คนส่วนใหญ่รับรู้กันถึงเรื่องราววันแห่งความรัก ๑๔ กุมภาพันธ์ หรือวันวาเลนไทน์ ซึ่งมีที่มาจากเรื่องราวของนักบุญในศาสนาคริสต์ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ในพุทธศาสนาก็มีวันแห่งความรักเช่นกัน และเป็นวันแห่งความรักที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติ
“ธรรมลีลา” จึงขอนำเรื่องราววันแห่งความรักในพุทธศาสนา ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงอรรถาธิบายไว้ และมีการนำมารวบรวมพิมพ์ในหนังสือ “แสงส่องใจ” แจกจ่ายในวาระสำคัญๆ มาเรียบเรียงนำเสนออีกครั้ง ดังนี้
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงแสดงไว้ว่า
ความรักของสมเด็จพระพุทธองค์ สูงส่งบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่ให้ทุกข์ไม่ให้โทษไม่ให้ภัย แก่ชีวิตจิตใจใดทั้งนั้น ด้วยทรงมีความรักบริสุทธิ์สูงส่ง ไม่มีเสมอเหมือน พระพุทธองค์จึงทรงแผ่พระมหากรุณาได้กว้างใหญ่ไพศาลไม่มีขอบเขต ทั้งแก่พรหม เทพ มนุษย์ สัตว์ ปรากฏแจ้งชัดในโอวาทปาติโมกข์ ที่ทรงแสดงใน “วันมาฆบูชา”
วันมาฆบูชา วันแห่งความรักในพระพุทธศาสนา วันที่พระจันทร์เต็มดวงเสวยมาฆฤกษ์ สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ พระมหาวิหารเวฬุวัน ทรงมีพระพุทธประสงค์จะประกาศพระพุทธศาสนาแก่โลกเป็นครั้งแรก โดยทรงมีพระอริยสงฆ์ ซึ่งเป็นพระพุทธสาวกรุ่นแรก มีจำนวน ๑,๒๕๐ องค์ เป็นผู้ที่จะอัญเชิญไปเป็นหลักในการประกาศพระพุทธศาสนาสืบไป
พระสงฆ์พุทธสาวก ๑,๒๕๐ องค์นั้นขณะที่สมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน มิได้พร้อมกันอยู่ในพระวิหารเช่นสมเด็จพระบรมศาสดา แต่ต่างอยู่ในที่ต่างๆ ห่างไกลกัน
เมื่อทรงมีพระพุทธประสงค์จะให้ได้รับฟังการทรงประกาศพระพุทธศาสนา ก็ทรงส่งพระพุทธจิตไปอาราธนาพระพุทธสาวกทั้ง ๑,๒๕๐ องค์ ให้ไปพร้อมกัน ณ พระวิหารเวฬุวัน ที่เสด็จประทับอยู่ ได้ทรงกระทำพระวิสุทธิอุโบสถในท่ามกลางพระสาวกสงฆ์สันนิบาตอรหันตขีณาสพ จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ดังกล่าว วันนั้นตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ ซึ่งได้รับการเทิดทูนเป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา
ในท่ามกลางพระวิสุทธิสงฆ์อริยสาวก ๑,๒๕๐ องค์นั้น สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงประกาศหัวใจพระพุทธศาสนา ๓ ประการ เพื่อให้พระวิสุทธิอริยสงฆ์อัญเชิญไปเป็นหลักประกาศพระพุทธศาสนา ให้ปรากฏแก่โลกต่อไปให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา เป็นจุดสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนานั่นเอง
เพราะหัวใจเป็นส่วนสำคัญที่สุดของทุกชีวิต ของความเป็นคน ของความเป็นสัตว์ แม้ไม่มีหัวใจ ชีวิตก็จะมีอยู่ไม่ได้ด้วย พูดง่ายๆก็คือเมื่อชีวิตสิ้น ความเป็นคนความเป็นสัตว์ก็สิ้นสุดตามไปด้วย...
พระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกับเราท่านทั้งหลาย คือ ดำรงอยู่ได้ก็เพราะมีหัวใจ สมเด็จพระบรมศาสดาทรงประกาศหัวใจพระพุทธศาสนา ๓ ประการ ให้ปรากฏประจักษ์แก่โลก คือ
๑. การไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง
๒. การทำบุญกุศลให้ถึงพร้อม
๓. การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
หัวใจพระพุทธศาสนาที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงประกาศทั้ง ๓ ประการ แสดงชัดแจ้งถึงพระมหากรุณาที่ทรงมีต่อสัตว์โลกทั้งปวง ผู้ใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นใคร ชาติใด ศาสนาใด แม้ให้ความสนใจปฏิบัติหัวใจพระพุทธศาสนา ตามที่ทรงพระมหากรุณาประกาศแก่โลก จะมีความร่มเย็นเป็นสุขอย่างแท้จริงแน่นอน
ที่กล่าวไว้ว่าเป็นการประทานพระมหากรุณาที่แท้จริง เพราะแม้ไม่ทรงประกาศหัวใจพระพุทธศาสนาดังกล่าว ก็จะมีผู้ใดเล่าที่จะคิดว่า ต้องไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ไม่ทำเลย ไม่ว่าจะเป็นบาปอกุศลใด...
หัวใจพระพุทธศาสนาข้อนี้ ข้อที่ว่าไม่พึงทำบาปอกุศลทั้งปวง เป็นพระเมตตาอย่างยิ่งในสมเด็จพระบรมศาสดา พระผู้ทรงเป็นสมเด็จพระบรมครูของพรหมเทพและมนุษย์
หัวใจพระพุทธศาสนาข้อนี้เป็นการฉุดรั้งเราทุกคน ไม่ให้ตกเข้าไปอยู่ในมือเลวร้ายของบาปอกุศล มือนี้จะดึงเราไปสู่ที่เลวร้ายหนักหนาเพียงใดก็ได้ ถึงกับลงนรกอเวจีได้รับความทุกข์แสนสาหัสเพียงใดก็ได้ นี้เป็นความจริง อย่าไม่สนใจ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไม่ถึงขนาดต้องควรเอาจริง อย่าคิดอย่างประมาทเช่นนั้น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดกับชีวิตเราทุกคน ไม่เฉพาะผู้ใดผู้หนึ่งเท่านั้น
บาปอกุศลไม่ได้เกิดขึ้นเองแน่นอน แต่เกิดจาก กาย วาจา ใจ ของเราผู้เป็นมนุษย์ทั้งหลาย คือ เกิดจากการกระทำ เกิดจากการพูด เกิดจากการคิด ของเราผู้เป็นมนุษย์ทั้งหลายแน่นอน และสำคัญที่สุดใน ๓ ประการที่ก่อให้เกิดบาปอกุศล คือ ใจ คือการคิด เพราะสมเด็จพระบรมศาสดาก็ได้มีพระพุทธดำรัสไว้ว่า ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ
บาปอกุศลมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เต็มบ้านเต็มเมืองเต็มโลก เพราะบาปอกุศลมีอยู่ในใจของมนุษย์ผู้เป็นสัตว์โลก มนุษย์มีเต็มโลก บาปอกุศลก็มีเต็มโลก นี้เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ต้องอย่าประมาท ต้องมีสติระวังให้เต็มที่ อย่ายอมให้บาปอกุศลบัญชาให้ทำความชั่ว ทำความไม่ดี ที่ยิ่งใหญ่นานาประการ
แม้บาปอกุศลจะบัญชาให้ทำความไม่ดีเพียงเล็กน้อย ผู้เทิดทูนพระพุทธธรรม ที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงสอนไว้ ก็ยังต่อสู้กับจิตใจของตน ที่ตกอยู่ใต้อำนาจของบาปอกุศล ชนะบ้าง แพ้บ้าง ก็ยังดี ดีกว่าขาดสติ สิ้นเชิง ไม่ยอมรู้ดีรู้ชั่ว ไม่คิดที่จะต่อต้านอำนาจของบาปอกุศลเสียเลย ยอมแพ้แก่อำนาจของบาปอกุศล คิดพูดทำไปอย่างไม่รู้ถูกไม่รู้ผิด ไม่รู้ดีไม่รู้ชั่ว เช่นนี้
ท่านกล่าวว่า เป็นการน่าเสียดายที่สุดสำหรับผู้นั้น ที่ได้เกิดแล้วเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา แต่ไม่พยายามศึกษาให้รู้ว่า เป็นความสำคัญเพียงไรที่จะต้องต่อสู้กับอำนาจของกรรม คือ บาปอกุศล ให้เต็มสติปัญญาความสามารถ...
ดังนั้น การรักษาใจให้งดงามด้วยความคิดที่งดงาม จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่งของเราท่านทั้งหลายผู้เกิดแล้วเป็นมนุษย์ด้วยอำนาจของบุญ เพราะการรักษาใจให้งดงาม มีความคิดที่งดงาม ก็เท่ากับเป็นการควบคุมกายวาจาให้งดงามด้วย...
รักษาใจให้ดีที่สุด รักษาความคิดที่จะเกิดขึ้นในใจให้ดีที่สุด อย่าให้เป็นความคิดที่จะนำให้ทำบาปอกุศลใดๆทั้งสิ้น มีสติ อย่าให้ความคิดไม่ดีเกิดได้ในจิตใจ เพียงเท่านี้ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้พูดไม่ดีได้ สามารถป้องกันไม่ให้ทำไม่ดีได้ และการไม่พูดไม่ดีก็ตาม การไม่ทำไม่ดีก็ตาม เป็นคุณสมบัติสุดวิเศษของความเป็นมนุษย์...
ที่จริงเมตตาใจตนเองมีความสำคัญที่สุด เมตตาใจตนเองไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว ถ้าเมตตานั้นเป็นเมตตาจิตใจตนเอง ไม่ใช่เมตตาในเรื่องของทางกาย เมตตาใจตนเองคือ การรักษาใจตนเองให้ไกลจากความร้อน ทำใจให้ไม่ร้อนด้วยอำนาจของความเศร้าหมอง คือ กิเลส ซึ่งหมายถึงความโลภ ความโกรธ ความหลง
ผู้ที่ปล่อยให้ใจตนเองตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสดังกล่าว ก็คือการยอมให้จิตเศร้าหมอง หรือร้อนแรงด้วยอำนาจของกิเลส เป็นการไม่เมตตาใจตนเอง...
น่าจะมีผู้เข้าใจความเมตตาใจตนเองไม่ถูกต้อง จึงไม่เห็นค่าของการเมตตาใจตนเองว่ายิ่งใหญ่ที่สุด ใจที่เกิดจากความเมตตาเป็นใจที่มีกำลังมาก ความสงบไกลจากความร้อนความวุ่นวายของความคิดนานาประการ มีค่ามาก มีพลังมาก มีอานุภาพมาก เหนือทุกสิ่ง เหนือการทำบุญใดๆ มากมายนัก
นี้เป็นความจริง ที่ยากจะมีผู้ยอมเชื่อว่าเป็นความจริง ปล่อยนกปล่อยปลา หรือให้ชีวิตวัวควายมากมายสักกี่ตัว จะเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ไปไม่ได้ แม้ผู้หวังบุญด้วยการให้ชีวิตเหล่านั้น มีความมุ่งหมายที่ไม่ให้ความสงบสุขแก่จิตใจตนเอง คือ คิดว่าเมตตาสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น โดยไม่ได้นึกถึงที่จะเมตตาจิตใจตนเองเลย…
เมตตาชีวิตสัตว์ ก็เป็นใจที่มีเมตตาอันจะก่อให้เกิดบุญเป็นความสุขได้ แม้ทำในขณะที่ใจไม่เร่าร้อนด้วยความทุกข์นานาประการ
เมตตาใจตนเองก่อน ให้เต็มความสามารถเถิด แล้วการให้เมตตาผู้อื่นสัตว์อื่นจะมีผลพ้นพรรณนา
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 158 กุมภาพันธ์ 2557 โดย กองบรรณาธิการ)