xs
xsm
sm
md
lg

คิดเป็นเห็นทาง : ธาราบำบัด ศาสตร์ใหม่ในการรักษาโรคข้อ-กล้ามเนื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่มีใครปรารถนา ยิ่งความเจ็บป่วยที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายที่ยากจะรักษาให้หายขาดอย่างโรคไขข้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคกระดูกต่างๆ ซึ่งโรคเหล่านี้นอกจากจะรับประทานยาแล้ว การทำกายภาพบำบัดก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย

แต่บางครั้งการออกกำลังกายหรือทำกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยดังกล่าว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บได้

และจากการค้นพบคุณสมบัติของน้ำ ที่สามารถลดแรงกระแทก ลดแรงเสียดทานได้ ปัจจุบันจึงได้มีผู้นำคุณสมบัติดังกล่าว มาใช้ให้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ โดยได้คิดค้นการรักษาแบบ “ธาราบำบัด หรือ Hydrotherapy” ซึ่งเป็นวิธีการรักษาทางกายภาพบำบัด หรือการรักษาด้วยการออกกำลังกายโดยใช้น้ำเป็นสื่อในการรักษา

ศูนย์สิรินธรฯ เปิดใช้ธาราบำบัดรักษาผู้ป่วย

ล่าสุด 'ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ' ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้นำศาสตร์การรักษาดังกล่าว มาใช้กับผู้ป่วยที่ต้องทำกายภาพบำบัดแต่ร่างกายไม่พร้อม อาทิ ผู้ป่วยทางระบบประสาท ผู้ป่วยแขนขาขาด คนพิการแต่กำเนิด ผู้ป่วยโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ เช่น ปวดคอ ปวดหลัง ปวดเข่า ผู้ป่วยที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงจากโรคอัมพฤกษ์หรืออัมพาต ตลอดจนผู้สูงอายุที่มีปัญหาการเคลื่อนไหว

'พญ.ดารณี สุวพันธ์' ผู้อำนวยการศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ได้เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นในการนำวิธีการรักษาดังกล่าวมาใช้กับผู้ป่วยว่า เนื่องจากทางศูนย์สิรินธรฯ เป็นหน่วยงานทางการแพทย์ ที่ให้การรักษาเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพและดูแลผู้ป่วยพิการ ทำให้พบว่า ปัญหาหนึ่งในการทำกายภาพบำบัดของผู้ป่วยเหล่านี้ ก็คือบางครั้งผู้ป่วยไม่สามารถทำกายภาพบำบัดได้ เนื่องจากเกิดอาการเจ็บจากการทำกายภาพ เพราะร่างกายไม่ได้สมบูรณ์เหมือนคนทั่วไป

ทางศูนย์สิรินธรฯจึงนำการรักษาแบบ 'ธาราบำบัด' ซึ่งสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวให้ผู้ป่วยเข้ามาใช้ โดยเริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา

“ปัญหาที่พบมากคือ ผู้ป่วยบางคนไม่สามารถทำกายภาพบำบัดได้ เพราะทำแล้วเขาเจ็บ เราก็พยายามหาวิธีที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ แล้วก็พบว่า มันมีเทคนิคในการรักษาที่เรียกว่า 'ธาราบำบัด' เนื่องจากน้ำมีคุณสมบัติในการลดแรงกระแทก ลดแรงเสียดทาน ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

ผู้ป่วยที่ออกกำลังกายหรือทำกายภาพบำบัดในน้ำ จึงสามารถทำได้ง่ายกว่าบนบก เพราะมีน้ำมาช่วยลดแรงกระแทก ทำให้ออกกำลังกายได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ

อย่างโรคเข่าเสื่อมเนี่ยเห็นได้ชัด เวลาผู้ป่วยเดินบนพื้นราบ จะมีแรงกระแทกลงมาที่ส้นเท้าและขึ้นมาที่ข้อเข่า ผู้ป่วยก็จะเกิดอาการปวด เพราะไม่มีตัวพยุง แต่ถ้าลงไปเดินในน้ำ น้ำจะเป็นตัวช่วยพยุง

แล้วคุณสมบัติของน้ำนั้น เมื่อเราลงไปอยู่น้ำจะทำให้น้ำหนักของเราน้อยกว่าน้ำหนักขณะอยู่บนพื้นราบ เพราะมีน้ำเป็นตัวช่วยถ่ายน้ำหนักจากตัวเรา และลดแรงกระแทก เพราะฉะนั้นคนไข้ที่มีอาการปวดเข่า เมื่อเดินในน้ำบางทีไม่ปวดเลย การออกกำลังกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อในน้ำ จะสามารถยืดกล้ามเนื้อได้มากกว่าออกกำลังกายบนบก

โดยหลังจากเปิดให้บริการปรากฏว่า มีผู้ป่วยสนใจมาใช้บริการกันเยอะมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง เช่น ปวดหลัง ปวดข้อเข่า ปวดตามกล้ามเนื้อ ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากการทำงานและสภาพร่างกายที่เสื่อมไปตามวัย

กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง เช่น เป็นอัมพาตจากการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง เป็นอัมพาตครึ่งซีก เด็กที่มีความพิการเนื่องจากสมองขาดเลือดตั้งแต่เกิด ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกร็งและอ่อนแรง รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อ” พญ.ดารณี กล่าวถึงข้อดีของการรักษาแบบธาราบำบัด

กลุ่มผู้ป่วยที่สามารถรักษาด้วยธาราบำบัด

ทั้งนี้ผู้ป่วยที่สามารถรักษาด้วยวิธีธาราบำบัดนั้น มีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน ได้แก่

ผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อหรือปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อลดลง ไม่สามารถกลับไปใช้งานได้อย่างปกติ การทำธาราบำบัดจะมีการออกแบบท่าออกกำลังกาย ให้เหมาะสมกับส่วนที่มีปัญหาและเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อที่หายไป เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้

ผู้ป่วยที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อทั้งเฉียบพลันและเรื้อรังต่างๆ การฝึกการเคลื่อนไหวในน้ำจะช่วยให้ง่ายต่อการทรงตัว

ผู้ป่วยกระดูกหัก ซึ่งอยู่ในช่วงหลังผ่าตัดหรือหลังถอดเฝือก โดยเฉพาะในส่วนกระดูกสันหลังและกระดูกขา การฝึกเคลื่อนไหวให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติจะมีข้อจำกัด คืออาการเจ็บจากแผลผ่าตัดและข้อต่อที่ยึดติด ทำให้ยากต่อการฝึก ธาราบำบัดจะมีส่วนช่วยในการพยุง เพื่อให้ง่ายต่อการคลื่อนไหวและลดความเจ็บปวด ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถลงน้ำหนักได้อย่างปกติ

ผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการเคลื่อนไหว เช่น เดินเซ ก้าวสั้น หลังค่อม ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการออกกำลังกาย ซึ่งธาราบำบัดจะช่วยพยุงรอบตัว ให้ง่ายต่อการฝึกเดิน การออกกำลังกายในท่าต่างๆ ซึ่งผู้สูงอายุอาจจะทำได้ยากขณะที่ออกกำลังกายบนบก

นอกจากนั้น ธาราบำบัดยังเหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ผู้ป่วยที่ผ่าตัดหัวใจ การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจยังไม่แข็งแรง และหัวใจขาดเลือด ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องออกกำลังกายเพื่อให้หัวใจแข็งแรง แต่การออกกำลังกายนั้นต้องไม่หักโหมเกินไป เพราะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยได้

การรักษาแบบธาราบำบัดเป็นการออกกำลังกายในน้ำ ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องออกแรงมากเหมือนออกกำลังกายบนบก อีกทั้งยังมีเครื่องบันทึกการทำงานของหัวใจ ที่เรียกว่า ECG ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดูได้ว่า ออกกำลังกายถึงจุดที่ตั้งไว้หรือยัง เพื่อควบคุมการออกกำลังกายไม่ให้หนักจนเกินไปจนเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยด้วย

เทคนิควิธีการรักษาแบบธาราบำบัด

สำหรับวิธีการรักษาแบบธาราบำบัดนั้น แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ1. การออกกำลังกายหรือการทำกายบริหารในน้ำ ที่เรียกว่า Aquatic exerciseหรือ Pool exercise และ 2. การรักษาด้วยคุณสมบัติของน้ำ เช่น การใช้แรงดันน้ำเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อ ซึ่งดีกว่าการนวดด้วยมือ เพราะโมเลกุลของน้ำสามารถเข้าถึงกล้ามเนื้อมัดต่างๆได้ตรงจุดกว่าและไม่เกิดการบอบช้ำ

ในส่วนของขั้นตอนการรักษานั้น พญ.ดารณี อธิบายว่า ธาราบำบัดเป็นการรักษาแบบ case by case คือเป็นการจัดโปรมแกรมรักษาเป็นรายบุคคล โดยแพทย์จะเป็นผู้ตรวจดูอาการและสาเหตุของความเจ็บป่วย จากนั้นจึงกำหนดโปรแกรมการรักษา โดยมีเจ้าหน้าที่กายภาพบำบัดเป็นผู้ดูแลรักษาผู้ป่วยตามโปรแกรม พร้อมทั้งบันทึกความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้แพทย์ประเมินผลการรักษาต่อไป ซึ่งการรักษาแบบธาราบำบัดนั้น มักจะควบคู่ไปกับการรักษาทั่วไป ซึ่งจะมีการให้ยา หรือมีการทำกายภาพบนบกร่วมด้วย

“ขั้นตอนในการรักษานั้น แพทย์ต้องทำการประเมินก่อนว่า ผู้ป่วยควรจะรับการรักษาแบบธาราบำบัดหรือไม่ บางคนการรักษาแบบธาราบำบัดน่าจะได้ผลดี แต่สภาพร่างกายไม่เอื้อ เช่น ทรงตัวไม่ได้ หรือไม่สามารถสื่อสารได้ พูดไม่ได้ ก็ไม่เหมาะที่จะทำกายภาพในน้ำ เพราะอาจเกิดอันตรายได้

หลังจากผ่านการประเมินแล้ว แพทย์ก็จะตรวจเช็คสภาพร่างกาย ดูประวัติการรักษาโดยละเอียด เพื่อจัดโปรแกรมการรักษาเป็นรายบุคคล เพราะปัญหาและสภาพร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

คนนี้มาด้วยอาการปวด อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อติด หรือมีสาเหตุจากอะไร ขั้นตอนและรายละเอียดในการรักษาของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน มีการออกแบบการออกกำลังกายของแต่ละคน ต้องวางเป้าหมายว่า คนไข้รายนี้ต้องเข้าโปรแกรมนานเท่าไหร่ ทำอะไรบ้าง ระยะเวลานานเท่าไหร่ เช่น ปวดแผ่นหลังก็ต้องดูว่าจุดไหน เกิดจากสาเหตุอะไร ต้องยืดกล้ามเนื้อมัดไหน กล้ามเนื้อบางมัดอ่อนแรง ก็เสริมให้แข็งเรงขึ้น กล้ามเนื้อบางมัดตึงตัว กดรั้ง หรือกล้ามเนื้อติด ก็ต้องมีการยืด

อุณหภูมิของน้ำจะอยู่ที่ประมาณ 33-37 องศา ซึ่งความอุ่นของน้ำจะช่วยให้เส้นเอ็นต่างๆอ่อนตัวลง และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น อุณหภูมิของน้ำสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ขึ้นกับอายุ ชนิดของอาการปวด ชนิดของโรค ระยะเวลาที่แช่อยู่ในน้ำ

อย่างถ้าแช่ 40 นาที ความร้อนอาจไม่ร้อนมาก ระยะเวลาในการรักษาแต่ละครั้งก็อยู่ที่ 5 นาที จนถึง 45 นาที ขึ้นอยู่กับอายุและสุขภาพ ถ้าอายุมากและร่างกายอ่อนแอ ครั้งแรกก็อาจให้ลงแค่ 5-10 นาที และน้ำไม่ร้อนเกินไป ถ้าเดินไม่ได้เลยก็จะมีนักกายภาพช่วยพยุง มีอุปกรณ์ต่างๆช่วยพยุงให้เขาสามารถลอยตัวในน้ำได้

การรักษาด้วยธาราบำบัดก็มีหลายแบบ เช่น ลอยตัวในน้ำ ออกกำลังกายในน้ำ ซึ่งเราจะมีอุปกรณ์การออกกำลังกายในน้ำด้วย แล้วก็การรักษาโดยใช้แรงดันน้ำ เช่น ใช้เครื่องพ่นน้ำที่เรียกว่า “Jet Stream” แช่จากุซซี่ เพื่อผ่อนคลาย ลดอาการเจ็บปวด และเพื่อยืดกล้ามเนื้อ

นอกจากนั้นการรักษาแบบธาราบำบัด ยังช่วยผ่อนคลาย ช่วยลดอาการเครียดของผู้ป่วยได้ด้วย การทำกายภาพบำบัดในน้ำมีนักกายภาพบำบัดดูแลแบบตัวต่อตัว ตามโปรแกรมที่แพทย์กำหนด แต่ก็จะมีคนไข้อีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถใช้บริการเป็นกลุ่ม โดยใช้นักกายภาพดูแลแค่คนเดียว เช่น คนพิการที่มาออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาในน้ำ ซึ่งเขาไม่ได้ป่วย แต่มาออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ” ผู้อำนวยการศูนย์สิรินธรฯ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดในการรักษา

อุปกรณ์ทันสมัย เครื่องออกกำลังกายครบวงจร

ทั้งนี้ประสิทธิภาพในการรักษาแบบธาราบำบัดนั้น ไม่ได้อยู่กับโปรแกรมการรักษาเพียงอย่างเดียว อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ก็ยังมีความจำเป็นไม่แพ้กัน ศูนย์สิรินธรฯจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก

โดยได้ลงทุนจัดหาอุปกรณ์ที่ทันสมัยและเครื่องออกกำลังกายสำหรับธาราบำบัดแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น สระว่ายน้ำสำหรับธาราบำบัดโดยเฉพาะ โดยสามารถตั้งอุณภูมิของน้ำให้เหมาะกับผู้ป่วย มี Jet Stream ช่องพ่นน้ำเพื่อใช้แรงดันน้ำในการนวดกล้ามเนื้อ มีระบบไฮดรอลิกในการปรับระดับพื้นสระให้ขึ้นมาเท่ากับขอบสระ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องกระดูกหรือไขข้อที่ไม่สามารถก้าวขึ้น-ลงบันไดได้ สามารถลงสระได้สะดวก มี Walking Corridor ลู่เดินในสระน้ำ ซึ่งมีราวจับตลอดแนว เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการทรงตัวใช้เกาะยึด

นอกจากนี้ ยังมี HOISTอุปกรณ์สำหรับยกผู้ป่วยหรือผู้พิการที่เคลื่อนไหวไม่สะดวกไปตามรางเลื่อน เพื่อหย่อยตัวลงสระ มี HYDRO PHYSIO ลู่วิ่งในน้ำ ซึ่งมีลักษณะเหมือนลู่วิ่งในฟิตเนส แต่มีเครื่องปล่อยน้ำได้ตามระดับที่ต้องการ มี Noodle อุปกรณ์ออกกำลังกายในน้ำ ลักษณะเป็นแท่งยาว รวมทั้งมีอ่างจากุซซี่ ซึ่งใช้แรงดันน้ำในการนวด เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ห้องซาวน่า และห้องสตรีม ซึ่งใช้ไอน้ำในการบำบัดผู้ป่วย

“เราให้บริการทุกเพศทุกวัย ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มที่มาใช้บริการมากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากกลุ่มนี้มักมีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและไขข้อ” พญ.ดารณี กล่าวตบท้ายถึงการให้บริการธาราบำบัด

เวลาให้บริการธาราบำบัดของศูนย์สิรินธรฯ

วันจันทร์ถึงวันเสาร์ โดยจัดเป็นรอบๆ มีทั้งให้บริการในเวลาและนอกเวลา ซึ่งค่าบริการนอกเวลาจะสูงกว่าในเวลา

บริการในเวลา วันจันทร์-วันศุกร์ ให้บริการ 5 รอบ คือ 09.00 น., 10.00 น., 11.00 น., 13.00 น., และ 14.00 น. (ยกเว้นวันอังคารที่มีแค่รอบเช้า คือ 09.00 น., 10.00 น., 11.00 น.)

บริการนอกเวลา จันทร์-ศุกร์ มี 3 รอบ คือ 16.00 น., 17.00 น. และ 18.00 น. ส่วนวันเสาร์ มี 3 รอบ คือ 09.00 น., 10.00 น. และ 11.00 น.

เนื่องจากธาราบำบัดต้องใช้เงินลงทุนในการจัดสร้างและติดตั้งอุปกรณ์สูง ทำให้ค่าบริการของการรักษาแบบธาราบำบัดสูงตามไปด้วย อาทิ HYDRO PHYSIO ค่าบริการครั้งละ 2,000 บาท, ธาราบำบัดโดยนักกายภาพบำบัด ครั้งละ 1,200 บาท, จากุซซี่ ครั้งละ 1,200 บาท, Walking Corridor ครั้งละ 400 บาท, สตรีม ครั้งละ 400 บาท, ซาวน่า ครั้งละ 400 บาท เป็นต้น

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 159 มีนาคม 2557 โดย กฤตสอร)
สระมีระบบไฮดรอลิกในการปรับระดับพื้นสระให้ขึ้นมาเท่ากับขอบสระ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องกระดูกหรือไขข้อสามารถลงสระได้สะดวก
ด้านข้างสระจะมีช่องกระจก เพื่อให้นักกายภาพสามารถมองเห็น
Walking Corridor ลู่ เดินในสระน้ำ
การออกกำลังกายในน้ำตามโปรแกรมธาราบำบัด ซึ่งจะมีนักกายภาพบำบัดดูแลแบบตัวต่อตัว
การออกกำลังกายในน้ำตามโปรแกรมธาราบำบัด ซึ่งจะมีนักกายภาพบำบัดดูแลแบบตัวต่อตัว
การออกกำลังกายในน้ำตามโปรแกรมธาราบำบัด ซึ่งจะมีนักกายภาพบำบัดดูแลแบบตัวต่อตัว
อุปกรณ์การออกกำลังกายในน้า
การออกกำลังกายด้วยเครื่องHYDRO PHYSIO
การใช้เครื่องJet Streamซึ่งใช้แรงดันน้ำในการบำบัด
พญ.ดารณี สุวพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น