“จิตใจที่สุขสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ
ก่อเกิดปัญญาญาณ
เข้าไปกำหนดปรับธาตุมวลสาร
ให้เป็นไปตามใจเธอปรารถนา
สิ่งใดก็ตามที่ใจคิดเชื่ออย่างแรงกล้า
พลังจิตจักเนรมิตมันขึ้นมา
ให้ปรากฏเป็นความจริง”
ปัญหาชีวิตประจำวันที่เราต้องเผชิญนั้น ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ไม่ใช่ไม่มีความคิด แต่คิดไม่เป็น คิดไม่ถูกต้อง ไม่รู้จะบริหารจัดการความคิดตัวเองอย่างไร
อยากให้ตระหนักว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่โลกค้นพบแล้วว่า ความคิดมีแรงดึงดูด นักจิตวิทยาสมัยใหม่เรียกว่า “กฎแห่งแรงดึงดูด” เช่นเดียวกับโลกก็มีแรงโน้มถ่วง ถ้าเราตกตึก ไม่ว่าเราจะเป็นคนดีหรือเลว ต้องตกมากระแทกพื้นแน่นอน หรือเหมือนแม่เหล็กที่มีแรงดึงดูด ไม่ว่าเหล็กจะขึ้นสนิมหรือไม่ ก็ต้องถูกดูดให้เข้ามาติดกับแม่เหล็ก กฎแห่งแรงดึงดูดก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าเราจะคิดบวกหรือคิดลบ เราก็จะดึงดูดสิ่งที่คิดเข้ามาสู่ตนเอง ซึ่งเป็นไปตามสิ่งที่เรารับเข้ามาคิด
มีข้อมูลมากมายทะลักเข้ามาในความคิด แม้พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราก็จริง แต่ควบคุมได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ภาษาพระเรียกว่า “สังขาร” หรือ “ความคิดปรุงแต่ง” ทว่ามันก็ส่งผลมากต่อระบบความเชื่อของเรา ดังนั้น ถ้าความคิดปรุงแต่งไปในทางบวก ย่อมเป็นเรื่องดีไม่มีภัย
แต่คนส่วนใหญ่ชอบปล่อยใจคิดไปเรื่อยเปื่อย หรือที่เรียกกันว่า “คิดฟุ้งซ่าน” แส่ส่ายสับสนตกอยู่ในภาวะไร้ความสุข และบางทีความคิดที่ฟุ้งออกไป ดูเหมือนจะไม่ใช่ความคิดตัวเองด้วยซ้ำ แต่ไม่รู้ว่ามันเข้ามาอยู่ในหัวของเราได้อย่างไร
นี่คือปัญหาที่คนส่วนใหญ่เป็นกัน คือ ชอบคิดถึงแต่สิ่งที่เป็นลบ เรื่องที่ตัวเองไม่ต้องการ แล้วสุดท้ายมาสงสัยว่า ทำไมเราต้องกลับมาเจอแต่เรื่องเดิมๆ ซ้ำซาก ความคิดแบบปวกเปียกนี้เอง ดึงดูดสิ่งที่เราไม่ต้องการเข้ามาในชีวิต จะคิดอ่านทำการใดๆ ก็ย่อมไร้ประสิทธิภาพ นั่นเพราะความคิดที่ยังคิดไม่เป็น คิดไม่ถูกต้อง
ตรงกันข้าม ถ้าความคิดสงบระงับ ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว มีเพียงสติเท่านั้นที่ระลึกรู้อยู่กับปัจจุบัน หรือรู้อยู่กับเป้าหมายที่เพ่งอะไรก็ตามอยู่ในใจ แต่ต้องเป็นเพียงเรื่องเดียว และเป็นเรื่องที่ดีมีมงคล น้อมนำให้จิตเป็นไปในทางบวกฝ่ายกุศล ภาษาพระเรียกว่า “ภาวนา” หรือ “สัมมาสมาธิ” จัดเป็นหนึ่งในอริยมรรคมีองค์แปด ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยจัดระเบียบความคิดให้เราอย่างมีประสิทธิผล
ดังที่ “โอโช” ปราชญ์ชาวอินเดีย ผู้นำทางจิตวิญญาณในโลกสมัยใหม่ กล่าวไว้ “ปัญหาของคนในยุคข้อมูลข่าวสารก็คือ ‘เราใช้หัวคิดกันมากเกินไป แต่กลับไม่เอาใจใส่หัวใจกันเลย’ การภาวนานั้นมีจุดมุ่งหมายที่เหมือนกันคือ เพื่อดึงตัวตนภายในออกจากหัวคิด ไปสู่หัวใจ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดก็ตาม ก็จะนำเราออกจากปลักโคลนของหัวคิด ไปสู่อิสรภาพของหัวใจ
การอาศัยอยู่กับจิตที่ชอบคิด ถือว่าอยู่ในระดับมนุษย์ แต่ถ้าอยู่ต่ำกว่าจิตที่คิดได้ ถือเป็นการมีชีวิตอยู่ในระดับสัตว์ การมีชีวิตอยู่เหนือความคิด คืออยู่ในระดับหัวใจ ถือเป็นระดับจิตแห่งพุทธะ” หรือที่นักจิตวิทยาสมัยใหม่ใช้คำว่า “จิตเหนือสำนึก”
และจิตแห่งพุทธะ หรือจิตเหนือสำนึก ที่ปรากฏขึ้นในระดับหัวใจนี้เอง ช่วยให้เราคิดดี พูดดี ทำดี ตื่นรู้เบิกบานได้โดยอัตโนมัติ แถมช่วยให้เราเชื่อมต่อโยงติดเข้ากับทุกสรรพสิ่ง ผู้ที่เข้าถึงจิตในระดับนี้จะมีความรู้สึกเป็นสุขกับตัวเองมาก ความรู้สึกเป็นสุขบวกกับความคิดระดับนี้แหละ คือขุมพลังอำนาจในการดึงดูดสิ่งดีๆ เข้ามาสู่ตัวเราราวกับเนรมิต
ปัจจุบันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่มีความคิดที่แข่งกันด้วยความเร็วเต็มที่ทั้งวันทั้งคืน ทำให้ความคิดกลายเป็น “จับฉ่าย” ชามใหญ่ เป็นแหล่งรวมหัวข้อสนทนาไม่หยุดหย่อน ทั้งเรื่องงาน เรื่องครอบครัว เรื่องส่วนตัว จิปาถะ ความคิดพวกนี้เป็นกิจกรรมรายวัน และก่อตัวเป็นรูปแบบความคิดที่สะเปะสะปะวุ่นวาย กระทั่งไม่เหลือพื้นที่ว่างให้กับความเงียบผ่อนคลาย ในขั้นจิตสงบนิ่งตั้งมั่นเป็นสมาธิบ้างเลย
นี่คือสิ่งที่ทางพุทธศาสนาเน้นย้ำให้พุทธศาสนิกชน ได้บำเพ็ญตนฝึกฝนเข้าให้ถึงจิตในระดับนี้ เพราะจิตที่สงบนิ่งตั้งมั่นสามารถเปลี่ยนความคิดอันตื้นเขิน มาเป็นปัญญาอันเฉียบแหลม เหมือนแสงไฟที่ส่องสว่างปรากฏขึ้น เพื่อขับไล่ความมืดบอดทางความคิดให้กระเจิงหายไป แล้วเนรมิตวิธีการหรือคำตอบที่เราต้องการ ให้ปรากฏขึ้นอย่างง่ายดาย เหมือนที่ปราชญ์ชาวตะวันตกผู้หนึ่งกล่าวไว้
“มนุษย์คิดอย่างไร ใจของเขาก็กลายเป็นแบบนั้น ความคิดมุ่งไปทางไหน กายก็เป็นไปตามนั้น ถ้าภาพในใจคุณเห็นอย่างไร ในมือคุณก็จะถืออย่างนั้น”
ฉะนั้น เราทุกคนจึงจำต้องเรียนรู้ถึงวิธีการคิดได้อย่างถูกต้อง เช่นเดียวกับบุคคลต้นแบบระดับโลกที่ประสบความสำเร็จทางด้านความคิด เพราะท่านหยุดใช้หัวคิด แล้วหันมาใช้หัวใจด้วยการทำสมาธิ “ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา” คนไทยคนแรกและคนเดียวที่ช่วยนาซ่าคิดค้นระบบการร่อนลงจอดของยานอวกาศไวกิ้งบนดาวอังคารได้สำเร็จ สร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้มนุษย์สามารถเดินทางไปดาวอังคารได้อย่างปลอดภัย ด้วยภาวะปิ๊งแว้บ!ที่เกิดจากการทำสมาธิ
ดร.อาจองได้เปิดเผยความคิดสุดอัจฉริยะของท่าน ผ่านนิทานชวนอ่านเรื่องต่อไปนี้...(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในยูทูบพิมพ์คำว่า การทำสมาธิ ดร.อาจอง)
กาลครั้งนั้นนานมาแล้ว มีชายคนหนึ่งชื่ออาละดิน ขณะที่อาละดินกำลังทำสวนพรวนดินอยู่ จู่ๆเขาก็ไปเจออะไรแข็งๆใต้ดินเข้า ก็นึกว่าก้อนหิน จึงจะขุดเอาไปทิ้ง แต่ที่ไหนได้ มันกลับกลายเป็นตะเกียงโบราณ อาละดินดีใจใหญ่ เขาเอามาเช็ดถูให้สะอาด ถูไปถูมาควันก็ออกจากตะเกียง แล้วกลายเป็นยักษ์ตัวเบ้อเริ่มเทิ่ม
เจ้ายักษ์ออกมาบอกกับอาละดินว่า “เจ้านาย วันนี้เจ้านายทำให้ข้าเป็นอิสระ ข้าขอขอบคุณเจ้านาย เจ้านายอยากได้อะไรบอกมาได้เลย ข้าให้ได้ทุกอย่าง แต่มีข้อแม้อยู่ว่า ถ้าเจ้านายไม่ใช้ข้า ข้าจะกินเจ้านาย”
อาละดินคิดว่า ถ้าได้ยักษ์ตนนี้มาเป็นคนรับใช้ เขาจะร่ำรวย คิดว่าแค่ใช้มันตลอดเวลาไม่น่าจะมีปัญหา แล้วเขาก็เริ่มสั่งการ
อาละดินบอกอยากได้บ้านหลังใหญ่ๆ เจ้ายักษ์ก็ดีดนิ้วบอก “ข้าจะทำตามที่ท่านปรารถนา” แป๊บเดียวบ้านหลังใหญ่ก็มาวางตรงหน้าอาละดิน เขาตกใจใหญ่ เพราะคิดว่าน่าจะใช้เวลาสองถึงสามเดือนในการสร้างบ้าน ก็เลยต้องสั่งใหม่ หยุดไม่ได้
สั่งให้ทำสะพานข้าม เจ้ายักษ์ก็ดีดนิ้วเสร็จทันที ให้ทำสวนก็ดีดนิ้วเสร็จทันที ไม่ว่าอาละดินจะสั่งอะไร เจ้ายักษ์ก็ดีดนิ้วเนรมิตออกมาทันที
เวลาผ่านไปหลายชั่วโมง อาละดินชักนึกไม่ออก เขาก็เลยขอไปอย่างนั้น ขอไปเรื่อยเปื่อยเพราะหยุดไม่ได้ นั่งขอไปจนดึก อาละดินชักเพลีย แต่กลัวจะเป็นลมเป็นแล้งไป แล้วเจ้ายักษ์จะมาจับเขากิน จึงหาอุบายให้เจ้ายักษ์ทำงานตลอดเวลา
แล้วเขาก็นึกขึ้นได้ เขาสั่งให้มันสร้างเสาสูงๆ ต้นเบ้อเริ่มเทิ่ม ยักษ์ก็ดีดนิ้วสร้างให้ แล้วสั่งให้เจ้ายักษ์ปีนขึ้นไปข้างบน แล้วปีนกลับลงมาข้างล่าง ให้ปีนขึ้นปีนลงไปเรื่อยๆ ห้ามหยุด เจ้ายักษ์ก็เลยปีนขึ้นไปถึงยอดเสาแล้วปีนลงมา อาละดินหัวเราะร่วนเลยเชียว “ฮ่าฮ่าๆ เดี๋ยวข้าไปก่อนนะเจ้ายักษ์ เช้าขึ้นมาข้าจะสั่งเจ้าทำอาหารให้กิน”
จากนั้นพอไม่มีอะไรให้ทำ เขาก็สั่งยักษ์ให้ปีนขึ้นปีนลงอยู่บนเสา ด้วยวิธีการอย่างนี้อาละดินจึงอยู่มาอย่างมีความสุข สมบูรณ์พร้อมพรั่งตลอดไป!!!
ถอดรหัสอัจฉริยะจากนิทานเรื่องนี้ “เจ้ายักษ์” คือ ความคิด ส่วน “เสา” คือ ลมหายใจ และ “ปีนขึ้นลง” ก็คือ หายใจเข้าออก นี่คือวิธีควบคุมเจ้ายักษ์คือความคิด ให้ความคิดเกาะติดอยู่กับลมหายใจ หรือเราจะท่อง “พุทโธ” กำกับไปด้วยก็ได้ หายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ”
ถือเป็นวิธีควบคุมเจ้ายักษ์คือความคิด ให้มันดึงดูดหรือเนรมิตแต่สิ่งดีๆ ที่เป็นมงคลมาให้ ภายใต้การบัญชาการของเราด้วย “อานาปานสติ”
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 177 กันยายน 2558 โดย ทาสโพธิญาณ)