xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๓) ระบบสื่อสารแห่งจิตตนคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


ระบบสื่อสารแห่งจิตตนคร

จิตตนครมีระบบสื่อสารติดต่อกันโดยทางต่างๆหลายทาง และมีจุดรวมเป็นที่รับข่าวสารทั้งปวงเพื่อรายงานแก่เจ้าเมือง ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่จุดไหนของเมือง เจ้าเมืองจะทราบได้ทันทีทางระบบสื่อสารเหล่านี้

โลกในปัจจุบันนี้มีระบบสื่อสารที่วิเศษต่างๆเป็นอันมาก มีการไปรษณีย์ การโทรเลข โทรศัพท์ มีวิทยุ มีโทรทัศน์ มีเรด้าร์ มีเครื่องมือในการติดต่อตั้งแต่บนพื้นดิน จนถึงลอยเป็นดาวเทียมอยู่ในอากาศ ทำให้คนเราที่อยู่คนละมุมโลกพูดกันได้ เห็นกันได้ คล้ายกับอยู่ใกล้ๆกันแค่มือเอื้อมถึง เมื่อคราวที่คนไปถึงดวงจันทร์เมื่อไม่นานมานี้ ก็ติดต่อพูดกันกับคนในโลกนี้ได้ ทั้งที่อยู่ไกลแสนไกลจากกันและกัน

การสื่อสารในจิตตนคร ก็น่าจะไม่ล้าสมัยกว่าในโลกดังกล่าว และมีระบบบางอย่างที่วิเศษพิสดารกว่าอย่างที่โลกจะเอาอย่างไม่ได้ จิตตนครมีระบบการสื่อสารแบ่งออกเป็นสองชั้น คือ ชั้นนอกและชั้นใน

ระบบการสื่อสารชั้นนอก นั้นมี..
ระบบตาเมือง มีหน้าที่เป็นดวงตาสำหรับดูสิ่งต่างๆ คล้ายเป็นเครื่องโทรทัศน์
ระบบหูเมือง สำหรับฟังเสียงต่างๆ คล้ายกับเครื่องวิทยุ
ระบบจมูกเมือง มีหน้าที่สำหรับดมกลิ่นต่างๆ
ระบบลิ้นเมือง สำหรับลิ้มรสต่างๆ
ระบบกายเมือง สำหรับรับสิ่งต่างๆ ที่มาถูกต้อง

ระบบต่างๆเหล่านี้แยกออกจากกันเป็น ๕ ส่วน ต่างมีสายที่ละเอียดยิบมากมายโยงจากชั้นนอกของเมืองเข้าไปสู่ระบบชั้นใน ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของระบบสื่อสารทั้งหมด คล้ายกับสายโทรเลขโทรศัพท์ แต่ละเอียดพิสดารกว่ามากนัก อย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้

ระบบชั้นใน อันเป็นจุดรวมนี้เรียกว่า ระบบใจเมือง หรือสมองเมือง มีหัวหน้าควบคุมอยู่ที่ระบบศูนย์กลางชื่อว่า “มโน” ในสมัยปัจจุบันนี้ พวกแพทย์มักเรียกกันว่า “สมอง” เป็นหัวหน้าควบคุมระบบสื่อสารแห่งจิตตนครทั้งหมด และมีหัวหน้าควบคุมระบบสื่อสารภายนอกทั้ง ๕ เรียกว่า “ปสาท” หรือ “ประสาท” ทั้ง ๕ แต่ละคนมีชื่อเฉพาะ ตามชื่อของระบบงานดังนี้

คนที่ ๑ ชื่อ จักขุปสาท เป็นหัวหน้าระบบตาเมือง
คนที่ ๒ ชื่อ โสตปสาท เป็นหัวหน้าระบบหูเมือง
คนที่ ๓ ชื่อ ฆานปสาท เป็นหัวหน้าระบบจมูกเมือง
คนที่ ๔ ชื่อ ชิวหาปสาท เป็นหัวหน้าระบบลิ้นเมือง
คนที่ ๕ ชื่อ กายปสาท เป็นหัวหน้าระบบกายเมือง

ปสาททั้ง ๕ นี้ เป็นหัวหน้าเฉพาะระบบของตน ไม่ก้าวก่ายกัน คนไหนได้รับข่าวสารอะไรแล้วก็รีบรายงานไปยังหัวหน้าใหญ่คือมโน ที่จุดศูนย์กลางอันเป็นจุดรวมทันที ฝ่ายมโนเมื่อได้รับรายงานจากระบบภายนอกก็รายงานแก่เจ้าเมืองในทันใดนั้น เจ้าเมืองก็ได้ทราบข่าวสารต่างๆทันที แม้จะสถิตอยู่กลางเมืองซึ่งเป็นที่รวมแห่งถนนใหญ่ ๔ สายดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อได้ทราบข่าวสารแล้ว ก็เหมือนอย่างได้ออกไปเห็น ได้กลิ่น ได้ยิน ได้รส ได้ถูกต้องสัมผัสสิ่งภายนอกต่างๆด้วยตนเอง วิเศษกว่าระบบสื่อสารทั้งปวงของโลก

เมื่อได้ฟังเกี่ยวกับระบบสื่อสารอันละเอียดพิสดารของจิตตนครแล้ว บรรดาผู้มาบริหารจิตควรจะได้พิจารณาให้ประจักษ์ในความจริงประการหนึ่ง คือความจริงที่ว่า ยิ่งการสื่อสารหรือคมนาคมติดต่อเจริญออกไปกว้างไกลเพียงใดในโลกเรานี้ ผู้คนก็ยิ่งต้องวุ่นวายเหน็ดเหนื่อยเพียงนั้น

สมัยก่อน เมื่อการสื่อสารหรือการคมนาคมยังไม่เจริญ มีใครไม่กี่คนที่เดินทางออกไปพ้นบ้านเมืองของตน มาบัดนี้ การคมนาคมเจริญขึ้นมาก ผู้คนมากมายพากันเดินทางไปต่างประเทศ ต้องสิ้นเปลือง ต้องเหน็ดเหนื่อยไปตามกัน บางคนบางพวกก็ไปตกทุกข์ได้ยาก แม้ไปต้องโทษจองจำอยู่ในต่างประเทศก็มี เรียกได้ว่าความลำบากติดตามความเจริญของการสื่อสารการคมนาคมมาเป็นอันมากด้วยเหมือนกัน

ระบบสื่อสารของจิตตนครก็เช่นกัน ยิ่งเจริญเพียงใด เจ้าเมืองคือจิตได้รับการติดต่อรู้ข่าวสารเรื่องราวต่างๆ มากเพียงใด ก็ยิ่งจะได้รับความทุกข์ลำบากวุ่นวายเพียงนั้น นอกเสียจากว่า เจ้าเมืองคือจิตจะมีสติปัญญารู้เท่าทันพอสมควร ว่าข่าวสารเหล่านั้นเป็นสักแต่เรื่องชั้นนอกเท่านั้น ถ้ารับเข้าไปเก็บไว้ผิดที่ คือรับเข้าไปเก็บไว้ชั้นในคือจิต ก็ย่อมจะทำให้หนักให้แน่นไปหมด หาที่ว่างที่โปร่งที่สบายไม่ได้ หมดความเบาสบาย หมดความเป็นสุข

กล่าวอีกอย่างก็คือ ถ้ามีสติปัญญารู้เท่าทัน ก็ต้องรู้ว่า เรื่องข้างนอกต้องปล่อยไว้ให้เป็นเรื่องอยู่ข้างนอก ต้องไม่เข้าไปยึดเอาไปเป็นเรื่องข้างใน พระพุทธดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งปวงควรให้ความสนใจปฏิบัติตามให้ได้พอควรก็คือ พระพุทธดำรัสที่ว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” ความไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง จะนำไปสู่ความสงบสุขอันควร เป็นยอดปรารถนาของทุกคน

ระบบสื่อสารแห่งจิตตนคร มีความรวดเร็วอย่างน่าอัศจรรย์ สื่อสารที่ส่งเข้าไปจากระบบชั้นนอก แม้จะต้องผ่านระบบชั้นในก่อน จึงจะถึงเจ้าเมือง แต่ก็รวดเร็วมาก คือจะทราบถึงเจ้าเมืองในทันใดนั้นเอง ความรวดเร็วจากต้นทางทั้ง ๕ ถึงปลายทางชั้นในคือมโนนั้น มีอุปมาเหมือนอย่างความเร็วแห่งเงาของนกที่ทอดจากยอดไม้ถึงแผ่นดิน คือเมื่อนกบินมาจับบนยอดไม้ เงาของนกจะทอดถึงพื้นดินทันที สื่อสารที่ส่งเข้าไปจากระบบชั้นนอกจะถึงมโนทันทีฉันนั้น และมโนก็รายงานเจ้าเมืองทันที

ข่าวสารอันใดที่ถึงมโนแล้ว ไม่มีที่มโนจะปกปิดเอาไว้ จะรายงานทันทีทั้งหมด แต่ก็มีเหตุบางอย่างที่ทำให้ข่าวสารจากภายนอกเข้าไปไม่ถึง คือบางคราวเจ้าเมืองพิจารณาข่าวสารเก่าต่างๆ มโนต้องคอยรายงานเรื่องจากแฟ้มเก็บเอกสารต่างๆอยู่ตามที่เจ้าเมืองต้องการ มโนจึงไม่ว่างที่จะรับข่าวสารใหม่ๆ ที่ส่งทยอยกันเข้ามาอยู่ตลอดเวลา เมื่อมโนไม่ว่างที่จะรับเช่นนั้น ข่าวสารเหล่านั้นก็เข้าไม่ถึงเจ้าเมือง จนกว่ามโนจะว่างและรับข่าวสารเหล่านั้น เจ้าเมืองจึงจะได้ทราบข่าวสารใหม่ๆต่างๆ ต่อไปตามปกติ

มโนซึ่งเป็นหัวหน้าแห่งระบบสื่อสารทั้งหมด ขึ้นตรงต่อเจ้าเมืองแต่ผู้เดียว นอกจากเป็นหัวหน้ารับสื่อสารจากระบบสื่อสารชั้นนอกทั้ง ๕ แล้ว ยังเป็นเหมือนเลขานุการของเจ้าเมือง มีหน้าที่รวบรวมข่าวสารที่ได้รับมาแล้วทุกอย่าง เก็บเข้าแฟ้มไว้สำหรับเจ้าเมืองเรียกหา และเจ้าเมืองก็มักเรียกหาอยู่เสมอ มโนก็ต้องเป็นผู้เสนอเรื่อง

บางคราวเจ้าเมืองตรวจตราเรื่องราวต่างๆอยู่นาน เป็นเหตุให้มโนไม่ว่าง และไม่อาจรับข่าวสารจากภายนอกอยู่นาน แต่ข่าวสารบางอย่างที่ส่งเข้ามาอาจแรง อาจทำให้เจ้าเมืองต้องชะงักการตรวจตราเรื่องเก่าๆก็มี เช่น เสียงดังที่ระบบหูเมืองรับเข้ามา คลื่นของเสียงเช่นนี้แรงมาก ทำให้กระเทือนถึงกับเจ้าเมืองต้องชะงักปล่อยมโนให้ว่าง มโนจึงรับข่าวสารของเสียงนั้นรายงานแก่เจ้าเมืองได้

บางคราวก็รายงานด้วยว่า จำเป็นต้องทำให้เสียงดังเช่นนั้นเพื่อให้ถึงเจ้าเมือง คล้ายกับร้องเรียกปลุกคนหลับ เรียกเบาๆไม่ตื่น ก็ต้องเรียกดังๆ ในขณะที่เจ้าเมืองตรวจตราเรื่องต่างๆ เพลินอยู่เช่นเดียวกัน เจ้าเมืองจะไม่เห็น จะไม่ได้ยินอะไร เพราะมโนไม่ว่างที่จะรับเข้ามารายงานให้ทราบ จึงต้องใช้กระแสคลื่นอย่างแรงเข้ามาเตือนให้หยุดคิดอะไรเพลินๆเสีย และรับข่าวสารปัจจุบันสักที

มโนเป็นผู้ทำงานมากกว่าหัวหน้าระบบสื่อสารภายนอกทั้ง ๕ แม้ในขณะที่ชาวจิตตนครนอนหลับ ประสาททั้ง ๕ พักหลับกันหมด แต่มโนก็ยังไม่หลับ เพราะเจ้าเมืองยังไม่ยอมหลับ ยังเรียกหามโนมารายงานเรื่องราวต่างๆกันอีกโดยเฉพาะ ดังที่เรียกกันในภาษาจิตตนครว่า “ฝัน” เจ้าเมืองชอบฝันอยู่กับมโนเสมอ มโนจึงมีเวลาพักจริงๆ วันหนึ่งไม่มากนัก

เพื่อให้เข้าใจง่าย จะขอเปรียบเจ้าเมืองที่รับข่าวสารจากมโนไปสะสมไว้มากมายไม่หยุดยั้ง กับแปลงทาสีที่มีอยู่อันเดียว และใช้จุ่มลงไปในสีต่างๆกัน สีนั้นบ้าง สีนี้บ้าง โดยไม่มีเวลาหยุดเอาแปรงแช่น้ำมันล้างสีออกเสียบ้างเลย ผลจะเป็นเช่นไร

ทุกท่านย่อมนึกได้ถึงแปลงทาสีอันนั้น ว่าต้องสกปรกเลอะเทอะและใช้งานไม่ได้ผลดีจริง คือทาสีแดงก็จะไม่แดงแท้ จะมีสีอื่นปนอยู่ด้วย ทาสีเหลืองก็จะเป็นสีเหลืองไปไม่ได้ เพราะจะมีสีอื่นปนด้วยนั่นเอง ทาสีอะไรก็จะไม่เป็นสีนั้นจริงๆทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อจะใช้แปรงอันเดียวทาหลายสี เขาจึงต้องมีน้ำมันไว้แช่แปรงให้สีออกเป็นพักๆไป จะได้ทาสีอื่นให้เป็นสีนั้นแท้ๆ ไม่มีสีที่ทาไว้ก่อนปนเปทำให้ไม่เป็นสีที่ต้องการ

เจ้าเมืองแห่งจิตตนครหรือจิตของเราทุกคนนี้ก็เช่นกัน หากให้รับเรื่องราวจากทวารทั้ง ๕ ที่ผ่านมโนเข้ามาถึงอยู่เรื่อยๆ ไม่มีเวลาให้เจ้าเมืองได้คลี่คลายเรื่องแต่ละเรื่องออกเสียให้พ้น เหมือนเขาเอาแปรงทาสีลงแช่น้ำมัน เจ้าเมืองก็จะสกปรกเลอะเทอะไม่ผิดแปรงที่ทาสีไม่ได้แช่น้ำมันเลย แต่เปลี่ยนสีทาอยู่มากมายหลายสีนั่นเอง

อันเรื่องทั้งหลายที่เข้าสู่จิต ย่อมก่อให้เกิดอารมณ์หรือกิเลสเป็นธรรมดา จิตรับเรื่องไว้มากเพียงไร อารมณ์หรือกิเลสอันเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ก็จะเพิ่มพูนมากขึ้นเพียงนั้น ทำให้จิตสกปรกเศร้าหมองยิ่งขึ้นเพียงนั้น

บรรดาผู้มาบริหารจิต คือผู้กำลังพยายามปฏิบัติต่อจิตของตน เหมือนช่างทาสีปฏิบัติต่อแปรงสำหรับทาสี คือพยายามล้างสีที่จับให้ออกไปเสมอๆ ความสกปรกแม้มีบ้างก็จะไม่มากมาย

จิตก็เช่นกัน เมื่อเป็นจิตสามัญชนก็ต้องมีอารมณ์มีกิเลสเศร้าหมองเป็นธรรมดา แต่ถ้าพยายามใช้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ทาน ศีล ภาวนา เข้าขัดเกลาไว้เสมอ กิเลสเครื่องเศร้าหมองก็จะไม่ท่วมท้นจนเกินไป แต่จะค่อยลดน้อยลงได้ทุกที โดยที่เจ้าตัวหรือเจ้าเมืองแห่งจิตตนครนั่นเองจะรู้ด้วยตัวเอง

จิตที่มีอารมณ์หรือมีกิเลสเครื่องเศร้าหมองน้อย ย่อมเป็นจิตที่ผ่องใส มีความสุขมาก ส่วนจิตที่มีอารมณ์หรือมีกิเลสเครื่องเศร้าหมองมาก ย่อมเป็นจิตที่หม่นหมอง มีความสุขน้อย เจ้าเมืองแห่งจิตตนครทุกคนย่อมรู้จักตัวของตัวเองได้ดังนี้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 154 ตุลาคม 2556 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

กำลังโหลดความคิดเห็น