xs
xsm
sm
md
lg

จิตตนคร (ตอนที่ ๔๓) สัมมาทิฐิ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ .๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


ในการปฏิบัติต่อกันโดยชอบตามโลกสัจจะหรือสมมุติสัจจะนั้น สัมมาทิฐิได้ชี้แจงต่อไปว่า องค์พระบรมครูได้ตรัสให้คนทั่วๆ ไป รักษาศีล ๕ และประพฤติธรรม ๕ ประการที่คู่กัน คือ

๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. เว้นจากการลัก
๓. เว้นจากประพฤติผิดทางกาม คือเป็นชู้
๔. เว้นจากพูดเท็จหลอกลวง
๕. เว้นจากดื่มนํ้าเมายาเมา


นี้เป็นศีล ๕ และให้

๑. มีเมตตากรุณา ประพฤติอนุเคราะห์เกื้อกูล
๒. ประกอบสัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ
๓. สันโดษยินดีพอใจอยู่แต่ในภริยาสามีของตน
๔. พูดคำจริงที่เป็นประโยชน์
๕. มีสติรอบคอบ


นี้เป็นธรรม เรียกว่ากัลยาณธรรม (ธรรมที่งาม) ๕ เป็นคู่กันกับศีล ๕ คือธรรมข้อที่ ๑ ก็คู่กับศีลข้อที่ ๑ ดังนี้เป็นต้น

สัมมาทิฐิได้อธิบายให้เข้าใจต่อไปว่า ศีลธรรมเหล่านี้เป็นการรับรองโลกสัจจะหรือสมมุติสัจจะทั้งนั้น คือรับรองว่ามีสัตว์บุคคลตัวตน ซึ่งดำรงชีวิตอยู่และใครก็ไม่ควรฆ่าใคร ไม่ควรทำร้ายร่างกายของใคร เพราะทุกสัตว์บุคคลต่างก็รักชีวิตของตน ไม่ปรารถนาให้ใครมาทำร้าย จึงควรคิดถึงใจเขาใจเราเปรียบเทียบกันดังนี้ ฉะนั้น จะเป็นการยุติธรรมหรือ จะเป็นการถูกต้องอยู่หรือ ที่เมื่อตนไม่อยากให้ใครมาทำร้ายตนแต่ตนกลับไปทำร้ายผู้อื่นสัตว์อื่น ควรจะมีเมตตากรุณาอนุเคราะห์เกื้อกูลกันต่างหาก เพราะตนก็อยากจะให้คนอื่นมีเมตตากรุณาในตน ฉะนั้น ตนก็ควรจะมีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น

ข้อต่อๆไปก็เหมือนกัน เมื่อรับรองว่ามีสัตว์บุคคล ก็รับรองความเป็นเจ้าของในทรัพย์สมบัติ รับรองเชื้อสายวงศ์ตระกูล รับรองวาจาที่พูดต่อกันถึงเรื่องต่างๆ ตลอดถึงรับรองความครองตนอยู่ด้วยความไม่ประมาทขาดสติ จึงได้บัญญัติศีลและธรรมข้อต่อๆไปโดยลำดับ โดยอาศัยหลักยุติธรรมเช่นเดียวกับคู่ที่ ๑ คือ ตนประสงค์จะให้คนอื่นคิดต่อตนทำต่อตนฉันใด ก็ควรคิดต่อคนอื่นทำต่อคนอื่นฉันนั้นเหมือนกัน

อีกอย่างหนึ่ง ศีลและธรรมที่คู่กันนี้ต่างอิงอาศัยกัน เมื่อปฏิบัติไปด้วยกันย่อมเป็นการสะดวก คือ เมื่อเว้นจากการฆ่า ก็ควรอบรมเมตตากรุณาให้มีขึ้นในจิตใจและการกระทำด้วย และเมื่อจิตใจเต็มไปด้วยเมตตากรุณา ปราศจากโทสะพยาบาทแล้ว ก็จะฆ่าจะทำร้ายใครไม่ได้อยู่เอง จะเรียกว่าเกิดเป็นศีลขึ้นโดยอัตโนมัติก็ได้

เมื่อเว้นจากการลัก ก็ควรประกอบอาชีพโดยชอบ ถ้าเกียจคร้านไม่ประกอบอาชีพที่ชอบ จะได้ทรัพย์มาจับจ่ายใช้สอยเลี้ยงตนและครอบครัวจากที่ไหน ก็จะต้องลักขโมยเขา แต่ขยันหมั่นเพียรประกอบอาชีพที่ชอบ จะมีทรัพย์สินเกิดขึ้น ไม่จำต้องไปลักขโมยใคร

เมื่อเว้นจากความเป็นชู้ในทางผิด และมีความยินดีอยู่เฉพาะในคู่ครองของตน ก็จะไม่คิดไปยุ่งเกี่ยวกับใครอื่นให้เป็นที่เดือดร้อน

เมื่อเว้นจากพูดเท็จ และพูดแต่ความจริงที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ รักษาสัจจะรักษาสัญญาที่ให้ไว้ต่อกัน ก็ไม่ต้องการจะพูดเท็จหลอกลวงใครให้เสียประโยชน์

เมื่อเว้นจากนํ้าเมาและหมั่นหัดอบรมความมีสติ รักความมีสติ ก็จะเกลียดนํ้าเมาไปเอง

เมื่อปฏิบัติศีลและธรรมคู่ที่อิงอาศัยกันไปด้วยกันเช่นนี้ การเบียดเบียนกันก็จะไม่เกิดขึ้น ความสุขสงบก็จะตามมา สมดังความปรารถนาของทุกคน ที่ไม่ต้องการมีความทุกข์ ความเดือดร้อน ความถูกเบียดเบียน

สัมมาทิฐิ ยังได้ชี้แจงต่อไปว่า องค์พระบรมครูทรงแสดงธรรมทางปรมัตถสัจจะ คือ ความจริงที่มีเนื้อความอย่างละเอียดลึกซึ้งยิ่ง ดังที่แสดงขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน คือแสดงว่า ก้อนกายและใจอันนี้ ที่แบ่งออกเป็น ๕ กอง ได้แก่ กองรูป กองเวทนา (ความรู้สึกเป็นสุข ทุกข์ หรือกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขต่างๆ) กองสัญญา (ความจำหมาย) กองสังขาร (ความคิดปรุงแต่งต่างๆ) กองวิญญาณ (ความรู้สึกเห็นได้ยินเป็นต้น) รวมกันเป็นกายและใจที่มีชีวิตครองอยู่นี้ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เพราะต้องเป็นไปเพื่ออาพาธ คือต้องถูกเบียดเบียนให้ทรุดโทรม ให้เจ็บ จนถึงให้แตกสลายด้วยความแก่ เจ็บ ตาย นับจำเดิมแต่เกิดเป็นต้นมา จึงเป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน ไม่ควรที่ใครๆ จะเห็นจะยึดถือว่าเป็นของเรา เราเป็นหรือเป็นตัวตนของเรา

หรือทรงแสดงโดยทำนองว่า ร่างกายนี้สักแต่ว่าเป็นธาตุ คือดินนํ้าไฟลมประกอบกันเข้า มิใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ทรงสอนดังนี้ก็เพื่อให้ผู้ที่ต้องการความพ้นทุกข์พิจารณาให้รู้ตามเป็นจริง เพื่อละอวิชชา (ความไม่รู้ในสัจจะ) ตัณหา (ความดิ้นรนทะยานอยาก) อุปาทาน (ความยึดถือสิ่งทั้งปวงในโลก) เพราะพระองค์ได้ตรัสรู้สัจจะว่า ทุกข์นั้นเกิดจากตัณหา ดับตัณหาเสียได้ จึงดับทุกข์ แม้เช่นนี้ ก็เป็นข้อปฏิบัติทางจิตใจ ในทางกาย หรือทางสังคม ก็ต้องปฏิบัติตามควรแก่โลกสัจจะหรือสมมุติสัจจะ เหมือนอย่างมีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

พระบรมครูและพระอรหันตสาวกก็ทรงปฏิบัติต่อบุคคลต่างๆ ตามควรแก่ฐานะ ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระภิกษุสงฆ์ปฏิบัติ พระวินัยนั้นเป็นศีลอย่างละเอียด รวมทั้งศีล ๕ นั้นด้วย แต่มีอีกมากมายนัก ล้วนเกี่ยวแก่การที่จะต้องถือนั่นถือนี่ ดูคล้ายกับมีความเป็นเจ้าของ เป็นของตัวของตน คล้ายกับมีทิฐิมานะต่างๆมากมาย ล้วนเป็นข้อปฏิบัติทางกายและวาจาที่เกี่ยวข้องกันเอง และเกี่ยวข้องกับคนทั่วไปในโลก ทำให้เห็นว่า พระภิกษุสงฆ์นั้นเป็นคณะบุคคลอีกจำพวกหนึ่งที่แยกตัวออกไปจากโลก มีความประพฤติปฏิบัติที่ละเอียดประณีตออกไป ซึ่งดูอีกแง่หนึ่งก็คล้ายกับมีอุปาทานความยึดถือมาก แม้พระภิกษุซึ่งเป็นพระอรหันต์ก็ต้องปฏิบัติตามพระวินัย ต้องทำอุโบสถสังฆกรรมฟังพระปาฏิโมกข์ทุก ๑๕ วัน

ฉะนั้น ศีลทุกอย่างจึงเกี่ยวแก่สมมุติสัจจะหรือโลกสัจจะ เป็นข้อปฏิบัติทางกายวาจาตามที่โลกถือว่าดีงามตามเหตุผล องค์พระบรมครูเองก็ได้ทรงปฏิบัติในพุทธวินัย ซึ่งยิ่งละเอียดประณีตไปกว่าสาวกวินัยที่ทรงบัญญัติขึ้น ทรงปฏิบัติสนองพระคุณพระพุทธบิดามารดาเหมือนอย่างคนมีความกตัญูกตเวทีทั้งปวง ทุกคนจึงควรรู้และปฏิบัติธรรมขององค์พระบรมครูให้ถูกต้อง

ทางจิตใจเมื่อมุ่งปรมัตถสัจจะก็ปฏิบัติไป ส่วนทางกายหรือทางสังคมก็ต้องปฏิบัติตามศีลตามวินัยอันตั้งอยู่บนมูลฐานของโลกสัจจะหรือสมมุติสัจจะ ซึ่งจะต้องถือนั่นถือนี่ในทางที่เว้นเบียดเบียนกัน ในทางที่เป็นความประพฤติดีงามน่าดูน่าชม

การรู้และปฏิบัติธรรมขององค์พระบรมครูให้ถูกต้อง เป็นการบริหารจิตโดยตรง ซึ่งจะให้ผลเป็นความสุข ความงดงาม แก่จิตใจผู้ปฏิบัติทุกคน ตามควรแก่ความปฏิบัติ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 194 กุมภาพันธ์ 2560 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น