xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : น้ำตาลฟรุกโตส ต้นตอของโรคอ้วน และอีกสารพัดโรคร้าย (อาหารต้านโรค ตอนที่ 6)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่านผู้อ่านครับ ตอนที่แล้วได้พูดถึงผลเสียของการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป ทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ไม่ใช่บริโภคไขมันมากเกินไปอย่างที่เราเข้าใจ ตอนนี้ผู้เขียนขอขยายความให้เข้าใจมากขึ้นอีกเล็กน้อยครับ

น้ำตาลที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในเรื่องสุขภาพของคนเรา คือ ฟรุกโตส ซึ่งเป็นมอโนแซ็กคาไรด์ (Monosaccharide) หรือน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ที่พบในผลไม้และน้ำผึ้ง น้ำตาลฟรุกโตสเริ่มออกจำหน่ายในญี่ปุ่น ระหว่างปี 1960 และแพร่หลายเข้ามาในสหรัฐในปี 1970

ในระหว่างปี 1970-2000 การบริโภคน้ำตาลฟรุกโตสในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 30 ส่วนใหญ่จะเป็นการบริโภคเครื่องดื่มน้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชาเขียว เป็นต้น ซึ่งมีฟรุกโตสเป็นส่วนประกอบสำคัญ หลังจากนั้นอเมริกาก็จำหน่ายน้ำตาลชนิดนี้ไปทั่วโลก ประเทศที่นำเข้ามาก เช่น เม็กซิโก ซึ่งมีการบริโภคน้ำตาลฟรุกโตสสูง พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของโรคเบาหวานตามไปด้วยอย่างชัดเจน

น้ำตาลในน้ำอัดลมเป็นน้ำตาลฟรุกโตสชนิดน้ำเชื่อม (Fructose Corn syrup) ผสมเข้าไปให้มีรสหวาน เพื่อลดต้นทุนการผลิต ในน้ำเชื่อมฟรุกโตส มีฟรุกโตสอยู่ร้อยละ 42-55 ซึ่งเหมือนกับน้ำตาลก้อน (Table Sugar) คือ น้ำตาลซูโครส (Sucrose) ประกอบด้วยกลูโคสและฟรุกโตสอย่างละครึ่ง น้ำเชื่อมฟรุกโตสเป็นสารที่อุตสาหกรรมอาหารใส่ไว้ในเครื่องดื่มต่างๆ เพื่อให้มีรสหวาน มันมีรสหวานกว่าน้ำตาลก้อน 7 เท่า และราคาถูกกว่า 1 ใน 3 ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำลง

ปัจจุบัน การค้าที่ขยายตัวไปทั่วโลก ทำให้น้ำตาลฟรุกโตสมีการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารอย่างกว้างขวาง พร้อมกับการแพร่ระบาดของโรคอ้วน โรคเบาหวานประเภทที่ 2 ไปทั่วโลกเช่นกัน จะเห็นว่าแม้แต่ประเทศซาอุดีอาระเบีย มาเลเซีย อียิปต์ เม็กซิโก แคนาดา ฮังการี ล้วนมีการบริโภคน้ำตาลฟรุกโตสสูงมาก และมีการเพิ่มขึ้นของเบาหวานประเภทที่ 2 สูงมากตามไปด้วย

แต่เดิมเชื่อว่า น้ำตาลฟรุกโตส เหมาะที่จะนำมาใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากมันไม่กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน แต่ต่อมาพบว่า มันเป็นตัวปัญหาในการระบาดของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีการศึกษาในคนพบว่า การบริโภคน้ำตาลฟรุกโตสมากเกินไป ทำให้เกิดการระบาดของภาวะดื้อต่ออินซูลิน ภาวะอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ และเบาหวานชนิดที่ 2 โดยเฉพาะในเด็ก

นพ.ไมเคิล โกลัน (Michael Goran) และคณะ ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณน้ำตาลฟรุกโตสที่บริโภค กับการเกิดโรคเบาหวาน ใน 199 ประเทศ ในผู้ใหญ่อายุ 20 ปีขึ้นไป พบว่า ใน 49 ประเทศ ประเทศที่บริโภคน้ำตาลฟรุกโตส จะพบโรคเบาหวานสูงกว่าเกือบร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับประเทศที่ไม่ได้บริโภคน้ำตาลชนิดนี้ (Global Public Health 2012,1-10,I Frist article)

ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ นพ.กรอส และคณะ (Gross L.S, Am J Cli Nutr2004:79(5):774-779) ซึ่งพบว่า การเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 เพิ่มขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20 เนื่องจากการบริโภคน้ำตาลฟรุกโตสแบบน้ำเชื่อม ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานด้านอาหารตัวแรกที่ชัดเจน

ในปี 1809 เริ่มมีรายงานคนไข้โรคอ้วนแบบอันตราย (Morbid Obesity) รายแรกของโลก ชื่อ นายแดเนียล แลมเบิร์ต (Daniel Lambert) น้ำหนัก 732 ปอนด์ (ประมาณ 332 กก.) เขาเสียชีวิตเมื่ออายุ 40 ปี เสื้อคลุมของเขาให้คนรูปร่างธรรมดาใส่ได้ถึง 7 คน

ต่อมาในปี 2008 มีรายงานว่า ชาวอเมริกันบริโภคน้ำตาลฟรุกโตส ปีละ 17.1 กก.ต่อคน/ปี และน้ำตาลอ้อย 21.2 กก.ต่อคน/ปี การบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้นมาก พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของโรคอ้วนและโรคเบาหวาน เหมือนเป็นเงาตามตัว

ปัจจุบัน โรคอ้วนและโรคเบาหวานจัดเป็นโรคที่ระบาดไปทั่วโลก พร้อมกับพัฒนาการของอาหารแปรรูปประเภทแป้งและน้ำตาลที่ขยายตัวไปทั่วโลกเช่นกัน อาหารเหล่านี้บรรจุหีบห่อน่ารับประทาน และในรูปเครื่องดื่มต่างๆ ซึ่งมันเป็นมหันตภัยของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 เพราะฉะนั้น นักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพจึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารประเภทนี้ ก่อนที่จะเกิดโรคภัยตามมา

ศาสตราจารย์ริชาร์ด จอห์นสัน อายุรแพทย์ด้านโรคไต แห่งมหาวิทยาลัยโคโรราโด ได้ศึกษาเกี่ยวกับผลของน้ำตาลฟรุกโตสต่อการเกิดโรคต่างๆ พบว่า นอกจากมันจะทำให้อ้วนเร็วแล้ว มันยังทำให้เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันพอกที่ตับ โรคหัวใจ โรคไต กรดยูริคสูง เป็นโรคเกาต์ และมันยังเป็นตัวทำให้เกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า Syndrome X หรือ ที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า Metabolic Syndrome (โรคอ้วนลงพุง) ท่านเชื่อว่า ในอเมริกา ตัวปัญหาคือน้ำอัดลม เครื่องดื่มรสหวานต่างๆ ที่ผลิตโดยกระบวนการทางอุตสาหกรรม เป็นสาเหตุของโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดัน ไขมันในเลือดผิดปกติ

ดังนั้น การรักษาโรคเหล่านี้ ปัจจุบันคือ การลดอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล ให้เหลือน้อยๆ เพื่อจะได้ไม่ไปกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ทำให้โรคต่างๆเหล่านี้หายได้โดยไม่ต้องกินยาลดไขมัน ลดความดัน ลดน้ำตาล จึงนำมาซึ่งการคิดค้นเรื่องอาหาร แป้งและน้ำตาลต่ำ หรือ Low Carb Diet ซึ่งจะกล่าวต่อไปในคราวหน้า

ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปฟังคำบรรยายของ ศ.จอห์นสัน ได้ที่ www.youtube.com พิมพ์คำว่า prof. Richard Johnson : the origin of obesity and fatty liver.

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 193 มกราคม 2560 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
กำลังโหลดความคิดเห็น