xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : ปล่อย วาง ว่าง หลุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ
มุตฺโตหํ สพฺพาปาเสหิเย ทิพฺพา เย จ มานุสา
มหาพนฺธนมุตฺโตสินิหโต ตฺวมสิ อนฺตกาติ.


บัดนี้ จักได้แสดงพระธรรมเทศนา พรรณนาศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาว่าด้วยเรื่อง “ปล่อย วาง ว่าง หลุด” เพื่ออนุโมทนาศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใส และให้สำเร็จเป็นธัมมัสสวนมัยบุญแก่ท่านผู้ฟัง และเป็นธรรมเทศนานัยบุญแก่ผู้แสดง อันเป็นบุญกิริยาวัตถุ วัตถุเป็นที่ตั้งแห่งบุญในพระพุทธศาสนา

คำสอนในพระพุทธศาสนา โดยความมุ่งหมาย ก็เพื่อจะให้มีการเลิกละ สละ งดเว้น อย่างที่เรียกว่า ปล่อย วาง ว่าง หลุด ทุกข้อทุกประการ สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ คือ ออกบวช ก็เพราะทรงเห็นว่าในทางโลกในทางบ้านเมืองนั้น ไม่มีปล่อย ไม่มีวาง ไม่มีว่าง ไม่มีหลุด คือ ไม่ปล่อย ไม่วาง ไม่ว่าง ไม่หลุด เพราะฉะนั้น จึงทรงเห็นว่าการไม่ปล่อย ไม่วาง ไม่ว่าง ไม่หลุดนั้น เป็นความวุ่นวาย เป็นความขัดข้อง จึงทรงเห็นเปล่งพระอุทานว่า อุปทฺทูตํ วต โภ อุปสคฺคํ วต โภ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ ดังนี้

ในที่สุดเสด็จออกทรงผนวช แสวงหาโมกขธรรม คือธรรมเป็นเครื่องพ้น หรือธรรมเป็นเครื่องปล่อย วาง ว่าง หลุด ซึ่งรวมความว่า โมกขธรรม ธรรมเป็นเครื่องพ้น เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ชื่อว่าได้พบทาง และได้บรรลุธรรมเป็นเครื่องพ้น ทรงปล่อย ทรงวาง ทรงว่าง ทรงหลุด และก็ทรงแสดงธรรมะคำสั่งสอนของพระองค์นั้น เพื่อพุทธศาสนิกชนสาธุชนได้ปล่อย วาง ว่าง หลุด เช่นเดียวกัน

พระพุทธภาษิตที่จะยกขึ้นแสดงต่อไปนี้นั้น พระองค์ทรงแสดงหรือตรัสเมื่อมีพระอรหันต์ขึ้นในโลก ๖๑ พระองค์ รวมทั้งพระองค์แล้ว พระองค์ตรัสเรียกประชุมพระอรหันต์ทั้ง ๖๐ องค์นั้น มีพระปรารภโดยใจความว่า

ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้เธอทั้งหลายก็เป็นผู้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายจงจาริกไปสั่งสอนประชาชนในที่นั้นๆ แสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์สิ้นเชิง ประชาชนผู้เป็นอัปปรชักขชาติ คือ เป็นชาติแห่งสัตว์ผู้มีธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ ดังนี้

เมื่อปรารภดังนี้แล้ว มีเรื่องเล่าในพระไตรปิฎก ในมหาวิภังค์พระวินัยว่า มารผู้มีบาปได้กราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาจะคล้องพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยบ่วงอันเป็นทิพย์ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระพุทธภาษิต ซึ่งได้นิกขิตไว้ในเบื้องต้นนั้นว่า

มุตฺโตหํ สพฺพาปาเสหิเย ทิพฺพา เย จ มานุสา
มหาพนฺธนมุตฺโตสินิหโต ตฺวมสิ อนฺตก.


แปลเนื้อความว่า ดูกรมารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราเป็นผู้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งหลาย ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เราเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูกอันใหญ่หลวง ตัวท่านเป็นผู้อันเรากำจัดเสียแล้ว ดังนี้

พระพุทธภาษิต มีเรื่องเล่าในพระไตรปิฎกว่า พระพุทธเจ้ารับสั่งกับมาร คือมารทูลพระพุทธเจ้าว่า เขาจะผูกพระพุทธเจ้าด้วยบ่วง แต่พระพุทธเจ้ารับสั่งว่า พระองค์ทรงพ้นแล้ว

...พระพุทธเจ้ารับสั่งว่า “โลกธรรม ๘ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ประสบทุกข์ เกิดทั้งแก่พระอริยบุคคล เกิดทั้งแก่ปุถุชน แต่สำหรับอริยบุคคลนั้น ท่านไม่ยืดถือ ปุถุชนเป็นผู้ยืดถือ” ดังนี้ เพียงเท่านี้ เราก็ได้ใจความว่า มาร คือ กิเลส มันก็เกิด คือว่าพระพุทธเจ้าทรงนึกไปได้เหมือนกัน แต่ไม่ติด

เราๆนึกอะไรก็ได้ อย่างเราจะนึกว่า โรงสีในจังหวัดพระนครนั้นเป็นของเราหมดทุกโรง ก็นึกได้ ไม่ติดคุกไม่ติดตะราง ไม่มีใครฟ้องเพราะนึก แต่อันที่จริงนั้นเปล่า จิตใจของเราไม่ติดอย่างนั้นเลย เพราะโรงสีไม่ใช่ของเราฉันใด พระพุทธเจ้าก็ทรงนึกวาดภาพว่า ถ้าพระองค์ยังเป็นปุถุชนอยู่นั้น ในเวลาที่ทำกิจกรรมสำคัญอย่างนี้ คงจะถูกกิเลสรบกวน เพราะเป็นการใหญ่ งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นงานที่ลำบาก เป็นการทรงเตือนพระผู้เผยแผ่พระศาสนาว่า ระวังมารให้มากๆ จะถูกมารรบกวน ครอบงำ พระอรหันต์นั้นไม่เป็นไร สำหรับปุถุชนต้องระวังตัว เพราะมีภาษิตว่า “มีพระแล้วก็ต้องมีมาร หรือแพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร” มีดีก็ต้องมีชั่วมาขัด

...เพราะฉะนั้น เรื่องคำว่ามารนั้น เมื่อมีในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เราต้องนึก ๒ อย่าง นึกว่าเป็นปุคคลาธิษฐานอย่างหนึ่ง เมื่อเป็นปุคคลาธิษฐานแล้วก็ต้องเล่าเรื่อง เมื่อประสบกับพระพุทธเจ้า ผู้ฟังต้องนึกเป็นธรรมาธิษฐานว่า คำว่ามารนั้น ถ้าสำหรับปุถุชนก็คือกิเลส สำหรับพระอริยบุคคล เช่น พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ก็คือความนึกคิดในพระทัยของพระองค์ หรือความนึกคิดในใจของพระอรหันต์ แต่นึกแล้วไม่ติด เพราะเหตุว่าทรงรู้จักหมดแล้ว ราคะก็ทรงรู้จัก โลภะก็ทรงรู้จัก โทสะก็ทรงรู้จัก โมหะก็ทรงรู้จัก แล้วก็ทรงนึกว่ากิเลสมารนั้น ตัวนั้นมีอาการอย่างนั้น ตัวนี้มีอาการอย่างนี้ ตัวโน้นมีอาการอย่างโน้น ทรงนึกไป

เพราะฉะนั้น ในบาลีจึงเรียกกิเลสว่า “ปาสะ” หรือ “บาส” ปาสะแปลว่าบ่วง มีพระบาลีต่อไปว่า อนฺตลิกฺขจโร ปาโส ยฺวายํ จรติ มานโส มานสะหรือมานัสคือฉันทะมีในใจ ความนึกคิดที่มีในใจ ที่เรียกว่าบ่วงนี้ เที่ยวไปในอากาศ “อนฺตลิกฺขจโร” เที่ยวในอากาศ “ปาโส” บ่วง “มานโส” มานัส ฉันทะมีในใจ คือความคิดนึกนั้น เที่ยวไปในอากาศ ไม่มีร่องไม่มีรอย ท่านจึงเรียกว่าบ่วง

บางแห่งเราเรียกเต็มว่า “บ่วงมาร” อาการที่นึกไป พระพุทธเจ้าก็ทรงนึกได้ พระอรหันต์ก็นึกได้ แต่ของท่านนึกแล้วไม่ติด เพราะ การโก น กิริยาว วิชฺชติ ความทำมีอยู่ แต่บุคคลผู้ทำหามีไม่ บุคคลผู้ทำเป็นพระอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้าเสียแล้ว แต่กิริยาความทำ ความนึกความคิดมีอยู่ สำหรับของเราถ้านึกถ้าคิดก็ต้องติดด้วย...

ความประสงค์ของการปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้น ต้องการความปล่อย วาง ว่าง หลุด ๔ อย่าง ที่ว่าเป็นคำไทยคล้องจองกันนี้ แปลตามคำบาลีที่มีปรากฏแสดงลักษณะของการปล่อย วาง ว่าง หลุด ปล่อยตรงข้ามกับยึด วางตรงข้ามกับแบก ว่างตรงข้ามกับไม่ว่าง หลุดตรงข้ามกับติด

ปล่อย วาง ว่าง หลุด “ปล่อย” ศัพท์บาลีว่า มุญฺเจ หรือ มุญฺจน มีในที่แห่งหนึ่งรับสั่งว่า มุญฺจ ปุเร มุญฺจ ปจฺฉโต มชฺเฌ มุญฺจ ภวสฺส ปารคู ท่านจงปล่อยข้างหน้า ท่านจงปล่อยข้างหลัง ท่านจงปล่อยในท่ามกลาง จึงจะถึงฝั่งแห่งภพ นี้เป็นลักษณะของปล่อย

“วาง” มีตรัสว่า ภารนิกฺเขปนํ สุขํ การวางภาระเสียได้เป็นสุข

คำว่า “ว่าง” เช่น ตรัสสอนพระโมฆราชว่า สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต ดูก่อนโมฆราช เธอจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาโลกโดยความเป็นของสูญ คือ ว่าง ดังนี้

“หลุด” ศัพท์บาลีว่า มุตตะ หรือ วิมุตติ มุตติ วิมุตติเป็นนาม มุตตะหรือวิมุตตะ เป็นคุณ ดังพระบาลีข้างต้นนั้นที่รับสั่งว่า เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ลักษณะ ๔ ประการนี้ แสดงลักษณะของจิตใจของผู้ปฏิบัติ

ประการที่ ๑ ปล่อย ได้แก่ ปล่อยขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปล่อยข้างหน้า คือ อนาคต ปล่อยข้างหลัง คือ อดีต ปล่อยในท่ามกลาง คือ ปัจจุบัน หมายความว่า ไม่ให้ยึดขันธ์ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน ทั้งที่อยู่ใกล้และอยู่ไกล ทั้งหยาบทั้งละเอียด ทั้งที่เป็นภายนอก ทั้งที่เป็นภายใน คือไม่ให้ยึดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา นี่เป็นลักษณะของปล่อย

คำว่าปล่อยนี้ ปัจจุบันนี้มีเถียงกันอยู่มากว่าคนอย่างเราๆนี้ ทำไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านปล่อยเลย เราปล่อยไม่ได้ แต่อันที่จริง คนเราถ้าไม่มีปล่อยแล้วทำอะไรไม่ได้ ไม่มีทางที่จะทำอะไรได้ในเวลาที่เราจะทำอะไรได้ อย่างญาติโยมมาฟังเทศน์อยู่บัดนี้ ญาติโยมปล่อยอะไรได้มาก ปล่อยไว้ที่บ้าน ปล่อยความเป็นห่วง ปล่อยความเป็นกังวลห่วงใยอาลัย ปล่อยภารกิจต่างๆ ถ้าไม่ปล่อยแล้วมาไม่ได้ เพราะขันธ์นี้เป็นมารเหมือนกัน มันบอกไม่ให้มา มันมากระซิบไม่ให้มา มันบอกว่าอย่ามาเลย มันแสดงอาการอย่างโน้นอย่างนี้ บางทีตื่นเช้าขันธ์มันเวียนศีรษะ มันหลอกไม่ให้มาวัด มืดหน้า มืดตา รู้สึกว่าลุกขึ้นก็ไม่ค่อยจะไหว บางทีไม่ลุกจากที่นอน ขันธ์หลอกทั้งนั้น

แต่ถ้าพอเรานึกปล่อย ไม่นึกอะไรหมด ปวดศีรษะ ไม่ได้นึกที่ศีรษะ ง่วงนอนไม่ได้นึกที่ง่วงนอน ปล่อยหมด ลุกขึ้นได้ อาบน้ำอาบท่า รับประทานอาหาร มาวัดได้สบายอกสบายใจ ขันธ์แพ้เรา แต่ถ้ามาไม่ได้เราแพ้ขันธ์ ถ้าเราแพ้ขันธ์ยอมขันธ์ ก็แบกขันธ์อยู่ที่บ้าน ทำอะไรอยู่ที่บ้าน...

ประการที่ ๒ วาง คือ วางขันธ์นั่นแหลแ ต่ในบาลีท่านเรียกว่า ภาระ ภารหาโร ผู้นำภาระ ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก การถือภาระเป็นทุกข์ในโลก ภารนิกฺเขปนํ สุขํ การวางภาระเสียได้เป็นสุข ก็หมายเอาขันธ์อีกนั่นแหละ แต่ในที่นี้ท่านเรียกขันธ์ว่าภาระ เมื่อเรียกว่า ภาระ ท่านแจกเป็น ๓ ภาระ คือ

๑. ขันธภาระ
๒. กิเลสภาระ
๓. อภิสังขารภาระ


ถ้าจะอธิบายก็ยืดยาว แต่ให้ญาติโยมทำความเข้าใจว่า ทั้ง ๓ ภาระนี้อยู่ที่ขันธ์ มารวมอยู่ที่ขันธภาระทั้งนั้น ทำไมมารวมอยู่ที่ขันธ์ มีปัญหาเคยพูดอยู่เสมอว่า เพราะขันธ์มันไม่เปล่า เราประมาทจนกิเลสเต็มขันธ์ไปหมด ขันธ์มันไม่เปล่า ถ้าขันธ์เปล่าแล้วมันเบา สลฺลหุกวุตฺติ มีความประพฤติเบากายเบาใจ แต่ขันธ์นี้ไม่ใช่ขันธ์เปล่า เป็นขันธ์เต็ม เพราะขันธ์เต็มนั่นแหละจึงเป็นภาระ เป็นภาระหนัก

เพราะฉะนั้น ท่านว่าให้วางเสีย ก็คล้ายๆกับข้อหนึ่ง วาง ก็คือไม่ยึดติด ตรงกันข้ามกับแบก หาม หาบ หรือทูน ถ้าเราแบกหามไว้ มันก็หนัก ถ้าเราปล่อยปลงเสียจากบ่าก็เบาฉันใด ในที่นี้ท่านก็สอนให้นึกอย่างนั้น ที่เราถือไว้นั้นเราแบก เมื่อเราแบกขันธ์ไว้ หาบคอนขันธ์ไว้เราก็หนัก หนักอยู่ที่ขันธ์ เมื่อไรเราปลงขันธ์ลง เมื่อนั้นก็เป็นสุขสบาย ไม่หนัก

ถ้าจะมีคำถามว่า แล้วเราจะเอาขันธ์ที่ปลงแล้วไปทิ้งที่ไหน ตอบว่า ไม่ต้องทิ้ง เพียงแต่ไม่ถือไปไหนไปด้วย มันอยากจะไปก็ไป อย่าสนใจ ขันธ์จะเป็นอย่างไรก็เรื่องของขันธ์ ผู้ปฏิบัติเป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติ แยกขันธ์กับผู้ปฏิบัติออกไปจากกัน เมื่อเราแยกขันธ์กับผู้ปฏิบัติออกไปจากกันแล้ว กิเลสมันตามไม่ทัน มันไม่อยู่กับผู้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ให้แยกกายกับใจนี้ออกต่างหากจากกัน อย่าให้อยู่ใกล้ๆกัน นี้เป็นประการที่ ๒

ประการที่ ๓ ว่าง ที่ตรัสสอนพระโมฆราชว่า “ให้ดูโลกนี้เป็นของว่าง ไม่มีอะไร” ท่านอุปมาว่า เหมือนกับมือของเรา ถ้าเรากำมือแล้ว คนนอกจะเข้าใจว่าในมือที่กำนั้นมีอะไรอยู่ฉันใด ขันธ์ก็ฉันนั้น เราไม่กำเราไม่เก็บ ให้เห็นเป็นของว่างๆ สักแต่ว่าอาศัยเท่านั้น

เหมือนเราอาศัยเรือจ้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปฝั่งธนบุรี เรือจ้างไม่ใช่ของเรา น้ำไม่ใช่ของเรา แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ใช่ของเรา ถ้าถามว่า เมื่อไม่ใช่ของเราแล้วข้ามเรือมาทำไม ตอบว่า ข้ามเรือเพื่อจะไปฝั่งธนบุรี เพราะฝั่งธนบุรีนั้นเป็นของเรา เมื่อถึงฝั่งธนบุรีอันเป็นของเราแล้ว ฝั่งธนบุรีของเราก็ไม่ใช่ของเรา เพราะถึงที่สุด เพราะฉะนั้น เมื่อเราข้ามเรือ เรือจ้างก็ไม่ใช่ของเรา แม่น้ำก็ไม่ใช่ของเรา เมื่อถึงฝั่งแล้วขึ้นจากเรือจ้าง ไม่อาลัยในเรือจ้างฉันใด ขันธ์ก็ฉันนั้น ให้ดูว่างๆ สูญๆ ให้ดูโลกว่างๆ สูญๆ

“โลก” ในที่นี้พระพุทธเจ้าทรงย่อเหลือเล็กเท่ากับคนคนหนึ่ง คือ ยาววาหนาคืบกว้างกำมาหนึ่งวิญญาณครอง นี่เรียกว่า โลกโลกหนึ่ง ดูโลกนี้ให้เป็นของว่าง ไม่มีอะไรในโลกว่างๆสูญๆ ที่จะถือให้เป็นสาระนั้นไม่มีเลย ถ้าถามว่า เมื่อไม่เป็นสาระไม่มีอะไรเลยแล้ว ทำไมอาศัยอยู่ มีคำตอบว่า อาศัยเพื่อจะเป็นยานพาหนะไปสู่ฝั่งที่ประสงค์ คือ นิพพาน เพราะฉะนั้น คนมีขันธ์ก็ไปนิพพานโดยอาศัยขันธ์ แต่อย่ายึด ถ้ายึดไปไม่ได้ นี้เป็นประการที่ ๓

ประการที่ ๔ หลุด เมื่อปล่อยขันธ์ วางภาระ ว่างจากตัวตน ไมยึดถือตนแล้ว ก็เป็นผู้วิมุตติ หลุดพ้นจากสรรพกิเลสทั้งหลาย สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

มุตฺโตหํ ภิกฺขเว สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสา
ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ดังนี้

...การปฏิบัติธรรมะนั้น ต้องปฏิบัติด้วยจิตใจที่ละเอียด ด้วยจิตใจที่สูง ด้วยจิตใจที่ปล่อย ที่วาง ที่ว่าง ที่หลุด โปรดอย่าเข้าใจว่า ปล่อย วาง ว่าง หลุด นี้เป็นนิพพาน ที่เป็นนิพพานยังไม่พูด เราพูดเฉพาะปล่อย วาง ว่าง หลุด ในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกปุถุชน คือ ยังมีกิเลส แต่หาโอกาสปล่อยวาง วางบ้าง ว่างบ้าง หลุดบ้าง ปล่อยขันธ์ วางภาระ ว่างจากยึดถือตัวตน หลุดจากกิเลสทั้งหลาย

จำไว้ย่อๆ “ว่างจากตัวตน คือ ว่างจากโลก หลุดจากกิเลส” ปล่อย วาง ว่าง หลุด ในขณะไหนที่รู้สึกว่ากิเลสจะเกิด ให้ภาวนาไว้ว่า ปล่อย วาง ว่าง หลุด ... เราภาวนาว่า ปล่อย วาง ว่าง หลุดๆๆ อีก มันก็จะหายไปอีก เมื่อหายไป เราได้ทั้งปล่อย ทั้งวาง ทั้งว่าง ทั้งหลุด หมดทั้ง ๔ อย่าง จิตใจของเราก็สบาย...

(ส่วนหนึ่งของการแสดงธรรม วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๘)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 194 กุมภาพันธ์ 2560 โดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสารเถร) วัดราชผาติการาม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น