“เสียงเชียร์ที่ดังกึกก้องจากข้างสนามกีฬา มีผลต่อจิตใจของนักกีฬา ฉันใด
เสียงชื่นชมอนุโมทนาสาธุ ก็มีผลต่อจิตใจของนักธรรม ที่มุ่งมั่นทำความดีอยู่ในสนามชีวิต ฉันนั้น”
คงไม่มีนักกีฬาคนใดในโลก ที่เล่นได้ดีโดยไม่ต้องมีกองเชียร์ เพราะเสียงเชียร์ช่วยให้จิตใจของนักกีฬาฮึกเหิม เกิดพลังมุ่งมั่นที่จะเอาชนะคู่ต่อสู้ คว้าเหรียญทองมาครองให้ได้
เราก็ไม่ต่างจากนักกีฬา เพียงแต่แข่งอยู่ในสนามชีวิต และถ้วยรางวัลของเราก็คือ “ความสำเร็จ” ดังนั้น เสียงเชียร์จึงมีความหมาย มีผลต่อจิตใจ และเป้าหมายที่เราใฝ่ฝัน
ขณะที่เสียงเชียร์นำพลังงานบวกมาให้ แต่เสียงโห่ก็จัดพลังงานลบมาให้เต็มๆเช่นกัน ทางพุทธศาสนาเชื่อว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ใจเป็นเรื่องของจิต สมองเป็นเรื่องของกาย แต่ทั้งจิตและสมองนี้ ต้องทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืน สิ่งใดที่มีผลกระทบต่อจิตใจ มันก็ส่งผลไปถึงสมองด้วย
นักประสาทวิทยาด้านสมองในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ได้ศึกษาวิจัยมาหลายปี เพื่อจะไปค้นดูพฤติกรรมของมนุษย์ว่า ทำไมบางคนล้มเหลวซ้ำๆ บางคนประสบความสำเร็จซ้ำๆ ทำไมนักกีฬาบางคนชนะตลอด แต่บางคนก็คว้าน้ำเหลวอยู่อย่างนั้น หรือบางคนค้าขายเจ๊งแล้วเจ๊งอีก ทำแล้วไม่สำเร็จ ขาดทุนย่อยยับ... มันเกิดอะไรขึ้น
มีความลับที่นักประสาทวิทยาเข้าไปไขดูในสมองมนุษย์ ก็พบว่าในสมองของมนุษย์ มีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “นิวรอน” ลักษณะเหมือนโครงข่ายใยแมงมุม มีแขนขาเป็นรากเหมือนต้นไม้ แขนขานี้เรียกว่า “แอกซอน” อยู่ในสมองมนุษย์เป็นล้านๆเซลล์
นิวรอนที่ยืดออกมานั้น มันเชื่อมต่อกันด้วยการติดประจุไฟฟ้า เวลาสมองคิด เครียด ดีใจ เสียใจ ได้ยิน ได้ฟังอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบวกหรือลบ มันก็จะส่งกระแสไฟฟ้าออกไปเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ต่อเซลล์ในสมอง ส่งกันไปส่งกันมา หากความคิดเป็นบวก นิวรอนบวกก็จะยืดออกมาจับกัน แต่ถ้าความคิดความรู้สึกเป็นลบ นิวรอนฝ่ายลบมันก็จะยืดออกไปจับกัน นานเข้านิวรอนก็ใหญ่ขึ้น จับกันเป็นโครงข่ายแข็งแรง บันดาลให้เกิดพฤติกรรมทำซ้ำที่แต่ละคนแสดงออกมา
ในเมื่อเสียงเชียร์มีผลต่อจิตใจของนักกีฬา เสียงตำหนิติเตียน วิพากษ์วิจารณ์ ก็ย่อมส่งผลต่อความรู้สึกของมนุษย์ปุถุชนธรรมดาอย่างเราเช่นกัน พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของคำพูด จึงบัญญัติว่า การพูดดี พูดถ้อยคำที่อ่อนหวาน ให้กำลังใจ ชื่นชมยินดีต่อกัน จัดเป็นบุญชนิดหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุสิบประการ ที่เรียกว่า “ปัตตานุโมทนามัย”
วิธีที่ช่วยให้ “ชาร์ลส์ ชวอบ” ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผลิตเหล็กกล้าในตลาดยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกา ประสบความสำเร็จ ได้เปิดเผยเคล็ดลับนั้นว่า
“สิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผมประสบความสำเร็จในฐานะผู้บริหาร ที่ต้องคอยกระตุ้นเตือนให้พนักงานเหล่านั้นขยันหมั่นเพียรอย่างที่สุดคือ การยกย่องชมเชยและให้กำลังใจพวกเขา”
ประเด็นก็คือ จงพูดแต่คำที่ดี เป็นถ้อยคำที่สร้างสรรค์จรรโลงใจ ให้กับผู้ที่อยู่ตรงหน้าเรา พูดบ่อยๆย้ำบ่อยๆ ให้กำลังใจชื่นชมเขาบ่อยๆ ไม่นานพฤติกรรมเดิมๆ ของเขาก็จะเปลี่ยนไป เช่น “พ่อเชื่อลูกต้องทำได้แน่” “แม่ภูมิใจในตัวลูกจริงๆ”เป็นต้น นี่เป็นกรณีที่พ่อแม่ควรพูดกับลูกบ่อยๆ
แต่ในบางครั้ง หากเราต้องเป็นผู้ฟัง แล้วต้องฟังถ้อยคำตำหนิติเตียนอย่างประสงค์ร้าย ที่ทำลายพลังงานส่วนตัวอันดีงามสร้างสรรค์ ในกรณีนี้ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรทำเป็นหูทวนลม ฟังก็สักแต่ว่าฟัง ฟังแล้วไม่ต้องเก็บมาใส่ใจ หรือไปต่อปากต่อคำ มิเช่นนั้นพลังงานลบนี้มันจะไปหักล้างพลังงานอันบริสุทธิ์ภายในจิตใจของเรา ฉะนั้น ต้องรู้จักแยกแยะความแตกต่างตรงนี้เอาไว้ให้ดีระหว่าง “ติเพื่อก่อ” กับ “ติเพื่อทำลาย”
เหมือน “นักดับเพลิง” กับ “นักดับฝัน” สองคนนี้ทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน นักดับเพลิงจะไปทันที เมื่อมีคนโทรแจ้งว่า เกิดเพลิงไหม้วอดวายขึ้นที่ใด เขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะดับเพลิงซึ่งกำลังลุกไหม้อยู่นั้น มิให้ลุกลามใหญ่โต
ส่วนนักดับฝันจะขยันหาถ้อยคำมาพูดทุกอย่าง เพื่อที่จะเตะตัดขา มิให้คนที่มีความฝัน หรือนักกีฬาที่แข่งอยู่ในสนามชีวิตอย่างเรา บรรลุถึงเป้าหมาย ด้วยถ้อยคำจับผิดต่างๆนานาสารพัด ต่อให้สิ่งนั้นจะดีแค่ไหน นักดับฝันพวกนี้ก็จะหาเรื่องขึ้นมาตำหนิติเตียนจนได้...
ดังเรื่องของชายคนหนึ่ง ที่ชาวบ้านต่างพากันเรียกว่า “นายช่าง” การเป็นช่างของแกนั้น ไม่ใช่ช่างไม้ ช่างปูน หรือช่างยนต์ แต่แกเป็นช่างติ ติได้สารพัด ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีเลิศประเสริฐศรีปานใด แกก็ยังขุดคุ้ยหาข้อตำหนิมาติเตียนจนได้
อยู่มาวันหนึ่ง นายช่างติก็ไปนอนเล่นอยู่ใต้ต้นมะม่วง มองขึ้นไปก็เห็นลูกมะม่วงเต็มต้นไปหมด แล้วแกก็นึกตำหนิพระเจ้าขึ้นมาว่า
“โธ่เอ๋ย! ....พระเจ้านี่ช่างโง่เขลาซะจริงๆ สร้างอะไรขึ้นมาไม่เห็นมันจะสมดุลกันเลย ดูสิมะม่วงต้นออกใหญ่โต กลับสร้างให้มีลูกเล็กๆ
ส่วนแตงโมน่ะ ต้นมันเล็กนิดเดียวกลับสร้างซะให้ลูกใหญ่โตอย่างกับบาตรพระ นี่ถ้าข้าเป็นพระเจ้านะ ข้าจะสร้างให้มะม่วงมีลูกใหญ่โต แล้วให้แตงโมมีลูกเล็กๆ มันจะได้สมดุลกัน”
ขณะนั้นมีลมกรรโชกแรงมาวูบหนึ่ง ลูกมะม่วงที่ห้อยต่องแต่งอยู่บนต้น ก็หล่นตุ้บลงมาที่หน้าผากของนายช่างติพอดีเป๊ะ! เท่านั้นแหละ..หน้าผากบวมปูดอย่างกับลูกมะนาว เห็นดาวขึ้นระยิบระยับเลย นายช่างติเอามือกุมหน้าผากร้องโอดโอย ครวญครางว่า
“โอ๊ย!...ดีนะที่พระเจ้าโง่ หากพระเจ้าฉลาดอย่างที่ข้าคิด ป่านนี้หัวข้าคงแหลกไปแล้ว ด้วยลูกมะม่วงใบโตเท่าบาตร ซี้ด..อูย!!”
นิทานเรื่องนี้มีคติคล้ายกับที่ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าวว่า “อย่าเป็นนักจับผิด คนที่คอยจับผิดคนอื่น แสดงว่าหลงตัวเองว่าเป็นคนดีกว่าคนอื่น ไม่เห็นข้อบกพร่องของตนเอง กิเลสฟูท่วมหัวยังไม่รู้ตัวอีก คนที่ชอบจับผิดจิตใจจะหม่นหมองไม่มีโอกาสจิตประภัสสร ฉะนั้น จงมองคน มองโลกในแง่ดี แม้ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ถ้ามองเป็น ก็เป็นสุข”
พระพุทธองค์ทรงตรัสสรรเสริญ ให้การใช้คำพูดที่ดีมีประโยชน์ สร้างสรรค์ เป็นหนึ่งในอริยมรรคมีองค์แปด ที่พระองค์เรียกว่า “สัมมาวาจา” แปลว่า “การเจรจาชอบ”
บางครั้งหากนึกไม่ออกว่าจะใช้คำพูดอย่างไร ให้เป็นที่ชื่นชอบ การปิดปากเงียบ นิ่งเฉย ไม่พูดว่ากล่าวอะไรออกไป ก็เป็นเรื่องที่ดีเหมือนกัน เฉกเช่นที่ “อับราฮัม ลินคอล์น” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ใช้เป็นคติประจำใจในช่วงทำสงครามกลางเมือง
ตอนนั้นลินคอล์นต้องเปลี่ยนแม่ทัพคนแล้วคนเล่า เพราะแม่ทัพเหล่านี้ล้วนปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อกองทัพ ความเสียหายนี้ทำให้ลินคอล์นถึงกับต้องเดินวนเวียนไปมาบนพื้นห้องด้วยความสิ้นหวัง ประชาชนกว่าครึ่งประเทศต่างตำหนิแม่ทัพเหล่านั้นอย่างฉุนเฉียว แต่ลินคอล์นกลับเลือกรักษาอารมณ์ของเขาให้อยู่ในอาการเงียบสงบ ตามคติประจำใจของเขาคือ “อย่าตัดสินผู้อื่น หากไม่ต้องการให้ผู้อื่นตัดสินเรา”
คตินี้สอดคล้องกับที่หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดแห่งวัดช้างให้สอนไว้
“พูดมาก เสียมาก พูดน้อย เสียน้อย
ไม่พูด ไม่เสีย นิ่งเสีย โพธิสัตว์”
อนึ่ง เป็นกองเชียร์ ถ้าไม่รู้ว่าจะร้องเพลงเชียร์อย่างไร การนิ่งเงียบไว้ยังดีเสียกว่าโห่ร้องขับไล่นักกีฬาที่เล่นผิดพลาดให้ออกไปจากสนาม(ชีวิต)
ฉะนั้น จงเปลี่ยนเสียงโห่ ให้เป็นเสียงเชียร์ ที่ดังกึกก้องออกมาจากใจ ไม่นานหรอก เดี๋ยวนักกีฬาคนใหม่ที่พร้อมจะคว้าชัย ก็จักปรากฏขึ้น พร้อมกับโครงข่ายนิวรอนบวกในสมองแห่งพุทธะของเขา
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 173 พฤษภาคม 2558 โดย ทาสโพธิญาณ)