xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : ถึงเวลา หยุดพัก...ลับคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ความสำเร็จไม่ใช่กุญแจสู่ความสุข
แต่ความสุขต่างหากคือกุญแจสู่ความสำเร็จ”


หลายคนหมกมุ่นทุ่มเทอยู่กับการทำงานหนัก เพื่อหวังความสำเร็จที่คิดว่าจะนำไปสู่ความสุข แต่ผลสุดท้ายอาจไม่ได้เป็นไปตามหวัง

ดังนั้น อย่าหมกหมุ่นกับงานมากนัก เพราะความเพียรที่มากเกินนั้นไร้ผล แถมแห้งแล้งความสุข ปราศจากอารมณ์ละเมียดละไม ทำให้เปลืองแรงเหนื่อยฟรี ถึงแม้งานจะเสร็จออกมา แต่ทว่าก็เต็มไปด้วยความเครียดที่อัดฝังแน่นอยู่ในทุกอณูเนื้องาน งานแบบนี้ภาษาศิลปินเขาเรียกว่า “งานขยะ”

ลองนึกภาพ “มีด” เล่มหนึ่งที่คมกริบ แต่เมื่อถูกใช้มากเข้าความคมย่อมหมดไป ก็อย่างที่รู้กันอยู่ มีดทื่อจะตัดหรือฟันอะไรก็ไม่เข้า และไม่มีประโยชน์อันใดที่จะฝืนใช้งานต่อไปในสภาพแบบนั้น

ทางออกของเรื่องนี้ก็คือ “หินลับมีด” นำมีดทื่อเล่มนั้นมาลับคมใหม่สักพัก รับรองว่ามีดทื่อก็จะกลับมาคมกริบใช้งานได้ดีดังเดิม

เช่นเดียวกับเรื่องงาน โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้คมปัญญา คมความคิด ในการวางแผนบริหารจัดการ อย่างเช่น นักออกแบบ นักเขียน เป็นต้น เมื่อเขียนแล้ว แสดงผลงานออกมาแล้ว ผลสะท้อนเกิดเป็นแรงต้าน เป็นแรงเสียดทานออกมาในทางลบเยอะเกิน นั่นหมายถึงเราควรหยุดพัก วางมือจากงานนั้น แล้วหันมาพิจารณาทบทวนตัวเอง หรือเปลี่ยนท่าทีไปทำอย่างอื่นที่ต่างออกไป

อะไรก็ได้ที่ไม่คิดว่าจะทำในยามปกติ ถึงเวลานี้เราควรเลือกทำสิ่งนั้นบ้าง ถือเป็นการหยุดพักลับคมมีดคือปัญญาของเรา

มาดูกันว่า นิทานต่อไปนี้ บอกอะไรกับเราบ้าง

.......

กาลครั้งนั้นนานเท่าไหร่จำไม่ได้แล้ว มีคนตัดฟืนผู้หนึ่งเข้ามาทำงานในโรงไม้ ด้วยค่าจ้างเงินเดือนก้อนโต เขาจึงมุ่งมั่นทำหน้าที่อย่างแข็งขัน

เริ่มงานวันแรก เขาไปรายงานตัวกับหัวหน้าคนงาน หัวหน้ามอบขวานให้ พร้อมมอบหมายพื้นที่ป่าอาณาเขตที่เขาต้องรับผิดชอบ และด้วยความเป็นคนขยัน คนตัดฟืนรีบเดินทางไปยังป่าอย่างกระตือรือร้น เขาตัดต้นไม้ได้สิบแปดต้นภายในวันเดียว

“สุดยอด” เสียงของหัวหน้าคนงานบอก“ทำให้ได้อย่างนี้เรื่อยๆ นะ”

ด้วยความฮึกเหิมหลังได้รับคำชม คนตัดฟืนจึงกระหยิ่มอยู่ในใจว่า จะต้องทำให้ดียิ่งขึ้นในวันถัดไป

เช้าวันรุ่งขึ้น เขาตื่นก่อนใคร รีบมุ่งหน้าไปยังป่าทันที และไม่ว่าจะพยายามเพียงใด เขาก็ตัดต้นไม้ได้แค่สิบห้าต้น “เราคงเหนื่อยเกินไป” เขารำพึงกับตัวเองในใจ วันนั้นเขาจึงเข้านอนตั้งแต่ตะวันยังไม่ทันตกดิน

ครั้นรุ่งสาง เขาตื่นขึ้นมาด้วยความมาดมั่นว่า จะต้องทำลายสถิติสิบแปดต้นของตัวเองให้ได้ แต่อนิจจา...ทั้งวันเขาตัดต้นไม้ได้ไม่ถึงครึ่งของจำนวนที่ตั้งใจ

วันถัดไป เขาตัดได้เจ็ดต้น หลังจากนั้นก็ห้าต้น และวันสุดท้าย เขาใช้เวลาตลอดทั้งบ่าย เพื่อตัดต้นไม้ต้นที่สอง ตลอดเวลาเขารู้สึกกระวนกระวายใจว่า หัวหน้าจะว่าอย่างไร ดังนั้น เมื่อเสร็จภารกิจ คนตัดฟืนจึงรีบรุดเข้าไปพบหัวหน้า และเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง พลางบอกว่า เขาได้พยายามอย่างสุดกำลังแล้ว

หัวหน้าคนงานจึงเอ่ยถามว่า “ลับคมขวานครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?”

“ลับคมขวานหรือครับ? โอ๊ย...ผมไม่มีเวลาหรอก เพราะมัวแต่ตัดต้นไม้อยู่”


.......

ลองโยงนิทานเรื่องนี้มาเทียบดู งานของคนตัดฟืน ก็เหมือนกับงานที่เราทำอยู่ ขวานทื่อเพราะคนตัดฟืนใช้ฟันต้นไม้มากเกิน ขณะที่ความคิดหรือปัญญาของเราซึ่งเปรียบเหมือนขวาน เมื่อมันหมดคมแล้ว จะคิดอะไร จะนำเสนออะไร ก็ไม่ได้เรื่อง ผลงานไม่เข้าตา เรียกง่ายๆว่า แป๊กทุกงาน! มันไม่ดีเหมือนที่เคยทำมา

ดังที่ ดร.เดวิด ร็อก CEO ของบริษัทรีเซาต์โค้ชชิ่ง ซิสเต็มส์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก แนะนำว่า

“เราควรปล่อยให้จิตใต้สำนึกแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เพราะมันจะแก้ปัญหาได้ดีกว่าการมัวแต่นั่งกัดแทะปัญหานั้นในขณะที่ความคิดอยู่ในระดับจิตสำนึก”

ดร.ร็อก ได้ทำการวิจัยจากคนหลายพันคน ค้นพบว่า ทางออกของวิธีแก้ปัญหาอันซับซ้อนของพวกเขาก็คือ “จู่ๆ มันก็เกิดรู้ขึ้นมาเอง บางคนคิดออกขณะนอนหลับ หรือตอนครึ่งหลับครึ่งตื่น ตอนออกกำลังกาย ตอนอาบน้ำ หรือขณะที่กำลังทำงานอดิเรกอยู่เพลินๆ เช่น ขณะถักนิตติ้ง ทำสวนปลูกต้นไม้ กำลังทำอาหาร หรือกำลังปัดกวาดเช็ดถูพื้น”

สอดคล้องกับคำสอนทางพุทธศาสนา ในมงคลสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“อนวัชชานิ กัมมานิ เอตัมมังคลมุตตะมัง แปลว่า การกระทำที่ปราศจากโทษ จัดเป็นมงคลอันสูงสุด”

งานอดิเรกที่ทำเล่นๆ ทำไปแบบเพลินๆ โดยไม่คิดหวังว่าจะเอาอะไร งานแบบนี้แหละคือการกระทำที่ปราศจากโทษ งานที่ปราศจากโทษ ทำแล้วช่วยฟอกจิตใจของผู้กระทำให้สะอาดบริสุทธิ์ งานที่สะอาดบริสุทธิ์ก็คือ งานที่ทำโดยปราศจากกิเลสตัณหา ถือเอาประโยชน์เกื้อกูลและฉันทะเป็นหลักใจ งานแบบนี้ยิ่งทำยิ่งพาให้จิตใจสงบสุข ชุ่มเย็น เป็นบุญ เป็นกุศล และที่สำคัญตรงกับผลการวิจัยที่ ดร. ร็อกค้นพบดังนี้

“ดูเหมือนปัญญาจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ประสาทจำนวนหนึ่ง ซึ่งพวกมันต้องการจิตใจที่เงียบสงบ”

ไอเดียดีๆ หรือการคิดแบบปิ๊งแว้บ! ไม่ต้องอาศัยความเพียรพยายามอะไร เพราะหากเราใส่ความพยายามเข้าไปมาก มันก็มีแนวโน้มว่า เรากำลังหมกมุ่นอยู่กับงานนั้นมากเกิน จึงอาจไม่ทันสังเกตวิธีแก้ไขปัญหาที่ซ่อนอยู่ในงาน

กุญแจไขปัญหานี้คือ ต้องปล่อยปัญหาออกไป เพื่อให้ทางแก้เข้ามาหาเราเอง

นักแสดงตลกชื่อดัง จอห์น คลีส เปิดเผยว่า “หากผมเขียนสคริปต์การแสดงไม่ได้ ตอนกลางคืนผมจะเข้านอนก่อน และพอตอนเช้า การเขียนสคริปต์ก็จะลื่นไหลทันที มีไอเดียดีๆ พรั่งพรูออกมามากมาย”

เขาเล่าถึงตอนที่ทำสคริปต์หาย แล้วเขียนขึ้นใหม่จากความทรงจำ ก็พบว่า บทที่เขียนขึ้นใหม่นี้ ดีกว่าอันแรกที่ทำหายไปด้วยซ้ำ เขาอธิบายว่า “หลังจากที่ผมเขียนบทอันแรกเสร็จ จิตใต้สำนึกของผมยังคิดถึงมันต่อเนื่อง ดังนั้น ผมจึงเริ่มเข้าใจว่า ยังมีจิตใจอีกส่วนหนึ่งกำลังช่วยให้ผมเกิดความคิดสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น”

การหยุดพัก หรือหันไปทำงานอดิเรกอย่างอื่น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “การปล่อยวาง” นั่นเอง มันคงไร้ผลสิ้นดีหากเราปลูกเมล็ดพันธุ์ที่มีดอกสวยงาม ลงในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยวัชพืช เพราะฉะนั้น เราจะต้องถอนรากถอนโคนวัชพืชออกให้หมด ก่อนที่พวกมันจะมาทำร้ายไม้ดอกจนอับเฉา

เช่นเดียวกับเมล็ดพันธุ์แห่งความสำเร็จในผลงานอันสร้างสรรค์ ซึ่งจะเก็บเกี่ยวผลลัพธ์ได้ ก็จำเป็นที่เราจะต้องละทิ้งระบบแย่ๆ ไฟล์ขยะต่างๆ ที่ตกค้างมาจากผลงานในอดีต

หากเป็นทางโลก การนำไปทิ้งอาจเป็นการไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ หรือหางานอดิเรกทำ แต่ในทางธรรม การทิ้งไฟล์ขยะออกไปจากจิตใจนี้ พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้เข้าวัดถือศีล เจริญสติ วิปัสสนากรรมฐาน เพราะศีล สมาธิ และปัญญา เป็นเครื่องฟอกจิตใจให้ขาวสะอาดดังเดิม จิตใจที่ขาวสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส ตื่นรู้เบิกบานนี่แหละ คือคมปัญญาอันประเสริฐสุด

ทีนี้เห็นแล้วใช่ไหมว่า หินลับคมปัญญาที่ดีที่สุดของเราก็คือ ศีล สมาธิ นั่นเอง

และในท้ายที่สุดนี้ อยากให้ตระหนักว่า...

“มีดหรือขวานคมทื่อฟันไม่เข้า ต้องอาศัยหินลับมีด ปัญหาที่แก้ไม่ตกคิดไม่ออก ก็ต้องอาศัยการหยุดพัก เล่นสนุกผ่อนคลาย หรือหันมาทำสิ่งอื่นที่ต่างออกไปอย่างการปฏิบัติกรรมฐาน ฉันใดก็ฉันนั้น”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 167 พฤศจิกายน 2557 โดย ทาสโพธิญาณ)
กำลังโหลดความคิดเห็น