xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิสันถาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

23 ตุลาคม วันปิยมหาราชรำลึก
23 ตุลาคม
วันปิยมหาราชรำลึก


ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า กองบรรณาธิการนิตยสารธรรมลีลา


ความรู้คู่เปรียบด้วย กำลัง กายเฮย
สุจริตคือเกราะบัง ศาสตร์พ้อง
ปัญญาประดุจดัง อาวุธ
กุมสติต่างโล่ป้อง อาจแกล้วกลางสนาม
(พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

เดือนตุลาคม 2558 นี้มี 2 เทศกาลงานบุญใหญ่ของพุทธศาสนิกชน นั่นคือ เทศกาลกินเจ วันที่ 13-21 ตุลาคม และวันออกพรรษา วันที่ 27 ตุลาคม

ในช่วงเทศกาลกินเจนี้ ผู้กินเจที่เคร่งครัดมักจะปฏิบัติธรรม เช่น ไหว้พระ สวดมนต์ เจริญภาวนา ร่วมด้วย จึงมักมีคำเรียกติดปากว่า “ถือศีลกินเจ” ซึ่งนับเป็นเรื่องดีและเป็นวิถีอันงดงาม ที่นำความสุขความเจริญมาสู่ผู้ปฏิบัติ

จึงขอฝากข้อธรรมจากคำสอนของพระโพธิญาณเถร หรือหลวงพ่อชา สุภัทโท พระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพื่อเป็นข้อคิดไว้ดังนี้

วันหนึ่งมีคนมาถามหลวงพ่อชา เกี่ยวกับเรื่องการกินเจ กับการกินอาหารเนื้ออาหารปลา ต่างกันอย่างไร อย่างไหนถูก อย่างไหนผิด

ท่านตอบว่า “เหมือนกบกับคางคกนั่นแหละ โยมว่า กบ กับ คางคก อย่างไหนมันดีกว่ากัน ความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ฉันอะไร ไม่ได้เป็นอะไร ในจิตของท่านไม่มีอะไรเป็นอะไรอีกแล้ว

การบริโภคอาหารเป็นสักแต่ว่า เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงร่างกายพอให้คงอยู่ได้ ท่านไม่ให้ติดในรสชาติของอาหาร ไม่ให้ติดอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ให้รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่ให้บริโภคด้วยตัณหา นี่เรียกว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ฉันอะไร ไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไรแล้ว

ถ้าคนกินเนื้อไปติดอยู่ในรสชาติของเนื้อ นั่นเป็นตัณหา ถ้าคนไม่กินเนื้อ พอเห็นคนอื่นกินเนื้อก็รังเกียจและโกรธเขา ไปด่าว่านินทาเขา เอาความชั่วของเขาไปไว้ในใจตัวเอง นั่นก็เป็นคนโง่กว่าเขา ทำไปตามอำนาจของตัณหาเหมือนกัน

การที่เราไปโกรธเกลียดเขานั้น มันก็คือผีที่สิงอยู่ในใจเรา เขากินเนื้อเป็นบาปเราโกรธเขา เราก็เป็นผีเป็นบาปอีกเหมือนกัน มันยังเป็นสัตว์อยู่ทั้งสองฝ่าย ยังไม่เป็นธรรมะ อาตมาจึงว่าเหมือนกบกับคางคก

แต่ทางที่ถูกนั้น ใครจะกินอะไรก็กินไป แต่ให้มีธรรมะ คนกินเนื้อก็อย่าเห็นแก่ปากปากท้อง อย่าเห็นแก่ความเอร็ดอร่อยจนเกินไป อย่าถึงกับฆ่าเขากิน

ส่วนคนกินเจก็ให้เชื่อมั่นในข้อวัตรของตัวเอง เห็นคนอื่นกินเนื้ออย่าไปโกรธเขา รักษาตัวเราไว้ อย่าให้คิดอยู่ในการกระทำภายนอก พระเณรในวัดนี้ของอาตมาก็เหมือนกัน องค์ไหนจะถือข้อวัตรฉันเจก็ถือไป องค์ไหนจะฉันธรรมดาตามมีตามได้ก็ถือไป แต่อย่าทะเลาะกัน อย่ามองกันในแง่ร้าย อาตมาสอนอย่างนี้ ท่านก็อยู่ไปด้วยกันได้ ไม่เห็นมีอะไร

ให้เข้าใจว่า ธรรมะที่แท้นั้น เราจะเข้าถึงได้ด้วยปัญญา ทางปฏิบัติที่ถูกก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเราสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไว้ดีแล้ว จิตก็จะสงบ และปัญญาความรู้เท่าทันสภาพของสังขารทั้งหลาย ก็จะเกิดขึ้น จิตใจก็เบื่อหน่ายจากสิ่งที่น่ารักน่าใคร่ทั้งหลาย วิมุตติก็เกิดขึ้นเท่านั้น”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 178 ตุลาคม 2558)
กำลังโหลดความคิดเห็น