xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : สายเสียงอักเสบ และวิธีถนอมเสียง (ตอน 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การเกิดเสียงพูด เกิดจากการทำงานร่วมกันของระบบต่างๆได้แก่ระบบหายใจ และระบบทางเดินอาหาร กล่องเสียงเป็นทางผ่านของอากาศจากปอดไปสู่ทางเดินหายใจส่วนบน ตั้งอยู่ภายในบริเวณลำคอใต้ช่องปากลงไป ซึ่งในผู้ชายจะเห็นชัดคือส่วนที่เราเรียกว่าลูกกระเดือก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกล่องเสียงนั่นเอง

กล่องเสียงประกอบด้วยกระดูกอ่อนและกล้ามเนื้อหลายชิ้นทำงานร่วมกับสายเสียงขึงตึงจากด้านในของลูกกระเดือกไปยังส่วนหลังของกล่องเสียง เสียงพูดเกิดจากลมหายใจออกที่ผ่านออกจากปอดและหลอดลมไปยังสายเสียง ช่วงที่เราพูดกล้ามเนื้อของสายเสียงจะดึงสายเสียงให้เข้ามาชิดกัน ลมจากปอดนี้จะดันให้สายเสียงเปิด-ปิด แยกออกเป็นจังหวะมีผลให้สายเสียงเกิดการสั่นสะเทือน

ถ้าสายเสียงสั่นสะเทือนด้วยความถี่สูงเสียงจะสูง ถ้าสายเสียงสั่นสะเทือนด้วยความถี่ต่ำเสียงจะทุ้ม เสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของสายเสียงเพียงอย่างเดียวจะมีแต่เสียงสูงต่ำ จนเมื่อมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของอวัยวะที่อยู่เหนือสายเสียงคือ อวัยวะในช่องคอและช่องปาก เช่น ลิ้น ฟัน เพดาน ก็จะทำให้เกิดเป็นเสียงพูด

จะเห็นได้ว่า “สายเสียง” เป็นอวัยวะที่สำคัญในการสร้างเสียง หากเกิดปัญหากับสายเสียง เช่น ใช้เสียงผิดวิธี หรือเกิดการติดเชื้อของสายเสียง จะทำให้เกิดสายเสียงอักเสบ บวมแดง เกิดตุ่มที่สายเสียง(vocal nodule) สายเสียงก็จะไม่สามารถผลิตเสียงที่มีคุณภาพดีๆได้ ทำให้เกิดเสียงแหบแห้ง หรือเสียงหายตามมา

เมื่อสายเสียงอักเสบจะทำให้สายเสียงบวม และเข้ามาประชิดกันไม่สนิทในขณะพูด เกิดเสียงแหบหรือมีลมแทรก สายเสียงอักเสบนี้พบได้บ่อยในคนทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เป็นไข้หวัด เจ็บคอ ไอ สูบบุหรี่ ดื่มสุราจัด หรือใช้เสียงมากเกินไป

สายเสียงอักเสบ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

1. สายเสียงอักเสบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มักเป็นชั่วคราว (ไม่เกิน 3สัปดาห์) ผู้ป่วยมักจะดีขึ้นหลังให้การรักษาสาเหตุ
2. สายเสียงอักเสบเรื้อรัง ส่วนใหญ่มีอาการนานเกิน 3 สัปดาห์ มักเป็นๆหายๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ

สายเสียงอักเสบ เกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่
การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อวัณโรค ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เมื่อเป็นหวัดจะมีการอักเสบของบริเวณช่องจมูกและภายในคอ การอักเสบนี้อาจลามต่อไปถึงกล่องเสียงและสายเสียง ทำให้สายเสียงอักเสบ

ส่วนใหญ่เชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสจะทำให้เกิดการอักเสบของสายเสียงอยู่นาน 1-3 สัปดาห์ แต่เชื้อรา และเชื้อวัณโรค จะทำให้เกิดการอักเสบของสายเสียงนานเป็นเดือน บางรายอาจมีอาการไข้ ไอเรื้อรัง น้ำหนักลดร่วมด้วย

การได้รับแรงกระแทกบริเวณกล่องเสียง อาจทำให้สายเสียงอักเสบ หรือการหายใจเอาไอร้อนจัด สารเคมี หรือแก๊สที่ทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่ายเข้าไป อาจทำให้สายเสียงอักเสบได้

การใช้เสียงที่ผิดวิธี จนติดเป็นนิสัย เช่น ชอบตะโกน หรือใช้เสียงมากและนานเกินไป อาจทำให้สายเสียงอักเสบได้ เช่น นักร้องช่วงงานชุก นักการเมืองช่วงหาเสียง นักเทศน์ นักพูดที่ต้องพูดนาน

การระคายเคืองเรื้อรัง เช่น จากการไอเรื้อรัง สูบบุหรี่ ดื่มสุราน้ำย่อยในผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ซึ่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารจะไหลย้อนไปที่กล่องเสียง ไปสัมผัสสายเสียงที่อยู่ทางด้านหน้า ทำให้สายเสียงอักเสบได้ ผู้ป่วยมักมีอาการเสียงแหบ เจ็บคอ หลังตื่นนอนตอนเช้า พอสายๆ ก็ทุเลาไปเอง โดยไม่ได้มีอาการเป็นไข้หวัดแต่อย่างใด ไซนัสอักเสบเรื้อรังแล้วมีน้ำมูกหรือหนองไหลลงคอไประคายเคืองสายเสียงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ของฉุนฝุ่น ควัน เป็นประจำ

อาการ
เสียงแหบ บางรายอาจเป็นมากจนถึงขั้นไม่มีเสียง อาจมีอาการหลังเป็นไข้หวัด เจ็บคอ ไอ ถ้าเกิดจากการระคายเคือง มักมีอาการเสียงแหบหลังสูบบุหรี่ หรือดื่มสุราจัด ถ้าเกิดจากการใช้เสียงมักมีอาการเสียงแหบหลังจากร้องเพลงมาก หรือพูดมาก
เจ็บคอ คอแห้ง รู้สึกคล้ายมีอะไรอยู่ในคอ กลืนลำบาก กลืนเจ็บ
ระคายคอ ไอ กลืนลำบาก
หายใจลำบาก หรือติดขัด โดยเฉพาะในเด็ก

การตรวจวินิจฉัย
เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์ก็จะซักถามอาการต่างๆ จากนั้นแพทย์ก็จะตรวจร่างกาย โดยใช้กระจกเงาสะท้อนแสงใส่เข้าไปในปาก เพื่อดูว่าสายเสียงของท่านผิดปกติหรือไม่ บวมหรือไม่ มีก้อนหรือไม่ ทดสอบการทำงานของสายเสียง โดยให้ร้องคำว่า อี อี (Indirect Laryngoscopy) ถ้าดูแล้วยังสงสัยหรือเห็นไม่ชัด แพทย์ก็จะใช้เครื่องมือพิเศษคือกล้องส่องที่มีเลนส์ขยายพิเศษ ใส่เข้าทางปากเพื่อดูรายละเอียดของสายเสียง (Telescopy)

แต่ถ้าดูยังไม่ชัด แพทย์อาจใช้กล้องชนิดพิเศษที่มีสายอ่อนและมีเลนส์ขยายใส่เข้าทางจมูก (Fiber-Optic Laryngoscopy) ซึ่งจะทำให้เห็นสายเสียงได้ชัดเจนมากขึ้น การตรวจทั้งหมดนี้ไม่เจ็บ เพราะแพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่ก่อนตรวจ ถ้าแพทย์พบก้อนที่ผิดปกติบนสายเสียงแพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อเล็กๆ ออกมาเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพิ่มเติม

การรักษาสายเสียงอักเสบ
ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้
• งดบุหรี่ สุรา กาแฟ น้ำอัดลม และพักการใช้เสียง จนกว่าอาการจะทุเลา
• ดื่มน้ำอุ่นมากๆ หลีกเลี่ยงสารระคายเคืองต่อสายเสียง เช่น ฝุ่นควัน
• รับประทานยาบรรเทาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ
• สูดไอน้ำร้อน

แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น
• ถ้าเกิดจากไวรัส (เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่) แพทย์จะให้ยาบรรเทาตามอาการ เพราะส่วนใหญ่มักจะมีอาการดีขึ้นเอง
• ถ้าเกิดจากแบคทีเรีย (เสมหะข้นเหลือง/เขียว หรือมีทอนซิลอักเสบบวมแดง) แพทย์จะให้ยาต้านจุลชีพ
• ในรายที่เกิดจากการระคายเคือง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง(เช่น บุหรี่ สุรา การใช้เสียง) 
• ในรายที่เกิดจากโรคกรดไหลย้อน แพทย์จะให้ยาลดการสร้างกรด และแนะนำการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง
• ถ้าเกิดจากเชื้อราหรือเชื้อวัณโรค แพทย์จะให้ยาต้านเชื้อรา หรือยารักษาเชื้อวัณโรค
• ถ้าผู้ป่วยมีตุ่มที่สายเสียง (Vocal Nodule) ซึ่งเกิดจากการใช้เสียงมากผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำการผ่าตัดเอาตุ่มดังกล่าวออก ถ้าผู้ป่วยฝึกการพูดและการใช้เสียงแล้วอย่างน้อย 3 เดือน แต่อาการเสียงแหบยังไม่ดีขึ้น
แพทย์อาจให้รับประทานยาสเตียรอยด์ระยะเวลาสั้นๆ เพื่อลดการบวม และการอักเสบของสายเสียงโดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการใช้เสียงอย่างเร่งด่วนเช่น จะต้องไปร้องเพลง หรือบรรยาย

การรักษาสายเสียงอักเสบหายได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดสายเสียงอักเสบเช่น ถ้าสายเสียงอักเสบจากการเป็นหวัด หรือการอักเสบของสายเสียงจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อวัณโรคเชื้อไวรัส สามารถหายได้

แต่สายเสียงอักเสบในผู้ที่มีอาชีพที่ต้องใช้เสียงมาก เช่น ครู นักเรียน นักแสดง นักร้อง การรักษาโดยการให้ยาอย่างเดียวย่อมไม่ได้ผลเต็มที่ จำเป็นต้องหยุดพักการใช้เสียงร่วมด้วย และต้องปรับปรุงการใช้เสียงให้ถูกต้อง (Vocal Therapy) ยาอมให้ชุ่มคอที่โฆษณาอยู่ตามท้องตลาด มีส่วนช่วยได้บ้างในแง่ที่ทำให้ชุ่มคอ เย็นคอ บางชนิดอาจมียาฆ่าเชื้อโรคผสมอยู่ด้วยก็อาจช่วยลดการอักเสบเล็กน้อยลงได้บ้าง แต่ถ้ามีการอักเสบมากยาอมอย่างเดียวก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้

ถ้ามีอาการของสายเสียงอักเสบ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูกโดยตรง เพื่อรับการตรวจสายเสียงดังนี้
• มีเสมหะข้นเหลือง/เขียว หรือมีเลือดปน
• มีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์ หรือเสียงแหบนานเกิน 2 สัปดาห์
• มีอาการกลืนลำบาก สำลัก หายใจลำบาก มีก้อนแข็งที่ข้างคอ หรือน้ำหนักลดร่วมด้วย
• มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจในการดูแลตนเอง
• ได้รับการรักษาจากแพทย์ทั่วไปประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้วยังไม่ดีขึ้น


ภาวะแทรกซ้อน
กล่องเสียงอักเสบจากการติดเชื้อและการระคายเคือง ส่วนใหญ่มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ส่วนน้อยที่อาจทำให้เกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบตามมา ถ้าปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง ในรายที่เกิดจากการระคายเคือง เช่น บุหรี่ การใช้เสียงมากเกินก็อาจทำให้เกิดตุ่มที่สายเสียงได้

การดำเนินโรค
ผู้ที่เป็นสายเสียงอักเสบจากการติดเชื้อ มักจะมีอาการเสียงแหบอยู่นาน 1 สัปดาห์ หรือทุเลาหลังได้รับการรักษาที่ถูกต้องเพียงไม่กี่วัน ส่วนผู้ที่เป็นสายเสียงอักเสบจากการใช้เสียง สูบบุหรี่ ดื่มสุราจัด เมื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้ก็มักจะทุเลาได้ภายใน 1-3 สัปดาห์ ส่วนผู้ป่วยที่เกิดจากการระคายเคือง เช่น จากโรคกรดไหลย้อน หรือใช้เสียงผิดวิธีก็มักจะเป็นอยู่นานตราบเท่าที่ยังสัมผัสสิ่งระคายเคืองนั้นๆ หรือเป็นๆหายๆ ไปเรื่อยๆ

การป้องกัน
หมั่นดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ระวังอย่าให้เป็นหวัด (โดยหลีกเลี่ยงความเครียด การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การโดนหรือสัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ เช่น ขณะนอนเปิดแอร์หรือพัดลมเป่าจ่อ ไม่ได้ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเพียงพอ การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ตากฝน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายแพร่เชื้อให้เราทั้งที่บ้านและที่ทำงาน และหมั่นล้างมือบ่อยๆ) หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองต่อสายเสียง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าจัด สารเคมี การใช้เสียงมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเริ่มมีอาการเสียงแหบ

(ข้อมูลจาก www.si.mahidol.ac.th)

(อ่านต่อฉบับหน้า “วิธีการถนอมเสียง”)


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 191 พฤศจิกายน 2559 โดย รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)
กำลังโหลดความคิดเห็น