xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : สัมผัส “ภูฏาน” จิตวิญญาณมังกรสายฟ้า (ตอน 2) วัดตั๊กซัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อฉบับที่แล้วผู้เขียนได้ค้างเรื่องของวัดตั๊กซังเอาไว้ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกรวมถึงชาวพุทธ ที่ต้องการเดินขึ้นเขามาชมความงาม และสัมผัสศรัทธาของชาวดรุ๊กปะ ณ ดินแดนมังกรสายฟ้า ดินแดนที่มีความงดงามดุจแชงกรี-ล่าแห่งสุดท้าย จากปลายปากกาของเจมส์ ฮิลตัน (James Hilton) จากเรื่อง Lost Horizon

แม้เจมส์จะไม่ได้ระบุแน่ชัดว่า ดินแดนในจินตนาการอันเพริศแพร้วนั้นตั้งอยู่ที่ส่วนใดของเทือกเขาหิมาลัย แต่หากใครได้มาเยือนภูฏาน ก็คงอดคิดเช่นเดียวกับผู้เขียนไม่ได้ว่า ภูฏานนี่แหละคือสวรรค์บนดินที่แท้จริง

อันที่จริงการเดินทางมายังภูฏาน ไม่ได้ยากแบบที่หลายท่านเข้าใจนะครับ เพราะปัจจุบันภูฏานได้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ ค.ศ. 1974 แต่ด้วยนโยบายของทางรัฐบาลในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางในประเทศโดยลำพัง ดังนั้น อย่าได้แปลกใจถ้าหากใครมาภูฏานแล้ว จะไม่ได้เห็นนักท่องเที่ยวแบบ Backpacker เดินอยู่ตามถนน

นักท่องเที่ยวท่านใดที่สนใจมาเที่ยวภูฏาน ต้องซื้อทัวร์ผ่านทัวร์เอเยนต์ไม่ว่าจะเป็นบริษัททัวร์ท้องถิ่นหรือสากล ซื้อแล้วก็ต้องจัดการจ่ายค่าทัวร์ให้เสร็จสรรพก่อน จึงจะได้รับการอนุมัติวีซ่า ส่วนจะมาเดี่ยว มาคู่ หรือมาเป็นหมู่คณะ ชาวภูฏานยินดีต้อนรับทุกท่านเสมอครับ

เมืองพาโรเป็นเมืองหน้าด่าน เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสนามบินแห่งชาติ อันเลื่องชื่อเรื่องความหวาดเสียว และต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางการบินของนักบินเป็นสำคัญ เพราะต้องบินผ่านช่องเขาแล้วลงจอดทันที ซึ่งรันเวย์สนามบินภูฏานนั้น … สั้นมาก!!

พาโรเป็นเมืองที่มีทิวทัศน์สวยงาม และเป็นเมืองที่สดใสมีชีวิตชีวา นอกจากนี้ยังมีชื่อในฐานะเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของอารามที่สำคัญหลายแห่ง โดยเฉพาะ “วัดตั๊กซัง” ซึ่งเป็นวัดที่มีความสำคัญสำหรับคนภูฏานทั้งประเทศครับ

วัดตั๊กซังหรือบางท่านเรียก “วัดถ้ำเสือ” (Tiger’s Nest) บ้างก็เรียก “วัดรังเสือ” เป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของชาวภูฏาน และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเทือกเขาหิมาลัย อยู่ห่างไปทางทิศเหนือของเมืองพาโรราว 10 กม. ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชันราว 3,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล หรือประมาณ 900 เมตรจากหุบเขาพาโร มีความสวยงามราววิมานบนฟ้า เป็นชัยภูมิอันน่าอัศจรรย์ยิ่ง

เมื่อรถจอดสนิท ก้าวเท้าลงจากรถแล้วมองขึ้นบนฟ้า ลากสายตาผ่านแนวป่าขึ้นไป เราจะเห็นวัดตั๊กซังอยู่บนเขาไกลลิบๆ

การเดินทางไปยังวัดตั๊กซังนั้น รถจะมาจอดส่งที่เชิงเขาแล้วเริ่มเดินเท้ากันที่นี่ หรือท่านใดประสงค์ใช้บริการ “ล่อ” ลากจูง ก็จะช่วยทุนแรงและเวลาไปได้มาก (หากแต่ต้องฝึกการทรงตัวและควบคุมสติเป็นอย่างดีนะครับ เพราะมีบางจังหวะที่ล่อชอบเดินเลียบแนวไหล่เขา) หากเดินเท้าจะใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง

สองข้างทางเดินขึ้นเขาจะเป็นป่าโอ๊กและโรโดเด็นดรอน มีธงมนตราแขวนเป็นทิวแถว โบกสะบัดไปตามแรงลมที่พัดผ่านช่องเขา ราวกับว่าเป็นดั่งคำอำนวยพรแด่ผู้ผ่านทาง มีศาลากงล้อมนตราพลังน้ำตั้งคร่อมลำธารอยู่

ต้องบอกว่าชาวพุทธในภูฏาน มีศรัทธาในศาสนาแก่กล้าไม่แพ้ชาวพุทธใดในโลกเลยนะครับ สัญลักษณ์ทางศาสนาได้ผสมกลมกลืนเข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ เราจึงเห็นกงล้อมนตราและธงมนตราได้ทั่วๆไป แม้แต่ทางเดินขึ้นเขาสูงชันเช่นนี้

เมื่อขึ้นไปยังบนภูเขาสูง จะพบกับมอสสเปนพวงขาวราวน้ำค้างเกาะห้อยระย้าลงมา เดินไปเพลินๆ ไม่ต้องรีบมากนะครับ เทคนิคก็คือให้นับลมหายใจเข้าออกอย่างช้าๆ ระหว่างก้าวเท้า ถือว่าเป็นการเรียกสติไปในตัว

ใช้เวลาครู่ใหญ่ เราก็เดินทางมาถึงบันไดขั้นสุดท้ายก่อนขึ้นไปยังวัดตั๊กซังแล้วล่ะครับ

“ตั๊กซัง” แปลว่า “รังเสือ” ที่มาของชื่อสามารถสืบย้อนกลับไปถึงเมื่อครั้งแรกสร้างวัด โดยมีตำนานสมัยศตวรรษที่ 8 เล่าต่อกันมาว่า ในครั้งนั้น “คุรุรินโปเช” ทรงขี่นางเสือตัวหนึ่งเหาะจากเมืองเค็นเปาจง ในแคว้นกูร์เต มายังตั๊กซัง ชาวภูฏานเชื่อว่านางเสือตัวนี้ แท้จริงคือศักติของท่านคุรุรินโปเช จำแลงกายมาบำเพ็ญสมาธิอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ถือเป็นจุดกำเนิดของการขึ้นไปทำสมาธิวิปัสสนาบนเขาแห่งนี้ของพระลามะในรุ่นหลังๆ

เมื่อเข้าไปในวัดจะเจอถ้ำที่เชื่อกันว่า ท่านคุรุรินโปเชเข้ามาบำเพ็ญสมาธิ แล้วเทศนาสั่งสอนผู้คนในหุบเขาพาโร จนหันมายอมรับนับถือพุทธศาสนา โดยสำแดงกายให้เห็นในภาคคุรุโดร์จี โดรเล อันน่าสะพรึงกลัว และใช้มณฑลกาเกสะกดภูตผีปีศาจร้ายทั้งแปดจำพวกเอาไว้ระหว่างที่ประทับอยู่ที่นี้ด้วย

หลังเสด็จกลับทิเบต ท่านคุรุรินโปเชได้ถ่ายทอดมณฑลกาเกให้กับบรรดาสานุศิษย์ หนึ่งในนั้นคือ “ลังเซ็น เปยี ซิงเก” ผู้เดินทางมาเจริญสมาธิบำเพ็ญญาณที่ตั๊กซัง ตามรอยผู้เป็นอาจารย์ในปี ค.ศ. 853 ชาวบ้านจึงได้เรียกถ้ำที่ใช้บำเพ็ญสมาธิของท่านว่า “เปลฟู” (แปลว่า ถ้ำของเปยี)

หลังจากนั้นท่านลังเซ็น เปยี ซิงเกได้เดินทางต่อไปยังเนปาลและมรณภาพที่นั่น เทพโดร์จี เล็กปาจึงใช้เวทมนตร์นำสังขารของท่านกลับมายังตั๊กซัง ปัจจุบันบรรจุอยู่ภายในสถูปกลางห้องทางด้านซ้ายมือตรงสุดปลายบันไดทางขึ้น สถูปองค์นี้ได้รับการบูรณะเมื่อปี ค.ศ. 1982-1983 และบูรณะอีกครั้งในปี ค.ศ. 2004

สมัยก่อนถ้ำแห่งนี้มีลามะชั้นสูงของทิเบต เดินทางมาเจริญสมาธิกันหลายท่าน วิหารหลังแรกที่สร้างขึ้นน่าจะมีอายุอยู่ในราวศตวรรษที่ 14 จนมาถึงศตวรรษที่ 17 “ชับดรุง งาวัง นัมเกล” ผู้รวบรวมภูฏานเป็นหนึ่งเดียว และเป็นผู้สร้างพาโรซอง (Paro Dzong) ได้เดินทางมาเยือนที่นี่ พร้อมลามะชั้นสูงในนิกายญิงมาปะ นามว่า “ริกซิน ญิงโป”

เหล่าลามะในวัดจึงพร้อมใจกันยกวัดให้กับท่านชับดรุง ผู้แสดงเจตจำนงจะสร้างวิหารขึ้นใหม่บนเขาแห่งนี้ เพื่อรำลึกถึงคุรุปัทมสมภพ แต่ยังมิได้ลงมือก็เสียชีวิตก่อน ต่อมาในปี ค.ศ. 1692 “เกลเซ เทนซิน รัคเย” ได้สร้างวัดขึ้นรอบถ้ำแห่งนี้ เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของท่าน

พื้นที่ของวัดแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ อาคารหลังแรกขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในบริเวณถ้ำเพลปุก (Pelphug) เพื่อรำลึกถึง “ลังเซน พาลกิ เซงเก” ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับตำนานของวัด ถัดมาเป็นอาคารหลังที่ 2 เป็นวิหารที่โอ่อ่ามาก ประดิษฐานรูปเคารพของท่านคุรุรินโปเช กับมณฑลคำสอน และรูปบุคคลสำคัญทางศาสนาทั้งหลาย และบริเวณที่ 3 เป็นกลุ่มอาคารที่อยู่ลึกที่สุด นั่นคืออาคารที่ท่านคุรุรินโปเช เคยมาบำเพ็ญศีล

วัดตั๊กซังเคยเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1998 ทำให้ภาพเขียนสูญหายไปหมดเช่นเดียวกับงานประติมากรรมและสถาปัตยกรรม ประชาชนและรัฐบาลภูฏานจึงร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดตั๊กซังขึ้นใหม่ และเมื่อนึกไปถึงชัยภูมิที่ตั้งซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้าง ก็ถือว่าเป็นการรังสรรค์ผลงานที่น่าตื่นตาตื่นใจมากครับ

ตัวอาคารทั้งหมด 13 หลังของวัดตั๊กซัง ตั้งไต่ระดับความสูงลดหลั่นกัน ชวนให้ครุ่นคิดว่า ผู้สร้างต้องใช้ความเพียรพยายามเพียงใด กว่าจะสร้างแต่ละอาคารสำเร็จ แล้วใช้วิธีการใดลำเลียงอุปกรณ์การก่อสร้าง มาบนที่สูงชันถึงเพียงนี้

ภายในวัดประกอบไปด้วยห้องต่างๆ ที่เต็มไปด้วยรูปสลักขององค์เทพที่ชาวภูฏานให้ความนับถือ รวมถึงงานประติมากรรมและจิตรกรรมหลายชิ้น

ทางด้านซ้ายของประตูทางเข้า เป็นที่ตั้งของสถูปบรรจุสังขารของท่านลังเซ็น เปยี ซิงเก ผู้เป็นศิษย์ของท่านคุรุรินโปเช บริเวณชั้น 1 มีถ้ำเล็กๆ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญที่สุดของวัดตั๊กซัง เพราะเป็นถ้ำเพลปุก ซึ่งคุรุปัทมสมภพใช้เป็นสถานที่เจริญจิตภาวนา โดยมีประตูสีทองปิดอยู่ ประตูนี้จะเปิดเพียงปีละครั้ง ครั้งละ 1 วัน ในเดือน 5 ตามปฏิทินของภูฏาน และผู้เป็นกษัตริย์เท่านั้นที่จะเข้าไปได้

ในชั้นที่ 2 เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของคุรุปัทมสมภพ เพื่อให้ประชาชนเข้ามาสักการะ มีเรื่องเล่าว่าเมื่อครั้งเกิดไฟไหม้วัดตั๊กซัง รูปปั้นขององค์ท่านไม่ได้รับความเสียหายใดๆ

ส่วนชั้นที่ 3 ของอาราม ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดนั้น เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ คือ “Buddha Long Live” หรือพระแห่งการมีชีวิตยืนยาว ทางด้านซ้ายเป็นรูปปั้นของท่านคุรุรินโปเช ด้านขวาเป็นปางหนึ่งของคุรุรินโปเชขี่เสือ และปางสุดท้ายคือ ตันตระยาน อันเป็นปางสูงสุดของคุรุรินโปเช

เหนือจากวัดตั๊กซังขึ้นไป จะมีหมู่วิหารอยู่อีกสามหลังชื่อคล้ายกัน คือ “วิหารตั๊กซังอูเก็นซีมอ” สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1408 จากนั้นได้ถูกเพลิงไหม้ และสร้างใหม่อีกครั้งในปี ค.ศ. 1958 หลังที่ 2 คือ “วิหารตั๊กซังเออเซกัง” สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1646 และ “วิหารตั๊กซังซังโดเปลรี” สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1853 ถือเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ตลอดจนเข้าถึงได้ยากที่สุดอีกด้วยครับ

ความเชื่อและความศรัทธา เรื่องการขี่หลังเสือ เพื่อมาเหยียบย่างและเปิดแผ่นดินถิ่นภูฏาน ของท่านคุรุรินโปเช เปรียบดุจสัญญะแห่งการเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ภูฏาน แสงธรรมแห่งพุทธศาสนาได้แผ่ขยายไปทั่วแดนมังกรสายฟ้า พลิกฟื้นให้ดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่า “มอนยุล” (Monyul) หรืออาณาจักรเร้นลับ ให้กลายเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนา ที่มีผู้เลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้า ประกอบกับการเกิดกลียุคทางพุทธศาสนาในทิเบตช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ทำให้ชาวทิเบตส่วนหนึ่งหลบหนีย้ายถิ่นฐานลงมาอยู่ทางใต้ คือที่ตั้งของแผ่นดินภูฏานในปัจจุบันนั่นเอง

ภูฏานมีพระลามะจำนวนมากซึ่งมาจากทิเบต เพื่อจาริกแสวงบุญและร่วมเผยแผ่ศาสนา อาทิ มิรา เรปะ, ทังตน เกลโป, ดรุ๊กปา คินเลย์, พาโจ ดรูกอม, ปาดัมปะ ซังเก, เปมา ลิงปา เป็นต้น

เมื่อพระลามะเดินทางมายังถิ่นใด ก็มักสร้างวัดวาอารามไว้ ณ ที่นั้น จึงเป็นเหตุให้ภูฏานกลายเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนาวัชรยาน ที่มีประวัติศาสตร์พาดผ่านอยู่ในทุกช่วงขณะเวลา และทุกสถานที่

ชาวภูฏานส่วนใหญ่ไม่เคยตั้งคำถามต่อศาสนา รู้เพียงแต่ว่าเกิดมาเป็นคนพุทธ เรียนรู้และสืบทอดวัตรปฏิบัติแบบพุทธจากครอบครัว มีการศึกษาหลักธรรมตามตรรกะปัญญาของปัจเจก มีศาสนสถานอย่างวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่ ให้สามารถเชื่อมต่อกันได้ ตามความหมายของคำว่า “ตันตระ” ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า “เชือก” หรือความต่อเนื่อง

ดังนั้น วิถีแห่งพุทธศาสนาตันตรยาน จึงได้ดึงดูดจิตวิญญาณของผู้คนจากทั่วโลกให้มาสัมผัสและศึกษา

ดั่งเช่นผู้เขียนที่มีโอกาสได้เดินทางมายังวัดตั๊กซังแห่งนี้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 165 กันยายน 2557 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)



วัดตั๊กซัง
ธงมนตราห้อยระย้าตลอดเส้นทางไปวัดตั๊กซัง
นักเดินทางที่มาแสวงบุญเดินด้วยศรัทธา
ชาวภูฏานกำลังเดินขึ้นวัด
จุดเริ่มต้นเดินเท้า และมีล่อไว้บริการ
มองเห็นวัดตั๊กซังอยู่ด้านหลังผู้เขียน
ผู้เขียนตั้งจิตอธิษฐานก่อนผูกธงมนตรา
กำลังโหลดความคิดเห็น