xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : รู้รึยัง? “เหนื่อย” ตลอดเวลา สัญญาณเตือน 9 โรคร้าย!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยามที่รู้สึกเหนื่อย เรามักโทษว่าเป็นเพราะไลฟ์สไตล์อันยุ่งเหยิงในแต่ละวัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่เมื่อได้พักผ่อนแล้วยังคงรู้สึกเหน็ดเหนื่อยอยู่ตลอดเวลาละก็ ลองปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น นอนมากขึ้น กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดื่มน้ำเยอะๆ ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ และลดกิจกรรมทางสังคม ทำเช่นนี้สัก 2-3 สัปดาห์

แต่หากปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์แล้ว ก็ยังรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลาเหมือนเดิม อย่ารีรอที่จะไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ เนื่องจากอาการเหนื่อยล้าเกินไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของโรคร้าย ที่สามารถรักษาได้ถ้าตรวจพบแต่เนิ่นๆ

และ 9 โรคร้ายต่อไปนี้ อาจเป็นตัวการแท้จริงที่ทำให้คุณเหนื่อยอ่อน หมดแรง อยู่ตลอดเวลา ก็เป็นได้

1. โรคโลหิตจาง
อาการเหนื่อยอ่อนที่เกิดจากโรคโลหิตจาง เพราะขาดเม็ดเลือดแดงที่จะลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปยังเนื้อเยื่อและเซลล์ต่างๆของร่างกาย จึงทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย และหายใจติดขัด

โรคโลหิตจางอาจมีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายได้รับธาตุเหล็กหรือวิตามินไม่เพียงพอ การเสียเลือด เลือดออกภายใน หรือโรคเรื้อรัง อาทิ รูมาตอยด์ ข้ออักเสบ มะเร็ง หรือไตวาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ร่างกายมักมีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก อันเนื่องมาจากการมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ และการให้นมลูก

อาการ : อาการสำคัญของโรคโลหิตจางคือ รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา อาการอื่นๆที่พบ ได้แก่ อ่อนเพลียหนัก นอนไม่หลับ ขาดสมาธิ หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก และปวดศีรษะ หรือการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เดินขึ้นลงบันได หรือเดินระยะทางสั้นๆ ก็อาจทำให้เหนื่อยได้

2. โรคต่อมไทรอยด์
ต่อมไทรอยด์อยู่ด้านหน้าของลำคอ มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนต่างๆที่ควบคุมกระบวนการเผาผลาญอาหาร หากทำงานผิดปกติ ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจะทำให้ระบบต่างๆในร่างกายแปรปรวน ส่งผลเสียต่อการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน

เมื่อใดที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากเกินปกติ ซึ่งเรียกว่า ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ มันจะเร่งกระบวนการเผาผลาญอาหารให้เพิ่มขึ้น แต่หากสร้างฮอร์โมนน้อยเกินไป ซึ่งเรียกว่า ภาวะไฮโปไทรอยด์ มันจะทำให้กระบวนการเผาผลาญอาหารช้าลง

อาการ : ไฮเปอร์ไทรอยด์ เกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อยในผู้หญิงวัย 20-30 ปีกว่าๆ ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะบริเวณต้นขา การขึ้นบันไดหรือขี่จักรยานจึงลำบากและเหนื่อยง่าย อาการอื่นๆคือ น้ำหนักลดแม้จะกินอาหารตามปกติ รู้สึกร้อนตลอดเวลา อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็วขึ้น ประจำเดือนมาน้อยและความถี่ลดลง ตาโปน หิวน้ำบ่อย มือสั่น ใจสั่น

ส่วนไฮโปไทรอยด์ มักเกิดในผู้หญิงวัยเกิน 50 ปี ทำให้อ่อนเพลีย ขาดสมาธิ เจ็บปวดกล้ามเนื้อแม้ออกแรงเพียงเล็กน้อย อาการอื่นๆคือ กินน้อยลงแต่น้ำหนักเพิ่มขึ้นเพราะบวมน้ำ ขี้หนาว ประจำเดือนมามากและถี่ขึ้น ท้องผูก เสียงแหบ เซื่องซึม ง่วงนอนตลอดเวลา ผมร่วง เล็บเปราะ

3. โรคเบาหวาน
ทุกปีมีคนนับล้านที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่เป็นโรคดังกล่าวโดยไม่รู้ตัว

เนื่องจากน้ำตาลที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายนั้น จะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานโดยการควบคุมของอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อน ในคนที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีอาการดื้อต่ออินซูลิน เซลล์ไม่สามารถดึงน้ำตาลไปใช้ได้ จึงมีน้ำตาลตกค้างในกระแสเลือดมาก ไตจึงขับของเสียออกทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะหวาน และเมื่อร่างกายขาดพลังงาน จึงมักเหนื่อยง่าย ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้นของโรคเบาหวาน

อาการ : นอกจากจะรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลาแล้ว อาการคลาสสิกของโรคเบาหวาน ได้แก่ กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย น้ำหนักลด และอาจมีอาการอื่นๆ อาทิ คันตามผิวหนัง ติดเชื้อรา มองเห็นไม่ชัด แผลหายช้า อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ร่วมด้วย

4. โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าเป็นภาวะเจ็บป่วยที่มากกว่าแค่อาการเศร้าโศกเสียใจ เพราะมันเป็นความเจ็บป่วยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อวิถีการกินอยู่หลับนอน ความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา อาการซึมเศร้าอาจคงอยู่เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือนานเป็นปี

อาการ : ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละราย แต่โดยทั่วไป โรคซึมเศร้าทำให้เรี่ยวแรงลดลง เหนื่อยล้า รูปแบบการกินและนอนเปลี่ยนไป มีปัญหาความจำและสมาธิ รู้สึกเศร้าตลอดเวลา วิตกกังวล หมดหวัง มองตัวเองไร้ค่า สับสน ตัดสินใจไม่ได้ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หรือไร้อารมณ์ ไม่สนใจสิ่งรอบตัว

5. โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง
โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง คือกลุ่มอาการอิดโรยเรื้อรังที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ส่งผลให้เกิดความผิดปกติหลากหลายระบบทั่วร่างกายและจิตใจ ผู้ป่วยจะมีอาการอิดโรยในการใช้ชีวิตประจำวัน และรู้สึกเหนื่อยง่ายขณะออกแรงเพียงเล็กน้อย เป็นโรคที่มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

อาการ : นอกจากอาการหลักที่รู้สึกอิดโรย เหนื่อยล้า อ่อนแรงแล้ว อาการอื่นๆที่พบคือ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อและข้อ ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณคอหรือรักแร้ ขาดสมาธิ นอนหลับไม่สนิท

6. โรคติดเชื้อไวรัส EBV
โรคติดเชื้อไวรัสเอพสไตน์บาร์ (Epstein-Barr virus หรือ EBV) เป็นสาเหตุให้เกิดอาการเหนื่อยล้าอยู่ตลอดเวลา มักพบในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น

อาการ : อาการหลักๆ คือ เหนื่อยล้ารุนแรง มีไข้สูง เจ็บคอมาก และต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือรักแร้โต ซึ่งจะค่อยๆดีขึ้นเองภายใน 2-3 สัปดาห์ ยกเว้นอาการเหนื่อยล้าที่อาจยังคงอยู่นานหลายเดือน

ผู้ป่วยอาจมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น 2-3 วันก่อนอาการหลักข้างต้น ได้แก่ รู้สึกไม่สบาย ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น เหงื่อออก เบื่ออาหาร ปวดรอบดวงตา ตาบวม ผื่นขึ้นตามผิวหนัง

7. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับ โดยผู้ป่วยจะหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ส่งผลให้หลังจากตื่นนอนแล้ว จะรู้สึกเหนื่อยล้า แม้ว่าจะได้นอนหลับยาวนานเพียงใดก็ตาม

โดยส่วนใหญ่แล้ว ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มักเกิดจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการคลายตัวของกล้ามเนื้อที่ทางเดินหายใจ การหนาตัวของเนื้อเยื่อผนังคอในผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาก หรือภาวะเนื้องอกบริเวณทางเดินหายใจ เป็นต้น เมื่อทางเดินหายใจอุดตัน จึงสั่งการไปยังสมองให้ปลุกเราขึ้นมาหายใจอีกครั้ง ซึ่งคนที่มีภาวะเช่นนี้ อาจหยุดหายใจขณะหลับเป็นร้อยๆครั้งได้ในแต่ละคืน

อาการ : ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สามารถสังเกตได้จากการกรน รู้สึกอ่อนล้าหลังจากตื่นนอนตอนเช้า เหมือนนอนไม่เต็มอิ่ม ทั้งๆที่นอนเต็มที่แล้ว นอกจากนี้ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจนำไปสู่โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดสมองอีกด้วย

8. โรคหัวใจและหลอดเลือด
เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้ใหญ่ โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่ อายุที่มากขึ้น สูบบุหรี่จัด ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งการไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบตัน เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เต็มที่

อาการ : เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จะมีอาการเหนื่อย หอบ จุกแน่น ในเวลาที่ออกแรง เช่น เดินไกลๆ ขึ้นลงบันได หรือออกกำลังกาย เมื่อพักแล้วก็หาย แต่หากเป็นเรื้อรัง ไม่ได้รับการรักษา จะมีอาการมากขึ้น เช่น เจ็บหน้าอกมากขึ้น เหงื่อออก ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ และแม้ว่าจะนั่งอยู่เฉยๆ ก็รู้สึกเหนื่อย บางรายอาจจะเหนื่อยจนนอนราบไม่ได้ ต้องนอนศีรษะสูง หรือนั่งหลับ

9. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคข้ออักเสบที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายข้อตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบของข้อและเนื้อเยื่อรอบข้อ นานเข้าอาจทำลายกระดูกและข้อต่อให้ผิดรูปร่างได้ ซึ่งการตรวจพบในระยะแรกเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่มีสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกได้

อาการ : เริ่มต้นผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร และตามมาด้วยอาการที่เกิดจากข้ออักเสบที่เป็นลักษณะของโรคข้อรูมาตอยด์ ส่วนใหญ่มักมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต และม้ามโตร่วมด้วย

อาการข้ออักเสบนั้น ผู้ป่วยจะปวดบวมตามข้อขนาดเล็ก เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า ฝ่ามือ และฝ่าเท้า มากที่สุด และตามข้ออื่นๆ เช่น ข้อมือ ข้อศอก ข้อไหล่ ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อกระดูกสันหลังส่วนคอ

ลักษณะอาการปวดตามข้อที่จำเพาะของโรคนี้คือ จะมีอาการที่ตำแหน่งข้อเหมือนกันทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ความปวดจะเพิ่มขึ้นเมื่อใช้งานข้อนั้นๆ และเมื่อพักการใช้ข้อนานๆ เช่น หลังตื่นนอน จะมีอาการข้อติด ขยับไม่ได้เป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 195 มีนาคม 2559 โดย เบญญา)
กำลังโหลดความคิดเห็น