xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : “พระโอวาทปาฏิโมกข์” เนื่องในวันมาฆบูชา ครั้งแรกและครั้งเดียวของพระสัมมาสัมพุทธโคตมศากยะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันเพ็ญเดือน ๓ เป็นมหามงคลสมัยชวนให้ชาวเราทั้งหลายระลึกถึงคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาเอกในโลก เพราะเป็นวันคล้ายกับวันที่พระองค์ทรงกระทำวิสุทธิอุโบสถ แสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ คือพระโอวาทที่เป็นหลัก เป็นประธานของพระศาสนา ในที่ประชุมวิสุทธิสงฆ์องค์พระอรหันต์จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ ที่พระวิหารเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ

ก็การแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์นี้ พระโบราณาจารย์ได้กำหนดว่า เป็นประเพณีที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ทรงกระทำมาแล้วทุกๆพระองค์ ตั้งแต่ต้นพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเป็นพุทธธรรมดา แม้พระพุทธเจ้าที่จักตรัสรู้ในอนาคตข้างหน้า ก็จักทรงกระทำอย่างเดียวกัน แต่วาระที่ทรงกระทำนั้นมีมากบ้างน้อยบ้างไม่เหมือนกัน บางพระองค์ก็ทรงกระทำได้มากครั้ง บางพระองค์ก็กระทำได้น้อยครั้ง

เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธโคตมศากยะพระองค์นี้ ทรงกระทำได้เพียงครั้งเดียว เพราะพิธีเช่นนี้มิได้มีกำหนดกฎเกณฑ์ ต้องอาศัยความประจวบพร้อมแห่งอาการ ๔ อย่าง คือ วันนั้นต้องเป็นวันตรงกับดิถีเพ็ญกลางเดือน ๓ หรือ เดือนมาฆะ อย่าง ๑ พระสงฆ์สาวกที่มาจากทิศต่างๆ ต้องต่างองค์ต่างมาโดยไม่มีการนัดหมาย อย่าง ๑ ผู้ที่มาประชุมนั้นต้องเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด อย่าง ๑ และต้องเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาในสำนักพระพุทธเจ้า อีกอย่าง ๑ รวมเป็น ๔ ประการ จึงได้เรียกว่า “วันจาตุรคิกสันนิบาต” แปลว่า การประชุมที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ ต้องพรักพร้อมครบทั้ง ๔ ประการเช่นนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงจักทรงกระทำมาฆพิธีได้ครั้งหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาของเราทั้งหลายพระองค์นี้ ทรงประกาศพระพุทธศาสนาอยู่ ๔๕ ปี ได้ทรงกระทำมาฆพิธีเช่นนี้ได้เพียงครั้งเดียวคราวเดียว ในปลายปฐมโพธิกาลแรกตรัสรู้ตอนปลาย มีระยะนับแต่ทรงแสดงปฐมเทศนาแล้ว เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ณ กรุงราชคฤห์ ทรงกระทำที่พระวิหารเวฬุวันในกรุงนั้น และวันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ ซึ่งบางปีตรงกับเดือน ๓ บ้าง เดือน ๔ บ้าง ทางจันทรคตินิยม มีพระอรหันต์ขีณาสพล้วนเอหิภิกขุมาประชุมเฝ้าจากทิศต่างๆกัน โดยไม่มีการนัดหมายไว้ก่อน เผอิญมาประจวบกันเข้าในวันนั้น เมื่อการประชุมนั้นเป็นไปโดยสมควรแก่เวลาแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงกระทำวิสุทธิอุโบสถ ทรงแสดงขึ้นซึ่งพระโอวาทปาฏิโมกข์คาถาดังนี้ว่า

“ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา” ความอดทนหรือความทนทานเป็นตปธรรม เครื่องเผาผลาญกิเลสอย่างยิ่ง
“นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา” ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมะอย่างยอดเยี่ยม
“น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต” บุคคลผู้เข้าไปฆ่าสัตว์อื่นหาเป็นบรรพชิตไม่ เมื่อเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ก็หาเป็นสมณะไม่
“สพฺพปาปสฺส อกรณํ” การไม่กระทำบาปทั้งปวง ๑
“กุสลสฺสูปสมฺปทา” การกระทำกุศลทั้งปวง ๑
“สจิตฺตปริโยทปนํ” การกระทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑
“เอตํ พุทฺธานสาสนํ” กิจ ๓ อย่างนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
“อนูปวาโท” การไม่เข้าไปว่าร้าย ๑
“อนูปฆาโต” การไม่เข้าไปฆ่า ๑
“ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร” การสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๑
“มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ” ความเป็นผู้รู้จักประมาณในภัตตาหาร ๑
“ปนฺตญฺจ สยนาสนํ” ที่นอนและที่นั่งอันสงัด ๑
“อธิจิตฺเต จ อาโยโค” การประกอบในอธิจิต ๑
“เอตํ พุทฺธานสาสนํ” กิจ ๖ อย่างนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายดังนี้

นี้เป็นใจความสังเขปของพระโอวาทปาฏิโมกข์ในวันนั้น

ก็การแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ในพระพุทธศาสนามี ๒ อย่าง คือ ยกหัวข้อธรรมะอันเป็นหลักของพระศาสนา เช่น ขันติ เป็นต้น ขึ้นประกาศอย่าง ๑ ยกพระวินัยอันเป็นข้อบังคับขึ้นประกาศอย่าง ๑ เรื่องที่ยกขึ้นประกาศนั้น เรียกว่า ปาฏิโมกข์ ถ้าเป็นพระโอวาทคือคำสอนคำเตือนก็เรียกว่า “โอวาทปาฏิโมกข์” ดังพระคาถานี้

ถ้าเป็นคำสั่งคำบังคับอันเป็นพระวินัย ก็เรียกว่า วินัยปาฏิโมกข์ เช่น ภิกขุนีปาฏิโมกข์ หรือภิกขุปาฏิโมกข์ เมื่อเพ่งตามนี้คำว่า “ปาฏิโมกข์” นั้น ก็ต้องแปลว่า “เรื่องที่ยกขึ้นประกาศในที่มีหน้าเฉพาะ” คือประกาศในท่ามกลางสงฆ์พร้อมหน้ากัน และถ้าเพ่งโดยพยัญชนะก็แปลว่า “เรื่องที่เป็นหัวข้อหรือหัวหน้าอย่างยิ่ง” โดยความก็คือเป็นประธานหรือเป็นหลัก หรือเป็นแม่บทของพระพุทธศาสนา เพราะความในพระโอวาทปาฏิโมกข์คาถานั้น เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาทั้งหมด และมิใช่พระพุทธเจ้าพระองค์นี้เท่านั้นที่ทรงแสดงอย่างนี้ แม้พระพุทธเจ้าที่เป็นอดีตล่วงมาแล้ว หรือที่เป็นอนาคตภายหน้า ก็จักทรงแสดงอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ในบทสุดท้ายแห่งพระคาถานั้น จึงใช้คำเป็นพหูพจน์ว่า “เอตํ พุทฺธานสาสนํ” นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายดังนี้

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายพระองค์นี้ ทรงบำเพ็ญพุทธกิจประดิษฐานสาวกมณฑลให้เป็นไป นับแต่อภิสัมโพธิสมัยล่วงได้ ๔๔ พรรษา ครั้งพรรษาที่ ๔๕ เสด็จไปทรงจำพรรษา ณ บ้านเวฬุวคาม เมืองไพศาลี ตามพระพุทธอัธยาศัย จนกาลล่วงเข้าเหมันตฤดู ซึ่งพระอรรกถาจารย์กำหนดว่า

มาฆปูรณมีสมัยพระองค์ทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์สถานว่า “โดยกาลล่วงไปแต่นี้ ๓ เดือน เราจักดับขันธปรินิพพาน” เหตุนั้นมาปูรณมีดิถีเพ็ญเดือนมาฆมาส จึงเป็นอภลักขิตกาลร่วมกัน ๒ สถาน คือเป็นวันที่พระองค์ทรงกระทำวิสุทธิอุโบสถแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ ๑ ทรงปลงพระชนมายุสังขาร ๑ ดิถีเช่นนั้นเวียนมาถึงเราทั้งหลายอีกวาระหนึ่ง ในวันเพ็ญเช่นที่กล่าวแล้วนี้ เราทั้งหลายเป็นพุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธาปสาทะแรงกล้า ได้ไปสู่ปูชนียสถาน ณ วัดวาอารามนั้นๆ กระทำสัมมานสักการพระพุทธปฏิมาเจดียสถาน เป็นต้น จึงเป็นเหมือนได้มาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดา แม้จะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วพระองค์นั้น

อนึ่ง เมื่อได้ไปเห็นพระภิกษุสงฆ์ได้ประชุมพร้อมกัน ณ โรงอุโบสถนั้นๆแล้ว ก็คล้ายกับได้มาเห็นพระสงฆ์องค์พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ซึ่งได้มาประชุมพร้อมกันในที่เฉพาะพระพักตร์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเมื่อเราทั้งหลายได้พากันสดับฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งแสดงถึงพระพุทธจริยาและพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ก็เสมือนได้รับพระโอวาทที่ออกจากพระโอษฐ์พระพุทธเจ้า เมื่อเราทั้งหลายน้อมใจระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับพระวิสุทธิสงฆ์องค์พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ แล้วกระทำการบูชาด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาอยู่ ก็เท่ากับได้บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกผู้บริสุทธิ์ ย่อมเป็นบุญเป็นกุศล

สมด้วยนิพนธคาถาว่า “ปูชารเห ปูชยโต พุทฺเธ ยทิ จ สาวเก” เป็นอาทิ แปลความว่า เมื่อบุคคลมาบูชาท่านผู้ควรบูชา คือพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ล่วงพ้นปปัญจธรรม คือตัณหา ความทะยานอยาก มานะ ความถือตัว ทิฏฐิ ความเห็นผิด ความรู้ผิด ข้ามล่วงความโศกและความระทมใจเสียได้ ใครๆก็ไม่สามารถจะนับผลบุญของบุคคลผู้บูชาท่านผู้เที่ยงตรง คงที่ เยือกเย็น ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆว่า “บุญนี้มีประมาณเท่านี้ๆ” ดังนี้

ข้อนี้เมื่อเทียบกับทางคดีโลก ก็จะเห็นได้ว่าสกุลที่มีความเจริญรุ่งเรือง ถ้าถึงอภิลักขิตสมัยคล้ายกับวันเกิดวันตาย หรือวันมงคลการอย่างอื่นของท่านผู้ต้นสกุล อนุชนในสกุลนั้นๆ ผู้มีความเคารพนับถือมั่นเป็นกตัญญูกตเวทีบุคคล ย่อมประชุมกันแสดงคารวะเอื้อเฟื้อจงรักภักดีต่อท่านผู้เป็นใหญ่ในสกุลแห่งตนๆนี้ เป็นประเพณีนิยมในทางโลก ซึ่งเป็นอาการอันดีงามของชนที่เจริญแล้ว ในชนหมู่หนึ่งๆ ตลอดถึงประเทศชาติหนึ่ง ย่อมต้องมีหัวหน้าเป็นใหญ่เป็นประธานเป็นประมุข เป็นบุพการีเป็นที่รวมจิตใจเคารพนับถือยำเกรงของคนในครอบครัวนั้นชุมชนนั้น ประเทศชาตินั้น เช่น บิดามารดาเป็นหัวหน้า เป็นประมุขเป็นบุพการีของครอบครัว พระราชามหากษัตริย์เป็นประธาน เป็นพระประมุข เป็นบุพการีของอาณาประชาราษฏร์ ส่วนในทางศาสนา พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงเป็นประธาน เป็นพระประมุข เป็นบุพการีของพุทธศาสนิกชน

ประเทศชาติจะถึงความเจริญและประสบสันติสุข ก็ต้องอาศัยมีศาสนาที่ดีเป็นหลักปฏิบัติ และพระศาสนาจะเจริญถาวรอยู่ในโลกได้ ก็ต้องอาศัยประเทศชาติที่เป็นอิสระช่วยอุปถัมภ์บำรุง ธรรมะจักเจริญไม่ได้ ถ้าไม่อาศัยโลก และโลกก็จักเจริญไม่ได้ ถ้าไม่อาศัยยึดถือธรรมะเป็นหลักปฏิบัติ เพราะฉะนั้น โลกกับธรรมต้องอาศัยกันและกันฉันใด ประเทศชาติกับศาสนาก็ต้องอาศัยกันและกันฉันนั้น

และประเทศชาติที่จะมั่นคงดำรงเป็นอิสระอยู่ได้ ก็ต้องอาศัยพระราชามหากษัตริย์เป็นพระประมุขและตั้งอยู่ในธรรม ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์โดยทศพิธราชธรรม สมเป็นนาถะและเป็นผู้นำแห่งชาวประชา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้รับพระเกียรติว่า “เป็นโลกนาถะและโลกนายก” ฉันใด พระมหากษัตริย์ก็ทรงได้รับพระเกียรติว่า “เป็นประชานาถะและประชานายก” ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงพรากจากกันไม่ได้ ดุจเดียวกันกับพระรัตนตรัย ก็พรากจากกันไม่ได้

ดังนั้น บุคคลผู้กตัญญูรู้คุณของประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็ต้องกตเวที คือตอบแทนให้ปรากฏด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ด้วยการปฏิบัติตนมั่นอยู่ในศีลในธรรม เป็นธรรมจารีบุคคล นี้เป็นกตัญญูกตเวทีต่อพระศาสนา รู้จักหน้าที่อันตนจะพึงปฏิบัติอย่างไรตามฐานะที่ตนอาศัยอยู่ในประเทศชาติ เช่น ช่วยกันผดุงสามัคคีธรรมให้เจริญ อย่ายุแหย่ชักชวนไปในทางแตกสามัคคี เป็นต้น นี้เป็นหลักความกตัญญูกตเวทีต่อประเทศชาติ

เมื่อเรายกย่องท่านผู้ใดเป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นประมุข เป็นพระมหากษัตริย์ ก็ต้องมีความจงรักภักดี ซื่อสัตย์สุจริตในพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นพระประมุขของตนและของประเทศชาติแห่งตน นี้เป็นกตัญญูกตเวทีต่อพระมหากษัตริย์ เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็ย่อมจะบังเกิดผล คือความสุขความสวัสดีมงคลแก่ตนๆเป็นนิจนิรันดร์ ขอจบคำบรรยายพระโอวาทปาฏิโมกข์เนื่องในวันมาฆบูชาเพียงเท่านี้

(จากการบรรยายธรรมเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๙)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 194 กุมภาพันธ์ 2560 โดย สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตกาโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น