xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารผ่านโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ใกล้เสร็จแล้ว “พุทธอุทยานแห่งแรกในอินเดีย”
อินเดีย : เว็บไซต์ deccanchronicle.com รายงานว่า พุทธอุทยานแห่งแรกของอินเดียที่มีชื่อว่า ศรีปารวาตาราม (Sriparvatarama) หรือ พุทธวนาม (Buddhvanam) ในเมืองนาคารชุนสาคระ (Nagarjunasagar) รัฐอานธรประเทศ กำลังก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ

ภายในจัดแบ่งเป็นส่วนๆ เพื่อบอกเล่าเหตุการณ์สำคัญๆในพุทธประวัติและเรื่องราวชาดก โดยมีมหาสถูปจำลองศิลปะแบบอมราวดีที่แกะสลักอย่างงดงาม เป็นจุดสำคัญดึงดูดความสนใจของพุทธอุทยานแห่งนี้

“โครงการเดินหน้าไปเกือบ 75% แล้ว นับเป็นพุทธยานแห่งแรกในประเทศ ภายในมีสถูปจำลองหลายองค์ ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นได้อนุมัติงบก่อสร้าง 250 ล้านรูปี (ราว 130 ล้านบาท)” นายมัลลิปัลลี ลักษมัย เจ้าหน้าที่โครงการ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทพัฒนาการท่องเที่ยวเขตเตลังคานา เป็นผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว โดยได้รับเงินสนับสนุนจากศูนย์นักท่องเที่ยวภายในและนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักท่องเที่ยวและนักแสวงบุญจากประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พุทธอุทยานตั้งอยู่บนพื้นที่ 274 เอเคอร์(ราว 693 ไร่) บนฝั่งซ้ายแม่น้ำกฤษณะ แบ่งออกเป็น 8 โซน ได้แก่ 1. พุทธประวัติ 2. อุทยานชาดก 3. อุทยานปฏิบัติธรรม 4. อุทยานสถูป 5. ศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนานานาชาติระดับสูง 6. หุบเขากฤษณะ 7. พุทธศาสนาในเขตเตลังคานา เน้นสถูปสำคัญๆ ประติมากรรม รูปปั้นนักปราชญ์ และอื่นๆ 8. มหาสถูปจำลองศิลปะแบบอมราวดี

พระญี่ปุ่น “อดีตดีเจ” ใช้ดนตรีสมัยใหม่+แสงสี ดึงดูดคนหนุ่มสาวให้สนใจพุทธศาสนา
ญี่ปุ่น : เว็บไซต์ Buddhistdoor Global รายงานว่า ภิกษุชาวญี่ปุ่นรูปหนี่งได้หาหนทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในหมู่คนหนุ่มสาว โดยริเริ่มนำเสนอทางเลือกใหม่ในการประกอบพิธีสวดมนต์ตามประเพณี ด้วยการใส่จังหวะแนวเพลงเทคโน(เป็นรูปแบบของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์) และแสงสีต่างๆ เข้าไปในพิธีกรรมด้วย

พระเกียวเซน อาซากุระ อดีตดีเจวัย 49 ปี แห่งวัดโชออนจิ ซึ่งเป็นวัดพุทธศาสนานิกายสุขาวดี ในเมืองฟูกูอิ ทางตอนกลางของประเทศญี่ปุ่น ได้นำเสนอแนวคิดนอกกรอบในพิธีสวดมนต์เมื่อเดือนพฤษภาคมและตุลาคม 2016 ด้วยการผสมผสานการสวดมนต์ตามประเพณีเข้ากับดนตรีอินเทลลิเจนต์แดนซ์ (แนวเพลงอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์) และเบรกบีตส์ (แนวเพลงอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์) ที่ได้ประพันธ์ขึ้นเอง ประกอบการแสดงแสงสี และภาพทางพุทธศาสนาที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ เพื่อต้องการสื่อถึงนิกายสุขาวดีในรูปแบบร่วมสมัยยิ่งขึ้น

“แต่เดิมการใช้แสงเทียนตกแต่งวัด ให้ดูเหมือนแสงแห่งสวรรค์นั้น มีมากว่า 1,000 ปีที่แล้ว และยังคงเป็นเช่นนั้น แม้ว่าจะมีไฟฟ้าใช้แล้วก็ตาม อาตมาจึงรู้สึกสงสัย และคิดว่าควรนำเทคโนโลยีแสงสีล่าสุด อาทิ 3D mapping (การทำภาพ 3 มิติ) เข้ามาช่วยให้ดูเสมือนจริง ซึ่งเราหวังว่ามันจะช่วยฟื้นฟูศรัทธาในนิกายสุขาวดีขึ้นมาใหม่”

แม้ว่าภาพพระสงฆ์นุ่งห่มจีวร สวมหูฟัง ยืนอยู่หน้าแท่นดีเจบนเวทีภายในวัด อาจจะดูแปลก รวมทั้งการสลัดภาพการประกอบพิธีกรรมตามประเพณีโบราณทิ้ง แต่พระอาซากุระเชื่อว่า ผู้เข้าร่วมในพิธีกรรม ไม่ว่าจะเป็นคนแก่หรือหนุ่มสาว จะให้การตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งอดีตเจ้าอาวาสวัดผู้เป็นบิดา ก็ให้การสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยพิธีสวดมนต์ครั้งหน้า จะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม 2017

สุดยอดฝีมือลามะทิเบต “พระพุทธรูปปั้นด้วยเนย”
จีน : เว็บไซต์ Xinhua รายงานว่า พระพุทธรูปปั้นด้วยเนยถูกนำมาจัดแสดงภายในวัดต้าเอ๋อ (Taer) หรือวัดกัมบัม (Gumbum) ในเขตฮวงซ่ง เมืองซีหนิง มณฑลชิงไห่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2017

ประติมากรรมเนยเหล่านี้เป็นฝีมือของลามะในวัด โดยปั้นเป็นรูปต่างๆ อาทิ พระพุทธรูป รูปปั้น ต้นไม้ ดอกไม้ นก และสัตว์ต่างๆ

วัดเวียดนามร่วมจัดกิจกรรม “โยคะหัวเราะ” ชาวพุทธนับหมื่นร่วมฮาลั่น คลายเครียด
เวียดนาม : เว็บไซต์ Vietnamnews รายงานว่า พุทธศาสนิกชนชาวเวียดนามราว 10,000 คน ได้ทำสถิติรวมพลคนหัวเราะมากที่สุดในประเทศ ในพิธีเปิดงานเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ “อันลัค” (สุขสันต์ฤดูใบไม้ผลิ) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่วัดไคเหงียน นครฮานอย ระหว่างวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ 2017 โดยความร่วมมือระหว่างชุมชนผู้ประกอบการสุขสันต์ สมาคมศิลปะป้องกันตัวแห่งฮานอย และสถาบันโยคะหัวเราะแห่งเวียดนาม

ในงานมีการแสดงศิลปะการป้องกันตัวแบบโบราณ ดนตรีในพุทธศาสนา และเชิดมังกร รวมถึงการปรุงอาหารหม้อไฟมังสวิรัติราว 1,000 หม้อ เพื่อแจกจ่ายแก่ผู้ร่วมงาน และให้ความรู้ถึงประโยชน์ของการทานอาหารมังสวิรัติ ที่ทำให้สุขภาพดีและช่วยปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยผู้ประกอบการขนาดเล็ก 60 แห่ง ได้นำอาหารมังสวิรัติและสินค้าทำด้วยมือมาจำหน่าย

และที่เป็นสีสันของงานคือ โยคะหัวเราะ ซึ่ง “เลอันเซิน” ประธานสถาบันโยคะหัวเราะแห่งเวียดนาม ได้ขึ้นบนเวทีเล่าเรื่องตลกขบขัน เพื่อให้บรรดาผู้ร่วมงานได้หัวเราะ รวมถึงการสอนวิธีหายใจและระเบิดเสียงหัวเราะอย่างมีความสุข

“โยคะหัวเราะช่วยให้คนคลายเครียด เมื่อพวกเขาหัวเราะ จะรู้สึกมีความสุขมากขึ้น จึงเข้าได้กับปรัชญาพุทธที่ช่วยน้อมนำความสุขและทำให้ชีวิตมีความหมายมากยิ่งขึ้น เราจึงตัดสินใจเข้าร่วมกับสถาบันฯเพื่อจัดกิจกรรมหัวเราะขึ้นในวันแรกของงานเทศกาล” พระติชเด๋าติ่นห์ ประธานวัดไคเหงียน กล่าว

โยคะหัวเราะได้กลายเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยม และทางสถาบันฯมีศูนย์กระจายไปตามเมืองและจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ 38 แห่ง ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่กิจกรรมโยคะหัวเราะถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ และมีคนเข้าร่วมจำนวนมาก

ในพิธีปิดงานวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2017 มีการมอบประกาศนียบัตรจากหนังสือบันทึกสถิติแห่งเวียดนาม แก่กิจกรรมโยคะหัวเราะที่มีคนเข้าร่วมมากที่สุด และการปรุงหม้อไฟมังสวิรัติจำนวนมากที่สุด

งามน่าทึ่ง!! “พระพุทธรูปโคลนนิ่ง” ใช้เทคนิคโบราณ-สมัยใหม่สร้างขึ้น
ญี่ปุ่น : เว็บไซต์ The Asahi Shimbun รายงานว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2017 มหาวิทยาลัยศิลปะโตเกียวได้เปิดผ้าคลุมพระพุทธรูปจำลอง ซึ่งสร้างเลียนแบบหนึ่งในพระพุทธรูปหมู่ 3 องค์ (พระไภษัชยคุรุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ) อันล้ำค่า แห่งวัดโฮริว จังหวัดนารา ประเทศญี่ปุ่น

โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างสภามหาวิทยาลัยศิลปะโตเกียว รัฐบาลท้องถิ่นเมืองทากาโอกะและเมืองนันโต จังหวัดโตยามะ ซึ่งทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฯและช่างฝีมือโบราณได้ใช้เทคนิคสมัยใหม่ผสมผสานกับเทคนิคโบราณในการโคลนนิ่งพระพุทธรูปให้เหมือนเดิมทุกประการ อันจะทำให้การจัดแสดงวัตถุทางวัฒนธรรมอันเปราะบางและมีค่ายิ่งเกิดขึ้นได้ในอนาคต

“การโคลนนิ่งวัตถุทางวัฒนธรรมจะช่วยให้เราจัดนิทรรศการในรูปแบบใหม่ได้ ยกตัวอย่างคือ รูปปั้นที่อยู่ข้างพระพุทธเจ้าทั้ง 2 ข้าง กล่าวกันว่าของเดิมนั้นถูกวางสลับข้างกัน เราสามารถสลับข้างของรูปปั้นทั้งสองได้ในการจัดแสดง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้กับสมบัติชาติดั้งเดิม” มาซาอากิ มิยาซาโกะ ศาสตราจารย์ภาควิชาการอนุรักษ์วัตถุทางวัฒนธรรมแห่งมหาวิทยาลัยฯ กล่าว

ทั้งนี้ พระพุทธรูปหมู่ 3 องค์ ประกอบด้วย พระไภษัชยคุรุอยู่ด้านขวา พระพุทธเจ้าอยู่ตรงกลาง พระอมิตาภพุทธะอยู่ด้านซ้าย สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 7 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติชาติ โดยวัดโฮริว ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ไม่เคยนำพระพุทธรูปหมู่ 3 องค์นี้ออกจัดแสดงต่อสาธารณชนมาก่อน

ทีมมหาวิทยาลัยฯใช้ระบบ 3 มิติความละเอียดสูง แสกนพระพุทธรูป เพื่อสร้างเป็นโมเดล จากนั้นหล่อขึ้นรูป แล้วเคลือบด้วยทองสัมฤทธิ์ตามแบบของเดิม

พระพุทธรูปดังกล่าวจะถูกนำมาจัดแสดงระหว่างวันที่ 10-20 มีนาคม 2017 ที่วิงวิงทากาโอกะ จังหวัดโตยามะ

สมาคมพุทธจีนเตือนอย่างมงาย แย่งจุดธูปขอพรในวัดคนแรก ไม่ทำให้โชคดี
จีน : เว็บไซต์ South China Morning Post รายงานว่า มีความเชื่อในหมู่ชาวจีนจำนวนหนึ่งว่า คนที่ได้จุดธูปขอพรเป็นคนแรกของวัดในวัดตรุษจีนจะโชคดี แต่องค์กรพุทธชั้นนำในประเทศจีนกล่าวว่า มันเป็นความเชื่อผิดๆ และการจุดธูปเป็นคนแรกไม่ช่วยให้เกิดโชคลาภแต่อย่างใด

คำเตือนนี้เกิดจากการที่ชาวจีนทั่วประเทศพากันเข้าวัดตามที่ต่างๆ เพื่อจุดธูปขอพรในวันที่ 28 มกราคม 2017 อันเป็นวันตรุษจีน ในกรุงปักกิ่ง ชาวจีนกว่า 70,000 คน แห่กันไปที่วัดยงฮีแน่นขนัด จนทางวัดเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย มีรายงานว่าตำรวจกว่า 2,000 นายพากันยืนกั้นเป็นกำแพงมนุษย์ตรงทางเข้า เพื่อควบคุมฝูงชนที่เบียดเสียดกันเข้าวัด

หนังสือพิมพ์ Beijing Morning Post รายงานว่า ชายจากมณฑลหูเป่ย์ที่ชื่อ “หวัง” ต้องรอนาน 26 ชม.เพื่อได้เป็นคนแรกที่จุดธูปขอพรในวัด ซึ่งเขาได้ทำเช่นนี้ติดต่อกัน 3 ปีแล้ว โดย ค.ศ. 2014 ใช้เวลารอ 48 ชม. ค.ศ. 2015 รอ 77 ชม. และค.ศ. 2016 รอ 35 ชม.

แต่ตัวแทนจากสมาคมพุทธแห่งประเทศจีนกล่าวว่า การกระทำของหวังเป็นการเสียเวลา เนื่องจากความเชื่อที่ว่า การเป็นคนแรกที่เข้าวัดจุดธูปขอพรในวันตรุษจีนแล้วจะโชคดีนั้น มิได้มีรากฐานมาจากพุทธศาสนา และไม่สนับสนุนให้ปฏิบัติตามด้วย

นักประวัติศาสตร์เรียกร้องรัฐบาลปากีสถาน ยื่นยูเนสโก ยก “สถูปกนิษกะ” สถูปพุทธโบราณ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ลำดับ 8 ของโลก
ปากีสถาน : เว็บไซต์ thehindu.com รายงานว่า นายอัมจาด ฮุซเซน ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเรียกร้องรัฐบาลปากีสถาน ให้ยื่นเรื่องต่อองค์การยูเนสโก เพื่อประกาศให้สถูปกนิษกะ ซึ่งเป็นสถูปพุทธโบราณในเมืองเปศวาร์ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ลำดับ 8 ของโลก ด้วยงานโครงสร้างที่โดดเด่น ซึ่งเกิดจากน้ำมือและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ

โดยฮุซเซนได้พูดบรรยายในหัวข้อ “วิหารกนิษกะ ต้นโพธิ์โบราณ และบาตรศักดิ์สิทธิ์” ที่วิกตอเรียฮอลล์ เมืองเปศวาร์ประเทศปากีสถาน เมื่อเดือนมกราคม 2017 ระบุว่า องค์การยูเนสโกควรประกาศให้สถูปกนิษกะเป็นมรดกโลก นอกเหนือไปจากการแสวงหาความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นและจีน

สถูปกนิษกะสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 1 สมัยพระเจ้ากนิษกะแห่งอาณาจักรกุษาณะ คาดว่ามีความสูงเทียบเท่าตึก 13 ชั้นในปัจจุบัน ซึ่งพระเสวียนจั้ง หรือพระถังซำจั๋ง ภิกษุจีนชื่อดังที่ได้เดินทางมายังดินแดนแถบนี้ในช่วงค.ศ. 620-645 เพื่อรวบรวมและอัญเชิญพระไตรปิฎกกลับไปยังจีน ได้จดบันทึกรายละเอียดของสถูปกนิษกะว่าเป็น “สิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมที่สูงที่สุดในเอเชียแถบนี้”

ต่อมา เมื่อศาสนาพุทธเริ่มเสื่อมในดินแดนแถบนี้ องค์สถูปและวัดที่อยู่ติดกันจึงค่อยๆเสื่อมโทรมลง ในเดือนมีนาคม 1909 นายดี บี สปูนเนอร์ นักโบราณคดีชาวอเมริกัน และเป็นภัณฑารักษ์คนแรกของพิพิธภัณฑ์เปศวาร์ ได้ขุดเจาะบริเวณศูนย์กลางของสถูปกนิษกะลึกลงไปถึงส่วนฐาน พบหีบเคลือบทองสัมฤทธิ์ จารึกพระนามและรูปของพระเจ้ากนิษกะ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระอัฐิ นับเป็นการค้นพบอันยิ่งใหญ่ในโลกแห่งโบราณคดี

รัฐบาลอังกฤษได้มอบพระบรมสารีริกธาตุเป็นของขวัญแก่ประเทศพม่า ซึ่งได้อัญเชิญไปประดิษฐานเพื่อสักการบูชาภายในเจดีย์หลวงแห่งเมืองมัณฑะเลย์ ขณะที่หีบทองสัมฤทธิ์ถูกนำไปตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์เปศวาร์ ประเทศปากีสถาน ส่วนหีบทองสัมฤทธิ์จำลองถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษ

ด้วยเหตุที่อิทธิพลของพุทธศาสนาได้เผยแผ่ไปทั่วทุกมุมโลก และมีการพบพระบรมสารีริกธาตุภายในสถูปกนิษกะ ดังนั้น จึงเห็นควรที่จะประกาศให้สถูปกนิษกะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ลำดับ 8 ของโลก

อนึ่ง อัมจาด ฮุซเซน อายุ 80 ปี เป็นชาวเมืองเปศวาร์โดยกำเนิด ต่อมาได้ย้ายไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นการถาวร เป็นผู้ที่มีความสนใจในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ นักวิจัย นักประดิษฐ์ นักสำรวจ นักเขียน ช่างภาพ และผู้นำชุมชน เขาได้ตีพิมพ์หนังสือ 16 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาหลากหลาย อาทิ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา และมรดกทางภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมของเปศวาร์

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 195 มีนาคม 2560 โดย เภตรา)
กำลังโหลดความคิดเห็น