xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : พุทธศาสนาในลาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้เขียนเคยไปเที่ยวลาวนานมาแล้วครับ

ครั้งมีภารกิจจะต้องจัดทริปท่องเที่ยว ท่องธรรม “สะบายดี หลวงพระบาง” ในช่วงปลายปีนี้ ก็นึกตั้งคำถามขึ้นมาในใจว่า “ลาวจะเปี๋ยนไป๋” มากน้อยเพียงใด ตามกาลเวลาที่ผันแปร และกระแสธารแห่งการเชื่อมโยงโลกทั้งโลกเข้าไว้ด้วยปลายนิ้ว

เราทราบกันดีว่า หลวงพระบางเป็นเมืองที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลก ดังนั้น กระบวนการในการรักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ศาสนา จิตวิญญาณดั้งเดิม ตลอดจนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะต้องดำเนินไปตามมาตรฐานที่ยูเนสโกได้วางไว้

ความที่ยูเนสโกทราบดีถึงปัญหาอุปสรรคของพัฒนาการทางศาสนาในหลวงพระบาง ที่มีด้วยกันหลายประการ อาทิ ขาดการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ประชาชนลาวก็ไม่ได้อุปถัมภ์ด้านการศึกษามากนัก กอปรกับสถาบันการศึกษาด้านพุทธศาสนามีจำนวนไม่มาก ขาดแคลนบุคลากร (เท่าที่มีอยู่ก็ไม่มีความเชี่ยวชาญมากนัก) เช่น ภาษาบาลี ประวัติศาสตร์ ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ในการเรียนการสอน ขาดตำราในการศึกษาค้นคว้าวิจัย จึงทำให้จำนวนพระภิกษุสามเณรที่มาศึกษาต่อมีจำนวนไม่มากนัก สามเณรที่มาเรียนมุ่งหวังความรู้ทางโลก มากกว่าการใส่ใจหาความรู้ทางธรรม อาจเพราะพระภิกษุสามเณรขาดแรงจูงใจให้ทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา ดังนั้น เมื่อศึกษาจบแล้วก็มักลาสิกขาออกไปประกอบวิชาชีพ

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้ยูเนสโกจัดตั้งโครงการมากมาย เพื่อช่วยสานต่อในเชิงอนุรักษ์และพัฒนา อาทิ โครงการอนุรักษ์พระไตรปิฎก โดยเฉพาะการศึกษาบาลีอักษรลาวเชิงลึก การส่งเสริมการศึกษาให้กับพระภิกษุสามเณร การเพิ่มหลักสูตรงานไม้ งานแกะสลัก ปูนปั้น เพื่อเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเริ่มที่พระภิกษุและสามเณร เพราะเห็นว่าศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน พระสงฆ์มีความเป็นผู้นำชุมชน อีกทั้งเมื่อลาสิกขาไปก็ยังมีความรู้ ทักษะ ความชำนาญเชิงวิชาชีพติดตัวไปอีกด้วย จึงทำให้สถานการณ์ด้านการศึกษาในสถาบันด้านพุทธศาสนาในหลวงพระบางค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้หลายภาคส่วนกำลังช่วยกันก่อร่างสร้างวิทยาลัยสงฆ์ในหลวงพระบางขึ้นมา แม้จะเป็นสาขาของวิทยาลัยสงฆ์องค์ตื้อ จากเวียงจันทร์ก็ตาม แต่ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่า อนาคตด้านการศึกษาของพระภิกษุ สามเณร ในหลวงพระบางจะค่อยๆ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สอดรับกับจำนวนพระภิกษุ สามเณรที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เพราะที่หลวงพระบางมีวัดเยอะมากครับ วิถีชีวิตของพระภิกษุที่ผสานไปกับวัฒนธรรมประเพณีแบบพื้นบ้าน จึงเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ออก

ภาพหนึ่งของหลวงพระบางที่มักเกิดขึ้นในความคิดของเรา คือการใส่บาตรพระยามเช้า พระทุกวัดจะออกบิณฑบาตพร้อมกัน และแต่ละวัดมีเส้นทางเดินรับบาตรที่ชัดเจน ไม่แยกเดินตามลำพังเหมือนที่เมืองไทย พระที่นี่จะเดินกันเป็นแถวยาว เป็นภาพที่งดงามมากครับ ญาติโยมส่วนใหญ่นิยมเตรียมข้าวเหนียวไว้ใส่บาตร แค่รูปละหยิบมือเล็กๆ เพราะบางช่วงเวลาจะมีพระบิณฑบาตมากเป็นร้อยรูป ส่วนอาหารนั้นจะมีญาติโยมบ้านใกล้วัดนำมาถวาย

ดังนั้น พัฒนาการในการมีส่วนร่วมของฆราวาสญาติโยมต่อพุทธศาสนาในประเทศลาว จึงดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป คู่ขนานกับประเทศที่กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าดีขึ้นตามลำดับ

เพราะหากย้อนกลับไปในอดีต ลาวมีการปกครองระบอบกษัตริย์เหมือนไทย แต่ถูกล้มเลิกด้วยระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม และกลายเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 แน่นอนครับว่าศาสนาได้กลายเป็นหอกข้างแคร่ ที่ผู้ปกครองในยุคสมัยนั้นมองว่า เป็นเครื่องมือในการปลุกปั่น ปลุกระดมได้ง่าย ดังนั้น นอกจากการทำลายล้างสถาบันกษัตริย์แล้ว ผู้ปกครองใหม่จึงจำเป็นต้องทำให้สถาบันศาสนาสั่นคลอน และต้องลดความเชื่อถือศรัทธาในศาสนาจากประชาชนให้มากที่สุด

ลาวในสมัยนั้นจึงมีเหตุการณ์ที่พระสงฆ์ถูกฆ่าตายจำนวนมาก พระสงฆ์บางส่วนต้องลาสิกขาออกมาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ พุทธศาสนาจึงถูกกลืนหายไปกับระบอบการปกครองใหม่ ศาสนาถูกนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ คือแทนที่จะเป็นเครื่องมือช่วยขัดเกลาจิตใจผู้คน ก็กลายเป็นเครื่องมือช่วยในการเผยแพร่ลัทธิและนโยบายสู่ประชาชน

อย่างไรก็ตาม แม้ลาวจะตกอยู่ในช่วงจังหวะของการปฏิวัติจากระบบเดิมสู่ระบบใหม่ แต่การที่ฝ่ายการเมืองเริ่มเข้าใจหลักการมวลชน ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ต่างก็ใช้พุทธศาสนาเป็นกลยุทธ์ ในการรณรงค์หาแนวร่วมให้มาสนับสนุน โดยต่างฝ่ายต่างมองเห็นว่า พระสงฆ์เป็นผู้ที่ประชาชนให้ความเคารพเชื่อถือ รัฐบาลคอมมิวนิสต์ขณะนั้นจึงให้พระสงฆ์เผยแผ่แนวคิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ในขณะเทศนาธรรม การจัดงานปาฐกถาในที่ต่างๆ ให้มีพระสงฆ์ร่วมอยู่ด้วย และบังคับพระสงฆ์ให้ประยุกต์คำสอนพุทธศาสนาเข้ากับคำสอนของคอมมิวนิสต์ จนกลายเป็นการบิดเบือนหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ พระสงฆ์หลายรูปจำต้องทำตาม เพราะหากขัดขืนก็จะถูกฆ่าตาย

ต่อมาภายหลังฝ่ายการเมืองเริ่มเข้าใจในศรัทธาของมวลชนที่มีต่อศาสนาอย่างแท้จริง การเมืองเป็นเรื่องรอง ชนชั้นปกครองจึงหันกลับมาฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศขึ้นอีกครั้ง จนมาถึงในปัจจุบันนี้ พระพุทธศาสนาก็เริ่มได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐในหลายๆด้าน

พระพุทธศาสนาของลาวในยุคกำลังพัฒนา ได้ก่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นในสังคมชาวลาว ผ่านการสื่อสารและแสดงออกทางวัฒนธรรม ประเพณี ความคิด ความเชื่อ โดยเฉพาะพิธีกรรมและกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ เช่น ประเพณีทำบุญธาตุหลวง หรือแม้แต่การเกิดขึ้นของงานศิลปกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ทางพุทธศาสนามากมาย ซึ่งล้วนมีคุณค่าทางด้านศิลปะและประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ถือว่าแสงทองแห่งพุทธศาสนาเริ่มทอแสงอำไพในประเทศลาวแล้วครับ

แค่เฉพาะในเมืองหลวงพระบาง ก็มีวัดวาอารามที่มีประวัติศาสตร์อันงดงามและยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียงดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เดินทางมาเที่ยวชม เช่น “วัดเชียงทอง วัดหลวงคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง ซึ่งมีความงดงามและความสำคัญดุจอัญมณีล้ำค่า ที่พี่น้องชาวลาวหวงแหนยิ่งนัก

นอกจากวัดที่เลื่องชื่อเรื่องความงามแล้ว หลวงพระบางยังมีพระธาตุเจดีย์รูปทรงแปลกตา รูปร่างโค้งมนเหมือนผลแตงโม ซึ่งหาชมได้ที่ “วัดพระธาตุหมากโม” ซึ่งกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมของลาว ยกให้วัดนี้เป็นอีกหนึ่งศาสนสถานที่มีความสำคัญ เพราะวัดพระธาตุหมากโมเคยเป็นที่ประดิษฐาน “พระบาง” พระพุทธรูปสำคัญซึ่งอาราธนามาจากเมืองเวียงคำ

ความน่าสนใจของศาสนสถานในหลวงพระบาง ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้นะครับ ฉบับหน้าผู้เขียนจะพาย้อนอดีตไปศึกษาประวัติศาสตร์ของวัดวาอาราม และสถานที่สำคัญในหลวงพระบาง เพื่อเป็นการอุ่นเครื่ององค์ความรู้ ก่อนที่เราจะเดินทางไปทักทายหลวงพระบาง บ้านพี่เมืองน้องสองฝั่งโขงของเราในเดือนธันวาคมนี้ครับ

สะบายดี … หลวงพระบาง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 178 ตุลาคม 2558 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ NEWS1)

กำลังโหลดความคิดเห็น