ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 5 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 5 มหาวรรค ภาค 2 ได้กล่าวถึงเรื่องเนื้อ 10 ชนิด ที่พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุฉัน ซึ่งมีความโดยย่อดังนี้
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสีนั้น สมัยนั้น อุบาสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยา เป็นผู้เลื่อมใส บำรุงพระสงฆ์อยู่ในพระนครพาราณสี วันหนึ่งอุบาสิกาสุปปิยาไปยังอารามวิหารทุกแห่ง แล้วเรียนถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุรูปใดอาพาธ และอยากให้นำอะไรมาถวาย
ภิกษุรูปหนึ่งดื่มยาถ่ายและได้บอกอุบาสิกาสุปปิยาว่า ต้องการน้ำเนื้อต้ม อุบาสิกาสุปปิยารับคำว่าจะนำมาถวายเป็นพิเศษ เมื่อกลับเรือนจึงสั่งชายคนรับใช้ให้ไปหาซื้อเนื้อสัตว์ แต่เขาหาซื้อทั่วเมืองก็ไม่มี จึงได้กลับไปบอกอุบาสิกาสุปปิยาว่า ไม่มีเนื้อสัตว์ขาย เพราะวันนี้ห้ามฆ่าสัตว์
อุบาสิกาสุปปิยาจึงวิตกว่า ภิกษุอาพาธรูปนั้น เมื่อไม่ได้ฉันน้ำเนื้อต้ม อาจจะอาพาธมากขึ้นหรือถึงมรณภาพ การที่เรารับคำแล้วไม่จัดหาไปถวายนั้น เป็นการไม่สมควร
เมื่อคิดดังนี้ จึงได้หยิบมีดหั่นเนื้อมาเชือดเนื้อขาส่งให้หญิงคนรับใช้ สั่งให้ต้มเนื้อนี้ แล้วนำไปถวายภิกษุรูปที่อาพาธ และถ้าผู้ใดถามถึง ก็ให้บอกว่าเธอป่วย แล้วเอาผ้าห่มพันขา เข้าห้องนอนบนเตียง
เมื่ออุบาสกสุปปิยะกลับถึงเรือน อุบาสิกาสุปปิยาจึงเล่าเรื่องทั้งหมดให้ทราบ อุบาสกสุปปิยะร่าเริงดีใจว่า สุปปิยามีศรัทธาเลื่อมใสถึงแก่สละเนื้อของตนเอง แล้วสิ่งอื่นใดทำไมนางจักให้ไม่ได้เล่า จากนั้นอุบาสกสุปปิยะจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วอาราธนาไปรับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปสู่เรือนของอุบาสกสุปปิยะแล้วไม่เห็นอุบาสิกาสุปปิยา จึงตรัสถาม เมื่อทราบความว่านางป่วย จึงรับสั่งให้พามาเฝ้า ทรงเห็นแผลใหญ่ที่ขาของนาง และด้วยอานุภาพของพระพุทธองค์ เนื้อขาที่หายไปนั้นก็กลับเต็มดังเดิม
จากนั้นเมื่อเสด็จกลับจึงรับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุรูปไหนขอเนื้อต่ออุบาสิกาสุปปิยา ภิกษุรูปนั้นได้ทูลรับต่อพระผู้มีพระภาคว่าตนเป็นผู้ขอ และเขาได้นำมาถวาย และฉันแล้ว โดยไม่ได้พิจารณา
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงติเตียนว่าการกระทำนี้ ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ครั้นแล้วทรงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย เรื่องการฉันเนื้อสัตว์ ดังนี้
1. ห้ามฉันเนื้อมนุษย์
ด้วยเหตุแห่งอุบาสิกาสุปปิยามีศรัทธาเลื่อมใสภิกษุถึงแก่สละเนื้อของตนเอง นำไปต้มถวายแก่ภิกษุผู้อาพาธ จนตัวเองต้องเจ็บป่วย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสมีอยู่ เขาสละเนื้อของเขาถวายก็ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อมนุษย์ รูปใดฉัน ต้องอาบัติถุลลัจจัย อนึ่ง ภิกษุยังมิได้พิจารณา ไม่พึงฉันเนื้อ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ”
2. ห้ามฉันเนื้อช้าง
ในสมัยนั้น ช้างหลวงล้มลงหลายเชือก และเมื่ออัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้อช้าง และถวายแก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต เมื่อภิกษุฉันเนื้อช้าง ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ช้างเป็นราชพาหนะ ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ คงไม่ทรงเลื่อมใสต่อภิกษุเหล่านั้น
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อช้าง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ”
3. ห้ามฉันเนื้อม้า
สมัยต่อมา ม้าหลวงตายมาก และเมื่ออัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้อม้า และถวายแก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต เมื่อภิกษุฉันเนื้อม้า ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ม้าเป็นราชพาหนะ ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ คงไม่เลื่อมใสต่อต่อภิกษุเหล่านั้น
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อม้า รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ”
4. ห้ามฉันเนื้อสุนัข
สมัยต่อมา ถึงคราวอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้อสุนัข และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต เมื่อภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อสุนัข ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้อสุนัขเล่า เพราะสุนัขเป็นสัตว์น่าเกลียด น่าชัง
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อสุนัข รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ”
5. ห้ามฉันเนื้องู
สมัยต่อมา ถึงคราวอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้องู และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต เมื่อภิกษุทั้งหลายฉันเนื้องู ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้องูเล่า เพราะงูเป็นสัตว์น่าเกลียดน่าชัง รวมทั้งพระยานาคชื่อสุปัสสะก็เข้าไปทูลขอว่าอย่าฉันเนื้องู
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้องู รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ”
6. ห้ามฉันเนื้อราชสีห์
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าราชสีห์แล้วบริโภคเนื้อราชสีห์ และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อราชสีห์แล้วอยู่ในป่า ฝูงราชสีห์ฆ่าพวกภิกษุเสีย เพราะได้กลิ่นเนื้อราชสีห์
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อราชสีห์ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ”
7. ห้ามฉันเนื้อเสือโคร่ง
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าเสือโคร่งแล้วบริโภคเนื้อเสือโคร่ง และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุฉันเสือโคร่งแล้วอยู่ในป่า เหล่าเสือโคร่งฆ่าพวกภิกษุเสีย เพราะได้กลิ่นเนื้อเสือโคร่ง
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือโคร่ง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ”
8. ห้ามฉันเนื้อเสือเหลือง
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าเสือเหลือง แล้วบริโภคเนื้อเสือเหลือง และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อเสือเหลืองแล้วอยู่ในป่า เหล่าเสือเหลืองฆ่าพวกภิกษุเสีย เพราะได้กลิ่นเนื้อเสือเหลือง
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือเหลือง รูปใดฉันต้องอาบัติทุกกฎ”
9. ห้ามฉันเนื้อหมี
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าหมีแล้วบริโภคเนื้อหมี และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุฉันหมีแล้วอยู่ในป่า เหล่าหมีฆ่าพวกภิกษุเสียเพราะได้กลิ่นเนื้อหมี
พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อหมี รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ”
10. ห้ามฉันเนื้อเสือดาว
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าเสือดาวแล้วบริโภคเนื้อเสือดาว และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อเสือดาวแล้วอยู่ในป่า เหล่าเสือดาวฆ่าพวกภิกษุเสีย เพราะได้กลิ่นเนื้อเสือดาว
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือดาว รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ”
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 178 ตุลาคม 2558 โดย กองบรรณาธิการ)