xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิสันถาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดสถาปนา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ขึ้นเป็น “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เสียงแซ่ซ้องสาธุการของปวงชนชาวไทยก็ดังกระหึ่มทั่วแผ่นดินธรรมแผ่นดินไทย ด้วยทรงมีศีลาจารวัตรที่เพียบพร้อมและสง่างาม ทรงไว้ซึ่งธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด สมกับตำแหน่งพระประมุขแห่งสังฆมณฑล

ย้อนไปราว 50 ปี ขณะพระองค์ยังทรงเป็นพระมหาอัมพร ได้ร่วมเดินทางไปกับคณะพระวัดราชบพิธ เพื่อกราบสักการะหลวงปู่ฝั้น อาจาโร พระองค์ได้รับคำสอนจากหลวงปู่ฝั้น จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา นับถือเป็นครูบาอาจารย์ ดังนั้น หลังจากว่างเว้นจากการศึกษาครั้งใด พระองค์จะเดินทางไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ฝั้น ที่วัดป่าอุดมสมพร เป็นประจำ หรือธุดงค์ไปตามสถานที่อันเงียบสงบ เพื่อปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระองค์ได้บอกกับโยมท่านหนึ่งที่ถามว่า มีปัจจัยมากๆ ใช้อย่างไร พระองค์บอกว่าว่า ปัจจัยส่วนหนึ่งนำเข้ามูลนิธิหลวงปู่ฟั่นที่ทรงเป็นประธานอยู่ ส่วนหนึ่งนำไปช่วยเหลือโรงเรียนวัดราชบพิธ และส่วนหนึ่งนำไปสงเคราะห์พระเณรวัดราชบพิธ และผู้ยากไร้ แล้วท่านก็บอกตอนท้ายว่า

“เราไม่มีแม้สักแดงเดียวนะ เราไม่สะสม แม้แต่เหรียญอาจารย์ฝั้นสักเหรียญเรายังไม่มี รถเราก็ไม่มี”

อดีตเด็กวัดคนหนึ่งที่ถือว่าใกล้ชิดกับสมเด็จพระสังฆราชเป็นอย่างมาก เล่าว่า

“สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระจริยวัตรสมถะเป็นอย่างมาก แม้แต่ยางรัดของหนึ่งเส้นที่คนอื่นทิ้ง ท่านยังสั่งเก็บไว้ใช้ โดยท่านสอนว่าคนอื่นอาจทิ้งไปไม่มีค่า แต่สำหรับเราแล้ว แม้แต่ยางรัดของเส้นเดียวก็มีค่าได้ หากถึงเวลาสำคัญ โดยแฝงปริศนาธรรมให้คิดอยู่เสมอ”

ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 195 มีนาคม 2560)

รายงานพิเศษเรื่อง “พระพุทธรูปสำคัญ ประจำรัชกาลรัชกาลที่ 9” ซึ่งตีพิมพ์ลงในฉบับที่ 193 เดือนมกราคม 2560 นั้น มีข้อผิดพลาดที่ท่านผู้อ่านคือคุณศิริ หน่อทอง ได้แจ้งมาให้ทราบว่า เนื้อหากับภาพของพระพุทธนวราชบพิตร และพระ ภปร. ไม่ตรงกัน ซึ่งกองบรรณาธิการขอกราบขอบพระคุณ และขออภัยท่านผู้อ่านมา ณ ที่นี้ด้วย

ข้อผิดพลาดคือการวางรูปสลับหน้ากัน จึงขอแก้ไขข้อผิดพลาดดังนี้ ภาพพระพุทธรูปในหน้า 26 ที่ถูกต้องนั้น ควรจะอยู่หน้า 27 เพราะเป็นพระพุทธรูป ภปร. ส่วนรูปหน้า 27 ที่ถูกต้องนั้น ควรจะอยู่หน้า 26 เพราะเป็นพระพุทธนวราชบพิตร
กำลังโหลดความคิดเห็น