ผลไม้อะไรเอ่ย ลูกแดงๆ เปลือกมีหนามน้อยๆ เนื้อขาวๆ นุ่มๆ รสชาติหอมหวาน รับประทานแล้วชุ่มคอชื่นใจจริงๆ
คนที่เคยลองลิ้มชิมรสผลไม้นี้มาแล้ว จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ลิ้นจี่”
รสชาติที่อร่อยเลิศล้ำของลิ้นจี่ ถึงกับมีเรื่องเล่ากันว่า ลิ้นจี่นั้นมีมา 2000 กว่าปีแล้ว ในสมัยราชวงศ์ถัง จักรพรรดิถังเสวียนจง ทรงมีรับสั่งให้ม้าเร็วนำลิ้นจี่จากแหล่งปลูกทางตอนใต้ของจีน รีบเดินทางมาถวายที่ปักกิ่ง เพราะเป็นผลไม้โปรดของหยางกุ้ยเฟย พระสนมของพระองค์
แค่หอมหวานอร่อยสุดๆ ยังไม่พอ เพราะลิ้นจี่ยังมีดีที่เป็นยาด้วยนะ
เนื้อลิ้นจี่มีเส้นใยอาหารสูง อุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ และธาตุต่างๆ เช่น วิตามินB1 วิตามิน ฺB2 ไนอะซีน วิตามินA วิตามินC วิตามินB6 วิตามินE โปแตสเซียม ทองแดง สังกะสี แคลเซียม ฟอสฟอรัส ซีลีเนียม โฟเลต นอกจาก นี้ยังมีกรดอะมิโนที่สำคัญมากมาย ที่ช่วยในการป้องกันและรักษาโรคบางชนิด ได้แก่
• ป้องกันโรคเหน็บชา
• ป้องกันไขมันอุดตันในหลอดเลือด ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ
• ป้องกันการเกิดและช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
• เสริมสร้างกระดูกและฟัน
• ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี
• ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม
• ลดกรดในกระเพาะอาหาร
• บรรเทาอาการไม่ปกติของระบบทางเดินอาหาร
• บำรุงม้ามและระบบประสาท
• ขับปัสสาวะ
• ต่อต้านอนุมูลอิสระ ที่ทำให้เกิดมะเร็ง
• ป้องกันการเกิดพิษต่อตับ
• มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และฤทธิ์ระงับปวด
• แก้อาการไอเรื้อรัง คัดจมูก
แม้ว่าลิ้นจี่จะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็ไม่ควรรับประทานเยอะ เพราะลิ้นจี่มีฤทธิ์ร้อน หากรับประทานมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการร้อนใน สำหรับผู้เป็นเบาหวานต้องระวัง เพราะในลิ้นจี่มีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง
ในประเทศไทยมีลิ้นจี่มากมายหลายพันธุ์ ภาคเหนือมีพันธุ์ฮงฮวย โอวเฮียะ กิมเจ็ง และจักรพรรดิ โดยจะออกในช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน ส่วนภาคกลางมีพันธุ์ค่อมหรือหอมลำเจียก กะโหลกใบยาว สาแหรกทอง พันธุ์แห้ว สำเภาแก้ว ฯลฯ ซึ่งมาจากจังหวัดสมุทรสงครามเป็นหลัก โดยจะออกในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 171 มีนาคม 2558 โดย ปุยฝ้าย)