xs
xsm
sm
md
lg

ใส่ใจสุขภาพ : 7 อาการ ที่ฟันอยากจะบอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฟันเป็นอวัยวะชิ้นเล็กๆ ที่มีความสำคัญไม่แพ้อวัยวะชิ้นใหญ่ใดๆในร่างกายมนุษย์ ทำหน้าที่เป็นด่านแรกในการขบเคี้ยวอาหารให้เป็นชิ้นเล็กๆ ส่งผ่านไปยังอวัยวะอื่นๆ เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงร่างกาย

แต่มีบางครั้งที่ฟันเกิดอาการต่างๆ เช่น ฟันเหลือง มีคราบ ปวด เสียว โยกคลอน หลวม หรือแม้กระทั่งหลุด ซึ่งเป็นทั้งเรื่องธรรมดาและไม่ธรรมดา

เพราะฉะนั้น 7 อาการต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่ฟันพยายามจะบอกเตือนเจ้าของว่า “ถึงเวลาไปพบทันตแพทย์ได้แล้ว”

1. ปวดหรือเสียวฟันจี๊ดๆ

หากคุณรู้สึกปวดหรือเสียวฟันจี๊ดๆ ตรงฟันซี่ใดซี่หนึ่งหรือหลายซี่ขณะกัดอาหาร อาจเป็นเพราะฟันผุ เนื่องจากมีแบคทีเรียบางชนิดในช่องปาก เปลี่ยนน้ำตาลในเศษอาหารที่ติดตามซอกฟันให้กลายเป็นกรด ซึ่งจะทำให้ฟันผุ เป็นรู และยิ่งผุลึกลงไป คุณจะรู้สึกเสียวฟันและรูผุขยายใหญ่ในที่สุด

ถ้าอาการปวดหรือเสียวฟันจี๊ดๆเกิดขึ้นนานๆครั้ง และไม่ได้เป็นที่ฟันซี่ใดซี่หนึ่ง ไม่ต้องกังวล แต่หากมีอาการดังกล่าวนานเกิน 1 สัปดาห์ ควรไปพบทันตแพทย์

2. ปวดฟันตลอดเวลา

อาการปวดฟันที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ หรือตลอดเวลา นาน 1-2 วัน อาจไม่มีอะไรร้ายแรง แต่หากอาการยังคงอยู่นานกว่า 1 สัปดาห์ อาจเป็นสัญญาณชี้ว่า คุณนอนกัดฟัน ซึ่งควรใส่ที่ครอบฟันยางขณะนอนหลับเพื่อป้องกัน

และถ้ามีอาการเหงือกบวมร่วมด้วย ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อที่รากฟัน ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียด

3. ฟันสีเหลืองหรือมีคราบ

คนที่ฟันมีสีเหลืองหรือมีคราบ ขอให้สบายใจได้ เพราะมันแทบจะไม่ใช่สัญญาณเตือนถึงปัญหาของฟันที่ร้ายแรง เนื่องจากคราบสกปรกบนผิวฟันเกิดจากการดื่มชา กาแฟ ไวน์ หรือเครื่องดื่มที่มีสีแก่ ซึ่งการแปรงฟันด้วยยาสีฟันสูตรไวเทนนิ่ง การใช้แผ่นฟอกฟันขาว หรือไปพบทันตแพทย์ สามารถช่วยขจัดคราบเหล่านี้ให้หมดไปได้

ทางที่ดีควรบ้วนปากหรือแปรงฟันหลังดื่มเครื่องดื่มดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้คราบสกปรกเกิดขึ้นตั้งแต่แรก

อย่างไรก็ตาม หากคราบฟันเป็นสีน้ำตาล อาจเป็นผลมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะเตตราไซคลีนในวัยเด็ก หรือยาชนิดอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เป็นอันตรายต่อฟัน แต่เพื่อความสวยงาม คุณสามารถปรึกษาทันตแพทย์เพื่อขจัดคราบเหล่านี้ให้หมดไปได้

4. ฟันโยกคลอนหรือคดงอ

ถ้าฟันของคุณเริ่มโยกคลอน หลวม คดงอ หรือหลุดออกจากกระดูกเบ้าฟัน คงไม่ต้องรอให้ทันตแพทย์บอกว่า นี่คือปัญหาใหญ่ เพราะอาการเช่นนี้เกิดจากโรคปริทันต์หรือโรคเหงือกอักเสบ ที่ส่งผลให้กระดูกโดยรอบฟันและขากรรไกรถูกทำลาย เหงือกบวมเป็นหนอง

เมื่อคุณดูแลความสะอาดในช่องปากไม่ดีพอ เช่น ไม่แปรงฟันในตอนเช้าและก่อนนอน ไม่ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวัน และไม่ไปพบทันตแพทย์เพื่อขูดคราบหินปูนทุก 6 เดือน แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ตามฟัน จะสร้างแผ่นฟิลม์บางๆ เหนียวๆ สีเหลืองอ่อนถึงขาว ที่เรียกว่า คราบจุลินทรีย์ ซึ่งหากไม่กำจัดออกไป มันจะค่อยๆแข็งตัวกลายเป็นคราบหินปูน ที่ทำให้สุขภาพเหงือกและกระดูกรอบฟันอ่อนแอ

ดังนั้น จึงควรไปพบทันตแพทย์ทันทีที่คุณรู้สึกได้ว่าฟันเริ่มโยกคลอน หลวม หรือคดงอ

5. เหงือกบวมแดง มีเลือดออก

อาการเหงือกบวมแดง หรือมีเลือดออก อาจเป็นผลข้างเคียงของการตั้งครรภ์หรือภาวะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง แต่บางกรณี อาจเกิดจากการสะสมของแบคทีเรียตามไรฟัน ซึ่งถ้ามีอาการดังกล่าวเพียง 1-2 วัน ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แค่แปรงฟันให้ถูกวิธีและใช้ไหมขัดฟัน ก็จะช่วยให้เหงือกหายเป็นปกติได้

แต่หากอาการเหงือกบวมแดงหรือมีเลือดออก ยังคงอยู่นานกว่า 1 สัปดาห์ อาจเป็นสัญญาณของโรคปริทันต์ จึงควรพบทันตแพทย์ทันที

6. มีแผลในปาก

บ่อยครั้งที่การรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด ผลไม้ตระกูลส้มและมะนาว มากเกินไป หรืออาหารที่ร้อนจนลวกปาก มักเป็นสาเหตุของการเกิดแผลในปาก เช่น ที่เหงือก กระพุ้งแก้ม หรือลิ้น ถ้าแผลหายภายใน 2-3 วัน ถือว่าปกติ

หากเกิน 2 วันแล้วแผลยังไม่หาย อาจเป็นสัญญาณของการขาดวิตามินเออย่างรุนแรง ทั้งนี้ วิตามินเอเป็นส่วนสำคัญในการสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นสารที่คัดหลั่งมาจากเซลล์ของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และลิ้นก็ประกอบด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน

ดังนั้น ควรรับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินเอสูง เช่น ผักใบเขียว แครอท มันฝรั่งหวาน และปรึกษาทันตแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้น

7. เจ็บเหงือก

ถ้าคุณรู้สึกเจ็บเหงือกหรือเสียวฟันด้านข้าง ขณะสูดอากาศเย็น หรือดื่มเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น นั่นอาจเป็นเพราะฟันผุ เหงือกร่นไปถึงรากฟัน เชื้อแบคทีเรีย การนอนกัดฟัน หรือการแปรงฟันแรง แปรงผิดวิธี ด้วยแปรงสีฟันที่ขนแปรงแข็ง

อย่างไรก็ดี หากมีจุดสีแดงหรือสีขาวกระจายตามเหงือก ร่วมกับอาการเจ็บ อาจเกิดจากการแพ้อาหารบางชนิด ยา หรือแม้แต่ฟันปลอมหรือที่ครอบฟันยางซึ่งไม่พอดีกับปาก ซึ่งไม่เป็นอันตราย ยกเว้นบางกรณีที่อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งช่องปาก

ดังนั้น หากมีจุดแดงหรือขาวบนเหงือกพร้อมอาการเจ็บเกิดนานกว่า 1 สัปดาห์ ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 153 กันยายน 2556 โดย เบญญา)







กำลังโหลดความคิดเห็น