ในพิธีกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับพุทธศาสนามักจะมี “สายสิญจน์” เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ
สายสิญจน์ หรือด้ายสายสิญจน์ หมายถึง ด้ายที่นำมาใช้ในงานพิธีต่างๆ ทั้งงานมงคล และงานอวมงคล
จริงๆแล้ว สายสิญจน์เป็นเรื่องราวของศาสนาพราหมณ์ที่เกิดขึ้นในอินเดียก่อนพุทธศาสนาราว 1,000 กว่าปี ศาสนาพราหมณ์แบ่งผู้คนออกเป็น 4 วรรณะ ได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร
พราหมณ์มีหน้าที่เป็นครูอาจารย์ เป็นปราชญ์ สั่งสอนศิลปวิทยา และทำพิธีกรรมต่างๆ เด็กๆในวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์ ซึ่งถือเป็นวรรณะชั้นสูง จะต้องไปเข้าโรงเรียนพราหมณ์ก่อนรับการศึกษา โดยพราหมณ์จะเสกมนต์ลงที่ตัวเด็กนักเรียน และเอาด้ายสายสิญจน์คล้องคอเฉวียงบ่าให้ ถือว่าเสร็จพิธี และเริ่มศึกษาได้ ด้ายสายสิญจน์นี้ พราหมณ์ไทยเรียก “สายธุรำ” ส่วนพราหมณ์ฮินดูเรียก “ยัชโญปวีต”
การวงด้ายสายสิญจน์มีคตินิยมมาจากการทำพิธีรดน้ำที่ประกอบด้วยการร่ายเวทมนต์คาถา เพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์
เพราะคำว่า “สิญจน์” แปลว่า การรดน้ำ การเทน้ำ คำว่า “สายสิญจน์” จึงหมายถึง สายโยงแห่งการรดน้ำพิธี หรือเส้นด้ายที่นำมาใช้ในพิธีรดน้ำ
สายสิญจน์ทำจากด้ายดิบนำมาจับทบกัน โดยวิธีจับเส้นด้ายในเข็ดเดียว จับออกครั้งแรกเป็น 3 เส้น ม้วนเข้ากลุ่มไว้ ถ้าต้องการให้สายใหญ่ ก็จับอีกครั้งหนึ่ง จะกลายเป็น 9 เส้น
การวงด้ายสายสิญจน์ในงานมงคลทุกประเภท นิยมใช้สายสิญจน์ 9 เส้น เพราะสายสิญจน์ 3 เส้น จะใช้ในพิธีเบิกโลงศพ ซึ่งเป็นงานอวมงคล
การวงด้ายสายสิญจน์ในงานมงคลที่เกี่ยวกับพิธีทำบุญอาคารบ้านเรือน เช่น งานทำบุญบ้าน นิยมใช้ด้ายสายสิญจน์วงรอบตัวอาคารบ้านเรือน โดยมีหลักว่า ถ้าเป็นอาคารบ้านเรือนที่มีรั้วหรือกำแพงล้อม ให้วงรอบรั้วหรือรอบกำแงทั้งหมด แต่ถ้าไม่มีรั้วรอบ มีแต่บริเวณกว้างขวาง หรือมีสิ่งปลูกสร้างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับพิธี อยู่ในบริเวณนั้นด้วย ก็ให้วงเฉพาะตัวอาคารบ้านเรือนที่ประกอบพิธีเท่านั้น
ในการวงด้ายสายสิญจน์ นิยมวงเวียนทักษิณาวรรต คือเวียนขวาไปตามลำดับ และยกขึ้นให้อยู่สูงมากที่สุดเท่าที่จะสูงได้ เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดข้ามหรือทำขาด โดยเริ่มวงตั้งแต่โต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูปที่ห้องประกอบพิธีเป็นต้นไป (แต่ยังไม่ต้องวงรอบพระพุทธรูป)
เมื่อวงรอบอาคารบ้านเรือนแล้วจึงนำมาวงรอบพระพุทธรูป โดยวงเวียนขวา 1 รอบหรือ 3 รอบ แล้วนำมาวงเวียนขวารอบภาชนะน้ำมนต์ 1 รอบหรือ 3 รอบ แล้วนำกลุ่มด้ายที่เหลือใส่พานตั้งไว้ด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชา โดยให้มีขนาดความยาวพอสำหรับพระสงฆ์ถือเจริญพระพุทธมนต์
แต่หากเจ้าภาพไม่สะดวกหรือไม่ประสงค์วงสายสิญจน์รอบรั้วบ้านหรือรอบอาคาร จะวงสายสิญจน์ที่ฐานพระพุทธรูป บนโต๊ะบูชา แล้วโยงมาที่ภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์ก็ได้ คือวงสายสิญจน์เช่นเดียวกับงานมงคลอื่นๆที่ไม่ใช่งานทำบุญบ้าน เช่น งานทำบุญวันเกิด งานมงคลสมรส เป็นต้น
การโยงสายสิญจน์จากฐานพระพุทธรูปมายังภาชนะน้ำมนต์ ต้องโยงไม่ให้มีการข้ามสายสิญจน์ ในเวลาจุดธูปเทียน โดยมีข้อควรระวัง คือ ในขณะที่วงสายสิญจน์อย่าให้ด้ายสายสิญจน์ขาด และสายสิญจน์ที่วงพระพุทธรูปแล้วจะข้ามกรายด้วยอวัยวะใดๆมิได้ เพราะเท่ากับข้ามพระพุทธรูป อันเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อพระพุทธรูป ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า หากมีความจำเป็นที่จะต้องผ่าน ต้องลอดมือหรือก้มศีรษะลอดใต้สายสิญจน์นั้น
ด้ายสายสิญจน์ที่วงรอบบ้านนี้เมื่อเสร็จพิธีแล้วนิยมวงไว้ตลอดไปโดยไม่เก็บ เพราะเชื่อว่า เป็นเครื่องคุ้มครองภัยอันตรายต่างๆในครอบครัว
เพราะด้ายสายสิญจน์เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ด้ายปริตร”
ปริตร แปลว่า เครื่องป้องกันรักษา เครื่องต้านทาน ในพุทธศาสนา "ปริตร" หมายถึง พระพุทธมนต์ คือบทสวดที่เป็นภาษาบาลี เช่น พระสูตรบางพระสูตรในเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ซึ่งถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ สามารถคุ้มครองรักษา ป้องกันอันตรายต่างๆ และกำจัดทุกข์ ภัย โรคได้ เรียกเต็มว่า "พระปริตร"
นอกจากนี้ ยังใช้เรียกของมงคลที่ผ่านการสวดพระพุทธมนต์มาแล้ว เช่น ด้ายสายสิญจน์ เรียกว่า ด้ายพระปริตร น้ำพระพุทธมนต์ เรียกว่า น้ำพระปริตร
ดังนั้น ด้ายสายสิญจน์จึงถือเป็นด้ายศักดิ์สิทธ์ที่เกิดจากพระพุทธมนต์ที่พระสงฆ์สวดสาธยายไว้ ถือกันว่าสามารถคุ้มครองรักษาและป้องกันอันตรายต่างๆได้ และถือว่าเป็นด้ายมงคล เช่น ด้ายที่จับเป็นวงกลมสองวงสำหรับสวมศีรษะคู่บ่าวสาว ซึ่งเรียกว่า “มงคลแฝด”
ด้ายสายสิญจน์ที่นำมาทำมงคลแฝดสวมให้คู่บ่าวสาวคนละข้างในพิธีหลั่งน้ำพุทธมนต์นั้น จะมีสายโยงห่างกันประมาณ 2 ศอกเศษ เพื่อความสะดวก และส่วนปลายของมงคล จะโยงมาพันที่บาตรน้ำมนต์ และพระสงฆ์จะถือต่อกันไป
สำหรับงานอวมงคล เช่น งานศพ หรืองานอุทิศส่วนบุญให้ผู้ตาย สายสิญจน์ที่นำมาโยงจากศพ หรือสถูป จะเรียกว่า “สายโยง” แต่ถ้าเปลี่ยนจากเส้นด้ายเป็นแถบผ้า เรียกว่า “ภูษาโยง”
การใช้ด้ายสายสิญจน์ในงานพิธีกรรมต่างๆนั้น แม้จะเป็นคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ แต่ในพุทธศาสนาไม่ได้ห้าม คงอนุโลมตามประเพณีนิยมของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายในยุคนั้นๆ ซึ่งเคยเป็นผู้เคารพนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน เพื่อไม่ให้ขัดโลก คือไม่ขัดขวางความนิยมเชื่อถือที่ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณกาล
โดยความนิยมเชื่อถือแบบนี้ไม่ถึงกับเป็นการฝืนธรรม คือไม่ใช่ความเชื่อถือที่ขัดแย้งต่อหลักสัจธรรมในทางพระพุทธศาสนาโดยตรง เป็นแต่เพียงความเชื่อถือเช่นนี้ยังห่างจากหลักสัจธรรมเท่านั้น
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556 โดย กองบรรณาธิการ)