลดทุกข์ให้น้อยลง ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกองกิเลส คือ ฟังแล้ว ปฏิบัติแล้วกิเลสไม่มาก มีแต่กิเลสจะน้อยไป เป็นไปเพื่อความอยากน้อย ไม่อยากมากจนเกินพอดี จนเกินควร เป็นไปเพื่อสันโดษ ยินดีตามมีตามได้ เป็นไปเพื่อวิเวก สงบสงัด เป็นไปเพื่อวิริยะ ความเพียร และเป็นไปเพื่อเลี้ยงง่าย อย่างนี้แหละเป็นธรรมวินัย และเป็นคำสอนของพระบรมศาสดา

แม้บัดนี้ใครจะมาสอนอย่างนี้นั้น ก็จัดเป็นคำสอนของพระบรมศาสนา จัดว่าเข้ากันได้กับคำสอนของพระบรมศาสดา นี้เป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระน้านางมหาปชาบดีโคตมี

ข้อนี้ไม่สำคัญ เพราะแต่ละอย่างแต่ละคำสอน แต่ละข้อ ๘ อย่างนั้น เมื่อเราจำได้แล้วก็ตรวจตรองพิจารณาไปตามนั้น ตัดสินถูกต้องถ่องแท้ ได้ตามความเป็นจริง ข้อสำคัญนั้น สำคัญอยู่ที่ว่า เราจะปฏิบัติอย่างไร จึงได้ชื่อว่าปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดา

ในข้อนี้ต้องถือคำกราบทูลของพระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งท่านกราบทูลว่า เมื่อท่านได้ฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้าโดยย่อแล้ว ท่านจักเป็นผู้ผู้เดียวหลีกออกจากหมู่ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้ว ปฏิบัติอยู่

เนื้อความในคำกราบทูลนี้แหละ เป็นหลักปฏิบัติ และหลักปฏิบัตินี้ ในทางพระพุทธศาสนาผู้ปฏิบัติก็ถือหลักปฏิบัติมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ในครั้งพุทธกาล ท่านผู้ฟังโอวาทจากพระพุทธเจ้าก็ดี ฟังโอวาทจากพระอรหันตสาวกก็ดี ก่อนที่จะตรัสรู้นั้น ท่านกล่าวว่าท่านเป็นผู้ผู้เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วไม่นานนัก ก็ได้บรรลุคุณพิเศษมรรคผลนิพพาน ดังนี้เสมอไป

เพราะฉะนั้น หลักคำกราบทูลของพระนางมหาปชาบดีโคตมี จึงควรเป็นหลักปฏิบัติของเราผู้นับถือพระพุทธศาสนา ก็หลักปฏิบัตินั้นย่อเป็นใจความสั้นเป็น ๕ ประการ คือ

๑. เป็นผู้ผู้เดียว
๒. หลีกออกจากหมู่
๓.ไม่ประมาท
๔. มีควมเพียรเป็นเครื่องแผดเผากิเลส
๕. มีตนส่งไปแล้ว

ประการที่ ๑
คำว่าเป็นผู้ผู้เดียว คือ เป็นคนคนเดียว ทำอย่างไรเราจึงจะเป็นผู้ผู้เดียว เป็นคนคนเดียว ถ้าถือตามหลักนี้ ก็อยู่ในบ้านในเมือง ในบ้านในเรือนไม่ได้จะต้องออกป่าไปอยู่แต่ผู้เดียว ไปสองคนไม่ได้ บัดนี้เราไม่มีป่าที่จะไป จะไปก็ไกล ไกลออกไปนักก็เป็นอันตราย จะทำอย่างไร

ในข้อนี้ปรากฏในตำนานพระพุทธศาสนาว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมี ท่านก็ไม่ได้ออกป่า เพราะสตรีหรือภิกษุณีนั้น ห้ามไม่ให้ถือเสนาสนะป่าอันมีภัยอันตราย ไม่เหมือนภิกษุสามเณร ภิกษุสามเณรถือเสนาสนะป่าได้ เพราะภิกษุสามเณรเป็นเพศที่ไม่อ่อนแอ เป็นเพศที่แข็งแรง ไปอยู่รูปเดียวสองรูปได้ แม้แต่ในป่าลึกๆ ช้างมา เสือมา สัตว์ร้ายมา ผู้ชายโดยมากไม่ค่อยสะดุ้งไม่ค่อยกลัว สตรีเป็นเพศที่อ่อนแอ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้ภิกษุณีถือเสนาสนะป่า ต้องเป็นคามวาสีอยู่ในบ้าน

พระนางมหาปชาบดีโคตมีท่านก็ไม่เคยออกป่า แต่ท่านว่าท่านเป็นผู้ผู้เดียว ข้อนี้คือว่า เราอยู่ที่ไหนก็ตาม อยู่ที่บ้านก็ตาม แต่อยู่คนเดียว เอโกอทุติโย คนเดียวไม่มีเพื่อนสอง คือ ไม่มีอะไรเข้ามาเป็นห่วง ไม่มีอะไรเข้ามาในห้วงนึกของเรา เขาจะอยู่อย่างไร อยู่มากอย่างไร แต่เราอยู่ทำใจเป็นผู้เดียวได้

อย่างที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนท่านพาหิยะว่า ทิฏฺเฐ ทิฏฺฐมตฺตํ ได้เห็นก็สักแต่ว่าได้เห็น เห็นแล้วก็ดับไป เห็นบนบกก็ทิ้งไว้บนบก เห็นในน้ำก็ทิ้งไว้ในน้ำ เห็นในวัดก็ทิ้งไว้ในวัด เห็นที่บ้านก็ทิ้งไว้ที่บ้าน ไม่นำติดตัวติดใจไป นี้ได้ชื่อว่าทำตัวเป็นผู้ผู้เดียว คือ อยู่เดี่ยว อยู่อย่างไม่มีภาระกังวลนี้ เอกตา ความเป็นผู้ผู้เดียว

ประการที่ ๒ วูปกฏฺฐตา ความเป็นผู้หลีกออกจากหมู่ ก็คล้ายๆกับข้อหนึ่ง คำว่า หมู่ คลุกคลีด้วยหมู่คณะนั้น ศัพท์บาลีว่า คณสงฺคณิกา แปลว่า คลุกคลีด้วยหมู่ด้วยคณะ วุ่นวายด้วยฝูงชน เพราะฉะนั้น หลีกออกจากหมู่ ก็คือ ปลีกใจออกจากความผูกพัน ไม่มีอะไรที่มาติดใจ

เอตํ มม นั้นของเรา เอโสหมสฺมิ เราเป็นนั้น เอโสเม อตฺตา นั้นเป็นตัวเป็นตนของเรา แต่ให้ความรู้สึกตรงข้ามว่า เนตํ มม นั้นไม่ใช่ตัวตนของเรา เนโสหมสฺมิ เรามิได้เป็นแบบนั้น น เมโส อตฺตา นั้นไม่ใช่ตัวตนของเรา เรื่องไม่ใช่ของเรานี้ ถ้าพูดอย่างนี้เนื้อความไม่แจ่มแจ้ง จำต้องเล่าเรื่องที่เป็นนิทาน

เขาว่าหลวงพ่อองค์หนึ่ง มีศิษย์มาหาท่านมาก ท่านเป็นคนขี้เหนียว เก็บหอมรอมริบของไว้เต็มกุฏิหมด เมื่อในห้องเต็มหมดแล้ว ไม่มีที่ นอนอยู่หน้าห้อง แต่ในเวลาที่ท่านเทศน์สอนแล้วเพราะพริ้งหยดย้อยว่า เนตํ มม นั้นไม่ใช่ของเรา เนโสหมสฺมิ เรามิได้เป็นสิ่งนั้น น เมโส อตฺตา นั้นไม่ได้เป็นตัวตนของเรา

วันหนึ่งลูกศิษย์รักซึ่งสึกเป็นคฤหัสถ์ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่แล้ว ฟังเทศน์อยู่หลังธรรมาสน์ นึกจะลองใจท่านอาจารย์ พอท่านเทศน์จบ ก็ตามท่านขึ้นไปบนกุฏิ เห็นตะเกียงลาน ๓ ดวงยังใหม่ๆ ตั้งอยู่ข้างหน้าท่าน ก็ไปกราบบอกว่า ตะเกียงลาน ๓ ดวงนี้ กระผมขอเสียเถอะ ท่านตอบทันทีว่าแกฟังเทศน์ข้ามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ข้าบอกแล้วว่าไม่ใช่ของข้าทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าเทศน์ทุกวันพระว่า เนตํ มม นั้นไม่ใช่ของเรา ข้าให้ได้หรือ ถ้าเป็นของข้า ข้าก็ให้ได้ นี่ก็บอกอยู่แล้วว่าไม่ใช่ของเราๆ เอาของคนอื่นไปให้ไม่ได้ ผิดจากวินัย ลูกศิษย์นั้นจำต้องกราบลากลับ บอกว่าเราปัญญาไม่ถึงหลวงพ่อ ยอมแพ้ท่าน

เพราะฉะนั้น เราอยู่ในบ้าน ก็หลีกออกจากหมู่ได้ ของเก็บเต็มบ้านหมด แต่ไม่ใช่ของเรา ลูกเต็มบ้าน หลานเต็มช่อง แต่ไม่รู้ไม่ชี้ เขาจะทำอะไรก็ทำไป เขาจะเปิดวิทยุก็เปิดไป เขาจะเอะอะกันอย่างไรก็เอะอะไป แต่เราหลีกออกจากหมู่สงบระงับ อย่างนี้ได้กายวิเวก อยู่ที่บ้านก็ทำได้ อยู่ที่ไหนๆก็ทำได้ นี้เป็นประการที่ ๒

ประการที่ ๓ อปฺปมตฺตตา ไม่เมา ไม่ประมาท แต่แปลในทางปฏิบัติ เพื่อให้เห็นความก็ว่าไม่เมา เมาอะไร เมาฝิ่น เมากัญชารึ ไม่ใช่ นั่นเมาชั่วคราว เมาเหล้า เมากัญชา เพียงแต่ศีลขาดเท่านั้น ไม่ได้ปิดมรรคผลนิพพาน

คำว่า “เมา” ในที่นี้ก็คือ เมาใจ เมาใจนั้นก็คือเมาในวัย ว่าเราอยู่ในวัยอันเจริญ ยังหนุ่มยังสาว ยังไม่เฒ่าไม่แก่ ยังไม่เป็นอะไรก่อน เมาในความไม่มีโรค ว่าเราไม่ค่อยมีโรคภัยไข้เจ็บ

พระเถระรูปหนึ่งคุ้นเคยกันมาก ท่านมาพักที่นี้เสมอ ตั้งแต่พบกันมา ตั้งแต่อาตมาเป็นเณร จนเมื่อ ๖-๗ ปีมานี้ ไม่เคยเห็นท่านเจ็บเลย และท่านก็พูดอยู่เสมอว่า ขันธ์ของท่านไม่เป็นมาร ท่านว่าอย่างนั้น คือ ขันธ์ของท่านไม่เจ็บ คราวหนึ่งตกกลางคืนเป็นลมหน้ามืด ต้องนำส่งโรงพยาบาล ช่วยกันเสียนาน ตั้งเดือนกว่าจึงค่อยยังชั่ว ไปเยี่ยมท่านและเรียนท่านว่าเห็นขันธมารแล้วหรือยัง ท่านตอบว่ายอม นี้หมายความว่า ที่เราว่าขันธ์ของเราไม่เป็นมารนี้ คือ เมาในความไม่มีโรค

และบางคนเมาในชีวิต ว่ายังไม่เป็นไร ยังก่อน ยังคล่องแคล่วดีอยู่ ยังเดินคล่องแคล่ว ยังรับประทานอาหารได้ ยังหายใจเข้าหายใจออก ยังคล่องๆเห็นจะยังไม่เป็นอะไร ก็นึกประมาทมัวเมาหลงใหล เมาไปเสีย ไม่ตั้งใจที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมะในพระพุทธศาสนา ครั้นพอเฒ่าพอแก่พอลำบากก็จะเข้าวัดฟังเทศน์ รักษาศีล หูก็ตึง ความจำก็เลอะเลือน ร่างกายก็คร่ำคร่า ไม่ค่อยสะดวก นั่งกัมมัฏฐานสักครึ่งชั่วโมงก็ทนเหน็บทนปวดไม่ไหว เพราะสังขารมันแก่ เหมือนกับภาษิตที่ว่า “เข้าป่าเมื่อขวานบิ่น” ตัดไม้ไม่ได้

เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนไม่ให้เมาในวัย ในความไม่มีโรค ในชีวิต ให้นึกว่าคนเรานี้อายุเท่ากัน ที่ว่าอายุเท่ากันนั้น คือที่ล่วงมาแล้วเสียเปล่า ไม่ได้อะไรเลย ที่อยู่ข้างหน้าไม่รู้ว่าเท่าไร ปัจจุบันนี้เท่ากันหมด เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีอายุเท่ากันหมดดังนี้แล้ว อย่ามัวเมา อย่าประมาท อย่าหลงใหล ต้องพยายามประพฤติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา นี้เป็นประการที่ ๓

ประการที่ ๔ อาตาปี มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลสให้ร้อนทั่ว สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนอชิตมาณพ ในโสฬสปัญญาว่า

เตนหาตปฺปํ กโรหิ อชิตตํ วทามิ เต ดูก่อนอชิตะ เราจะสอนท่าน ถ้าเช่นนั้นท่านจงกระทำความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลสให้ร้อนทั่วเถิด ดังนี้

คำว่า เพียรเผากิเลสให้ร้อนทั่วนั้น หมายความว่าทำให้รอบคอบ เพียรพยายามให้รอบคอบ ไม่ใช่เพียรบางครั้งบางคราว บางครั้งบางคราวก็ไม่เพียร ทำให้สม่ำเสมอ ให้รอบคอบ ให้ปรกติ อย่าย่อหย่อน

สิถิโลหิ ปริพฺพาโช ภิยฺโย อกิรเต รชํ เพราะว่าการประพฤติพรหมจรรย์ย่อหย่อน ย่อมเกลี่ยไว้ซึ่งธุลี คือ กิเลสอย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้น ต้องเผามันให้ทั่ว เผาให้ร้อนทั่ว กิเลสนั้นถ้าเราเผาข้างหน้า มันก็แอบไปอยู่ข้างหลัง เผาข้างซ้ายก็แอบไปอยู่ข้างขวา เผาข้างขวามันก็ไปอยู่ข้างซ้าย เผาข้างบนมันก็แอบไปอยู่ข้างล่าง ต่างว่าในบริเวณมีบ้านอยู่สามหลัง เราอยู่บ้านใหญ่ เผาที่บ้านใหญ่ มันก็หนีไปอยู่บ้านเล็ก ไปเผาที่บ้านเล็ก มันขึ้นมาบนบ้านใหญ่ มันไปทั่ว เพราะฉะนั้น บ้านใหญ่ไม่โกรธไม่ทะเลาะกัน บ้านเล็กเอะอะตึงตัง นี่เผาไม่ทั่ว

เพราะฉะนั้น กิเลสต้องเผาให้ทั่ว ต้องเกลี่ยให้เรียบร้อย ต้องดูให้ดีให้เรียบร้อย อย่าให้มันเหลือ และต้องเผาจริง อย่าทำให้มันอุ่นๆ ถ้าอุ่นแล้วกิเลสยิ่งสบายใจ เหมือนในฤดูหนาวเรานอนในผ้าห่มกันหนาว อุ่นแล้วตื่นสายนอนสบาย ฉันใดก็ดี กิเลสก็ฉันนั้น ถ้ามันอุ่นๆแล้วมันสบายใจ เพราะฉะนั้นความเพียรจึงควรกระทำ ควรบากบั่น เผากิเลสให้มันร้อนจนทนอยู่ไม่ได้ นี้เป็นประการที่ ๔

ประการที่ ๕ ปหิตตฺตา มีตนส่งไปแล้ว ปหิตะแปลว่าส่งไปแล้ว อัตตะแปลว่าตน ปหิตะ อัตตะ เป็นปหิตัตตะ มีตนส่งไปแล้ว

อย่างเราส่งหนังสือทางไปรษณีย์ส่งของทางไปรษณีย์ ทางรถไฟ ทางเรือบิน เรือไฟ ก็ใช้ศัพท์ว่า ปหิตะ หรือปหินะ หรือเปสิตะ ที่แผลงมาเป็นไปรษณีย์ มีตนส่งไปนั้น คือ ยอมตน โดยความก็คือ ไม่ถือตน ไปไหนอย่าเอาตนไปด้วย เช่นว่า เรามาวัด ถ้าพาตนมาด้วย ตนนั้นแหละมันชวนให้ไม่ชอบสิ่งนั้น ให้ไม่ชอบสิ่งนี้ ให้เอือมระอาในสิ่งนั้น ให้ตำหนิสิ่งนี้ อย่างน้อยๆเรามาแล้ว สมภารเจ้าวัดท่านมีปากเดียวสองตาเท่านั้น ทักไม่ทั่วถึง ก็บ่นว่าเรามาวัดทั้งทีท่านไม่ได้ทักเลย ท่านไม่ดูหน้าเลย อะไรเหล่านี้เป็นต้น นี้เพราะเราพาตนมาด้วย

ถ้าเราไม่ได้พาตนมา ตนส่งไว้ที่บ้าน หรือพอเข้ากำแพงวัดบอกตนว่าไปกลับบ้าน ไปเฝ้าบ้าน ฉันจะไปฟังเทศน์ อย่างนี้เรื่องมันก็ไม่มี

เพราะฉะนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีกราบทูลว่า จะมีตนส่งไปแล้วอยู่ ก็คือว่าไม่ถือ ท่านจะไม่ถือ และก็ปรากฏชัดจริงๆ เมื่อเวลาท่านจะบวช พระพุทธเจ้าประทานคุณธรรม ๘ อย่าง จนถึงกับว่า ภิกษุณีบวชถึงพรรษา ๖๐ จะต้องกราบภิกษุที่บวชในวันนั้น ถ้าเรานึกในบัดนี้ก็จะเห็นว่าบังคับบีบใจกันจริงๆ แต่พระนางมหาปชาบดีโคตมียอมหมดทุกอย่าง ภิกษุณีจะต้องเป็นรองพระสงฆ์อยู่เสมอ จะต้องมาฟังโอวาทจากพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ก่อนแต่จะทำปาฏิโมกข์ต้องมารับโอวาทจากพระสงฆ์ก่อน ท่านก็ยอมรับทั้งหมด หมายความว่า ท่านเป็นปหิตัตตะ มีตนส่งไปจริงๆ ยอมปฏิบัติจริงๆ ในที่สุดท่านก็เป็นพระอรหันต์ นี้เป็นประการที่ ๕

ท่านสาธุชนได้ทราบธรรมะ ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงประทานพระนางมหาปชาบดีโคตมี และได้ทราบอธิบายคำกราบทูลของพระนางมหาปชาบดีโคตมี อันเป็นหลักปฏิบัติอย่างนี้แล้ว กำหนดจดจำนำไปเพื่อประยุกต์เข้ากับจิตใจของตน และดำเนินปฏิบัติตาม ก็จะเป็นไปเพื่อความสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล เจริญในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกทิพราตรี มีอรรถาธิบายดังบรรยายมา ด้วยประการฉะนี้

(ส่วนหนึ่งของการแสดงธรรม วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๔)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 195 มีนาคม 2560 โดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสารเถร) วัดราชผาติการาม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น