• 'ค่านิยมชอบผิวขาว' เสี่ยงกระดูกเปราะ
นางถนอมวงศ์ กฤษณ์เพ็ชร์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยงานวิจัยซึ่งระบุว่า ผู้หญิงไทยอายุเฉลี่ย 25-40 ปี มีค่าเฉลี่ยวิตามินดีในเลือดต่ำกว่าค่ามาตรฐาน สาเหตุเกิดจากค่านิยมที่อยากมีผิวขาว โดยมีพฤติกรรมหลบเลี่ยงแสงแดดหรือกิจกรรมกลางแจ้ง การใช้ครีมกันแดด สวมเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ป้องกันแสงแดด จนผิวหนังไม่ได้สัมผัสกับแสงแดดเลย
ทั้งนี้ แสงแดดมีคุณสมบัติในการสร้างวิตามินดีให้กับร่างกาย ซึ่งช่วยเสริมให้มีการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด และช่วยยับยั้งการหลั่งพาราไทรอยด์ฮอร์โมน ที่เป็นฮอร์โมนอันตรายที่จะไปสลายแคลเซียมออกจากกระดูก โดยพฤติกรรมดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับกระดูก เช่น กระดูกพรุน ทำให้กระดูกต้นขาเปราะและหักง่าย เมื่อผู้หญิงมีอายุเข้าสู่ช่วงสูงวัย
“ช่วงเวลาที่จะได้รับวิตามินดีคือช่วงเช้าและช่วงเย็น หรือช่วงที่แดดไม่แรงเกินไปจนได้รับอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลต ที่ทำลายเซลล์ผิวหนัง นอกจากนี้ การรับวิตามินดีสามารถทำได้จากการออกกำลังกายในที่โล่งแจ้ง ใต้ร่มไม้ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่กลางแดด”
• กรมแพทย์แผนไทยชู "สหัสธารา" แก้ปวดเมื่อยดีเท่ายาแผนปัจจุบัน
นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สหัสธาราเป็นยาสูตรตำรับประกอบด้วย สมุนไพร 21 ชนิด ได้แก่ โกฐพุงปลา โกฐก้านพร้าว เทียนตบุษย์ โกฐเขมา เทียนขาว โกศกักกา เทียนดำ รากจิงจ้อใหญ่ มหาหิงค์ เทียนตาตั๊กแตน เทียนแดง เนื้อลูกจันทน์ ดอกจันทน์ การบูร หัสคุณ ตองแตกว่านน้ำ ดอกดีปลี เนื้อลูกสมอไทย รากเจตมูลเพลิงแดง พริกไทยร่อน สรรพคุณของสหัสธารา คล้ายเถาวัลย์เปรียง คือแก้อาการปวดเมื่อย แต่เป็นลักษณะกล้ามเนื้ออักเสบ ขับลมในเส้นเอ็น และแก้ปวดข้อ
สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ศึกษาทางคลินิกเปรียบเทียบประสิทธิผลระหว่างยาแก้ปวดแผนปัจจุบันคือไดโคลฟีแนค 25 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร กับสหัสธารา 400 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 1 แคปซูลวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร ในกลุ่มผู้ป่วยชายหญิงอายุ 25-59 ปีที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อบ่าหรือต้นคอ
ผลสรุปพบว่า การรับประทานยาแคปซูลสหัสธาราวันละ 1,200 มิลลิกรัม เป็นเวลา 7 วัน สามารถลดอาการปวดกล้ามเนื้อบ่าหรือต้นคอได้ไม่แตกต่างกับการใช้ยาไดโคลฟีแนคขนาดวันละ 75 มิลลิกรัม โดยยาจากสมุนไพรจะมีผลข้างเคียงน้อยมาก เมื่อเทียบกับยาที่ผลิตจากเคมี ไม่ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร
• กรมวิทย์ฯแนะวิธีกินผักอย่างปลอดภัย
นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า การบริโภคพืชผัก ทั้งผักสด ผักแห้ง รวมทั้งผักดอง ที่มีสารอันตรายตกค้าง เช่น ยาฆ่าแมลงในผักสด สารกันรา และวัตถุกันเสียในผักดอง รวมทั้งสารบอแรกซ์หรือผงกรอบในผักดอง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ผู้บริโภคสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันสารอันตรายได้ โดยการเลือกกินผัก ผลไม้ตามฤดูกาล หรือผักพื้นบ้าน เลือกผักที่มีรูพรุนจากการเจาะของแมลงบ้าง กินผักใบมากกว่าผักหัว เพราะผักหัวจะสะสมสารพิษไว้มากกว่า ดังนั้น ควรนำมาล้างทำความสะอาดและปอกเปลือก (ในชนิดที่ทำได้) ก่อนนำมาปรุงอาหาร และเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ผักอนามัย ผักกางมุ้ง เป็นต้น
• แพทย์ชี้ดื่มน้ำมากเกินไป ทำให้สมองบวม
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปกติร่างกายจะสูญเสียน้ำวันละประมาณ 2.5 ลิตรทางเหงื่อ ลมหายใจ และการขับถ่าย โดยร่างกายได้น้ำจากการรับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ต่างๆ และการดื่มน้ำ ดังนั้น ควรดื่มน้ำสะอาดให้ได้ประมาณ 1,200 ซีซี หรือ 6-8 แก้ว ต่อวัน เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเหมาะสม หากดื่มน้ำน้อยเกินไป อาจเกิดภาวะขาดน้ำถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
แต่การดื่มน้ำมากไปคือเกินวันละ 6-7 ลิตร จะทำให้ร่างกายได้รับน้ำปริมาณมากเกินไปในเวลารวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะน้ำเกินหรือน้ำเป็นพิษ (water intoxication) เนื่องจากน้ำจะทำให้ความเข้มข้นของแร่ธาตุโซเดียมลดลง ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในร่างกาย มีหน้าที่รักษาสมดุลน้ำระหว่างนอกเซลล์และภายในเซลล์ เมื่อถูกเจือจางลงจะทำให้น้ำภายนอกเซลล์ซึมเข้าไปภายในเซลล์ ทำให้เซลล์บวมน้ำ หรือคั่งน้ำ เกิดภาวะที่ทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำหรือไฮโปแนทรีเมีย (Hyponatremia) จะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อาจกระตุกหรือชัก จากสมองบวม ปอดบวม และเสียชีวิตได้
ส่วนนักกีฬาที่เสียเหงื่อมาก ก็อย่าดื่มน้ำมากเกิน 1 ลิตรในเวลาอันรวดเร็ว เพราะอาจเกิดภาวะไฮโปแนทรีเมียได้เช่นกัน
• ส้มโอลดเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
การศึกษาวิจัยของโรงเรียนแพทย์นอร์วิช มหาวิทยาลัยอีสต์แองจีเลีย ในสหราชอาณาจักร ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารสมาคมโรคหัวใจอเมริกัน พบว่า การรับประทานผลไม้จำพวกส้ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งส้มโอ อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองในผู้หญิง
การศึกษาครั้งนี้ ใช้เวลา 14 ปีในการติดตามข้อมูลการบริโภคอาหารโดยเฉพาะผักและผลไม้ ของผู้หญิงที่เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 69,622 พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่บริโภคส้มโอมาก มีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า 19% ในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่รับประทานจำนวนน้อย ทั้งนี้เพราะในส้มโออุดมไปด้วยวิตามินซี ที่ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง และฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
• เดินออกกำลังกาย ลดเสี่ยงมะเร็งเต้านม
การเดินเป็นการออกกำลังกายที่ดี ช่วยลดโรคภัยไข้เจ็บได้หลายอย่าง โดยล่าสุดมีรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมอเมริกันเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง ว่าการเดินออกกำลังกายเกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมด้วย
สมาคมโรคมะเร็งในอเมริกาได้มีการศึกษาในสตรีวัยหมดประจำเดือนจำนวน 73,615 คน พบว่า ผู้หญิงที่ออกกำลังกายทั่วๆไปอย่างน้อย 1 ชั่วโมงทุกวัน มีความเสี่ยงต่ำกว่าร้อยละ 25 ในการเป็นมะเร็งเต้านม ในขณะที่ผู้หญิงซึ่งออกกำลังกายด้วยการเดินอย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงต่ำกว่าร้อยละ 14 สำหรับการเป็นมะเร็งเต้านม
แต่ทางที่ดี ผู้ใหญ่ควรออกกำลังกายทั่วไป 2.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ เล่นแอโรบิค 75 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งจะช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น และอาจก่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้นสำหรับการป้องกันมะเร็งเต้านมด้วย
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 155 พฤศจิกายน 2556 โดย ธาราทิพย์)