xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ลดโรค ลดป่วยไม้ ประดับดูดสารพิษ..ช่วยได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบัน ภาวะโลกร้อนกำลังส่งผลต่อโลกเป็นอย่างมาก ทางหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ก็คือการปลูกป่าและต้นไม้เพิ่มมากขึ้นเท่าที่จะมากได้

ขณะที่ต้นไม้จำพวกไม้ดอก ไม้ประดับ ซึ่งนอกจากจะปลูกไว้ดูเล่น เพื่อความเพลินตาเพลินใจแล้ว ต้นไม้เหล่านี้ก็มีส่วนช่วยในการลดโรคภัยไข้เจ็บให้แก่คนเราด้วย โดยเฉพาะ “โรคแพ้ตึก” ซึ่งคนในเมืองมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคนี้เพิ่มมากขึ้น

โรคแพ้ตึก เป็นโรคที่องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับอย่างเป็นทางการว่า เกิดจากสารพิษหลัก ชื่อว่า "สารฟอร์มาลดีไฮด์" ซึ่งจะมีอยู่ในตัวตึกหรืออาคารที่สร้างใหม่ หรือบ้านที่ใช้เฟอร์นิเจอร์ ไม้อัด บอร์ด สี พลาสติค รวมไปถึงสารพิษในเนื้อปูน ซึ่งจะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เซื่องซึม ภูมิแพ้ หืด ผื่นคันตามผิวหนัง ระคายเคืองตา คอ จมูก ไซนัส จนถึงระบบประสาทที่ผิดปกติ

จากการศึกษาวิจัยของ ผศ.ดร.สิริลักษณ์ เจียรากร นักวิชาการศูนย์วิจัยมลพิษอากาศในอาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับ ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อศึกษามลพิษอากาศในอาคาร เมื่อปี 2554 พบว่า

จากการเก็บตัวอย่างอากาศภายในอาคารที่ติดเครื่องปรับอากาศ มีมลพิษที่เป็นอันตรายไม่น้อยกว่ามลพิษภายนอกอาคาร โดยเฉพาะคนในเมืองใช้ชีวิตอยู่ภายในอาคารที่มีเครื่องปรับอากาศประมาณ 20 ชั่วโมงต่อวัน จากการใช้รถปรับอากาศ ห้องทำงาน ห้องนอน ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ซึ่งคุณภาพอากาศในอาคาร เป็นภัยเงียบที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพโดยไม่รู้ตัว หรือที่เรียกกันว่าโรคแพ้ตึก

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ตรวจวัดมลพิษที่เกิดจากการใช้เครื่องถ่ายเอกสาร และเครื่องพิมพ์ภายในอาคารสำนักงาน พบสารระเหย ได้แก่ เบนซิน โทลูอีน และโอโซน โดยตรวจพบปริมาณที่มีค่าเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ มีอาการแสบจมูก ระคายเคืองในเยื่อบุทางเดินหายใจ และอาจทำให้เกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนัง เนื่องจากขณะที่ถ่ายเอกสารหรือสั่งพิมพ์นั้น สารที่เป็นองค์ประกอบในผงหมึกเมื่อถูกความร้อนจะระเหยเป็นไอ สารระเหยในผงหมึกดังกล่าวนี้จัดเป็นสารก่อมะเร็ง

นอกจากนี้ ยังพบฝุ่นละอองขนาดเล็กต่ำกว่า 2.5 ไมโคร ฟุ้งกระจายออกมาในขณะพิมพ์ และเข้าสู่ถุงลมในปอดได้ง่าย เพราะเป็นฝุ่นระดับอนุภาคที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการจามเหมือนฝุ่นขนาดใหญ่ ทำให้เป็นโรคภูมิแพ้ เป็นหวัดไม่หาย ไซนัสเรื้อรัง และส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง

ขณะที่มนุษย์ก็เป็นแหล่งปล่อยอากาศเสีย เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นต้น อีกทั้งยังมีเชื้อโรคและไวรัสชนิดต่างๆที่ติดต่อได้ทางลมหายใจ วนเวียนอยู่ในอากาศของอาคารสำนักงานอีกด้วย

อาคารหรือตึกที่สร้างขึ้นใหม่มักจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพของอากาศ เพราะการหมุนเวียนอากาศภายในกับภายนอกไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอาคารที่ออกแบบมาเพื่อการประหยัดพลังงาน จะมีสารพิษสะสมในอากาศสูงกว่าอาคารทั่วไปถึง 100 เท่า เนื่องจากการพยายามใช้ระบบต่างๆที่เป็นระบบปิด ไม่มีการระบายสู่ภายนอกนั่นเอง

สำหรับพืชที่จะช่วยกำจัดสารพิษในอาคารนั้น ดร.บี.ซี. วูฟเวอร์ตัน นักวิจัยแห่งสถาบันวิจัยอวกาศนาซา สหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยเรื่องนี้ เพื่อหาวิธีปรับปรุงสภาวะแวดล้อมในระบบปิดของยานอวกาศ จนค้นพบว่า ไม้ประดับบางชนิดสามารถกำจัดสารพิษหรือมลพิษในอากาศได้

ดร.วูฟเวอร์ตัน ได้แนะนำไม้ดอกไม้ประดับ 50 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชในเขตร้อน มีความสวยงาม ทนทาน และเป็นที่นิยมปลูกโดยทั่วไป แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ถึงคุณสมบัติในการดูดสารพิษในอากาศ ไม่ว่าจะเป็นฟอร์มาลดีไฮด์, แอมโมเนีย, ไซลีน, ทูลีน รวมทั้งไอเสียที่เกิดจากมนุษย์

จากการทดสอบความสามารถของพืชบางชนิด ในการลดสารพิษจำพวกสารอินทรีย์ที่ระเหยง่าย ดร.วูฟเวอร์ตันได้พบว่า

เบญจมาศ สามารถขจัดสารมลพิษได้มากกว่า 90% เมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง

พลูด่าง สามารถลดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ได้ 75% เมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง

ดร.วูฟเวอร์ตัน ได้เสนอว่า การตั้งกระถางต้นไม้ไว้ใกล้ตัวราวสองเมตร จะช่วยลดสารก่อความเจ็บป่วยลงได้

ขณะที่ อ.อภิญญา ลิ้มไพบูลย์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้กล่าวถึงสัดส่วนในการใช้พืชดูดสารพิษว่า

พืชพันธุ์ที่เพียงพอต่อการปรับปรุงคุณสมบัติของอากาศที่แนะนำ คือ จัดวางต้นไม้และไม้ประดับ ประมาณ 8 ต้น ต่อบ้านขนาดกลาง และควรเพิ่มปริมาณในอาคารสำนักงานที่มีคนอยู่มาก และมีสารเคมีในอากาศที่เกิดจากเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องใช้สำนักงานและเฟอร์นิเจอร์ ในปริมาณที่ค่อนข้างมาก

America’s Foliage for Clean Air Council (สภาไม้ประดับเพื่ออากาศสะอาด) แนะนำว่า ไม้พุ่มประดับ 2-3 ต้นมีประสิทธิภาพในการกรองอากาศในเขตประมาณ 100 ตารางฟุต ต้นไม้ที่วางอยู่ในเขตหายใจ จะช่วยในการกรองก๊าซเสียจากมนุษย์ ลดสารพิษจากวัสดุสังเคราะห์ ลดจุลินทรีย์ เชื้อโรคบางชนิดในอากาศ รวมทั้งเพิ่มประจุลบในอากาศ และความชื้นในบริเวณนั้นๆด้วย

ตึกที่เป็นระบบปิดและใช้เครื่องปรับอากาศ จะเกิดภาวะความชื้นภายในอากาศต่ำ สังเกตได้จากผู้ที่อยู่ในอาคารนานๆ จะเกิดอาการปากแตก ผิวแห้ง และคอแห้ง ต้นไม้สามารถช่วยลดภาวะเหล่านี้โดยปล่อยความชื้น และประจุลบผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง และการคายน้ำ

ตัวอย่างไม้ในร่มที่มีคุณสมบัติในการคายน้ำสูงได้แก่ หมากเหลือง, เดหลี, บอสตันเฟิร์น, วาสนาอธิษฐาน, เยอบีร่า, แววมยุรา และยางอินเดีย

• ไม้ประดับดูดสารพิษ 50 ชนิด

บอสตันเฟิร์น | เบญจมาศ | เยอบิร่า | สิบสองปันนา | วาสนาราชินี | ปาล์มไผ่ | เฟิร์นดาบออสเตรเลีย | ยางอินเดีย | ตีนตุ๊กแกฝรั่ง | ไทรย้อยใบแหลม | เดหลี | หมากเหลือง | วาสนาอธิษฐาน | จั๋ง | หนวดปลาหมึก | เข็มริมแดง | ประกายเงิน | เศรษฐีไซ่ง่อน | กล้วยไม้หวาย | สาวน้อยประแป้ง | ทิวลิป | ไทรใบเล็ก | เสน่ห์จันทน์แดง | ปาล์มใบไผ่ | กุหลาบพันปี | เขียวหมื่นปี | เศรษฐีเรือนใน | กล้วยแคระ | มรกตแดง | สโนว์ดรอป | ฟิโลหูช้าง | พลูด่าง | สนฉัตร | บิโกเนียใบมัน | แววมยุรา | ไอวี | มังกรคาบแก้ว | ฟิโลเซลลอม | เงินไหลมา | ฟิโลใบหัวใจ | หน้าวัวเปลวเทียน | คล้าหางนกยูง | คริสต์มาส | ไซคลาเมน | กล้วยไม้ฟาแลนอปซีส | สับปะรดสี | โกสน | ลิ้นมังกร | ว่านหางจระเข้ | กุหลาบหิน

หมากเหลือง มีความทนต่อสภาพแวดล้อมภายในอาคารและคายความชื้นให้แก่อากาศภายในห้องได้มาก ในขณะที่มีประสิทธิภาพสูงในการดูดสารพิษจากอากาศได้ในปริมาณมาก ในบรรดาไม้ประดับดูดสารพิษด้วยกัน หมากเหลืองเป็นพืชที่ดูดสารพิษจากอากาศได้ในประมาณมากที่สุดชนิดหนึ่ง

กล้วยไม้ กล้วยไม้ทุกตระกูลจะคายก๊าซออกซิเจนและดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เวลากลางคืน ไม่ว่าจะเป็นหวายหรือฟาเลนออพซิส กล้วยไม้หวายสามารถดูดไอระเหย สารเคมีพวกแอลกอฮอล์ อะซีโทน ฟอร์มาลดีไฮด์ และคลอโรฟอร์มจากอากาศได้ดีเป็นพิเศษ

พลับพลึงด่าง เป็นไม้ที่มีความทนทานและอยู่ในที่แสงสว่างน้อยได้ดี มีประสิทธิภาพในการขจัดไอระเหยเบนซิน

เศรษฐีเรือนใน เป็นพืชที่มีการดูดสารพิษจำพวกฟอร์มาลดีไฮด์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผ่านกระบวนการย่อยสลายของมัน เหมาะแก่การนำมาปลูกในห้องที่มีเฟอร์นิเจอร์ใหม่

ลิ้นมังกร คายก๊าซออกซิเจนและดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เวลากลางคืน จึงเหมาะสมหากจะนามาตั้งไว้ในห้องนอนหรือห้องนั่งเล่น

บอสตันเฟิร์น สามารถดูดสารพิษได้มาก โดยเฉพาะจำพวกฟอร์มาลดีไฮด์ และยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ภายในอาคารได้อย่างดี

เดหลี มีความสามารถสูงในการดูดสารพิษในอาคาร เช่น กาว อาซีโตนซึ่งมีอยู่ในเครื่องสำอาง น้ำยาทาเล็บ น้ำยาลบคำผิด สารไตรคลอโรเอทีลีน ซึ่งมีอยู่ในเครื่องพิมพ์ เครื่องถ่ายเอกสาร เตาแก๊ส น้ำยาเคลือบเงาไม้ รวมทั้งเบนซินและฟอร์มาลดีไฮด์ อีกทั้งยังเป็นพืชที่คายความชื้นสูง ทำให้อากาศภายในอาคารชุ่มชื้น เป็นไม้กระถางที่ได้คะแนนสูงสุดในการฟอกอากาศภายในอาคาร

สาวน้อยประแป้ง มีคุณสมบัติในการช่วยลดมลภาวะจำพวกไซลีน/โทลูอีน ที่เกิดจากพาร์ติเคิลบอร์ด ไม้อัด เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ สีทาห้อง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 149 พฤษภาคม 2556 โดย กองบรรณาธิการ)
เยบิรา
หมากเหลือง
กล้วยไม้
พลับพลึงด่าง
เศรษฐีเรือนใน
ลิ้นมังกร
เบญจมาศ
ยางอินเดีย
วาสนาอธิษฐาน
พลูด่าง
มรกตแดง
ปาล์มไผ่
บอสตันเฟิร์น
เดหลี
สาวน้อยประแป้ง

กำลังโหลดความคิดเห็น