“ชีวก” เป็นชื่อหมอใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษา และมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงถวายให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าด้วย
ชีวกเป็นบุตรของนางสาลวดี นางนครโสภณีประจำกรุงราชคฤห์ ตำแหน่งของนางนครโสเภณีในสมัยนั้นมีเกียรติมาก เพราะพระราชาทรงแต่งตั้ง (แต่ผู้ประกอบอาชีพโสเภณีในสมัยนี้เป็นที่ดูหมิ่นเหยียดหยามของบุคคลทั่วไป)
นางสาลวดีได้มีครรภ์โดยบังเอิญ ครั้นเมื่อนางคลอดบุตรชายออกมา จึงสั่งให้สาวใช้นำทารกนั้นไปทิ้งไว้ที่กองขยะนอกเมือง
พอถึงเวลาเช้าตรู่ เจ้าชายอภัยราชกุมาร พระโอรสในพระเจ้าพิมพิสารและนางอมรปาลีไปพบเข้าขณะเสด็จออกไปนอกเมือง ทรงเห็นกากำลังรุมล้อมทารกอยู่ เมื่อพระองค์ทรงทราบจากมหาดเล็ก ว่าเป็นทารกและยังมีชีวิตอยู่ จึงโปรดให้นำทารกนั้นไปให้นางนมเลี้ยงไว้ในวัง
ในขณะที่ทรงทราบว่าเป็นทารก พระองค์ได้ตรัสถามว่า ทารกยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า และทรงได้รับคำตอบว่ายังมีชีวิตอยู่ ทารกนั้นจึงได้ชื่อว่า “ชีวก” แปลว่า “ผู้ยังเป็น” และเพราะเหตุที่เป็นผู้อันเจ้าชายเลี้ยง จึงได้มีสร้อยนามว่า “โกมารภัจจ์” แปลว่า “ผู้อันพระราชกุมารเลี้ยง” ซึ่งหมายถึง “บุตรบุญธรรม”
ครั้นเมื่อชีวกเจริญวัยขึ้น และได้ทราบว่า ตนเป็นเด็กกำพร้า ก็คิดแสวงหาศิลปวิทยาไว้เลี้ยงตัว จึงได้เดินทางไปศึกษาวิชาการแพทย์กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ที่มหาวิทยาลัยตักศิลา แห่งรัฐคันธาระ
ชีวกไม่มีค่าเล่าเรียนให้ จึงอาสารับใช้อาจารย์ในทุกอย่างที่อาจารย์ต้องการใช้ อาศัยเป็นเด็กอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเคารพเชื่อฟังอาจารย์ จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์อย่างมาก อาจารย์ถ่ายทอดศิลปวิทยาทั้งหมด โดยไม่ปิดบังอำพราง
ชีวกศึกษาอยู่ ๗ ปี จึงไปกราบลาอาจารย์กลับบ้าน อาจารย์ได้ทดสอบความรู้ โดยให้ถือเสียมไปยังป่า เพื่อสำรวจดูต้นไม้ว่า ต้นใดใช้ทำยาไม่ได้ ให้นำตัวอย่างของไม้ต้นนั้นกลับมาให้อาจารย์ดู
ผลของการสำรวจปรากฏว่า เขาเดินกลับมามือเปล่า เพราะต้นไม้ทุกต้นใช้ทำยาได้ อาจารย์บอกเขาว่า เขาได้เรียนจบแล้ว จึงอนุญาตให้เขากลับ พร้อมกับมอบเสบียงเดินทางให้เล็กน้อย
ชีวกได้เดินทางกลับยังกรุงราชคฤห์ แต่เสบียงหมดในระหว่างทาง จึงแวะหาเสบียงที่เมืองสาเกต โดยไปอาสารักษาภรรยาของเศรษฐี ซึ่งเป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปีแล้ว ไม่มีใครรักษาให้หาย ผลปรากฏว่า ภรรยาของเศรษฐีได้หายเป็นปกติ จึงให้รางวัลมากมาย
ชีวกได้เงินมาจำนวน ๑๖,๐๐๐ กหาปณะ พร้อมด้วยทาสทาสีและรถม้า เดินทางกลับถึงกรุงราชคฤห์ นำเงินและของรางวัลทั้งหมดไปถวายแด่เจ้าชายอภัย เป็นค่าปฏิการคุณที่ได้ทรงชุบเลี้ยงตนมา
เจ้าชายอภัยโปรดให้หมอชีวกเก็บเงินรางวัลนั้นไว้เป็นของตนเอง ไม่ทรงรับเอา และโปรดให้หมอชีวกสร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค์
เวลาต่อมา เจ้าชายอภัยได้นำหมอชีวกไปรักษาอาการพระประชวรของพระเจ้าพิมพิสาร จนหายขาดจาก “ภคันทลาพาธ” (โรคริดสีดวงทวาร) พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงให้หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำพระองค์ประจำฝ่ายในทั้งหมด พร้อมทั้งพระราชทานสวนมะม่วงให้เป็นสมบัติอีกด้วย
และต่อมาหมอชีวกได้ถวายสวนมะม่วงแห่งนี้ให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวกทั้งหลาย ได้ถวายการรักษาพระบรมศาสดาเมื่อคราวพระองค์ทรงพระประชวร และถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระพุทธองค์อีกด้วย
หมอชีวกได้รักษาโรคร้ายสำคัญหลายครั้ง เช่น
• การถวายการรักษาแด่พระพุทธเจ้าในคราวที่พระบาทห้อพระโลหิต เนื่องจากเศษหินจากก้อนศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขา เพื่อหมายปองพระชนม์ชีพ
• การผ่าตัดรักษาโรคในสมองของเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์
• การผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้ของบุตรเศรษฐีชาวกรุงพาราณสี
• การรักษาโรคผอมเหลืองแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชต กษัตริย์แห่งกรุงอุชเชนี รัฐอวันตี แล้วได้รับพระราชทานผ้าแพรเนื้อละเอียดผืนหนึ่ง จึงนำผ้าผืนนั้นไปถวายพระพุทธเจ้า เนื่องจากสมัยนั้น พระภิกษุสงฆ์ถือผ้าบังสุกุลอย่างเดียว พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้รับผ้าจีวรที่คฤหัสถ์ทำถวาย
หมอชีวกจึงกราบทูลขอพระพุทธเจ้าให้ทรงรับผ้าแพรที่เขาน้อมถวาย และให้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าจีวรที่ชาวบ้านผู้มีศรัทธาจัดถวายด้วย พระพุทธเจ้าทรงรับผ้าจากหมอชีวก และประทานอนุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าที่ชาวบ้านนำมาถวายได้ตั้งแต่กาลนั้น
หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และศรัทธาในพระพุทธศาสนา ปรารถนาจะไปเผ้าพระพุทธเจ้าวันละ ๒-๓ ครั้ง พิจารณาเห็นว่า พระเวฬุวันอยู่ไกลเกินไป จึงสร้างวัดถวายในสวนมะม่วงของตนเรียกกันว่า “ชีวกัมพวัน” (ชีวก+อัมพวัน แปลว่า สวนมะม่วงของหมอชีวก)
ครั้นเมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงน้อมพระทัยมาทางศาสนา หมอชีวกก็เป็นผู้ถวายคำแนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
หมอชีวกโกมารภัจจ์หาเวลาเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาข้อข้องใจในธรรมะจากพระพุทธเจ้าเนืองๆ มีสูตรหลายสูตรบันทึกคำสนทนาและปัญหาของหมอชีวก เช่น ชีวกสูตรในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ เป็นต้น
เรื่องที่หมอชีวกนำขึ้นมากราบทูลถามเพื่อความรู้ที่ถูกต้อง ล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่น่ารู้ เช่น พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์หรือไม่ อุบาสกที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร เป็นต้น
ด้วยเหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์ และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระสงฆ์อย่างมาก จึงเป็นเหตุให้มีคนจำนวนมากมาบวช เพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัว จนหมอชีวกต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้า ให้ทรงบัญญัติข้อห้ามรับบวชคนเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด และยังกราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ เพื่อเป็นที่บริหารกาย ช่วยรักษาสุขภาพของพระภิกษุทั้งหลาย
หมอชีวกได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทาง “เป็นที่รักของปวงชน” และในวงการแพทย์แผนโบราณนั้น ปัจจุบันถือว่า หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็น “บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ” เป็นที่เคารพนับถือของมหาชน
หมอชีวกโกมารภัจจ์มีคุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง ดังนี้
๑. เป็นผู้มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงยิ่ง หมอชีวกโกมารภัจจ์มีความตั้งใจแน่วแน่ตั้งแต่เด็กแล้วว่า จะศึกษาวิชาการเพื่อให้เป็นที่นับหน้าถือตาของคนอื่น จึงเดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์จนสำเร็จสมความตั้งใจ
การที่เขาได้เคลื่อนย้ายสถานภาพจากเด็กกำพร้า กลายมาเป็นนายแพทย์ ผู้เป็นที่เคารพนับถือของคนส่วนใหญ่ในประเทศได้เช่นนี้ เป็นเพราะเขามีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงมาตั้งแต่สมัยยังเด็กนั้นเอง
๒. เป็นผู้ใฝ่รู้และมีความพากเพียรสูงยิ่ง หมอชีวกโกมารภัจจ์เมื่อตั้งใจจะศึกษาวิชาใด ก็ได้พยายามหาทางให้ได้เรียนวิชานั้น แม้ไม่มีเงินค่าเดินทางก็พยายามตีสนิทกับพวกพ่อค้าต่างเมือง ขออาศัยเดินทางไปยังกรุงตักศิลาแห่งรัฐคันธาระจนได้
รวมทั้งได้ใช้แรงงานโดยการอยู่รับใช้งานของอาจารย์ แลกกับสิทธิการได้ศึกษาเล่าเรียน และตั้งใจศึกษาวิชาการจากอาจารย์ด้วยความเคารพและอดทน จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา
๓. เป็นอุบาสกที่ดี หมอชีวกโกมารภัจจ์มีความเคารพในพระพุทธเจ้าและยึดมั่นในพระรัตนตรัย โดยสังเกตตัวอย่างได้จากการที่เขาถวายสวนมะม่วงให้เป็นของวัด และได้สิ่งที่ดี เช่น ผ้าเนื้อละเอียดมาก ก็นึกถึงพระพุทธเจ้าและนำไปถวาย
เมื่อครั้งพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเกิดความเดือดร้อนพระทัย เนื่องจากได้ปลงพระชนม์พระราชบิดา ทรงสะดุ้งหวาดกลัวจนบรรทมไม่หลับ พระองค์ตรัสถามหมอชีวก ว่ามีวิธีใดที่จะให้พระองค์สงบพระทัยได้
หมอชีวกได้ถวายคำแนะนำให้พระเจ้าอชาตศัตรูไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ จนกระทั่งพระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงถวายองค์เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
การชักจูงคนที่ยังไม่มีศรัทธาให้เกิดศรัทธาในพระรัตนตรัย การให้คำแนะนำคนที่กำลังมีความทุกข์ให้ได้พบทางผ่อนคลายทุกข์ เช่นนี้นับเป็นหน้าที่ของอุบาสกที่ดีของพระพุทธศาสนา
๔. เป็นผู้เสียสละอย่างยิ่ง หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นทั้งแพทย์หลวงแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า ขณะเดียวกันก็ยังต้องดูแลประชาชนอีกด้วย หาเวลาพักผ่อนได้ยาก
ข้อนี้เห็นได้ชัดดังครั้งหนึ่ง เมื่อเขาได้ทราบว่า พระพุทธเจ้าถูกพระเทวทัตทำร้ายบาดเจ็ด ก็รีบไปถวายการรักษาพยาบาลพันแผลที่พระบาท แล้วรีบไปตรวจคนไข้ในเมือง ตั้งใจว่าตอนค่ำจะกลับมาแก้ผ้าพันแผลที่พระบาท แต่ประตูเมืองปิดก่อน เข้าออกนอกเมืองไม่ได้ รอจนกระทั่งรุ่งเช้า เขารีบเร่งเข้าเฝ้าด้วยความเป็นห่วงในพระอาการประชวรของพระพุทธเจ้า เสร็จจากนั้นก็รีบเข้าเมืองเพื่อรักษาพยาบาลประชาชนต่อไป
เขาต้องเสียสละทั้งเวลาและทั้งความสุขส่วนตัว เพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่พระศาสนาและประชาชน เพราะความเป็นคนเสียสละถึงปานนี้ เขาจึงเป็นที่รักของปวงชนอย่างแท้จริง
(ข้อมูลจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ โดย รศ.ดนัย ไชยโยธา)
พระคาถาบูชาบรมครูหมอชีวโกมารภัจจ์
ตั้งนะโม 3 จบ : นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 ครั้ง)
โอม นะโม ชีวะโก/ สิระสา อะหัง กะรุณิโก/ สัพพะสัตตานัง/ โอสะถะ ทิพพะมันตัง/ ปะภาโส/ สุริยาจันทัง/ กุมาระภัจโจ(กุมาระวัตโต) ปะกาเสสิ/ วันทามิ ปัณฑิโต/ สุเมธะโส/ อะโรคา สุมะนา โหมิ
ผู้ใดได้กล่าวสรรเสริญคุณแห่งพระคาถาบทนี้/ ผู้ใดได้เจริญพระคาถาบทนี้/ จะบังเกิดมีอานุภาพ ป้องกันสรรพโรคภัยเจ็บทั้งหลายทั้งปวง/ จะเป็นผู้ไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ/ หาได้ยาก/ และหากยิ่งได้ช่วยเผยแพร่ออกไป/ จะมีอานิสงส์แห่งบุญ/ ทำให้ปราศจากโรคร้ายภัยเวรต่างๆ
ขอบารมีแห่งบรมครูหมอชีวกโกมารภัจจ์/ จงคุ้มครองให้ข้าพเจ้า...... (ชื่อ นามสกุล) พ้นจากโรคร้ายภัยเวร/ โรคเวรโรคกรรม/ ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืน/ มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี/ ขอให้อานิสงส์แห่งแรงอธิษฐานนี้/ คุ้มครองข้าพเจ้า/ นับตั้งแต่บัดนี้ล่วงไปเมื่อหน้าเทอญ (ที่มา : ศาลาบรมครูหมอชีวกโกมารภัจจ์ ณ โรงพยาบาลสงฆ์)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 158 กุมภาพันธ์ 2557 โดย กองบรรณาธิการ)