เรื่องราวของความรักมีด้วยกันหลายรูปแบบ และหลากรสชาติ มีคำกล่าวว่า “ยามรักน้ำต้มผักขมก็ว่าหวาน” เพราะความรักเป็นเครื่องบำรุงหล่อเลี้ยงจิตใจ แต่จะทำอย่างไรให้ความรักนั้นงอกงามและงดงามอยู่ในใจเสมอ
คำตอบมีอยู่ในเรื่องราวทั้ง 3 เรื่องนี้ ซึ่งพระวิสุทธิสังวรเถร (พรหมวังโสภิกฺขุ) วัดโพธิญาณ ประเทศออสเตรเลีย ได้เล่าไว้ในหนังสือ “ชวนม่วนชื่น” เพื่อให้ได้ขบคิดและหาคำตอบด้วยตัวเอง
• ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข
เมื่ออาตมาอายุราวๆ สิบสามปี พ่อพาอาตมาออกไปข้างนอก และได้พูดอะไรบางอย่างที่สามารถเปลี่ยนชีวิตของอาตมาทีเดียว
เราสองคนอยู่กันตามลำพังบนรถคันเก่าบุโรทั่งของพ่อ บนถนนสายหนึ่งในเขตชานเมืองจนๆ ของกรุงลอนดอน
ท่านหันมาทางอาตมาแล้วพูดว่า
“ลูกเอ๋ย จงรู้ไว้นะว่า ไม่ว่าลูกจะทำอะไรในชีวิตของลูก ประตูบ้านของพ่อจะเปิดรับลูกเสมอ”
ขณะนั้นอาตมายังเป็นเพียงวัยรุ่นเด็กๆอยู่ อาตมาจึงไม่ค่อยเข้าใจว่าท่านหมายความว่าอย่างไร แต่อาตมารู้ว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ อาตมาจึงจดจำไว้
อีกสามปีต่อมาพ่อของอาตมาก็ถึงแก่กรรม
เมื่ออาตมามาบวชเป็นพระอยู่ทางภาคอีสานของประเทศไทย อาตมาคิดทบทวนถึงคำพูดของพ่อ จริงๆแล้วท่านไม่ได้พูดถึงบ้านหรอก เพราะบ้านของเราในสมัยนั้น ก็เป็นแค่แฟลตเล็กๆ ของรัฐในเขตจนๆ ของเมืองลอนดอน ไม่ใช่อะไรนักหนา
สิ่งที่ท่านตั้งใจจะบอกให้อาตมารับรู้นั้น เปรียบเสมือนเพชรพลอยอันมีค่าที่ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยผืนผ้า
มันเป็นการแสดงความรักที่แจ่มชัดมากที่สุดเท่าที่อาตมาเคยได้ยินได้ฟังมา
“ลูกเอ๋ย จงรู้ไว้นะว่า ไม่ว่าลูกจะทำอะไรในชีวิตของลูก ประตูใจของพ่อจะเปิดรับลูกเสมอ”
พ่อของอาตมาได้มอบความรักที่ไม่มีเงื่อนไขแก่อาตมา อย่างไม่มีบ่วงร้อยรัด อาตมาเป็นลูกชายของท่าน เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว มันเป็นสิ่งที่งดงาม เป็นความรักแท้ และท่านก็รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ
มันต้องใช้ความกล้าหาญและสติปัญญา ที่จะกล้าเอ่ยเอื้อนคำพูดนี้กับใครสักคน ที่จะเปิดประตูรับผู้อื่นเข้ามาอยู่ในใจของเราโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ
บางทีเราอาจจะกลัวว่า ผู้อื่นจะมาเอาเปรียบหรือหาผลประโยชน์จากเรา แต่จากประสบการณ์ของอาตมา มันไม่เป็นเช่นนั้นหรอก
ถ้าเราได้รับความรักชนิดนั้นจากใครสักคน มันเปรียบเสมือนการได้รับของขวัญที่ล้ำค่าที่สุด เราจะรู้คุณค่า รักษามันไว้ด้วยใจของเราเอง เพื่อที่จะไม่มีวันสูญเสียมันไป
แม้ว่าในครั้งนั้นอาตมาเข้าใจคำพูดของพ่อได้เพียงแค่บางส่วน ถึงกระนั้นอาตมาก็ยังไม่กล้าที่จะทำร้ายคนเช่นท่าน
ถ้าโยมได้เอ่ยคำพูดนี้กับคนใกล้ชิดของโยม และโยมรู้สึกอย่างที่พูดจริงๆ คำพูดเหล่านั้นออกมาจากใจของโยม คนคนนั้นจะก้าวสูงขึ้น ไม่ใช่ต่ำลง เพื่อให้สมกับความรักที่โยมมีให้เขา
-------------
• ขอบคุณข้อบกพร่อง
ในประเทศสิงคโปร์เมื่อสองสามปีก่อน หลังจากพิธีแต่งงาน พ่อของเจ้าสาวดึงตัวลูกเขยคนใหม่ออกมา เพื่อให้คำแนะนำในการครองชีวิตสมรสให้ยืนยาวและเป็นสุข
เขาบอกพ่อหนุ่มว่า “เธอคงจะรักลูกสาวของฉันมากสินะ”
“มากครับ” พ่อหนุ่มตอบ
ผู้อาวุโสกล่าวต่อไปว่า “แล้วเธอก็คงคิดว่า เจ้าสาวของเธอยอดเยี่ยมที่สุดในโลก”
พ่อหนุ่มกระซิบเบาๆว่า “เธอยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบในทุกๆด้านครับ”
ผู้อาวุโสกล่าวว่า “มันก็เป็นเช่นนี้แหละในวันที่เธอแต่งงาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ เธอจะเริ่มเห็นข้อบกพร่องในตัวลูกสาวของฉัน
เมื่อใดที่เธอเริ่มจะสังเกตเห็นข้อบกพร่องของภรรยาเธอนะ ฉันอยากจะให้เธอจดจำไว้ว่า ถ้าลูกสาวของฉันไม่ได้มีข้อบกพร่องเหล่านี้มาตั้งแต่เริ่มแรกละก็... พ่อลูกเขยเอ๋ย... เขาก็คงได้สามีดีกว่าเธอเยอะไปซะแล้วล่ะ!!!”
ดังนั้น เราจึงควรจะขอบคุณข้อบกพร่องต่างๆในตัวคู่ชีวิตของเรา เพราะถ้าเขาไม่มีข้อบกพร่องเหล่านี้มาตั้งแต่ต้น เขาก็คงสามารถเลือกแต่งงานไปกับใครสักคนที่ดีกว่าเรามากเป็นแน่
-------------
• ไก่กับเป็ด
หลวงพ่อชา ท่านอาจารย์ของอาตมา ชอบเล่านิทานเรื่องไก่กับเป็ด อาตมาจะเล่าให้ฟังในสำนวนของอาตมานะ
สามีภรรยาข้าวใหม่ปลามันคู่หนึ่ง ไปเดินเล่นด้วยกันในป่าในค่ำคืนที่สดใสยามฤดูร้อน ทั้งคู่กำลังมีความสุขมากที่ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันตามลำพัง จนกระทั่งได้ยินเสียงแว่วๆมาแต่ไกล
“แคว้ก! แคว้ก!”
ภรรยาบอกว่า “ฟังสิ ดูเหมือนจะเป็นไก่นะ”
สามีบอกว่า “ไม่ใช่หรอก เป็นเป็ดต่างหากเล่า”
ภรรยาก็ว่า “ไม่ใช่ ฉันว่าเป็นไก่แน่นอน”
สามีชักจะเริ่มรำคาญ เขาบอกว่า “เป็นไปไม่ได้ ไก่ก็ต้องร้องว่า ‘เอ้กอี๊เอ้กเอ้ก’ ซิ เป็ดถึงจะร้องว่า ‘แคว้ก! แคว้ก!’ มันเป็นเป็ดจ้ะที่รัก”
“แคว้ก! แคว้ก!” เสียงแว่วมาอีก
สามีก็บอกว่า “เห็นไหม! นั่นเสียงเป็ด”
ภรรยายังคงยืนกรานว่า “ไม่ใช่นะที่รัก ฉันแน่ใจว่าเป็นไก่แน่” พร้อมกับอาการกระแทกส้นรองเท้า
สามีพูดอย่างออกอาการโกรธว่า “ฟังนะจ๊ะคุณเมีย มัน...เป็น...เป็ด...ปอ...เอะ...ดอ...เป็ด! เข้าใจไหม?”
ภรรยาก็คงค้านว่า “มันเป็นไก่”
“ปัดโธ่! บอกว่าเป็ดก็เป็ดซิ เธอ....... เธอ.......”
เสียง “แคว้ก! แคว้ก!” ดังขึ้นอีกก่อนที่สามีจะกล่าวคำอะไรที่ไม่สมควรออกมา
ภรรยาผู้ใกล้จะร้องไห้เต็มแก่ก็ยังคงค้านว่า “แต่มันเป็นไก่นะ”
สามีสังเกตเห็นน้ำตาคลอหน่วยในดวงตาภรรยาของเขา และในที่สุด เขาก็รำลึกได้ว่า เหตุใดเขาจึงแต่งงานกับเธอ สีหน้าของเขาอ่อนละมุนลง และเขาก็พูดอย่างอ่อนโยนกับเธอว่า
“ขอโทษนะที่รัก ผมคิดว่าคุณคิดถูก มันเป็นไก่จริงๆแหละ”
“ขอบคุณค่ะที่รัก” เธอกล่าวพร้อมกับกระชับมือเธอเข้ากับมือเขา
เสียง “แคว้ก! แคว้ก!” ยังคงแว่วออกมาจากป่า ขณะที่เขาทั้งสองเดินคลอเคลียกันต่อไปด้วยความรัก
ประเด็นของเรื่องอยู่ตรงที่ ในที่สุดสามีก็ได้ ‘ตื่น’ ขึ้นมาตระหนักว่า จะต้องสนใจไปทำไมว่า มันเป็นไก่หรือเป็นเป็ด สิ่งที่สำคัญมากกว่า คือความกลมเกลียวปรองดองระหว่างเขาทั้งสอง ที่จะทำให้เขามีความสุขกับการเดินชมป่า ในค่ำคืนอันงดงามของฤดูร้อนนั้น
อย่างไรก็ตาม มีกี่ครั้งกี่หนที่เรามั่นใจเต็มร้อยว่าเราถูก เพื่อจะพบว่าเราผิดในเวลาต่อมา ใครจะรู้ได้ มันอาจจะเป็นไก่ชนิดใหม่ที่กลายพันธุ์จนร้องเหมือนเป็ดก็ได้?
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 158 กุมภาพันธ์ 2557 โดย กองบรรณาธิการ)