xs
xsm
sm
md
lg

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“...ศรัทธาความเชื่อมั่นในความดี จะส่งเสริมให้บุคคลเกิดความมุ่งมั่นที่จะทำตัวทำงานให้สูงขึ้น ไม่ยอมให้ตกต่ำ ผู้เชื่อมั่นในความดีจะมีความรู้สึกผิดชอบ มีความข่มใจ ไม่ปล่อยตัวให้เป็นไปตามอำนาจอคติและความเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะตัว จะประพฤติปฏิบัติการใด ก็พิจารณากลั่นกรองอย่างรอบคอบจนเห็นชัดแล้วว่า การนนั้นๆเป็นสิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง เป็นสุจริตธรรม และเป็นประโยชน์แท้ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวม...”

“...ความเข้มแข็งในจิตใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องฝึกฝนแต่เล็ก เพราะว่าต่อไป ถ้ามีชีวิตที่ลำบาก ไปประสบอุปสรรคใดๆ ถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความรู้ ไม่มีทางที่จะผ่านอุปสรรคนั้นได้ แต่ถ้ามีความรู้ มีอัธยาศัยที่ดี และมีความเข้มแข็งในกายในใจ ก็สามารถที่จะผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆนั้นได้ ความเข้มเข็งในใจนั้น หมายความว่า ไม่ท้อถอย และไม่เกิดอารมณ์มาทำให้โกรธ อารมณ์นั้นก็คือ ความโกรธ ความฉุนเฉียว ความน้อยใจ ทั้งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้คิดไม่ออก...”

“...คนทุกคนมีหน้าที่ต้องทำ แม้เป็นเด็กก็มีหน้าที่อย่างเด็ก คือศึกษาเล่าเรียน หมายความว่า จะต้องเรียนให้รู้วิชา ฝึกหัดทำการงานต่างๆให้เป็น อบรมขัดเกลาความประพฤติและความคิดจิตใจให้ประณีต ให้สุจริต แจ่มใส และเฉลียวฉลาดมีเหตุผล เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ และมีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง...”

“...แต่ละคนที่มีความรู้สูงก็นึกว่า ความรู้สูงตัวนนั้นน่ะสูงที่สุด คือไม่มีอย่างอื่นล่ะ อย่างอื่นเป็นบริวารเท่านั้นเอง ความจริงความรู้สูงทั้งหลายเป็นเหมือนเสาเข็ม หรือเป็นเสาบ้านที่จะพยุงพื้นบ้านให้อยู่ได้ สร้างขึ้นไปให้สูงให้เป็นคฤหาสน์เป็นตึกที่ใช้การได้ดี ฉะนั้น ต้องใช้ความรู้สูง ความรู้ที่แน่นในทุกสาขา แต่ต้องให้สอดคล้องกัน เพื่อที่จะให้เป็นประโยชน์...”


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 160 เมษายน 2557 โดย พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)
กำลังโหลดความคิดเห็น