xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารบ้านเรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


• ผู้นำชาวพุทธ 85 ประเทศ ร่วมประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ 2558 จัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพฯภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมชาวพุทธนานาชาติ ครั้งที่ 12 เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก เรื่อง "พระพุทธศาสนากับวิกฤตของโลก” ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ภายใต้การดำเนินการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ระหว่างวันที่ 28-30 พ.ค. 2558 โดยมีผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ด้านพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน จำนวน 1,500 รูป/คน จาก 85 ประเทศ และผู้เข้าร่วมประชุมจากไทย จำนวน 3,500 รูป/คน

พระพรหมบัณฑิต อธิการบดี มจร. ในฐานะประธานกรรมการดำเนินการจัดประชุม ได้ประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ 2558 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ใจความว่า ผู้นำชาวพุทธทั่วโลกได้มีมติเป็นเอกฉันท์ร่วมกันดังต่อไปนี้

1. จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสากล เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

2.จัดทำสหบรรณานุกรมทางพระพุทธศาสนา ระยะที่ 1 ที่จะเชื่อมบรรณานุกรม พระไตรปิฎกทุกฉบับเข้าด้วยกันด้วยระบบออนไลน์ รวมทั้งจัดทำเว็บไซต์บรรณานุกรมที่ใช้เทคนิคชั้นสูง สำหรับพระไตรปิฎกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทั้งฉบับบาลีและฉบับแปล

3. เพื่อแก้ไขวิกฤตของโลกทุกรูปแบบ กระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ใส่ใจต่อหลักปฏิจจสมุปบาท ที่เกี่ยวกับการอิงอาศัยกันระหว่างสรรพสัตว์กับสรรพสัตว์ และกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้มองโลกในแง่ดีว่า เราสามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยอาศัยปัญญาและกรุณา

4. กระตุ้นเตือนปัจเจกชนทุกคน โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ให้ส่งเสริมการพัฒนาสตรีทั่วโลก

5. กระตุ้นเตือนให้หน่วยงานรัฐบาลและองค์การนอกภาครัฐทั้งหมด ลงทุนด้านการศึกษาให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการส่งเสริมการศึกษาเจริญสติ ความหลากหลายด้านศาสนา คุณค่าทางจริยธรรมและการพัฒนาจิตใจ ให้แก่เยาวชนและสังคมส่วนรวม เช่น ส่งเสริมโครงการหมู่บ้านรักษาศีลห้าในประเทศไทย

6. ส่งเสริมการพัฒนาจิตใจส่วนบุคคล และการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ในระดับสังคม เศรษฐกิจ กฎหมายและการเมือง โดยอาศัยการใช้ชีวิตเรียบง่าย มีหลักจริยธรรมที่ดีงาม เพื่อจะสร้างชุมชนมีสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาแบบยั่งยืน ที่ใส่ใจถึงภาวะโลกร้อน และความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม เพื่อเกื้อหนุนให้เพื่อนมนุษย์อยู่ร่วมโลกกันได้ โดยไม่เอารัดเอาเปรียบกัน กระตุ้นเตือนให้ประชาคมโลกส่งเสริมการตระหนักรู้เรื่องการอิงอาศัยกันระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้มทางธรรมชาติ

7. เรียกร้องให้มีความพยายามในการบรรเทาทุกข์ สำหรับภัยธรรมชาติและภัยแล้งต่างๆ เช่น การเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งชุมชนชาวพุทธทั่วโลกได้ให้การช่วยเหลือ และกระตุ้นเตือนให้ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันระดมทรัพยากรมาปฏิบัติการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ด้วยความกรุณา

8. กระตุ้นเตือนให้รัฐบาลและภาคประชาชนในประชาคมอาเซียน พร้อมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน หาทางแก้ไขสถานการณ์ที่ล่อแหลมและระบบนิเวศที่เปราะบางในลุ่มแม่น้ำโขง

9. สนับสนุนผู้นำชาวพุทธ ดำเนินการพบปะแลกเปลี่ยนกับศาสนาอื่นให้มากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ความปรองดอง ความเคารพ การสร้างสันติภาพ และความสามัคคี เพื่อสร้างสังคมที่เป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้นภายในประชาคมอาเซียนและประเทศอื่นๆ

10. เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม เช่น ยาเสพติดให้โทษ การใช้ความรุนแรงต่อคนกลุ่มน้อย และการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ให้ใช้หลักการที่มีอยู่ในนิกายต่างๆของพระพุทธศาสนา เช่น การเจริญสติ กรุณา ปัญญา ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเคารพต่อชีวิตและผู้คนทั้งหมด โดยไม่มีการแบ่งแยกเพราะสถานะทางสังคมและเพศ ยกตัวอย่างเช่น การสอนสติปัฏฐาน เพื่อแก้ไขพฤติกรรมของนักโทษ

มส. มีมติเห็นชอบเลื่อนขั้นที่ปรึกษาพระสังฆาธิการ
นายสมชาย สุรชาตรี โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) แถลงภายหลังการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ว่า ที่ประชุมมีมติเลื่อนระดับการยกย่องพระสังฆาธิการให้เป็นที่ปรึกษา จากเดิมที่ระบุไว้ตามข้อ 34 วรรค 2 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 ว่าด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนพระสังฆาธิการ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2546 ที่ระบุว่า พระสังฆาธิการผู้ดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และ รองเจ้าคณะตำบล ได้ปฏิบัติหน้าที่มาโดยเรียบร้อยจนมีอายุครอบ 80 ปี บริบูรณ์ ให้ยกย่องเชิดชูเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะในชั้นนั้นๆ เว้นแต่ทุพพลภาพ หรือพิการ ถ้ายังมีความเหมาะสม หรือยังหาผู้ดำรงตำแหน่งในชั้นนั้นๆ ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม มส. จะพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งเดิมต่อไปอีกไม่เกิน 3 ปี เฉพาะกรณี

โฆษก พศ.กล่าวต่อไปว่า แต่ที่ประชุมเห็นว่า ควรมีการยกย่องให้มีตำแหน่งสูงขึ้น จึงมีมติเห็นชอบว่า หากเป็นเจ้าคณะตำบล และมีอายุครบ 80 ปีแล้ว เห็นควรยกย่องให้เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ หากเป็นเจ้าคณะอำเภอ เมื่ออายุครบ 80 ปีแล้ว เห็นควรได้รับการยกย่องเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด และหากเป็นเจ้าคณะจังหวัดเมื่อมีอายุครบ 80 ปีแล้ว เห็นควรยกย่องเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค

กรมศิลป์ทุ่ม 500 ล้าน สร้างคลังพิพิธภัณฑ์
นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรมีแนวทางพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 44 แห่งทั่วประเทศ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น หลังจากพบว่า พิพิธภัณฑ์หลายแห่งประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร รวมถึงสถานที่เก็บโบราณวัตถุก็มีขนาดเล็ก ยากต่อการขยายและพัฒนา ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2559 กรมศิลปากรจึงได้จัดสรรงบประมาณ 500 ล้านบาท สร้างคลังพิพิธภัณฑ์กาญจนาภิเษกขึ้นในพื้นที่ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อเป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ยังไม่มีการนำไปจัดแสดง และอยู่ในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในเขตภาคกลาง ซึ่งมีจำนวนมากมารวมไว้ด้วยกัน พร้อมแบ่งโบราณวัตถุออกเป็น 8 ประเภท และจัดแสดงไว้ใน 8 ห้อง โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆ สามารถขอยืมโบราณวัตถุ เพื่อนำไปจัดแสดงให้ความรู้แก่ประชาชนได้ ซึ่งจะเป็นการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนการจัดแสดงโบราณวัตถุให้มากขึ้น คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2560

นอกจากนี้ ยังวางแผนดำเนินการจัดสร้างคลังพิพิธภัณฑ์ลักษณะเดียวกันนี้ 5 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละแห่งจะนำอัตลักษณ์ของพื้นที่ มาสร้างจุดแข็งให้เกิดความน่าสนใจ โดยมุ่งหวังให้เกิดการจัดนิทรรศการชั่วคราวขึ้นอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหว ความตื่นตัวในการอนุรักษ์และการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ยั่งยืนในอนาคต

วัดอรุณฯมีแนวคิดเสนอ "พระปรางค์" เป็นมรดกโลก
พระศากยปุตติยวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางวัดกำลังศึกษารวบรวมข้อมูล โดยมีแนวคิดเสนอพระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นมรดกโลก เนื่องจากเห็นว่า พระปรางค์วัดอรุณฯ มีเอกลักษณ์โดดเด่นแห่งเดียวในประเทศไทยและในโลก ที่สำคัญถือเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต้องมาชมความงดงาม ซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาชมนับล้านคน

นอกจากนี้ เว็บไซต์ท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทริปแอดไวเซอร์ (TripAdvisor) ยังได้เปิดเผยผลสำรวจสถานที่ท่องเที่ยวงดงามที่สุดในโลก โดยวัดอรุณฯ ติด 1 ใน 10 อันดับของระดับเอเชียด้วย แต่การเสนอให้พระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นมรดกโลก ทางวัดจะต้องมีการหารือกับกรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

กรมการแพทย์จัดตั้งศูนย์ทันตกรรมผู้สูงอายุ ดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุแบบครบวงจร
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากการพิจารณาเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับแผนงานทันตสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุประเทศไทย พ.ศ. 2558-2565 เพื่อเป็นแนวทางในด้านทันตกรรมผู้สูงอายุของประเทศ ดังนั้น กรมการแพทย์ โดยสถาบันทันตกรรม จึงได้จัดตั้งศูนย์ทันตกรรมผู้สูงอายุ เพื่อให้บริการผู้สูงอายุในช่องทางพิเศษ รวมทั้งเป็นสถานที่เรียนรู้เรื่องระบบการบริการ เทคนิคการบริการผู้สูงอายุ ปรับรูปแบบและมาตรฐานการรักษา เพื่อเป็นต้นแบบบริการสำหรับประเทศต่อไป

ทันตแพทย์หญิงฉวีวรรณ ภักดีธนากุล ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม เปิดเผยว่า ศูนย์ทันตกรรมผู้สูงอายุ ให้บริการทันตกรรมแก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขี้นไป จัดการองค์ความรู้ด้านทันตกรรมผู้สูงอายุ และที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ ประสานเครือข่ายบริการทันตกรรมผู้สูงอายุให้เกิดประสิทธิภาพ ศูนย์ดังกล่าวมีการให้บริการตรวจพื้นฐาน ได้แก่ อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน และให้บริการทันตกรรมที่ซับซ้อน เช่น รักษาคลองรากฟัน รักษาโรคปริทันต์อักเสบ บูรณะฟันที่มีความยุ่งยาก ผ่าตัดปุ่มกระดูกงอกที่ขากรรไกร ใส่ฟันเทียม รากฟันเทียม เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพช่องปากที่ดีเหมาะสมกับวัย รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุกๆ 4-6 เดือน เพื่อรักษาสุขภาพฟันและช่องปากให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยสามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่สถาบันทันตกรรม ซ.บำราศนราดูร ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี โทร. 0-2588-4006-7 ต่อ 1101 และ 09-8260-1967, 09-8260-1967, 09-9873-4853

ครม.เห็นชอบถวายพระราชสมัญญา รัชกาลที่ 3 “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย”
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 ว่า ครม.มีมติเห็นชอบ ถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย” แด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี และกำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอตามรายงานของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ว่าได้ตระหนักถึงคุณค่าและเห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน สมุนไพรไทยที่ดำรงอยู่มายาวนานกว่า 1,000 ปี จากอดีตจนถึงปัจจุบันปรากฏ หลักฐานการใช้สมุนไพรไทยสืบต่อกันมา ทั้งในระดับพระมหากษัตริย์ บุคคลชนชั้นสูง และประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการรวบรวมความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย มาเผยแพร่ในวงกว้าง ทำให้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีรากฐานไม่จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในวังหรือชนชั้นสูง ประชาชนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ได้ ประกอบกับหลักฐานจากแผ่นศิลาจารึกสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ได้จารึกตำราการแพทย์แผนไทยติดประดับไว้ตามศาลาต่างๆ รวมทั้งการก่อสร้างรูปฤาษีดัดตนด้วย

โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศรับรองให้แผ่นศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2554

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 175 กรกฎาคม 2558 โดย กองบรรณาธิการ)





กำลังโหลดความคิดเห็น