“สองมือพ่อยังคอยป้องประคองเจ้า
สองเท้าเล่ายังนำทางสร้างสรรเสริญ
จะปูล่างต่างบันไดให้เจ้าเดิน
ถ้ารักพ่อก็ขอเชิญเดินตามทาง”
พลังเสียงขับกลอนอันหนักแน่นที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความเคารพครูบาอาจารย์ที่ “ครูมืด” ประสาท ทองอร่าม ศิลปินด้านโขนละคร ดนตรีไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย จากกรมศิลปากร ได้เอ่ยเอื้อนขึ้นนั้น ราวกับจะบอกว่า ท่านยังคงรำลึกถึงครูบาอาจารย์ทุกผู้ทุกคนที่ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้อย่างมิเสื่อมคลาย
เพราะบทกลอนชิ้นนี้เป็นของ “อาจารย์เสรี หวังในธรรม” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการละคร ที่ครูมืดได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ และใช้ชีวิตในการเล่าเรียนกับอาจารย์เสรี เป็นเวลากว่า 50 ปี กระทั่งเรียกขานด้วยความเคารพสุดหัวใจว่า “พ่อเส”
“เราจะต้องเดินตามทางท่าน เดินตามทางในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่า เดินวัดรอยเท้าท่าน เราเดินตามทางที่ท่านแนะนำไปในทางที่ดี ท่านให้โอกาสทุกคน ท่านไม่เคยมองคนเป็นศัตรู เพราะฉะนั้น ผมก็เลยไม่มองใครเป็นศัตรู” ครูมืดพูดจบ พร้อมกับยกมือขึ้นพนมเหนือศีรษะด้วยความเคารพ
• “ศิลปะในสายเลือด” ของครูมืด
ด้วยเยาว์วัยที่มีอุปนิสัยร่าเริง สนุกสนาน และเติบโตมาในครอบครัวที่คุณปู่ คุณพ่อ และคุณอา เป็นนักดนตรีไทย ครูมืดจึงได้รับการปลูกฝังด้านดนตรีไทย บวกกับการเล่าเรียนกับอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ทำให้ศิลปวัฒนธรรมไทยได้เข้าไปอยู่ในสายเลือดของครูมืด
“คุณปู่ คุณพ่อ คุณอาเป็นนักดนตรีไทย อยู่ที่บ้านคุณครูหลวงประดิษฐ์ ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เชื้อสายครอบครัวมาทางด้านนั้น คุณปู่ได้รู้จักกับครูดนตรีของกรมศิลปากร คือ คุณครูประสิทธ์ ถาวร ก็เลยได้ฝากฝังให้ผมเข้ามาเป็นนักเรียนโรงเรียนนาฏศิลป์ ตั้งแต่ พ.ศ.2504 (ปัจจุบันได้กลายเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์) นั่นจึงเป็นครั้งแรกของการจุดประกายทางด้านศิลปวัฒธรรม
แต่ตอนที่เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนศุภมาศวิทยาคม ซึ่งผมยังจำขึ้นใจมาจนเดี๋ยวนี้ เพราะจะระลึกถึงครูที่นี่ที่ได้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้มากมาย การเรียนสมัยก่อน จะเน้นเรื่องภาษาไทยมากๆ แล้วก็จะมีวิชาขับร้องเพลงไทย และสอนดนตรีไทยด้วย ผมก็หัดตีฉิ่ง บรรเลงเพลงไทย มันจึงค่อยๆซึมซับเข้ามาในตัว
แล้วอีกที่หนึ่งที่มีคุณูปการแก่ผมมากเลย คือวัดพระพิเรนทร์ ที่อยู่แถววรจักร วัดนี้เป็นแหล่งรวมศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นโขน ละคร ปี่พาทย์ ลิเก คือจะรวมอยู่ที่นี่หมด เวลามีงานรื่นเริง เขาก็จะมีการแสดงต่างๆ ซึ่งผมชอบมาก มันติดตาติดใจและอยากเป็นนักแสดงอยู่ตรงนั้น
ดังนั้น พอมีโอกาสได้ก้าวเข้ามาอยู่ในรั้วนาฏศิลป์ มันจึงจุดประกายให้ผมได้เห็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นั่นคือการแสดงโขนอย่างแท้จริง และผมก็โชคดีมากที่ได้เจอกับอาจารย์เสรี ตั้งแต่ที่ผมก้าวเข้ามาศึกษาเล่าเรียน ท่านก็เป็นผู้ที่เข้ามาคอยดูแลเด็กๆ เรียกได้ว่าท่านเป็นครูโดยแท้จริง คือไม่ใช่ให้เพียงความรู้แต่อย่างเดียว แต่ท่านให้ชีวิต ให้จิตวิญญาณ ให้จิตใจ และสร้างความเป็นคนให้แก่เรามาด้วย”
ครูมืดเล่าว่า สมัยก่อนเด็กที่เรียนเก่งๆในรั้วนาฏศิลป์นั้น มาจากครอบครัวที่ยากจน เพราะต้องเรียนเป็นอาชีพ จึงมีการจัดให้รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน และมีครูอาจารย์อื่นๆมาช่วยสอนด้วย อาทิ อาจารย์ยอแสง ภักดีเทวา อาจารย์เจริญ เวชเกษม อาจารย์กรี วรศะริน อาจารย์อร่าม อิทรนัฏ
“นอกจากอาจารย์ท่านอื่นๆแล้ว ก็ยังมีรุ่นพี่ๆสอนให้อีก ทุกคนจึงกลายเป็นครูของเราโดยธรรมชาติ”
และในชีวิตนี้ ผู้ที่ครูมืดไม่เคยลืมเลยก็คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร หรือพระองค์ชายกลาง
“พระองค์มีความสำคัญในชีวิตของพวกนักเรียนในเวลานั้นมาก เพราะทรงเป็นผู้อุปการะพวกเราทั้งหมด
ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มา ที่มันซึมซับอยู่ในตัวผมตลอด เพราะนี่คือความทรงจำที่ดี ที่ผมรำลึกถึงเสมอ และเมื่อผมกลายมาเป็นครู ก็พยายามนำสิ่งเหล่านั้นมาถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์อีกทีหนึ่ง ซึ่งนับเป็นการสืบทอดรุ่นสู่รุ่นของหลักสูตร หรือเป็นจารีตประเพณีของพวกเรา”
• จิตวิญญาณครู แห่งนาฎศิลป์ไทย
ครูมืดได้เล่าถึงจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูไว้ว่า การได้รับการถ่ายทอดมาจากครูอีกทีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นครูผู้ให้ความรู้ หรือครูผู้อุปการะนั้น ถือว่าเป็นครูทั้งหมด ในแวดวงแห่งศิลปวัฒนธรรมไทยในสมัยก่อน จึงไม่ได้ร่ำเรียนเฉพาะกับครูผู้สอนโดยตรง
“ผู้ที่บอก ผู้ที่แนะนำ ผู้ที่ให้ความเห็นที่เราได้ร่วมงานด้วย ถือว่าเป็นครูเราทั้งหมด เพราะถือเป็นการลักจำ เป็นการให้มา โดยที่เราไม่รู้ตัว มันซึมซับเข้ามาในตัวเราเอง นี่จึงเป็นสิ่งที่เราควรจะเคารพนับถือหมดเลย ไม่สามารถที่จะล่วงเกินได้ ไม่สามารถที่จะล่วงล้ำท่านได้ เพราะถ้าเราไม่มีท่าน ไม่ได้รับคำบอกเล่าจากตรงนั้น เราไม่สามารถที่จะมายืนอยู่ตรงนี้ได้เลย”
ครูมืดเล่าว่า องค์ความรู้ที่ได้รับนั้นมีมากมาย เพราะครูของท่านไม่ได้จำกัดให้เรียนอยู่ในแค่หลักสูตรเหมือนสมัยนี้ แต่ต้องไปเรียนนอกหลักสูตรกับครูคนอื่นด้วย มีทั้งครูพื้นบ้านพื้นเมือง
“การศึกษาความรู้มาจากครูบาอาจารย์ท่านใดนั้น พึงระลึกไว้เสมอว่า สิ่งที่ได้รับล้วนเป็นสิ่งที่มีค่า ต้องมีความตั้งใจจริง และต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ อย่าริดูถูกหรือคิดว่าสิ่งนั้นได้มาง่ายๆ ควรที่จะฝึกฝนทำให้สำเร็จ
วิชาความรู้ทั้งหลาย จะตกทอดจากครูรุ่นหนึ่งมาสู่ครูอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งเราก็ต้องรู้ว่า กว่าครูท่านนั้นจะได้รับวิชาความรู้มา ท่านก็ต้องมีครูอีกทีหนึ่ง เพียงแต่ท่านไม่ได้บอกเรา แต่เราก็ต้องระลึกถึงครูบาอาจารย์เหนือขึ้นไปอีกเสมอ ซึ่งปัจจุบันนี้ เราได้เอามาใช้อย่างภาคภูมิใจ และเราก็ต้องเป็นผู้ให้โดยสุจริตใจ โดยเที่ยงธรรมและอย่างถูกต้อง นี่คือจิตใจของความเป็นครู”
• ตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตครู
ครูมืดได้รับการถ่ายทอดความรู้จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่า วิชาความรู้ที่ได้มานั้นมีคุณค่ามาก มีความสำคัญ และมีความยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่สามารถที่จะหันหลังทิ้งวิชาที่ได้รับไปได้โดยที่ไม่รู้สึกอะไร
“บรรพบุรุษของเรา กว่าจะสร้าง กว่าจะคิด กว่าจะประดิษฐ์เครื่องดนตรีได้แต่ละชิ้น แต่ละเพลง การพากย์โขนแต่ละคำ การเจรจาแต่ละท่วงทำนอง การแสดงท่าร่ายรำแต่ละท่า มันยากมากครับ มันละเอียดอ่อนมาก
ในรุ่นเรานั้นเรียกว่า ชุบมือเปิบ คือท่านคิดท่านทำมาแล้ว นำมาถ่ายทอดให้กับเรา แล้วทำไมเราไม่ดำรงต่อไว้ จะให้มันสิ้นในชีวิตของเราเหรอ จะให้ของแบบนี้มันสิ้นลงไปทั้งที่เรายังมีชีวิตอยู่เหรอ ศิลปวัฒนธรรมไทยมันตายสิ้นไปหมดแล้ว เพราะในรุ่นของครูมืดเหรอ
ผมไม่อยากให้เป็นแบบนี้ จึงคิดว่าจะต้องถ่ายทอดให้กับคนรุ่นต่อๆไป เมื่อพวกเขาเข้าใจและได้ซึมซับแล้ว โตขึ้นมาจะได้รักและหวงแหนศิลปวัฒนธรรมไทย
เราต้องปลูกฝังอย่างนี้ด้วย คือให้ความเข้าใจกับเขาอย่างถูกต้องว่า ศิลปวัฒนธรรมไทยเรามันไม่ได้ล้าสมัย ไม่ได้โบราณคร่ำครึ เพราะปัจจุบันยังมีการนำไปใช้อยู่ตลอดเวลา โดยที่เราไม่รู้ตัวเลย เช่น เพลงสากล ลูกกรุง ลูกทุ่ง นำเอาเพลงไทยเดิมมาทำทั้งนั้น ซึ่งคนรุ่นใหม่ก็ไม่รู้ แต่ครูที่เขาทำเขารู้ครับ” ครูมืดกล่าวด้วยน้ำเสียงและสีหน้าจริงจัง
• ปณิธานของครูมืด
ครูมืดบอกว่าได้ตั้งปณิธานไว้เมื่อมาอยู่ในฐานะผู้เป็นครูคนหนึ่งว่า อยากจะถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ล้ำค่านั้น ให้แก่ลูกศิษย์ ได้ดำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมไทย
เมื่อตั้งใจเช่นนี้ ครูมืดจึงถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่ให้กับลูกศิษย์อย่างเต็มที่ มีเท่าไหร่ก็ให้หมด หากวันนี้ยังไม่ได้หรือไม่เข้าใจ พรุ่งนี้ก็จะให้มาอีก เรียกว่าให้จนกว่าจะได้ในที่สุด
“ได้มากได้น้อยขอให้ได้ เมื่อผมเป็นครูก็ต้องช่วยจนถึงที่สุด อย่างเช่นคนนี้เก่งทางพากย์ก็ต้องใส่ทำนองให้เขาเยอะหน่อย ด้านเจรจาเขาด้อยก็ต้องฝึกให้ใช้เสียง คนนี้เก่งทักษะตลก เล่นตลกได้ ก็ดึงให้เขามาเล่นตลกร่วมกับเรา อย่างเช่นอาจารย์เสรีเล่นละคร ท่านก็มักนำผมเข้าไปเล่นด้วย ซึ่งก็เป็นการสอนไปในตัว ล่วงเกินกันก็มากราบขออภัยกัน”
และสิ่งที่ครูมืดยึดเป็นหลักนอกจากการให้ความรู้ในฐานะครูแล้ว ก็คือ จะต้องให้ความเป็นจริง ให้ความเมตตา และให้ความถูกต้อง แก่ลูกศิษย์เสมอ
นอกจากนี้ สิ่งที่ครูมืดได้ย้ำกับลูกศิษย์และแนะนำเด็กรุ่นใหม่ก็คือ
“ไม่จำเป็นต้องมาเอาวิชาความรู้ที่ครูอย่างเดียว ครูคนอื่นที่มีสิ่งดีๆ ก็สามารถนำมาใช้ นำมาปรับ ให้มันรวมกันได้ หรือนำสิ่งที่มีอยู่ในตัวเองมาผสมผสาน
เด็กสมัยนี้เป็นคนรุ่นใหม่ ให้เขานำสิ่งที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ แต่ให้อยู่ในขอบข่ายให้อยู่ในกรอบ อย่าให้มันมากเลยเกินไป เพราะความงาม มันคือความพอดี ถ้ามากไป มันเรียกว่าเกินงาม
เพราะฉะนั้น มันจึงต้องอยู่ที่ความพอดีของงาน ก็เช่นเดียวกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามหลักแนวคิดความพอเพียงนั่นเอง”
แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง สิ่งที่ครูมืดคิดไว้ว่า ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ท่านได้ตั้งปณิธานไว้ว่า จะนำความรู้ทั้งหมดที่ได้รับมา คืนให้กับโรงเรียนนาฏศิลป์เดิม อยากจะคืนให้กับเด็กเหล่านั้นบ้าง แต่ก็ยังเป็นเพียงความตั้งใจอันดีงามเท่านั้น
“จนถึงปัจจุบันนี้ รู้สึกเสียใจที่ยังทำไม่สำเร็จ เพราะโรงเรียนนาฏศิลป์เดิมนั้นแยกออกจากกรมศิลปากรแล้ว เขาตั้งเป็นสถาบันของเขาเอง มีสถานะเทียบเท่ากับกรมหนึ่ง แต่เขาไม่ค่อยให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมเท่าที่ควร
ซึ่งจริงๆแล้วดั้งเดิมฐานของเราต้องแน่น เราถึงจะปรับสภาพเป็นอย่างอื่นได้ เช่น ถ้าเราจะไปอวดความเป็นไทย เราจะเอาสากลไปมันก็ไม่ถูกต้อง ต้องเอาไทยแท้ๆนี่แหละครับ ไปอวดว่าเป็นของเรา ต่างชาติเขาถึงจะได้เชื่อถือ เพราะคนที่เขาดูศิลปะเป็น เขาดูออกเองครับ เพราะมันเป็นคลาสสิค”
• ศิลปวัฒนธรรมไทย บ่งบอกถึง “ความเป็นชาติ”
“คำว่า “ศิลปวัฒนธรรมไทย” เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติ” ครูมืดกล่าวย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
“เวลาจะไปแสดงที่ต่างประเทศในสมัยก่อนจะเป็นที่นิยมและทำให้รู้ว่า ประเทศไทยมีความเป็นมาอย่างยิ่งใหญ่ทางด้านของศิลปวัฒนธรรม
เราต้องนำความเป็นจริงไปเสนอให้กับคนต่างชาติแล้วเขาจะเห็นเองว่า โขนเราเป็นยังไง คือดำเนินรอยตามเมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปที่แห่งใดในต่างประเทศ พระองค์ท่านก็มักจะทรงนำดนตรีไทย ละครไทย และโขน ไปด้วย หรือเมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเมืองจีน พระองค์ท่านทรงกู่เจิง แต่ก็ทรงนำศิลปะของเราเข้าไปผสม เป็นรำ เป็นโขน
นี่แหละครับศิลปวัฒนธรรมไทย มีความสำคัญมากนะครับ ผมกล้าประกันได้เลยว่าโขน ละคร ฟ้อนรำนาฏศิลป์ ดนตรีไทย ไม่สูญหายไปจากแผ่นดินไทยแน่นอน
และมันจะไม่มีวันตายไป เพราะมันเป็นของเราเอง มันอยู่ในสายเลือด แต่มันอาจจะห่าง มันขาดรอยต่อ ที่จะให้ความเข้าใจกับประชาชนนั่นเอง”
• ความสุขที่ได้ทำเพื่อแผ่นดิน
“ทุกวันนี้มีความสุขที่ได้ทำ มีความสุขที่ได้สอน มีความสุขที่ได้ไปสัมผัส มีความสุขที่ยังมีโอกาสให้ความรู้เด็ก เวลาที่ผมบรรยายหรือสอน ผมไม่เคยนั่ง ผมจะเดินบรรยายให้ทั่วถึง ไม่ว่าจะสามชั่วโมง สี่ชั่วโมง แต่มันมีความสุข มันอิ่มใจ เมื่อเวลาล้าก็พัก แล้วมันก็หายเหนื่อย
แต่สิ่งที่มันได้และคงอยู่คือ ความภูมิใจที่เราได้ทำแล้ว เราเกิดมาทั้งชีวิต ผมขอทำหน้าที่นี้เพื่อแผ่นดินไทยเถิดครับ”
และสิ่งที่ครูมืดฝากทิ้งท้ายไว้ในปีใหม่นี้คือ
“ต้องคิดดี ทำดี สิ่งที่ดีก็จะเกิดแก่เรา ทำเถอะ..สำเร็จแน่ครับ”
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 157 มกราคม 2557 โดย แสงเพ็ง)