xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดชิโนรสาราม สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 7 ทรงสร้างไว้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัดชิโนรสาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 3 แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

ตามประวัติกล่าวไว้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2379 ด้วยพระประสงค์จะใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐาน สำราญพระอิริยาบถในบางโอกาส โดยทรงสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร 4 ทิศ พระเจดีย์ยอดปรางค์ พระเจดีย์ใหญ่ ในเวลานั้นชาวบ้านเรียกขานนามพระอารามแห่งนี้ว่า “วัดใหม่วาสุกรี” ตามพระนามเดิมของพระองค์ท่าน คือ “พระองค์เจ้าวาสุกรี” ต่อมาท่านได้น้อมถวายวัดใหม่วาสุกรี เป็นพระอารามหลวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แต่การสร้างวัดทั้งหมดยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ดี ก็ทรงสิ้นพระชนม์เสียก่อน

ต่อมาใน พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาเพ็ชรพิชัย(หนู) เป็นแม่กองในการบูรณปฏิสังขรณ์ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุส่วนที่ชำรุดทรุดโทรมทั่วทั้งพระอาราม พร้อมทั้งโปรดให้ทรงสร้างเพิ่มเติม อาทิ พระเจดีย์ขนาดใหญ่ หมู่กุฏิ 11 หลัง รวมทั้งหอระฆัง เพื่อให้เป็นพระอารามที่สมบูรณ์ ในการนี้ได้โปรดให้ช่างปั้นหรือเขียนรูปนาคไว้ทั่วไปในวัด เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งพระนามเดิมของสมเด็จฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรส คือ พระองค์เจ้าวาสุกรี (สุกรี แปลว่า นาค) ด้วยทรงระลึกถึงพระคุณของสมเด็จฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรส

เมื่อการบูรณปฏิสังขรณ์และการสร้างเพิ่มเติมทุกอย่างแล้วเสร็จสมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานนามวัดใหม่วาสุกรีว่า “วัดชิโนรสาราม” เพื่อให้ตรงกับพระนามของสมเด็จฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ผู้ทรงสถาปนาพระอารามแห่งนี้

ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุของวัด ได้แก่

• พระอุโบสถ กว้าง 13.60 เมตร ยาว 26.30 เมตร เป็นลักษณะทรงไทย หลังคาลด 2 ชั้น มีช่อฟ้าใบระกา ใช้เสากลมรับชายคาพาไลแถวด้านนอก มีระเบียงหน้าและหลัง เป็นศิลปะผสมผสานไทย-จีน คือ หลังคามุงกระเบื้องประดับช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันประดับปูนปั้นเป็นรูปกิ่งไม้ ดอกไม้ มีเทพพนมครึ่งองค์อยู่ตรงกลาง ปิดทองประดับกระจก บานประตูหน้าต่างภายในเขียนลายฮ่อ หรือลายโต๊ะจีน ภายนอกเขียนลายรดน้ำรูปนาคดั้นเมฆ บานประตูกลางด้านนอกเขียนรูปเซี่ยวกางเหยียบนาคถือพัดแฉก เพดานสีแดงเขียนรูปนาคลายฉลุปิดทอง

จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถแปลกกว่าพระอารามอื่น คือ ด้านหน้าพระประธานระดับหน้าต่าง เขียนภาพแผนที่วัดชิโนรส แผนที่คลอง แม่น้ำ และแผนที่พระบรมมหาราชวัง นอกนั้นเขียนเป็นภาพวัดต่างๆ แต่ลวดลายและภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ได้ลบเลือนไปมากแล้ว

พระอุโบสถนี้ได้รับการบูรณะมาแต่อดีต จนผิดเพี้ยนจากรูปลักษณ์เดิมไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางวัดได้บูรณปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนดังเดิม โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

• พระพุทธชินสีห์วรมงคลมุนี เป็นพระประธานในพระอุโบสถ เดิมไม่มีนามเรียกขาน ภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ว่า “พระพุทธชินสีห์วรมงคลมุนี” เป็นพระพุทธรูปหล่อ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 ศอก 4 นิ้ว สูงตลอดยอดพระรัศมี 1 วา 5 นิ้ว มีพระอัครสาวกซ้ายขวาข้างละองค์ สูง 2 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว เท่ากันทั้งสององค์ โดยพระประธานพร้อมพระอัครสาวกนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสโปรดให้ช่างหล่อขึ้นภายในวัด

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ปั้นพระมหาพิชัยมงกุฎ ลงรักปิดทองไว้เหนือซุ้มเรือนแก้ว หลังพระประธาน เพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า พระองค์ทรงระลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

• พระวิหาร 4 ทิศ หรือวิหารคด ทิศละ 2 หลัง รวม 8 หลัง เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา ปัจจุบันเหลือเพียง 2 หลัง แต่๘นี้ทางวัดกำลังสร้างขึ้นมาใหม่ทดแทน 2 หลังในตำแหน่งเดิม

• พระเจดีย์ยอดพระปรางค์ สูง 4 วา ฐานกว้าง 6 ศอก มีทั้งหมด 4 องค์ ตั้งอยู่ภายในมุมกำแพงพระอุโบสถทั้งสี่มุม ปัจจุบันไม่ปรากฏแล้ว

• พระเจดีย์คู่องค์ใหญ่ ก่ออิฐถือปูน ฐานล่างย่อ 6 เหลี่ยม สูง 14 วา ฐานกว้าง 13 วา องค์พระเจดีย์ย่อมุม 5 เหลี่ยม เป็นพระเจดีย์ไม้สิบสอง มียักษ์แบก 18 ตน องค์แรกตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นผู้สร้าง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นอีกองค์หนึ่งให้มีขนาดสูงใหญ่เท่ากัน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนี้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้บูรณะแล้วเสร็จ

• กุฏิ 11 หลัง ตั้งอยู่ด้านเหนือพระอุโบสถ ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ (ปัจจุบันจัดตั้งเป็นหอสมุด สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)

• หอระฆัง ก่ออิฐถือปูน สูง 4 วา 2 ศอก กว้าง 2 วา 1 ศอก มีช่องคูหา 4 ด้าน ยอดเป็นทรงตึกฝรั่ง ตั้งอยุ่ใกล้กำแพงพระอุโบสถด้านเหนือ

• พระตำหนักสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กว้าง 11.40 เมตร ยาว 24.90 เมตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างถวาย

• พระบรมรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ขนาดหน้าตักกว้าง 29 นิ้ว สูง 43 นิ้ว

สมเด็จฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ประสูติเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2333 เมื่อพระชนมายุได้ 12 พรรษา ก็ทรงผนวชเป็นสามเณร ประทับจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพน ทรงศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยและภาษาบาลี อยู่ในสำนักสมเด็จพระพนรัตน ผู้เป็นอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนในขณะนั้น ต่อมาได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อ พ.ศ. 2354 และทรงดำรงอยู่ในเพศบรรพชิต จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. 2396

สมเด็จฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงมีพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพหลายด้าน ได้ทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆ และบทกวีเป็นจำนวนมาก ที่ล้วนมีคุณค่าเป็นเพชรน้ำเอกทางวรรณกรรมของไทย อาทิ พระปฐมสมโพธิกถา ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก หรือร่ายยาวมหาชาติ ซึ่งนับเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกทางพระพุทธศาสนาในสมัยรัตนโกสินทร์ เรื่องลิลิตตะเลงพ่าย พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เทศนาพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ลิลิตกระบวนพยุหยาตราพระกฐินสถลมารค และชลมารค เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังทรงคิดแบบพระพุทธรูปปางต่างๆ โดยทรงเลือกพระอิริยาบถจากพุทธประวัติ จำนวน 37 ปาง เริ่มตั้งแต่ปางบำเพ็ญทุกขกิริยา จนถึงปางห้ามมาร

พ.ศ. 2533 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปี พ.ศ.2533 นับเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ได้รับการถวายเกียรตินี้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 194 กุมภาพันธ์ 2560 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น