ผักและผลไม้ปลอดสารพิษ ดูจะเป็นสิ่งที่คนไทยให้ความสนใจอย่างมากในขณะนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่รักสุขภาพ แต่ปัญหาของผักผลไม้ปลอดสารพิษก็คือ ค่อนข้างหายาก มีขายเฉพาะในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆหรือตลาดที่จำหน่ายสินค้าอินทรีย์โดยเฉพาะ ที่เรียกกันว่า 'ตลาดสีเขียว' แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า ปัจจุบันมีการจัดส่งผักและผลไม้ปลอดสารพิษถึงบ้าน โดยที่ไม่ต้องออกไปเดินหาให้เหนื่อย
'CSA Munching Box' เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ที่เป็นการขายพืชผักอินทรีย์แบบบอกรับสมาชิก โดยสมาชิกจะชำระเงินล่วงหน้า และทางบริษัทซึ่งมีเครือข่ายเป็นเป็นเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักอินทรีย์จะจัดส่งกล่องพืชผักอินทรีย์ให้แก่ลูกค้าเป็นรายสัปดาห์ ซึ่ง 'CSA Munching Box' นั้นไม่เพียงแต่ทำให้คนไทยได้บริโภคผักผลไม้ที่มีคุณภาพ ปลอดสารเคมี ในราคายุติธรรม แต่ยังช่วยให้เกษตรกรซึ่งทำเกษตรอินทรีย์ สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
• ที่มาของ 'CSA Munching Box'
'ไบรอัน ฮูกิล' และ 'ลลนา ศรีคราม' สองสามีภรรยาผู้ร่วมกันตั้ง 'บริษัท ไร่ทอง ออแกนิก ฟาร์ม' ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ 'CSA Munching Box' คือหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ และวางรากฐานทางการตลาดให้แก่สินค้าเกษตรไร้สาร เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรกรไทย
อะไรที่ทำให้ฝรั่งที่มีรายได้มั่นคง จากการเป็นที่ปรึกษาบริษัทต่างๆ อย่าง 'ไบรอัน' และ 'ลลนา' เจ้าหน้าที่ประจำกรีนพีซ ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลก ตัดสินใจทิ้งรายได้จากงานประจำ มาลงแรงทำธุรกิจที่เติบโตช้า และมีกำไรไม่มากนัก?
ไบรอันเล่าว่า เนื่องจาก ‘ลลนา’ ภรรยาของเขา เติบโตมาในครอบครัวเกษตรกร จึงเห็นปัญหาที่ชาวไร่ชาวนาต้องประสบพบเจอจากการทำเกษตรแบบใช้สารเคมีมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นดินเสีย พืชผักอ่อนแอเป็นโรคง่าย ไม่สามารถต้านทานโรคและแมลง ผลกระทบต่อสุขภาพ อันเนื่องมาจากการใช้สารเคมี รวมถึงปัญหาหนี้สินที่เกิดจากการทำเกษตรที่พึ่งพาสารเคมี ซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูงในการซื้อปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง
ขณะที่ตัวเขาเองก็เห็นถึงปัญหาที่เกิดจากการบริโภคพืชผักที่ใช้สารเคมี ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยเป็นโรคร้ายต่างๆ อีกทั้งกระบวนการเพาะปลูกที่ใช้สารเคมี ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดสารพิษตกค้างทั้งในน้ำ ในดิน และในอากาศ
เขาและภรรยาจึงเห็นว่า การสร้างระบบเกษตรอินทรีย์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน และขยายแนวคิดนี้ออกไปเท่านั้น จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ จึงได้ตัดสินใจลาออกจากงาน และหันมาตั้งบริษัท เพื่อสร้างเครือข่ายและจำหน่ายพืชผักอินทรีย์ ภายใต้ชื่อ 'บริษัท ไร่ทอง ออแกนิก ฟาร์ม'
สำหรับลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัทไร่ทองฯนั้น ไบรอันขยายความให้ฟังว่า เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจแบบ CSA (Community supported Agriculture) หรือ 'ระบบการตลาดที่ผู้บริโภคให้การสนับสนุนผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์' ซึ่งระบบนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร และช่วยให้ตลาดเกษตรอินทรีย์เติบโตอย่างยั่งยืน
โดยเขาและภรรยาได้สร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่ทำการผลิต และรับผักผลไม้ปลอดสารพิษ หรือที่เรียกว่าผักผลไม้ออแกนิก มาจำหน่ายและส่งตรงถึงผู้บริโภค ภายใต้ชื่อ 'CSA Munching Box'
“ผมคิดว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกษตรอินทรีย์ของไทยตกต่ำลงมาก คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจ ซึ่งปัญหาของพืชผักอินทรีย์หรือพืชผักออแกนิกตอนนี้คือ ตลาดมีความต้องการ แต่จำนวนเกษตรกรผู้ปลูกมีน้อย
เนื่องจากที่ผ่านมา มีการส่งเสริมให้เกษตรปลูกผักชนิดเดียวกันในปริมาณมาก เพื่อเป้าหมายทางการค้า จึงมีการใช้ปุ๋ยใช้ยาเพื่อเร่งผลผลิตให้ได้ปริมาณมากที่สุด ส่งผลให้เกษตรกรที่ปลูกแบบออแกนิกมีจำนวนน้อย ขณะเดียวกันก็ต้องสู้กับราคาพืชผักในท้องตลาดที่ใช้สารเคมี ซึ่งได้ปริมาณผลผลิตมากและมีราคาถูกกว่า
เราจึงเห็นว่าจริงๆแล้ว ผู้ซื้ออยากได้พืชผักออแกนิก แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่อยากปลูกเพราะต้นทุนสูง และถูกผักที่ใช้สารเคมีตัดราคา
ผมจึงอยากจะเข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เพื่อช่วยดึงเกษตรอินทรีย์ให้ฟื้นขึ้นมา และอยู่ในระดับมาตรฐาน ผมอยากให้ผักผลไม้อินทรีย์เป็นอาหารที่ผู้บริโภคทุกคนสามารถเข้าถึงได้
เนื่องจากปัจจุบัน ถ้าพูดถึงพืชผักอินทรีย์ คนส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกว่าต้องเป็นเรื่องของคนที่สนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ เป็นสินค้าสำหรับตลาดบน และมีราคาสูงกว่าผักทั่วไป
ผมจึงอยากให้บริษัทของเรา เป็นสื่อกลางและช่วยขยายตลาด เพื่อจะช่วยดึงราคาผักผลไม้อินทรีย์ลงมา เพราะถ้าตลาดของผักผลไม้อินทรีย์กว้างขึ้น ก็จะกลายเป็นสินค้าทั่วๆที่ทุกคนสามารถหาซื้อได้
โดยเริ่มแรกก่อนที่จะมีบริการจัดส่งกล่องผักผลไม้ เราพูดคุยทำความเข้าใจกับเกษตรกรมาระยะหนึ่ง ธุรกิจจัดส่งผักผลไม้ออแกนิกของมันชิ่งบ๊อกซ์เพิ่งเริ่มอย่างจริงจังได้ปีกว่าๆ คือเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2012 ตอนนี้ตลาดของเราก็ยังไม่ได้ใหญ่มาก” ไบรอันพูดถึงเหตุผลในการริเริ่มทำธุรกิจขายพืชผักอินทรีย์
• คัดผักด้วยใจ ใส่กล่องด้วยคุณภาพ
ไบรอันอธิบายถึงวิธีจำหน่ายและจัดส่งผักผลไม้ออแกนิกให้แก่ลูกค้าที่เป็นสมาชิกว่า บริษัทจะจัดส่งกล่องผักผลไม้ให้ลูกค้าสัปดาห์ละ 1 กล่อง โดยกล่องผักผลไม้ที่บริษัทไร่ทองฯจัดส่งนั้น มี 4 แบบด้วยกัน ได้แก่ 1. ออริจินอล มันชิ่งบ็อกซ์ (Original Box) น้ำหนัก 4 กิโลกรัม เป็นผักและผลไม้อย่างละครึ่ง มีทั้งผลักสลัดและผักที่ใช้ทำกับข้าว 2. กล่องนอชบ็อกซ์ (Nosh Box) น้ำหนัก 2.5 กิโลกรัม เป็นกล่องผักสำหรับทำกับข้าวอย่างเดียวครึ่งกล่อง และผลไม้อีกครึ่งกล่อง นอกจากนั้นยังมีไข่อีก 6 ฟอง และขนมปัง 1 แถว
3. กล่องเทคแอนด์เฟรชบ็อกซ์ (Take and Fresh Box) น้ำหนัก 2 กิโลกรัม เป็นกล่องผักสลัด คือเป็นกล่องผักและผลไม้ที่กินสดๆ นอกจากนั้นยังมีไข่ 6 ฟอง และโยเกิร์ตออแกนิก 4 ขวด ซึ่งโยเกิร์ตก็มีหลายรส เช่น สตรอว์เบอร์รี่ สับปะรด บลูเบอร์รี่ และ 4. กล่องกอริลล่าบ็อกซ์ (Gorilla Box)น้ำหนัก 5 กิโลกรัม เป็นกล่องผลไม้ล้วนๆ
ราคากล่องผักผลไม้ CSA Munching Box จะอยู่ที่ประมาณ 475-550 บาทขึ้นกับของที่อยู่ในกล่อง อีกทั้งขึ้นกับระยะเวลาในการเป็นสมาชิกด้วย ยิ่งเป็นสมาชิกนานราคาก็ยิ่งถูกลง โดยระยะเวลาขั้นต่ำในการเป็นสมาชิกคือ 4 สัปดาห์ ตามด้วย 12 สัปดาห์ และ 6 เดือน ไปจนถึง 1 ปี
“ระบบของมันชิ่งบ็อกซ์เป็นการนำพืชผักอินทรีย์จากเกษตรผู้ผลิต ส่งถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ไม่ต้องผ่านร้านค้าแบบผักผลไม้ที่วางขายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะต้องบวกค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าเช่า ค่าแอร์ ค่าจัดวางสินค้า และค่าโฆษณา จึงมีราคาถูกกว่าผักออแกนิกที่ขายตามห้าง
สินค้าที่อยู่ในกล่องของมันชิ่งบ็อกซ์ จึงสดใหม่และมีราคาถูกกว่า ขณะเดียวกันก็จัดส่งถึงมือผู้บริโภค โดยที่ลูกค้าไม่ต้องออกไปหาซื้อที่ไหน ซึ่งบางที่อาจจะอยู่ไกล เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผมว่าตรงนี้จะช่วยตอบโจทย์ให้กับลูกค้า ซึ่งต้องการบริโภคผักปลอดสารพิษ แต่ไม่สามารถหาซื้อได้ หรือลำบากที่จะต้องเดินทางไปซื้อ
ในการจัดผักผลไม้ให้แก่ลูกค้านั้น เราจะเซ็ทเป็นผักผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งสามารถจัดซื้อได้จากเครือข่ายเกษตรกร ลูกค้าอาจจะไม่สามารถเลือกได้ว่า อยากได้ผักอะไรบ้าง แต่ลูกค้าบอกได้ว่า ไม่ชอบผักผลไม้อะไร เราก็จะจัดอย่างอื่นใส่ให้แทน อย่างเช่น ฝรั่งส่วนใหญ่ไม่กินเห็ด เราก็จะใส่ผักอย่างอื่นให้” ไบรอันอธิบายถึงรายละเอียดของสินค้า
• ลดมลภาวะ...ส่งผักด้วยจักรยาน
สำหรับการจัดส่งสินค้าของบริษัทไร่ทองนั้น ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะใช้จักรยานเป็นพาหนะหลักในการขนส่ง ด้วยเล็งเห็นว่า ปรัชญาของพืชผักอินทรีย์นั้น ให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้คน
ดังนั้น หากกระบวนการจัดส่งกล่องผักและผลไม้ดังกล่าว สามารถหลีกเลี่ยงการสร้างมลภาวะให้สิ่งแวดล้อมได้ก็จะดีไม่น้อย ไบรอันทราบว่า ปัจจุบันมีบริการจัดส่งสินค้าด้วยจักรยาน ซึ่งดำเนินการโดย 'บริษัท ไบค์เซ็นเจอร์' เขาจึงไม่รีรอที่จะไปใช้บริการ
“เราจะมีรถมารับกล่องสินค้าจากบริษัทไปส่งที่ชิดลม ซึ่งเป็นจุดจอดจักรยานของบริษัทไบค์เซ็นเจอร์ ซึ่งรับสินค้าเราไปส่งในแถบสุขุมวิทและสีลม เพราะเราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการลดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
แต่ถ้าเป็นพื้นที่รอบนอก เราก็ยังต้องใช้รถยนต์อยู่ ตอนนี้ขอบข่ายการส่งสินค้าก็ยังอยู่ในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯเป็นหลัก จุดที่มีลูกค้าเยอะๆได้แก่ สุขุมวิท สีลม ส่วนรอบนอกก็กำลังขยายออกไปเรื่อยๆ
ซึ่งธุรกิจซีเอสเอในปัจจุบัน ก็ยังไม่เห็นว่ามีเจ้าไหนที่โตไปได้มาก เนื่องจากถ้าจำนวนสินค้าที่จัดส่งในแต่ละจุดมีจำนวนน้อย ต้นทุนค่าขนส่งต่อหน่วยจะสูง เราจึงพยายามจะกระจายและหาลูกค้าให้ได้จำนวนมากๆ แต่ในจุดที่ไกลๆ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องค่าขนส่ง เราก็พยายามกระจายสินค้าไปยังเขตปริมณฑล ตอนนี้จุดที่ส่งไกลสุดก็คือปากเกร็ด นนทบุรี
ดังนั้น ตอนนี้เราจึงมีแนวคิดที่จะร่วมกับกลุ่มที่ทำซีเอสเอเหมือนกัน เพื่อสร้างเครือข่ายในการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า เช่น ถ้าบริษัท A มีลูกค้าอยู่ย่านปทุมธานีเยอะ เราก็ให้เขาช่วยจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าของเราที่อยู่ย่านปทุมฯ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง
เป็นการทำธุรกิจแบบเติบโตไปด้วยกัน แทนที่จะเป็นคู่แข่งกัน เพราะกลุ่มลูกค้ายังมีความต้องการอีกมาก ถ้าเราร่วมมือกันก็จะสามารถกระจายการส่งสินค้าออกไปในพื้นที่ต่างๆได้มากขึ้น” ไบรอันเล่าถึงการขนส่งสินค้าของบริษัทไร่ทอง ที่เน้นในการเรื่องการลดต้นทุนควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม
• สร้างเครือข่ายและความยั่งยืน ให้เกษตรอินทรีย์
ทั้งนี้ หลักการในการทำธุรกิจของบริษัทไร่ทองนั้น มิใช่แค่การรับซื้อผักผลไม้ปลอดสารพิษจากเกษตรกรไปจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่เป็นการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งปลูกพืชผักอินทรีย์ที่มีคุณภาพ และสร้างความยั่งยืนให้แก่เครือข่ายเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
โดยนอกจากไบรอันและลลนาจะลงไปดูพื้นที่การผลิต เพื่อความมั่นใจว่า เกษตรกรที่ร่วมโครงการมีขั้นตอนการปลูกพืชผักที่ปลอดสารพิษจริงๆแล้ว เขายังให้คำปรึกษาในการขยายตลาด จัดหาเมล็ดพันธุ์ให้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตพืชผักที่หลากหลาย และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค
ปัจจุบัน ผักผลไม้ที่บริษัทไร่ทองรับซื้อนั้น มาจากกลุ่มเกษตรหลายจังหวัดด้วยกัน อาทิ เกษตรกรกลุ่มวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีผักใบ และผักสลัด กลุ่มเกษตรกรปลูกเปลี่ยนโลก จากจันทบุรี ซึ่งจัดส่งผลไม้รสเลิศอย่าง เงาะ ลองกอง ทุเรียน มังคุด กลุ่มเกษตรกรจากเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ซึ่งผลิตผลไม้เมืองหนาวปลอดสารพิษ รวมถึงข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง และข้าวกาบา จากกลุ่มชาวนา จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของลลนาเอง
“คือนอกจากเราจะเลือกเกษตรกรแล้ว เกษตรกรก็เลือกเราด้วยเหมือนกัน เพราะเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เขาปลูกพืชผักออแกนิกอยู่แล้ว แต่เขาไม่มีตลาด และโดนกดราคา เนื่องจากผู้ซื้อนำไปเปรียบเทียบกับพืชผักทั่วไปที่ใช้ปุ๋ยใช้ยา ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า
การทำงานของเรากับเกษตรกร เมื่อต่างฝ่ายต่างเลือกกันแล้ว เราก็เติบโตไปด้วยกัน เราไม่ได้รับซื้อผักจากเกษตรกรอย่างเดียว เราหาเมล็ดพันธุ์ที่ตลาดต้องการให้เขาด้วย เพื่อที่จะเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรอยู่ได้ และเพิ่มความหลากหลายของผักผลไม้ที่เราจัดจำหน่ายให้มากขึ้น
อันดับแรก เราจะลงไปเยี่ยมชมแปลงปลูกของเกษตรกร เพื่อดูขั้นตอนการปลูกและการดูแล ว่าได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์หรือไม่
ซึ่งจุดหนึ่งในการคัดเลือกเกษตรกรนั้น ถ้าจะพิจารณาตามขั้นตอนที่เป็นทางการก็คือ เขาจะมีใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทั้งจากหน่วยงานของไทยและฝรั่ง ซึ่งเกษตรกรสามารถขอใบรับรองเหล่านี้ได้อยู่แล้ว
ถ้าเขามีใบรับรองมาตรฐาน เราก็ร่วมงานกันได้เลย แต่ถ้าทำเกษตรอินทรีย์แต่ยังไม่มีใบรับรองมาตรฐาน เราก็รับซื้อ พร้อมกับให้คำแนะนำในการขอใบรับรองมาตรฐาน เพื่อที่เขาจะสามารถทำตลาดได้มากขึ้น รายชื่อของเขาก็จะได้ลงบนเว็บไซต์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ สามารถเข้าถึงลูกค้าที่ต้องการพืชผักอินทรีย์ได้โดยตรง”
ไบรอันบอกว่า แม้บริษัทไร่ทองฯ จะเป็นธุรกิจที่เติบโตค่อนข้างช้า และไม่ได้ทำกำไรมากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เขาได้รับจากการทำธุรกิจเกษตรอินทรีย์คือ ความสุขใจที่ได้เห็นรอยยิ้มของเกษตรกร ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้เห็นคนไทยมีสุขภาพที่ดี จากการรับประทานพืชผักที่ปลอดสารพิษ
“เรามีแนวคิดแบบนี้ เพราะลลนาก็มาจากครอบครัวเกษตรกร และปัจจุบันลลนาก็กลับไปทำนาที่บ้าน เพราะฉะนั้น จึงเห็นปัญหาว่า มีบริษัทใหญ่เข้าไปเอาเปรียบ โดยให้ปลูกผักเพียง 1 ชนิด และไม่ได้สนใจว่าดินของเกษตรกรจะเสีย ดังนั้น การที่เราอยากจะให้เป็นเกษตรยั่งยืน ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เราอยากจะเข้าไปหาเกษตรกร
สิ่งที่เราได้รับจากการทำธุรกิจ อันดับแรกเลยก็คือความสุข เพราะได้รับการสนับสนุนและการตอบรับที่ดีจากเกษตรกรที่มีความเข้าใจร่วมกัน ทำให้รู้สึกว่ามีความหวัง เป็นธุรกิจที่มีคุณค่า
ยิ่งเป็นการขายพืชผักอินทรีย์ที่เป็นอาหารที่ดีให้กับผู้บริโภคเนี่ยะ มันรับรู้ได้ทันที ถึงมันจะเป็นการทำงานที่ยาก แต่มันมีความสำคัญและมีคุณค่ามาก” ไบรอันกล่าวตบท้ายด้วยรอยยิ้มอย่างมีความสุข
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 155 พฤศจิกายน 2556 โดย กฤตสอร)