• จีนระดมติดตั้งเซ็นเซอร์ในหมู่ถ้ำพุทธโบราณ
จีน : เมื่อเดือนกรกฎาคม 2013 รัฐบาลจีนได้ติดตั้งเครื่องเซ็นเซอร์ 20 เครื่อง เพื่อตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความชื้น ความหนาแน่นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสภาวะอื่นๆภายในหมู่ถ้ำวัดปิงหลิง
ชิ จิ่งซ่ง หัวหน้าสถาบันที่อนุรักษ์หมู่ถ้ำ บอกว่า ข้อมูลที่ได้จะช่วยในการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากนักท่องเที่ยวและสภาพอากาศภายในถ้ำ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ หมู่ถ้ำวัดปิงหลิง ประกอบด้วย 183 ถ้ำ สร้างขึ้นเมื่อ 420 ปีก่อนคริสตกาล ตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหมในครั้งโบราณ ในมณฑลกานซู ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นหมู่ถ้ำที่มีชื่อเสียง เพราะภายในเต็มไปด้วยพระพุทธรูป สถูปเจดีย์ และภาพเขียนฝาผนัง จำนวนมาก
เซียว ซือชิ รองหัวหน้ากองมรดกวัฒนธรรมมณฑลกานซู เผยว่า รัฐบาลกำลังติดตั้งระบบเฝ้าระวังและเตือนภัย ตามพื้นที่มรดกของชาติหลายแห่งที่อยู่บนเส้นทางสายไหม เพื่ออนุรักษ์ให้ถูกวิธี และเตรียมความพร้อมที่จะยื่นต่อองค์การยูเนสโกขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกภายในปี 2013
(จาก PTI)
• พระญี่ปุ่นยกวัดมาไว้ในโตเกียวสกายทรี
ญี่ปุ่น : โลกที่เร่งรีบในปัจจุบัน ทำให้ผู้มีจิตศรัทธาไม่มีเวลาเดินทางไปยังวัดที่อยู่ห่างไกลบนภูเขา จึงเป็นที่มาของการที่พระญี่ปุ่นได้ยกวัดลงมาไว้ภายในโตเกียวสกายทรี (หรือโตเกียวทาวเวอร์) ซึ่งเป็นตึกสูง 634 เมตร เต็มไปด้วยร้านค้าและภัตตาคาร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ศรัทธาได้ทำสมาธิในจุดที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงโตเกียว
เมื่อวันที่ 12-17 กรกฎาคม 2013 พระสงฆ์จากวัดเอนเรียวกูจิ ซึ่งเป็นวัดในพุทธศาสนานิกายเทนได ที่ตั้งอยู่บนภูเขาไฮอิ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ได้จัดห้องภายในโตเกียวสกายทรี เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาได้ลองนั่งทำสมาธิ “ชาเกียว” ด้วยการใช้พู่กันและหมึกคัดลอกพระสูตร ซึ่งเป็นการทำสมาธิรูปแบบหนึ่ง
“ปัจจุบัน คนหนุ่มสาวมีโอกาสน้อยมากที่จะได้ลองฝึกคัดลอกพระสูตร หากเราไม่นำมาเสนอ การฝึกคัดลายมือนี้เป็นวิธีที่ใช้เผยแพร่พุทธศาสนาทั่วญี่ปุ่นในช่วงเริ่มต้น เราพยายามอธิบายความหมายของพระสูตรไปด้วย ไม่ใช่แค่คัดลอกอย่างเดียว” พระสงฆ์วัย 42 ปี กล่าว
กิจกรรมนี้จัดขึ้นด้วยความร่วมมือของวัดและบริษัทการเดินรถไฟ ซึ่งต้องการส่งเสริมวัดสำคัญต่างๆที่ตั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยือน เช่นเดียวกับวัดอื่นๆในนครโตเกียว ที่จัดให้มีการทำชาเกียวและทำสมาธิแบบเซนในตอนเช้าตรู่เป็นประจำทุกวัน เพื่อดึงคนวัยทำงานให้เข้าถึงพุทธศาสนา
(จาก Asahi Shimbun)
• อินเดีย-ไทย ร่วมจัดทำแผนที่โบราณสถานทางพุทธ
อินเดีย : รัฐบาลอินเดียและไทยได้ร่วมมือกันจัดทำแผนที่โบราณสถานทางพุทธศาสนาที่กระจายอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งนับเป็นความร่วมมือระดับทวิภาคี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
แผนที่ดังกล่าว ไม่เพียงระบุตำแหน่งโบราณสถานทางพุทธศาสนาต่างๆ แต่ยังมีข้อมูลที่นักท่องเที่ยวต้องการ เช่น การเดินทาง เวลาเปิด-ปิด ที่พักใกล้เคียง และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของสถานที่ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ใช้ค้นหาโบราณสถานทางพุทธศาสนาที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งกระจายอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตัวอย่างโบราณสถานทางพุทธศาสนาที่บรรจุในแผนที่นี้ ได้แก่ พุทธคยา สารนาถ สาญจี ถ้ำอชันตา ลุมพินี อนุราธปุระ อยุธยา นครธม บรมพุทโธ เมืองนารา และถ้ำผาหลงเหมิน
ไพสาขิ สารการ รองผู้อำนวยการองค์การแผนที่แห่งชาติ เมืองโกลกาตา เผยว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2013 ผู้เชี่ยวชาญได้เริ่มลงมือทำแผนที่จากภาพถ่ายดาวเทียม หลังจากได้รับอนุมัติจากนายมานโมฮัน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งคาดว่า จะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี โดยจะขอความร่วมมือด้านข้อมูลจาก 11 ประเทศ ซึ่งขณะนี้มี 8 ประเทศได้ตอบรับเข้าร่วมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจาระดับรัฐบาล
แผนที่นี้จะบรรจุรายละเอียดโบราณสถานทางพุทธศาสนาที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ในอนาคต หากนักโบราณคดีขุดพบโบราณสถานทางพุทธศาสนาแห่งใหม่ ก็จะนำมาบรรจุในแผนที่ด้วย
(จาก Futuregov)
• ศรีลังกาเตรียมตั้งศาลพิจารณาคดีสงฆ์
ศรีลังกา : โมฮัน ไพริส ประธานศาลสูงสุดแห่งศรีลังกา เผยเตรียมจัดตั้งศาลสงฆ์ เพื่อพิจารณาคดีความที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ ซึ่งมีจำนวนมากที่เกิดขึ้นในเมืองแคนดี้ อนุราธปุระ และกอลล์ พระสงฆ์ที่เกี่ยวข้องในคดีต้องไปขึ้นศาล โดยกระบวนการพิจารณาคดีจะแล้วเสร็จภายในไม่กี่วัน และไม่มีการเลื่อนพิจารณาคดีเหมือนเช่นศาลทั่วไป
“จะมีการพิจารณาไต่สวนคดีในแต่ละวันให้เสร็จสิ้น เพื่อประกาศคำพิพากษาต่อสาธารณชน” ประธานศาลฯ กล่าว และเสริมว่า รัฐบาลศรีลังกามุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบศาลยุติธรรมให้ดียิ่งขึ้น และคาดหวังผลดีที่จะเกิดตามมา
(จาก ColomboPage)
• เกาหลีใต้-กัมพูชา ลงนามบันทึกความเข้าใจ ร่วมบูรณะวัดในนครธม
เกาหลีใต้ : เมื่อเดือนมิถุนายน 2013 กองการบริหารมรดกวัฒนธรรมแห่งเกาหลีใต้ และกองอนุรักษ์และจัดการเมืองพระนครและเสียมราฐแห่งกัมพูชา ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือในโครงการอนุรักษ์และบูรณะวัดโบราณต่างๆในนครธม อันเป็นโบราณสถานที่มีชื่อเสียงของกัมพูชา
โดยการลงนามมีขึ้นระหว่างการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกขององค์การยูเนสโก สมัยที่ 37 ที่จัดขึ้น ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 16-27 มิถุนายน 2013
(จาก Yonhapnews)
• คนอินเดียรุ่นใหม่ แห่เรียนภาษาบาลีเพิ่มขึ้น
อินเดีย : บาลี คือภาษาในพระพุทธศาสนา ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง จากบรรดานักศึกษาและคนวัยทำงานในเมือง
เหล่านักศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยปูเน่ ที่ตั้งอยู่ในเมืองปูเน่ รัฐมหาราษฏระ ทางตะวันตกของอินเดีย พยายามช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาบาลี ซึ่งเลิกใช้ไปนานแล้ว ให้กลับมาแพร่หลายอีกครั้ง
ธรรมวิระ พารโสเล ซึ่งเรียนภาษาบาลีจากมหาวิทยาลัยปูเน่ และกลับมาเป็นอาจารย์สอนในปัจจุบัน เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจที่มีคนสนใจเรียนภาษาบาลีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้เริ่มแรกจะไม่ค่อยได้รับความสนใจ แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีมุมมองที่เปลี่ยนไป และหันมาสนใจเรียนภาษาบาลีกันมากขึ้น อีกทั้งการรู้ภาษาบาลีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักศึกษาที่เรียนพระไตรปิฎก
เช่นเดียวกับคนวัยทำงานเช่น ชริพัท คอทโพเล ซึ่งเป็นนักบัญชี ได้เข้าคอร์สเรียนภาษาบาลี เพื่อค้นหาคำตอบให้กับคำถามในใจ หลังจากเขาได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนา 2-3 เล่ม และรู้สึกอยากรู้ภาษาบาลีมากขึ้น จึงตัดสินใจเข้าเรียน
แผนกภาษาบาลีและพุทธศึกษาของมหาวิทยาลัยปูเน่ เปิดสอนตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรจนถึงปริญญาเอก ทั้งนี้ มาเฮช เทวการ ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนก บอกว่า คนทั่วไปไม่เคยรู้เลยว่า บาลีเป็นภาษาหนึ่งของอินเดีย ดังนั้น เราจะต้องพยายามช่วยกันเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก
(จาก Times of India)
• นาฬิกาลูกประคำสวดมนต์ สำหรับชาวพุทธยุคใหม่
จีน : ตามประเพณีโบราณของชาวพุทธ ลูกประคำสวดมนต์มีไว้ใช้นับจำนวนรอบของการสวดมนต์ขณะทำสมาธิ แต่นักออกแบบผลิตภัณฑ์ “เชา หลิน” มองเห็นประโยชน์ที่ประยุกต์เข้ากับปัจจุบันมากไปกว่าแค่ใช้สวดมนต์ เขาจึงออกแบบลูกประคำเป็นนาฬิกาข้อมือ ซึ่งไม่เพียงบอกเวลาและนับจำนวนรอบได้ แต่ยังช่วยให้ผู้สวมใส่รู้สึกสะดวกสบายเช่นเดียวกับการใส่นาฬิกาข้อมือ
นาฬิกาลูกประคำประกอบด้วยวงแหวนลูกประคำ 2 วง ซึ่งมีแสงสว่างบอกเวลา วงนอกบอกนาที ส่วนวงในบอกชั่วโมง หน้าปัดออกแบบให้ดูเรียบง่ายและโปร่ง ทำให้มองเห็นวงลูกประคำอย่างเด่นชัด ส่วนสายนาฬิกาดีไซน์เป็นสายลูกประคำอีกหนึ่งวง ซึ่งเป็นแนวคิดที่สร้างความอบอุ่นใจให้ผู้สวมใส่ ที่สามารถสัมผัสลูกประคำสวดมนต์ได้ตลอดเวลา
(จาก gajitz.com)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 153 กันยายน 2556 โดย เภตรา)