“...พระพุทธศาสนาชี้ทางดำเนินชีวิตที่ปราศจากโทษ ช่วยให้เกิดความเจริญร่วมเย็นได้อย่างแท้จริง เพราะมีคำสั่งสอนที่มีลักษณะพิเศษประเสริฐในประการที่อาศัยเหตุผลอันถูกต้องเที่ยงตรง ตามความเป็นจริงเป็นพื้นฐานและแสดงคำอธิบายที่ครบถ้วนชัดเจน อันบุคคลสามารถใช้ปัญญาไตร่ตรองตามและหยิบยกขึ้นปฏิบัติ เพื่อความสุขความเจริญ และความบริสุทธิ์ได้ตามความสามารถ และอัธยาศัยของตนๆ...”
“...คุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับทุกคนนั้น ที่สำคัญได้แก่ความรู้จักรับผิดชอบชั่วดี ความละอายชั่วกลัวบาป ความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งในความคิดและการกระทำ ความไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ความไม่มักง่าย หยาบคาย กับอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญเป็นพิเศษ คือความขยันหมั่นเพียร พยายามฝึกหัดประกอบการงานทุกอย่างด้วยตนเอง ด้วยความตั้งใจ ไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้ง...”
“...ความบังคับตนเองนั้น เกิดขึ้นได้จากความรู้สึกระลึกได้ว่า อะไรเป็นอะไร หรือเรียกสั้นๆว่า สติ กล่าวคือ ก่อนที่บุคคลจะทำ จะพูด หรือแม้แต่จะคิดเรื่องต่างๆ สติหรือความรู้สึกระลึกได้นั้นจะทำให้หยุดคิดว่า สิ่งที่จะทำนั้นผิดชอบชั่วดีอย่างไร จะมีผลเสียหายหรือจะเป็นประโยชน์อย่างไรต่อไปในระยะยาว...”
“...เมื่อบุคคลคิดได้ ก็สามารถตัดสินการกระทำของตนได้ถูกต้อง แล้วก็จะกระทำแต่เฉพาะสิ่งที่สุจริตที่มีประโยชน์อันยั่งยืน ไม่กระทำสิ่งที่จะเป็นความผิดเสียหายทั้งแก่ตนและส่วนรวม...”
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 151 กรกฎาคม 2556)