xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิสันถาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันมาฆบูชาปีนี้ ตรงกับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ถือเป็นวันสำคัญในพุทธศาสนา ที่พุทธศาสนิกชนจะทำการบูชาเป็นพิเศษ

มาฆบูชา ย่อมาจาก “มาฆปูรณมีบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือ 15 ค่ำ เดือน 3 วันนี้เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาฏิโมกข์” ซึ่งเป็นหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา กล่าวโดยย่อ คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตให้ผ่องใส เพื่อให้เป็นหลักปฏิบัติแก่พุทธศาสนิกชนทั้งปวง

พิธีบูชาเนื่องในวันมาฆบูชาในประเทศไทย เริ่มมีเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงปรารภถึงความสำคัญของวันมาฆบูชา ว่ามีเหตุการณ์สำคัญ 4 ประการ ที่เรียกันว่า “จาตุรงคสันนิบาต” เกิดขึ้น สมควรที่พุทธศาสนิกชนจะได้ทำการบูชา เพื่อระลึกถึงความสำคัญของวันดังกล่าว และพระคุณของพระพุทธเจ้า พระองค์จึงโปรดให้จัดพิธีบูชาขึ้นในพระบรมมหาราชวัง โดยโปรดให้มีการพระราชกุศลในเวลาเช้าในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในเวลาค่ำพระองค์ได้เสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็น และสวดโอวาทปาฏิโมกข์ เมื่อพระสงฆ์สวดมนต์จบ ทรงจุดเทียนตามราวรอบพระอุโบสถ 1,250 เล่ม พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนาโอวาทปาฏิโมกข์ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จในการพระราชกุศลมาฆบูชาเป็นประจำทุกปี

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการพระราชกุศลมาฆบูชา นอกเหนือจากในพระบรมมหาราชวังด้วย เนื่องจากพระองค์เสด็จประพาสต้นตามหัวเมืองต่างๆ บ่อยครั้ง และหากครั้งใดตรงกับวันมาฆบูชา ก็จะทรงประกอบพระราชพิธีในสถานที่นั้นๆ เช่น ที่บางปะอิน พระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจึงได้นำเอาพิธีบูชา เนื่องในวันมาฆบูชาไปปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางสืบต่อมาจนปัจจุบัน

ใน พ.ศ. 2549 รัฐบาลได้ประกาศให้วันมาฆบูชา เป็น “วันกตัญญูแห่งชาติ”

มีพุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา - ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี” ซึ่งเป็นคุณธรรมที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้ทรงถือปฏิบัติมาโดยตลอด ดังปรากฏเรื่องราวกล่าวขานถึงความประทับใจที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จนประชาชนยกย่องพระองค์ท่านเป็น “พระมหากษัตริย์ยอดกตัญญู”

ขอเชิญชวนผองเราชาวไทยทั้งหลาย ได้พากันปฏิบัติตามคุณธรรมข้อนี้ของ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ผู้ทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างมาแล้วด้วยดีเถิด อันจะถือเป็นการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายแด่ “พระมหากษัตริย์ยอดกตัญญู” พระองค์นั้น

(จากนิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 194 กุมภาพันธ์ 2560)
กำลังโหลดความคิดเห็น