“...ความผิดพลาดล้มเหลวของบุคคลหรือภารกิจต่างๆนั้น ส่วนมากเกิดจากมูลเหตุข้อใหญ่คือความหลอกตัวเอง หลอกกันและกัน และเมื่อทำการงานโดยไม่อาศัยความจริงเป็นหลัก การดำเนินงานและการปรับปรุงแก้ไขก้ผิดพลาด ไม่อาจทำให้งาน ให้ตนเอง ประสบผลสำเร็จที่ดีได้ นักปฏิบัติงานเพื่อความสำเร็จและความเจริญจึงต้องยอมรับความจริง และยึดมั่นในความจริง มีความจริงใจต่อตัวเองและต่อกันและกันอย่างมั่นคงตลอดเวลา แต่ละคนจึงจะปฏิบัติตัวปฏิบัติงานได้อย่างสะดวกใจมั่นใจ ถูกต้องเที่ยงตรง ตามเป้าหมาย และพอเหมาะพอดี แก่ฐานะ แก่หน้าที่ แก่โอกาส พร้อมทุกอย่างได้ ยังผลให้การสร้างสรรค์ความดีความเจริญบรรลุศุภผลอันพึงประสงค์...”
“...คนที่มีการศึกษาที่เรียกว่าเป็นผู้มีปัญญา ควรจะสามารถวินิจฉัยได้ว่า จะแก้ไขอะไรอย่างไร ข้อสำคัญควรจะต้องรอบคอบและระมัดระวังที่จะพิจารณาเรื่องต่างๆ ให้กระจ่างแจ้งทุกแง่ทุกมุม แล้วจัดการให้ถูกจุด ถูกขั้นตอน ถูกเหตุผล ข้อที่พึงระมัดระวังอย่างยิ่ง คือการแก้ปัญหาโดยรีบเร่งด่วน ทั้งที่ยังไม่มีความแน่ใจอยู่ ข้อนี้ มักจะได้ผลที่ด้วนๆ ผลที่ด้วนก็คือผลที่ไม่ครบถ้วน ขาดประโยชน์ที่พึงได้ มิหนำซ้ำอาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงขึ้นก้ได้ เพราะอาจไปรื้อหรือทำลายสิ่งที่ดี ที่ใช้การได้ลง และเอาสิ่งที่เสีย ที่ใช้การไม่ได้มาใช้ เมื่อความจริงเป็นอยู้อย่างนี้ ผู้มีปัญญาทุกระดับจึงต้องถือเป็นภาระและหน้าที่ที่จะต้องรู้จักรับ รู้จักใช้ความรู้อย่างถูกต้อง เพื่อสามารถพิจารณาการกระทำให้เหมาะสมแก่ทุกกรณี...”
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 165 กันยายน 2557)