วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ พ.ศ. ๒๕๕๗ นับทวนอดีตย้อนหลังกลับไป ๒๖๐๒ ปี เป็นวันที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงบำเพ็ญพุทธกิจครั้งยิ่งใหญ่ ที่พุทธศาสนิกชนถือกันว่า เป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา เรียกได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้พระพุทธศาสนาเผยแพร่สืบทอดมาถึงทุกวันนี้
นี่คือเป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาประกาศคำสอนหรือหลักธรรมที่ได้ตรัสรู้เป็นครั้งแรก เรียกเป็นคำศัพท์ว่า ทรงแสดงปฐมเทศนา แก่กลุ่มนักบวช ๕ รูป ที่เรียกว่า เบญจวัคคีย์ ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปสมัยโบราณ ที่มีชื่อในปัจจุบันว่าประเทศอินเดีย
ความสำคัญของเหตุการณ์ครั้งนี้ อุปมาเหมือนว่า นักปกครองยิ่งใหญ่ผู้เป็นจักรพรรดิ หรือราชาธิราช มีพระบัญชาให้ลั่นยุทธเภรี คือตีกลองรบประกาศสงคราม ยังล้อรถศึกให้เริ่มหมุนนำทัพเดินหน้าแผ่ขยายราชอาณาจักรออกไป สำแดงกำลังอำนาจและความยิ่งใหญ่ให้ปรากฏ ฉันใด พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นธรรมราชา ก็ทรงบันลือธรรมเภรี ยังล้อแห่งธรรมให้หมุนรุดหน้า เริ่มต้นแผ่ขยายอาณาจักรแห่งธรรม นำความร่มเย็นและความสงบสุขมาให้แก่หมู่ประชา ฉันนั้น
ด้วยเหตุนี้ พระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงครั้งแรกนั้น จึงได้ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร กล่าวคือดินแดนแห่งธรรม....
• ความหมายของอาสาฬหบูชา
อาสาฬหบูชา ประกอบขึ้นจากคำ ๒ คำ คือ อาสาฬห (เดือน ๘ ทางจันทรคติ) + บูชา (การบูชา) เมื่อรวมกันเข้า จึงแปลว่า การบูชาในเดือน ๘ หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน ๘
ถ้าจะเรียกให้เต็มต้องว่า อาสาฬหบูรณมีบูชา=อาสาฬห(เดือน ๘) + บูรณมี(วันเพ็ญ) + บูชา ซึ่งแปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘ หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญเดือน ๘
• ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา
สรุปความสำคัญของวันอาสาฬหบูชาได้ดังนี้
๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา
๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา
๓. เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ คือการที่ท่านโกณฑัญญะ รู้แจ้งธรรม เป็นพระโสดาบัน จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์ ทำให้มีสังฆรัตนะขึ้นมา และจึงถือด้วยว่าเป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบบริบูรณ์
๔. เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ การที่ท่านโกณฑัญญะขอบรรพชา และได้บวชเป็นพระภิกษุ หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว จึงถือด้วยว่า เป็นวันที่เริ่มตั้งภิกษุสงฆ์ หรือต้นกำเนิดสมมติสงฆ์
๕. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวก คือ การที่ท่านโกณฑัญญะนั้นได้บรรลุธรรม และบวชเป็นพระภิกษุ จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า
เมื่อเทียบกับวันสำคัญอื่นๆในพระพุทธศาสนา บางทีเรียกวันอาสาฬหบูชานี้ว่า วันพระสงฆ์ (คือวันที่เริ่มเกิดมีพระสงฆ์)
• ประเพณีวันอาสาฬหบูชา
ประเพณีจัดงานวันอาสาฬหบูชา คือ มีพิธีกรรมบูชาพระรัตนตรัย ทำบุญเฉลิมฉลองวันอาสาฬหบูชานี้ มีอายุยังไม่นาน เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑
กล่าวคือ หลังจากงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้ว คณะสงฆ์ได้พิจารณาเห็นว่า การแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น เป็นเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธศาสนา ทำให้มีการเผยแผ่พระธรรม สืบอายุพุทธศาสนามาจนบัดนี้ ควรจัดวันแสดงปฐมเทศนานั้น เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพระพุทธศาสนาด้วย เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่นที่มีอยู่แล้ว คือ วันวิสาขบูชา (มีมานานอย่างน้อยตั้งแต่สมัยสุโขทัย) และวันมาฆบูชา(มีขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔)
ดังนั้น จึงได้ออกประกาศให้วัดต่างๆทั่วราชอาณาจักรจัดงานวันอาสาฬหบูชา และเชิญชวนพุทธศาสนิกชนไปร่วมประกอบพิธีบูชา
ครั้งนั้น ทางราชการก็ได้สนับสนุนมติของคณะสงฆ์ โดยประกาศให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางราชการ และเป็นวันหยุดราชการวันหนึ่งสืบมาจนบัดนี้
พิธีกรรมที่กระทำในวันอาสาฬหบูชา โดยทั่วไปก็อนุวัตรตามที่กระทำในวันบูชาอื่นๆ เช่น ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล เวียนเทียน ฟังพระธรรมเทศนา(ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) และสวดมนต์
เมื่อวันอาสาฬหบูชาเวียนมาถึง พุทธศาสนิกชนนอกจากทำบุญและประกอบพิธีต่างๆตามประเพณีแล้ว ควรได้รับประโยชน์ที่เป็นสาระสำคัญจากอาสาฬหบูชาด้วย กล่าวคือ ควรทบทวนระลึกเตือนใจสำรวจตนว่า ชีวิตของเราได้เจริญงอกงามขึ้นด้วยความเป็นอยู่อย่างผู้รู้เท่าทันโลกและชีวิตนี้บ้างแล้วเพียงใด เรายังดำเนินชีวิตอยู่อย่างลุ่มหลงมัวเมา หรือมีจิตใจอิสระปลอดโปร่งผ่องใสบ้างแล้วเพียงใด เราก้าวหน้าไปในมรรคาแห่งวิถีชีวิตของชาวพุทธอยู่ในระดับใดแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
ถ้าสำรวจตนแล้วเห็นว่า ได้งอกงามก้าวหน้าขึ้นบ้าง อย่างน้อยผิดแปลกไปจากเมื่อร่วมพิธีในปีก่อน ข้อนั้นก็จะเป็นนิมิตแห่งชีวิตที่ดีงามของตน และเป็นเครื่องประกาศว่า อาณาจักรธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสถาปนาไว้ ได้แผ่ขยายออกไปสมความมุ่งหมายแห่งปฐมเทศนา
(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของเรื่องวันอาสาฬหบูชา ในหนังสือวันสำคัญของชาวพุทธไทย
โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม)
• ใจความของปฐมเทศนา
ปฐมเทศนา หรือที่เรียกตามชื่อเฉพาะว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร นั้น แสดงหลักธรรมสำคัญ ๒ ประการคือ
ก. มัชฌิมาปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติที่เป็นกลางๆ หรือทางสายกลาง เป็นทางดำเนินชิวิตด้วยปัญญา มีปัญญาเป็นฐาน เป็นมรรคาที่นำไปสู่จุดหมายได้ และก่อให้เกิดคุณค่าแก่ชีวิตอย่างแท้จริง โดยมีหลักเป็นองค์ประกอบ ๘ ประการ ทำให้ผู้ดำเนินตามเป็นอริยะ หรืออารยะ อย่างแท้จริง จึงเรียกเป็นคำศัพท์ว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ กล่าวคือ
๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริต ตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
๕. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพ ทำอาชีพที่สุจริต
๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่ว บำเพ็ญดี
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตได้แน่วแน่มั่นคง ไม่ฟุ้งซ่าน
ข. อริยสัจจ์ ๔ คือ หลักความจริงของอริยชน ๔ อย่าง หรือสัจธรรม ๔ ข้อ ซึ่งทำให้ผู้ที่รู้ กลายเป็นอริยหรืออารยชน ได้แก่
๑. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์ ในรูปของความบีบคั้น ขัดข้อง ติดขัด อัดอั้นต่างๆ
๒. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา
๓. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ ภาวะที่สิ้นปัญหา
๔. มรรค ได้แก่ มรรคาอันนำไปสู่ความดับทุกข์ หรือกระบวนการแห่งการแก้ปัญหา กล่าวคือ มรรคามีองค์ 8 ประการ หรือมัชฌิมาปฏิปทา
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 163 กรกฎาคม 2557 โดย กองบรรณาธิการ)