หลานชาย : (เสียงหุ่นยนต์กำลังเดินพร้อมส่งเสียงร้อง) โอ้โห! หุ่นยนต์ตัวนี้ยอดไปเลย ปู่ซื้อให้ผมนะ
พ่อ : ไม่ได้หรอกลูก ตัวนึงตั้งพันสอง
ปู่ : อยากได้ใช่ไหมลูก?
หลานชาย : ครับปู่ (น้ำเสียงดีใจมากๆ)
ปู่ : ตกลง แต่มีข้อแม้นะว่าอีกสองอาทิตย์ปู่ถึงจะซื้อให้ ระหว่างที่รอ เราจะมาดูหุ่นยนต์ตัวนี้ทุกวันหลังเลิกเรียน ตกลงไหม (เฟดอินเสียงนาฬิกา (5 วินาที) พร้อมเสียงบรรยาย : หนึ่งอาทิตย์ผ่านไป)
หลานชาย : ปู่ครับ ม่อนไม่อยากได้หุ่นยนต์ตัวนั้นแล้ว
ปู่ : ทำไมล่ะ?
หลานชาย : มันก็ธรรมดา ไม่ดีอย่างที่คิด เสียดายเงินครับ
ปู่ : เห็นมั้ยลูก ตอนอยากได้เราก็เห็นว่ามันดีไปหมด พอได้เห็น ได้จับบ่อยๆเข้า ความสนุกความตื่นเต้นก็น้อยลง บางชิ้นเล่นหนสองหนเองแล้วก็เบื่อ ของเล่นม่อนถึงกองเต็มบ้านยังไงล่ะ รวมกันแล้วก็หลายตังค์เชียวนะ
หลานชาย : จริงด้วยครับ วันหลังอยากได้อะไรผมจะคิดก่อนซื้อ
พ่อ : (กระซิบ) พ่อ ผมสงสัยอยู่หน่อยนึง ถ้าดูครบสองอาทิตย์แล้วม่อนอยากได้จริงๆ พ่อจะซื้อให้มั้ย
ปู่ : (กระซิบ) สัญญาแล้วก็ต้องซื้อสิ แต่ใช้เงินแกนะ พ่อมีเงินซะที่ไหนล่ะ (หัวเราะ)
พ่อ : โห! เหลี่ยมจัดจริงๆพ่อเรา!!!
หมอเหมียวชวนคุย
ปัญหาร่วมของหลายๆบ้านคือลูกมีของเล่นล้นมากเกินไปจนไม่เห็นคุณค่า เบื่อง่าย ติดนิสัยฟุ่มเฟือยอยากได้ของเล่นตลอดเวลา และมักรบเร้าให้พ่อแม่ซื้อของเล่นรุ่นใหม่ๆ การฝึกให้เด็กรอคอยและมีเวลาคิดรอบด้านก่อนตัดสินใจ จะทำให้ไม่โดนหลอกให้หลงเสียเงินไปง่ายๆนะคะ
อนุญาตให้ซื้อ....แต่ไม่ใช่เดี๋ยวนั้น
ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกสำหรับพ่อแม่หลายๆคน เมื่อถูกลูกรบเร้าให้ซื้อของเล่นชิ้นใหม่ที่คุณไม่อยากซื้อให้ แต่ลูกอยากได้เหลือเกิน ถ้าห้ามไม่ให้ซื้อ หรือยกเหตุผลว่าของเล่นที่บ้านมีเยอะแยะ ก็อาจจะเกิดศึกเถียงกันยาวและอารมณ์เสียกันทั้งสองฝ่าย ความอยากนั้นพิษสงรุนแรง ยิ่งห้ามก็ยิ่งอยากได้ ซึ่งไม่ได้เป็นเฉพาะเด็ก ผู้ใหญ่ก็ด้วยเหมือนกัน แต่เมื่อได้ของเล่นตามอยากแล้ว ส่วนใหญ่ความอยากมักจะค่อยๆลดลง ยิ่งเป็นของเล่นที่ฮิตตามความนิยม พักเดียวก็จะมีรุ่นใหม่ๆมาให้อยากอีก
เมื่อการห้ามมักหยุดลูกไม่ได้ผล และการตามใจทุกครั้งทำให้ลูกเสียนิสัย พ่อแม่ลองใช้คติน้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือไปขวาง คือ “ อนุญาตให้ซื้อ แต่ไม่ใช่เดี๋ยวนั้น” ก็เพื่อลดแรงอยากของลูกซึ่งพุ่งสูงในขณะนั้นลงก่อน โดยพ่อแม่อาจตกลงกับลูกว่า จะซื้อให้ในอีกกี่อาทิตย์ แล้วให้เวลาลูกที่จะได้รู้จักของเล่นให้มากกว่านี้ โดยให้หาข้อมูลของเล่น ทั้งในเรื่องแบบ รุ่น ราคา จุดเด่นพิเศษ ข้อดี ข้อเสีย พาไปดู ไปจับสัมผัส ทดลองเล่นที่ร้านบ่อยๆจนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่จะซื้อ เพื่อเรียกสติและทดสอบใจลูกว่าสนใจและต้องการของเล่นชิ้นนั้นจริงๆ การมีเวลาให้ลูกคิด ไต่ตรอง หาข้อมูลก่อนตัดสินใจ จะช่วยฝึกให้ลูกรู้จักรอคอย ยับยั้งชั่งใจ มีความรอบคอบในการซื้อ ไม่หลงไปกับอารมณ์อยากซื้อตอนนั้นแล้วอีกวันสองวันก็เบื่อแล้ว
พ่อแม่อาจให้ลูกทำบัญชีรายจ่ายในการซื้อของเล่นทั้งปีว่าจ่ายค่าของเล่นไปเท่าไหร่ พอมาคำนวณตอนปลายปีอาจจะตกใจว่าจ่ายเงินกับการซื้อของเล่นมากเกินความจำเป็น และสำรวจร่วมกับลูกว่าของชิ้นนั้นลูกยังเล่นอยู่หรือเปล่า หรือทำหายไปไหนไม่รู้ หรือยังใหม่เอี่ยมเพราะไม่ค่อยได้เล่น เปรียบเทียบเงินที่เสียไปกับความคุ้มค่าของของเล่นในหลายๆแง่มุม นำสิ่งเหล่านี้มาเป็นบทเรียนในการสอนลูกให้รู้จักคิดรู้จักประหยัด และไว้สอนตัวเองไม่ให้ใจอ่อนตามใจลูกมากเกินไปด้วยเช่นกัน
ควรทำ
• การสอนให้รู้จักเลือกซื้อของเล่นในราคาที่เหมาะสม ใช้ประโยชน์ได้สมราคา ซื้อของตามฐานะ ตามความจำเป็น จะเป็นการฝึกให้เด็กหัดคิด ไตร่ตรองถึงความเหมาะสม เป็นพื้นฐานในการสร้างนิสัยของคนที่มีความพอเพียง
• ยิ่งต้องหัดคิด ไตร่ตรองถึงความเหมาะสมในการใช้เงินให้คุ้มค่า โดยเฉพาะกับสิ่งที่สร้างความสนุก(ของเล่น) เท่ากับฝึกให้เด็กได้หัดยับยั้งชั่งใจ หัดที่จะรอคอย(คอยตอนที่ราคาของเล่นจะถูกลง) ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในการดำเนินชีวิตที่รอบคอบ
• เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น แต่ไม่จำเป็นต้องมีของเล่นราคาแพง สิ่งที่อยู่รอบตัวก็นำมาใช้เล่นให้สนุก เกิดทักษะ ได้ออกกำลังกาย เช่น กล่องลังกระดาษ หนังสติ๊ก ห่วงยาง ลูกบอล ปิงปอง แบดมินตัน หมากฮอส หมากรุก
• การซื้อของเล่น(ซื้อด้วยความอยากได้)อาจสำคัญน้อยกว่าการเก็บรักษาของเล่น(เก็บรักษาด้วยความรู้สึกถึงคุณค่าและความรักในของเล่น) ฝึกสอนให้รักษาและเก็บของเล่นอย่างดี ก็เท่ากับฝึกให้เด็กหัดรักษาของที่รัก
• ลองคิดถึงการสร้างของเล่นด้วยตัวเอง ช่วยเสริมสร้างความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และประหยัด
* หัวใจการเลี้ยงดู
ควรมีเวลาให้ลูกได้คิด ไตร่ตรอง ก่อนซื้อของเล่น เพื่อให้ลูกอดทนและรู้จักรอคอย
จัดทำข้อมูลโดย : นพ. ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)