xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : เวทนา ต้องกำหนดรู้ให้ชัดๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การที่จะฝึกให้มีสติ ให้มีการพิจารณาเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ จะต้องมีความพากเพียร และมีการประพฤติปฏิบัติด้วยความไม่ประมาท แล้วจิตใจจะได้มีความสงบ ถ้าไปเอาเรื่องภายนอก หรือมีการคิดนึกจากการจำหมายแล้ว มันจะทำให้จิตนี้ไม่สงบ แล้วก็ปรุงเรื่องดีชั่วตัวตนอะไรสารพัด

เพราะฉะนั้น จะต้องมีความรอบรู้อยู่ที่จิตอย่าให้ก่อเรื่องวุ่นขึ้นมา ไม่ว่าจะรับรู้ รับฟังอะไร จิตนี้ให้วางเฉยเสีย อย่าไปยึดถือเป็นเป็นจริงเป็นจังเสียหมด ไม่ว่าดีชั่ว ถูกผิดอะไรทั้งหมดก็ต้องวางเฉย การวางเฉยนี่ถ้าทำจนคุ้นเคยมากๆ เข้าก็หมดเรื่อง การที่จะไปเพ่งเล็งคิดนึกปรุงแต่งอะไรนี่ก็จะหยุดหมด

ทีนี้คำว่า “หยุด” นี้ต้องเป็นการหยุดรู้ตัว หรือว่าเมื่อมีสติตั้งมั่นนั่นแหละเป็นลักษณะของ “การหยุด” คือ หยุดดูหยุดรู้อยู่ในตัวเอง แล้วไม่มีเรื่องอะไรมาก

ถ้าไม่มีการพิจารณาที่จะเป็นเครื่องรู้ เครื่องปล่อย เครื่องวางอยู่ในตัวเองแล้ว จิตนี้มันก็ถูกปรุงเรื่อย แล้วไปหมายดีหมายชั่วไม่รู้จักจบจักสิ้น ก็ล้วนแต่ทุกข์ทั้งนั้น ทีนี้ถ้าหากมันเพลินไป เพราะว่าไม่รู้ตัว มันก็เลยกระหืดกระหอบอยู่ ก็สงบไม่ได้ ว่างไม่ได้ ก็เพราะว่าไม่ได้ตั้งหลักสติให้คุ้มครองจิตใจอยู่ทุกอิริยาบถ

ถ้าเป็นการฝึกให้มีสติอยู่ทุกอิริยาบถแล้ว ก็จะทำให้ความรู้สึกภายในจิตในใจนี้มันได้สลัดทิ้งทุกๆ อย่าง ที่มีความหมายอะไรขึ้นมา ในที่สุดมันก็ทิ้งไป หยุดไป ว่างไป และสงบไปได้ เมื่อสงบแล้วมันก็ไม่มีเรื่องเท่านี้เอง

ที่มีเรื่องมากมายนั้นมันเรื่องความหลง หลงคิดนึกไปตามผัสสะอายตนะ ทีนี้ถ้าหยุดได้แล้วก็หมดเรื่อง แต่ถ้ามันไม่ยอมหยุดก็ต้องมีการเพ่งให้รู้ ให้มันหยุดรู้จิตอยู่เป็นประจำ ให้ติดต่อในลักษณะเป็นปกติวางเฉยต่อผัสสะได้ทุกๆขณะ ถ้าจิตนี้มีความสงบรู้ตัวเองได้ มันจะเป็นอิสระ แล้วความทุกข์ความวุ่นวายอะไร มันก็สลายตัวไปหมด

การสงบนี้ก็ไม่ใช่สงบเอาสุข ต้องสงบรู้ทุกข์แล้วก็ปล่อยวางทุกข์ให้ได้ แต่ตัณหามันมายั่วมาแหย่ทำให้จิตดิ้นรนกระวนกระวายขึ้นมา เพราะฉะนั้น จะต้องคอยดับตัณหาที่เวทนา หรือเมื่อเพ่งเวทนาโดยความเป็นของว่างจากตัวตนได้แล้ว ตัณหาก็เกิดไม่ได้

แต่ถ้ายังมีความหมายในเวทนาเป็นความยึดถือว่า เป็นสุข เป็นทุกข์ แล้วก็มีความต้องการแต่ความสุข หรือมีความเพลิดเพลินอยู่กับเวทนาในลักษณะหนึ่งลักษณะใด ตัณหานี้ก็จะก่อเกิดขึ้นมาอีก มันจะมีการอยากจนกระทั่งมีความดิ้นรนออกมา และแสดงความกระวนกระวายในเมื่อมีทุกข์เกิดขึ้น หรือมีความสุขเกิดขึ้น มันก็อยากจะให้ได้ความสุขนี้มากขึ้นอีก แล้วก็มีความเพลิดเพลินอยู่ในความสุข

สำหรับเรื่องเวทนานี่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะเป็นเรื่องละเอียด ส่วนเวทนาหยาบๆนั้นมันขั้นหนึ่ง ทีนี้เวทนาขั้นละเอียดนี้ มันจะต้องพิจารณาให้รู้ให้เห็นว่า เวทนามีทั้งหยาบและทั้งละเอียด ไม่ใช่เป็นเวทนาของเรา เป็นเวทนาของขันธ์ คือว่าให้รู้สึกตามสภาวะของนามรูปที่จะต้องมีเวทนา

ควรระวังอย่างเดียวว่า อย่าไปยึดถือเวทนา ให้รู้เวทนาโดยความเป็นของว่างจากตัวตนให้ได้ แล้วก็เป็นอันว่าจิตนี้จะมีการสงบได้

เมื่อจิตไม่แส่ส่ายไปต้องการความสุขแล้ว มันก็สงบได้ แต่ทั้งนี้เป็นของรู้ยาก เพราะตัณหานี่มันคอยปรุงทำให้จิตใจดิ้นรนเมื่อมีเวทนา ถ้าหากว่ามีสติรักษาจิตประจำไว้ก่อน ตั้งมั่นเอาไว้ก่อนแล้ว ตัณหาจะได้ไม่มาปรุงและจะได้ไม่ดิ้นรนกระวนกระวายไปในลักษณะเวทนาที่ปรากฏขึ้น

ฉะนั้น ต้องดูเฉพาะเวทนาอย่างเดียวก็ได้ ถ้าดูหลายอย่างแล้วมันวุ่น มันไม่สงบ ให้พิจารณาเจาะจงว่า เวทนานี้ สักแต่ว่าเป็นเวทนาของขันธ์เท่านั้น

ต้องพิจารณาอยู่ในตัวเองทั้งหมดแล้วก็เอาชนะให้ได้ เพราะว่าตัณหาที่มันจะก่อเกิดขึ้นมาปรุงแต่งจิตนั้น มันเนื่องจากเวทนาเป็นที่เกิดของตัณหา ฉะนั้น จะต้องรู้ให้มันตรงจุดเสียทีเดียว โดยไม่ต้องไปรู้อย่างอื่น ฝึกให้มีสติตั้งมั่นกำหนดรู้เวทนาให้เห็นตามความเป็นจริงขึ้นมาให้ได้ แล้วจิตจะทนได้ วางเฉยได้ ก็ทำให้ตัณหานี้คลายออกไป ไม่เข้ามาปรุงจิต

ถ้าหากว่ามันเข้ามาปรุงก็ต้องต่อสู้ดูมัน ยังไม่ต้องแก้ไขอะไรทั้งหมด ดูว่ามันจะมีการเสื่อมไปในลักษณะอย่างไร ดับไปในลักษณะอย่างไร ต้องเพ่งดูทีเดียว ซึ่งเป็นการต่อสู้ชนิดที่เพ่งดู แล้วที่เพ่งดูนี่มันเป็นความรู้ของสติปัญญาในตัวเสร็จ และจะต้องดูเวทนาให้ชัดว่า สักแต่ว่าเวทนาอย่างไรพร้อมกันไป

ถ้าว่าโดยเจาะจงแล้ว พระอรหันต์บางองค์ท่านเพ่งเฉพาะเวทนาอย่างเดียว ละอาสวะ ก็คือละตัณหา ทีนี้เรายังไม่กล้าเท่านั้นเอง ถ้ามันกล้าขึ้นมาต้องเพ่งดูเวทนาให้รู้จริง แล้วมันก็จะปล่อยวางได้ จะเอาชนะเวทนาได้ หรือว่ามันจะดับตัณหาได้ แต่ต้องทำจริง เพียรจริง รู้จริง ปล่อยวางได้จริง เอาตัวจริงเข้ามากำจัดมัน ถ้าไม่เอาตัวจริงเข้ามากำจัดแล้ว มันกลับกลอกหลอกหลอนใหญ่ ทำให้หมดกำลัง จิตก็จะอ่อนไป เพราะตัณหาเข้ามาปรุง แล้วทุกสิ่งมันจะทำให้อ่อนแอหมด ทีนี้เอาจริงเข้ากำจัดมันเสียก่อน มันจะมีการปรุงแต่งอย่างไรก็ตาม จะต้องเพ่งดูให้รู้จริงๆ ถ้ามันรู้จริงแล้วก็หยุดได้ ปล่อยได้ วางได้

ฉะนั้น ต้องจับหลัก “ความจริง” นี้เอาไว้ ให้จิตใจนี่มั่นคงอยู่กับความจริง มันจะต้องรู้ความจริง แล้วก็จะต้องปล่อยวางไป ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นมายา ชนิดที่เคยหลงยึดถือมัน เป็นตัวเป็นตนอะไรก็สารพัดอย่าง

ทีนี้จะเพ่งดูให้จริงๆว่า เวทนาทั้งหลายจะมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือมีการบังคับบัญชาไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ฉะนั้น จะเพ่งดูเวทนาให้รู้ความจริง ทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งไม่สุขไม่ทุกข์ ที่มันจะมีการสลับอย่างไร? เกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างไร?

ถ้าว่าเป็นการดูโดยเจาะจงแล้ว สติที่รู้โดยเจาะจงนี้ก็จะระงับดับได้ แต่ว่าจะต้องทดลองทำจริงๆจึงจะได้ เหมือนกับจะนั่งกันชั่วโมงนี้ก็ต้องตั้งสติเพ่งดูเวทนาทีเดียวว่า ที่เนื่องกับกายก็ต้องรู้ว่ากายนี้มันเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม และเวทนาที่เนื่องกับธาตุนี้ ก็เรียกว่ารูปธาตุกับนามธาตุมันรู้สึกกัน ไม่ใช่เป็นตัวเราไม่ใช่เป็นของของเรา นี่ต้องมองมันให้ชัด ให้แยกธาตุออก อย่าไปยึดว่าเป็นตัวเราของเราให้ได้

และลักษณะของกายที่ประกอบไปด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ต้องเพ่งดูให้รู้ทีเดียว ว่ามันมีเหตุทั้งสี่ประกอบอยู่อย่างไร? และมันมีการเสื่อมสลายไปอย่างไร? ต้องทำการพิจารณาโดยเจาะจงให้ได้

เพราะฉะนั้น จะต้องกำหนด การกำหนดรู้ขั้นแรก ก็ต้องกำหนดลมหายใจ โดยการกำหนดลมหายใจให้ติดต่อให้ได้ แล้วก็พิจารณาลมหายใจนั่นแหละไปอีกทีหนึ่งว่า ลมหายใจนี้ก็สักแต่ว่าเป็นธาตุ ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตนอะไรทั้งหมด ที่เนื่องกับกายนี้ก็คือธาตุดินที่เป็นโครงร่าง แล้วก็มีธาตุน้ำและธาตุไฟที่เป็นเครื่องอบอุ่น และประกอบกับธาตุลมที่เป็นการเคลื่อนไหวอยู่

นี่ต้องมีการเพียรเพ่งพิจารณากำหนดกาย กำหนดเวทนา ตามรู้ตามเห็นตามความเป็นจริงของมันล้วนๆ เรียกว่าจะดูรูปธรรมก็ต้องดูให้เป็นสักแต่ว่าธาตุล้วนๆจะดูเวทนาก็ดูสักแต่ว่าเวทนาเป็นนามธรรมล้วนๆ จิตนี้จะรู้และจะมีการวางเฉยมั่นคง

ต่อไปก็จะให้รวบรวมความรู้เข้ามารู้จิต ตั้งมาตรฐานของสติ จะกำหนดลมหายใจก็ให้มั่นคงไปในระยะนาน อย่าไปเอาอย่างอื่น เอาให้รู้ชัดให้ได้ว่า เมื่อมีสติมั่นคงแล้ว ก็จะเพ่งพิจารณารู้ได้ แต่ถ้าสตินี้ยังตั้งไม่มั่นคง ยังแส่ส่ายแล้ว การพิจารณารูปก็ตาม เวทนาก็ตาม มันจะไม่ชัดแจ้ง เพราะฉะนั้น ให้เอาสติเข้ามารู้ลมรู้จิตประกอบ แล้วก็กำหนดเพ่งพิจารณาให้ติดต่ออยู่ทุกลมหายใจเข้าออก จนกว่าจิตจะเป็นอิสระวางเฉย ปล่อยเวทนาได้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 146 กุมภาพันธ์ 2556 โดย ก. เขาสวนหลวงสำนักปฏิบัติธรรม เขาสวนหลวง จ.ราชบุรี)
กำลังโหลดความคิดเห็น