xs
xsm
sm
md
lg

ใส่ใจสุขภาพ : ประคบเย็น-ประคบร้อน ประคบอย่างไรจะได้ผลดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การปฐมพยาบาลและการดูแลรักษาตนเองเบื้องต้นอย่างถูกวิธี จะช่วยลดและบรรเทาอาการปวดหรืออาการบาดเจ็บได้

เมื่อใดจะต้องประคบเย็น?
1. มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น ข้อเท้าแพลง รอยฟกช้ำ จากการกระแทก อาการปวดหรือบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา การออกกำลังกาย เป็นต้น
2. อาการปวดเฉียบพลันของส่วนต่างๆ เช่น ปวดไหล่ ปวดหลัง
3. การอักเสบ บวม แดง ในระยะฉับพลัน
4. อาการอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้สูง เลือดกำเดาไหล แผลจากของมีคม หรือน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ที่ไม่รุนแรง

ประคบเย็น... ช่วยได้อย่างไร
ความเย็นจะช่วยทำให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้เลือดออกน้อยลง ทั้งเลือดที่ออกนอกร่างกายให้เห็นได้ และเลือดที่ออกนอกเส้นเลือดในร่างกาย ดังนั้น อาการบวมก็จะน้อย มีการดูดซึมน้ำกลับเข้าหลอดเลือดช่วยให้ยุบบวม จึงช่วยลดการนำกระแสประสาทที่รับความรู้สึกเจ็บปวด ทำให้บรรเทาอาการปวดได้

วิธีการประคบเย็น
1. ประคบทันทีบริเวณที่มีการบาดเจ็บ ภายใน 24-48 ชั่วโมง
2. ใช้เวลาในการประคบ 10-15 นาที ไม่ควรใช้เวลานานกว่านี้ และไม่วางที่เดียวนานเกินไป จะเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อได้
3. ในขณะที่ประคบเย็นให้ยกส่วนที่บาดเจ็บสูงกว่าระดับหัวใจ ไม่ควรนวดบริเวณที่บาดเจ็บ จะทำให้เลือดออกมากขึ้น
4. ประคบได้บ่อยเท่าที่ต้องการ แต่ต้องทิ้งระยะพักส่วนที่ประคบอย่างน้อย 45-60 นาที หรือจนกว่าผิวบริเวณที่ประคบจะอุ่นเท่าผิวปกติ

ข้อควรระวังในการประคบเย็น
1. ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการรับความรู้สึก
2. บริเวณที่เลือดไปเลี้ยงไม่พอเพียง
3. ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการสื่อสาร
4. ผู้ป่วยที่มีปฏิกิริยาต่อความเย็น เช่น มีเม็ดเลือดแตก แพ้ความเย็น ทนความเย็นไม่ได้ เส้นประสาทอักเสบจากความเย็น เป็นต้น

การทำถุงประคบเย็น
วิธีที่ 1 ใช้ถุงพลาสติกใส่น้ำแข็งก้อนหรือทุบเติมน้ำเล็กน้อย ผูกปากถุงให้แน่น (หรือใช้ถุงแบบ ziplock) หุ้มด้วยผ้าขนหนู
วิธีที่ 2 ใส่น้ำในถ้วยกระดาษหรือถ้วยพลาสติกแช่แข็ง ปิดด้วยพลาสติกด้านบนให้แน่น นำมาวนเป็นวงกลมบริเวณที่บาดเจ็บ
วิธีที่ 3 แช่เจลcold/hot pack ในช่องทำน้ำแข็ง นำมาหุ้มด้วยผ้าขนหนู
วิธีที่ 4 การประยุกต์ใช้สิ่งที่มีในช่องแช่แข็งในขณะนั้น เช่น อาหารแช่แข็งห่อหุ้มด้วยถุงพลาสติกที่สะอาด และหุ้มด้วยผ้าขนหนู

เมื่อใดจะต้องประคบร้อน
1. หลังได้รับบาดเจ็บ หรืออาการฟกช้ำ 48-72 ชั่วโมง
2. อาการปวดหรืออักเสบเรื้อรัง เช่น ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดเข่า ตึงบริเวณข้อ
3. อื่นๆ เช่น ปวดประจำเดือน ปวดฟัน เต้านมคัดในช่วงให้นมบุตร

ประคบร้อน... ช่วยได้อย่างไร
ความร้อนจะช่วยให้เส้นเลือดขยายตัว ทำให้เพิ่มการไหลเวียนของเลือด การซ่อมแซมการบาดเจ็บดีขึ้น กล้ามเนื้อคลายตัว และช่วยบรรเทาอาการปวด

วิธีการประคบร้อน
1. ทดสอบอุณหภูมิที่จะนำมาประคบไม่ให้ร้อนเกินไป
2. วางแผ่นประคบบริเวณที่มีอาการ ประมาณ 15-20 นาที โดยขยับเปลี่ยนบริเวณที่วางบ่อยๆ

การทำถุงประคบร้อน
วิธีที่ 1 เติมน้ำร้อนประมาณ 2/3 ในกระเป๋าน้ำร้อน ไล่อากาศออก ปิดจุกให้แน่น และหุ้มด้วยผ้าขนหนู
วิธีที่ 2 ใช้เจลcold/hot pack ใส่ในไมโครเวฟประมาณ 1 นาที หรือแช่ในน้ำร้อน 5 นาที หุ้มด้วยผ้าขนหนู
วิธีที่ 3 ถุงประคบร้อนสมุนไพร ลูกประคบ หรือประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในขณะนั้น เช่น ถุงข้าวสวย/ข้าวเหนียวร้อนๆ หุ้มด้วยผ้าขนหนู

ข้อควรระวังในการประคบร้อน
1. ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ
2. มีปัญหาอาการชา หรือขาดเลือดไปเลี้ยง
3. บริเวณที่อยู่ใกล้ก้อนเนื้องอกหรือเป็นมะเร็ง
4. ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาด้านการสื่อสาร
5. ความร้อนที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดรอยดำไหม้ หรือแผลพุพองได้
6. บริเวณที่มีแผลเปิด มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ความจริงเกี่ยวกับการประคบร้อน
ห้ามประคบร้อนในบริเวณที่มีการบาดเจ็บหรืออักเสบฉียบพลัน โดยเฉพาะใน 24 ชั่วโมงแรก

(ข้อมูลจากแผ่นพับงานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 195 มีนาคม 2560 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น