xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : รู้จักทำบุญบ้างไหม?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“...การทำบุญนี้ ก็ถือกันว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ได้รับอานิสงส์ อันจะทำให้เจริญรุ่งเรือง การทำบุญเป็นครั้งๆ ก็เป็นการทำกุศล ทำความดี เป็นครั้งๆ ซึ่งก็ได้ผลเหมือนกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ในการทำงานทำการ ทำกิจการต่างๆ ให้ดีทุกวัน เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ทำให้ได้ผลดีทุกวันนั้น ก็ปฏิบัติตามวิชาการของอาชีพของตนส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็ในการปฏิบัติตนให้เป็นคนดีมีวิชาความรู้ ทั้งมีความเมตตา และมีเหตุผล ก็จะทำการงานนั้นลุล่วงไปด้วยดี และเป็นประโยชน์แก่ตน ทำให้มีความเจริญรุ่งเรือง...”

ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานแก่คณะผู้ประกอบการรถยนต์แท็กซี่ ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๗ น่าจะเป็นคำอธิบายปรากฏการณ์ที่มหาเศรษฐีทั่วโลกได้ทำกิจการสาธารณกุศลได้เป็นอย่างดี

การทำบุญ การทำความดี ท่านจำแนกไว้เป็น ๓ ประการคือ ๑.ทาน การให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ๒.ศีล การประพฤติแต่สิ่งที่ดีงาม ด้วยความมีวินัยในตนเอง ๓. ภาวนา การฝึกฝนจิตใจให้สงบเยือกเย็น เพื่อเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา

ในส่วนการทำบุญด้วยการบริจาคทาน พึงเห็นได้จากกรณีของ “บิล เกตส์” มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกชาวอเมริกัน ประธานบริษัทไมโครซอฟท์

โดยหลังจากที่ บิล เกตส์ ก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐีระดับโลก เขาได้ตั้งมูลนิธิ William H Gates ขึ้น (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Bill & Melinda Gates Foundation) ด้วยเงินทุนจากการบริจาคเบื้องต้น 94 ล้านดอลลาร์ เพื่อวัตถุประสงค์หลักสองอย่าง คือ เพื่อสุขภาพของมวลมนุษยชาติ และเพื่อดูแลความต้องการของท้องถิ่นในเขตภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา โดยมีคำขวัญว่า “All Lives Have Equal Value” หรือ “ทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน”

ต่อมาปี 1997 บิล เกตส์ ได้ตั้งมูลนิธิ The Gates Library Foundation มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ห้องสมุดประชาชนในสหรัฐ มีเครื่องคอมพิวเตอร์ให้คนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ สามารถเข้าไปใช้อินเทอร์เน็ตได้

บิล เกตส์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ประธานและซีอีโอของบริษัท เบิร์กไชร์ เฮททะเวย์ เขาได้เล่าให้บัฟเฟตต์ฟังถึงเรื่องการตั้งมูลนิธิเพื่อการกุศล บัฟเฟตต์รู้สึกศรัทธา จึงร่วมบริจาคราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯให้กับมูลนิธิ Bill & Milenda Gates

ต่อมาในปี 2010 บิล เกตส์ และเมลินด้า เกตส์ ได้ตั้งโครงการ “The Giving Pledge” รวบรวมเงินบริจาคจากมหาเศรษฐีชื่อดังทั่วโลก เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ โดยบิล เกตส์, วอร์เรน บัฟเฟตต์, มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งบริษัท เฟซบุ๊ก และเศรษฐีอีกกว่า 100 คน ได้เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย เพื่อโน้มน้าวให้บรรดามหาเศรษฐีทั้งหลาย บริจาคทรัพย์สินของตัวเองอย่างน้อยครึ่งหนึ่งแก่การกุศล

สำหรับในส่วนการทำบุญด้วยการมีวินัยในตนเอง พึงเห็นได้จากกรณีของ “เจฟฟ์ คอฟแมน” และ “จูเลีย ไวส์” ซึ่งหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ได้ลงข่าวไว้ว่า

“เจฟฟ์ คอฟแมน และ จูเลีย ไวส์ สองสามีภรรยาจากรัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐฯ ประกอบอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่ด้านสังคมสงเคราะห์ กับวิศวกรด้านซอฟท์แวร์ของบริษัทกูเกิล เริ่มต้นบริจาคเงินตั้งแต่ปี 2008 ราว 100,000 เหรียญสหรัฐทุกปี ทั้งคู่มีรายได้รวมกันยังไม่หักภาษีและเงินออมเฉลี่ยแล้วไม่ถึง 245,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายส่วนนี้แล้ว พวกเขาเก็บเงินไว้สำหรับใช้จ่ายเพียง 15,280 เหรียญสหรัฐ หรือเพียง 6% ของรายได้ที่หามาตลอดทั้งปี ซึ่งเงินจำนวนนี้ครอบคลุมทั้งค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและค่าสังสันทน์ส่วนตัวแล้ว

จูเลีย ไวส์ เผยจุดเริ่มต้นมาจากความอยากช่วยเหลือ อยากร่วมพัฒนาโลกใบนี้ ตั้งแต่สมัยที่ทั้งคู่ยังเป็นนักศึกษา โดยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ควรเก็บทรัพย์สินไว้กับตัวเองเท่าไหร่ ไม่ใช่ควรให้ผู้อื่นเท่าไหร่ และเงินของเธอนั้นเป็นของคนที่มีความจำเป็นมากกว่า ซึ่งการคิดเช่นนี้ส่งผลให้ทั้งคู่มีเงินพร้อมที่จะให้มากมายระดับสูงกว่าคนทั่วไปที่มีรายได้ระดับใกล้เคียงกับพวกเขา การให้ของพวกเขายังคงดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านศูนย์ GiveWell ซึ่งช่วยในการตัดสินใจว่า อยากมอบความช่วยเหลือจุดไหนเป็นพิเศษ และผ่านช่องทางไหนจึงจะส่งความช่วยเหลือถึงผู้ต้องการได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากที่สุด…”

เมื่อได้ตระหนักรู้ในกรณีศึกษาทั้งสองแล้ว จะเห็นได้ว่าการทำบุญทั้งสองกรณี ย่อมต้องมีการฝึกฝนจิตใจให้สงบเยือกเย็น เพื่อพิจารณาในทานของตนที่ทำ ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด เกิดประโยชน์แก่ชนผู้ต้องการได้มากที่สุด แม้จะต่างศาสนา แต่กิริยาที่บำเพ็ญเหล่านี้ ล้วนเป็นบุญในพระพุทธศาสนานั่นเอง

มีอุทาหรณ์ในธรรมบทเรื่อง “อานนทเศรษฐี” ที่ควรจะนำมาพิจารณาในการณ์นี้ ดังมีเรื่องแสดงไว้ว่า

ในกรุงสาวัตถี มีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อ อานนท์ มีสมบัติประมาณ ๘๐ โกฏิ เป็นคนตระหนี่มาก เขาพร่ำสอนมูลสิริ ผู้เป็นบุตรชาย วันละ ๓ เวลา ว่า “ทรัพย์ ๔๐ โกฏินี้มาก เจ้าไม่ควรใช้ทรัพย์ที่มีอยู่ ควรยังทรัพย์ใหม่ให้เกิดขึ้น เพราะเมื่อบุคคลทำกหาปณะแม้หนึ่งๆ ให้เสื่อมไป ทรัพย์ย่อมสิ้นด้วยเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้ฉลาดพึงเห็นความสิ้นแห่งยาสำหรับหยอด(ตา) ความก่อขึ้นแห่งตัวปลวกทั้งหลาย และการประมวลมาแห่งตัวผึ้งทั้งหลาย พึงอยู่ครองเรือน” อานนทเศรษฐีไม่บอกขุมทรัพย์ใหญ่ ๕ แห่งของตนแก่ผู้เป็นบุตรชายเลย เขาดำรงชีพอยู่ด้วยความตระหนี่จนตาย

เมื่ออานนทเศรษฐีตายแล้ว พระราชาก็แต่งตั้งให้มูลสิริเป็นเศรษฐีต่อจากบิดา ส่วนอานนทเศรษฐีเมื่อตายไป ก็ไปปฏิสนธิในท้องของหญิงจัณฑาลคนหนึ่ง ที่อาศัยในบ้านใกล้ประตูแห่งหนึ่งในกรุงสาวัตถี

ในขณะที่หญิงจัณฑาลตั้งครรภ์อยู่นั้น นางก็ถูกขับออกจากตระกูล เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นหญิงกาลกิณี ทำให้นางมีความลำบากในการเลี้ยงชีวิต เมื่อนางคลอดบุตรออกมา ก็พบว่าบุตรชายมีมือและเท้า นัยน์ตา หู จมูก และปาก ไม่ปกติ อวัยวะพิกลพิการ น่าเกลียด ดุจดังปีศาจคลุกฝุ่น แต่ด้วยความเป็นแม่ นางจึงเลี้ยงดูบุตรเป็นอย่างดี แต่เมื่อนางพาบุตรไปหางานทำ ก็ไม่ได้งานเลย ครั้นทิ้งบุตรไว้ที่พัก ออกไปหางานใหม่ กลับได้งานทำ

นางได้ทนลำบากเลี้ยงบุตรจนโตพอช่วยเหลือตนเองได้แล้ว นางก็บอกบุตรว่า บัดนี้แม่ไม่อาจเลี้ยงเจ้าได้ แต่อาหารที่เขาจัดไว้ เพื่อคนกำพร้าและคนเดินทาง มีอยู่ในนครนี้ เจ้าจงไปหาอาหารเลี้ยงชีพเองก็แล้วกัน

เด็กน้อยจึงต้องเดินขอทานไปในกรุงสาวัตถี เมื่อเดินมาถึงเรือนที่เคยเป็นของตนในคราวเป็นอานนทเศรษฐี บุพกรรมก็นำให้เกิดระลึกชาติได้ เขาจึงเดินเข้าไปในเรือน ผ่านไปจนถึงซุ้มประตูเรือนใน พวกบุตรของมูลสิริเศรษฐีเห็นเขาแล้ว ก็รู้สึกหวาดกลัว ร้องไห้ส่งเสียงดัง จนคนงานในบ้านได้ยิน ก็มาขับไล่เขาออกไปจากเรือน

ขณะนั้นเป็นเวลาที่พระศาสดาเสด็จออกบิณฑบาต โดยมีพระอานนทเถระเป็นปัจฉาสมณะ ทรงทอดพระเนตรเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พระอานนทเถระจึงเข้าไปสอบถาม แล้วให้คนไปเชิญมูลสิริเศรษฐีมา

พระศาสดาตรัสถามมูลสิริเศรษฐีว่ารู้จักทารกเด็กนั่นไหม มูลสิริเศรษฐีก็ทูลว่าไม่รู้จัก

พระศาสดาจึงตรัสว่า “เด็กนั้น คืออานนทเศรษฐี ผู้เป็นบิดาของท่าน”

แล้วทรงมีพระดำรัสกับเด็กน้อยว่า "อานนทเศรษฐี ท่านจงบอกขุมทรัพย์ใหญ่ ๕ แห่งแก่บุตรของท่าน" เด็กน้อยจึงพามูลสิริเศรษฐีไปยังขุมทรัพย์ที่ตนฝังไว้ มูลสิริเศรษฐีจึงเชื่อในสิ่งที่ตรัส และได้ถึงพระศาสดาเป็นสรณะ

สาธุชนผู้ปรารถนาความสำเร็จในชีวิต จงพิจารณาถึงชีวิตของเศรษฐีในปัจจุบันและเศรษฐีในอดีตเถิด แล้วพึงถามตนเองว่า “เรารู้จักทำบุญบ้างไหมหนอ?”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 179 พฤศจิกายน 2558 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)
“รินทร์” จิตอาสาแห่งทุ่งนา คนธรรมดาที่สร้างภูมิปัญญาให้บ้านเกิด
“รินทร์” จิตอาสาแห่งทุ่งนา คนธรรมดาที่สร้างภูมิปัญญาให้บ้านเกิด
ผู้ชายธรรมดาๆ ทั่วไป - - แต่เมื่อไหร่ที่บ้านเกิดในจังหวัดยโสธรมีงานจิตอาสา รินทร์ จะช่วยเต็มที่จนทุกคนรู้จักในนาม “พี่รินทร์ จิตอาสาแห่งทุ่งนา” The Giver นน-ชานน ริกุลสุรกาน พาไปสัมผัสพลังแห่งการให้ในโครงการ “คอมพิวเตอร์มือสองเพื่อน้องได้เรียนรู้” ซึ่งรินทร์และกลุ่มจิตอาสาร่วมสร้างขึ้นเพื่อให้น้องๆ ทุกคนไว้ใช้ค้นคว้าหาความรู้ เมื่อทุกคนมีความรู้นำไปต่อยอดแล้ว..ความสุขก็จะตามมา แถมงานนี้น้องๆ ไม่ได้สุขคนเดียว..ยังทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีความสุขร่วมไปด้วย รายการเดอะกิฟวิ่งขอชื่นชมรินทร์และกลุ่มจิตอาสา ด้วยหัวใจ เพราะการให้ช่องทางการเรียนรู้ใหม่ๆ กับเด็กด้อยโอกาส เหมือนสร้างภูมิปัญญาให้ถิ่นเกิด ติดตามภารกิจดีๆ ครั้งนี้ใน The Giving วันเสาร์ที่ 31 ต.ค. นี้ 9.30 – 10.00 น. ช่อง 1 เวิร์คพอยท์
กำลังโหลดความคิดเห็น