xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : ปัสสาวะเปลี่ยนสีหลังกินยา อันตรายมั้ย?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลักษณะของปัสสาวะ ถือเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ถึงสุขภาพของมนุษย์ ดังจะเห็นได้จากโปรแกรมตรวจสุขภาพตามโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งมักจะมีการตรวจปัสสาวะแทบทุกครั้ง

โดยปกติแล้วปัสสาวะจะมีสีเหลืองอ่อนถึงปานกลาง แต่หากสีของปัสสาวะเปลี่ยนไปจากเดิม อาจสร้างความกังวลใจให้กับทุกคนไม่น้อย ซึ่งการเปลี่ยนสีของปัสสาวะนั้นสามารถเกิดได้ทั้งจากโรคหรือภาวะบางอย่าง เช่น เม็ดเลือดแดงแตก หรือมีการติดเชื้อ อักเสบ และเลือดออกในทางเดินปัสสาวะ แล้วส่งผลให้ปัสสาวะมีสีแดงถึงน้ำตาล เป็นต้น หรืออาหารบางชนิด เช่น การรับประทานแครอทปริมาณมาก อาจทำให้ปัสสาวะมีสีส้มแดงจากสารเบต้าแคโรทีน

นอกจากนี้ ยาบางชนิดก็อาจทำให้สีของปัสสาวะเปลี่ยนไปจากเดิมเช่นกัน ซึ่งเภสัชกรมักจะแจ้งผู้ป่วยขณะอธิบายวิธีการใช้ยา รวมทั้งอาจระบุไว้ในฉลากบนซองยา เพื่อให้ผู้ป่วยทราบถึงผลดังกล่าวของยา

การเปลี่ยนสีของปัสสาวะจากยานั้น มักไม่ก่อให้เกิดอันตราย และส่วนใหญ่เกิดจากสีของยา หรือสารที่เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายเปลี่ยนแปลงยา โดยอาจพบได้หลายสี เช่น สีส้ม-ชมพู-แดง หรือ สีน้ำตาล-ดำ หรือ สีเขียว-น้ำเงิน หรือ สีขาวขุ่น ดังแสดงในตาราง

ทั้งนี้ ขึ้นกับชนิดของยา แต่บางครั้งแม้เป็นยาชนิดเดียวกัน ก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของปัสสาวะได้แตกต่างกันในแต่ละคน เนื่องจากมีปัจจัยส่งเสริมอื่นๆ เช่น ปริมาณยาที่ได้รับ (ปริมาณยามากอาจทำให้มีสีเข้มมาก) ปริมาณและสีเดิมของปัสสาวะ (เหลืองอ่อนหรือเข้ม ซึ่งจะผสมกับสีของยาแล้วได้สีใหม่) สภาวะความเป็นกรด-ด่าง ของปัสสาวะ โรคหรือภาวะเดิมที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ และยาอื่นที่ผู้ป่วยใช้ร่วม เป็นต้น

ตารางแสดงตัวอย่างยาที่อาจทำให้ปัสสาวะเลี่ยนสี แต่มักไม่เป็นอันตราย

สีส้ม ถึง แดง
• ยารักษาวัณโรค ได้แก่ ไรแฟมพิซิน (rifampicin) และ ไอโซไนอะซิด (isoniazid)
• ยาบรรเทาอาการปวดของระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ฟีนาโซไพริดีน (phenazopyridine)
• ยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคลำไส้อักเสบ ได้แก่ ซัลฟาซาลาซีน (sulfasalazine)
• ยาละลายก้อนเลือดอุดตันหลอดเลือด ได้แก่ วาร์ฟาริน (warfarin) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับผลของยาที่อาจทำให้มีเลือดออกมากับปัสสาวะ
• วิตามินบี 12 ในรูปไฮดรอกโซโคบาลามิน (hydroxocobalamin) และ วิตามินบี 2 หรือเรียกว่า ไรโบฟลาวิน (riboflavin) โดยเฉพาะในขนาดสูง
• ยารักษาโรคทางจิต ได้แก่ คลอโปรมาซีน (chlorpromazine) และ ไธโอริดาซีน (thioridazine)
• ยาแก้ปวด ลดการอักเสบ ได้แก่ ไอบูโปรเฟน (ibuprofen)
• ยาขับธาตุเหล็ก ได้แก่ ดีเฟอร์ร็อกซามีน (deferoxamine)
• ยารักษาโรคมาลาเรีย ได้แก่ คลอ-โร-ควิน (chloroquine)
• ยาระบาย ได้แก่ ใบมะขามแขก (senna) และ ฟีนอล์ฟทาลีน (phenolphthalein)

สีน้ำตาล ถึง ดำ
• ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ ไนโทรฟูแรนโทอิน (nitrofurantoin) และ เมโทรนิดาโซล (metronidazole)
• ยารักษาโรคมาลาเรีย ได้แก่ คลอ-โร-ควิน (chloroquine) และ ไพร-มา-ควิน (primaquine)
• ยาลดความดันเลือด ได้แก่ เมทิลโดปา (methyldopa or alpha-methyldopa)
• ยารักษาโรคพาร์กินสัน ได้แก่ ลีโวโดปา (levodopa or L-dopa)
• ยาคลายกล้ามเนื้อ ได้แก่ เมโธคาร์บามอล (methocarbamol)
• ยาระบาย ได้แก่ ใบมะขามแขก (senna) และ คาสคารา (cascara)
• สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ได้แก่ ซอร์บิทอล (sorbitol) ซึ่งอาจใช้เป็นยาระบายเช่นกัน

สีเขียว ถึง น้ำเงิน
• เมทิลีนบูล (methylene blue) ทั้งแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เพื่อรักษาภาวะมีเมทฮีโมโกลบินในเลือด (methemoglobinemia) หรือแบบรับประทาน ซึ่งอาจพบในตำรับยาบรรเทาอาการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ (มักเข้าใจผิดว่าเป็นยาล้างไต)
• ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ได้แก่ โปรเมทาซีน (promethazine) และ เมโทโคลพราไมด์ (metochlopramide)
• ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร ได้แก่ ไซเมทิดีน (cimetidine)
• ยาแก้ปวด ลดการอักเสบ ได้แก่ อินโดเมธาซิน (indomethacin)
• ยารักษาโรคซึมเศร้า ได้แก่ อะมิทริปไทลีน (amitriptyline) ซึ่งอาจใช้รักษาโรคอื่นด้วย
• ยาคลายกล้ามเนื้อ ได้แก่ เมโธคาร์บามอล (methocarbamol)
• ยาสลบ ได้แก่ โปรโพฟอล (propofol)
• ยานอนหลับ ได้แก่ ซาลีพลอน (zaleplon)

สีขาวขุ่น
• ยาสลบ ได้แก่ โปรโพฟอล (propofol) ซึ่งอาจเกิดจากยาส่งผลเพิ่มการขับกรดยูริกออกมากับปัสสาวะ

อย่างไรก็ตาม หากมีปัสสาวะเปลี่ยนสีขณะใช้ยา และไม่เคยทราบข้อมูลนี้มาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาหรือเภสัชกร เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกรณีที่มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปวดกล้ามเนื้อร่วมกับปัสสาวะมีสีแดงถึงน้ำตาล ระหว่างใช้ยาลดไขมันในเลือดบางกลุ่ม หรือมีจ้ำเลือดตามตัวร่วมกับปัสสาวะสีแดงถึงน้ำตาล ขณะกำลังใช้ยาที่เสี่ยงต่อการมีเลือดออกง่าย เช่น ยาแอสไพริน (aspirin) โคลพิโดเกรล (clopidogrel) และวาร์ฟาริน (warfarin) เป็นต้น

หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะพร่องเอ็นไซม์จีซิกพีดี (G-6-PD deficiency) แล้วปัสสาวะมีสีแดงถึงน้ำตาล ระหว่างใช้ยาบางชนิด เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนสีของปัสสาวะในกรณีเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงของยา

(ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.pharmacy.mahidol.ac.th)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 181 มกราคม 2559 โดย เภสัชกรสุรศักดิ์ วิชัยโย ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)
กำลังโหลดความคิดเห็น