จตุธาตุววัฏฐานเป็นกัมมัฏฐานที่กล่าวถึงอาการ ๓๒ โดยความเป็นธาตุทั้ง ๔ กล่าวคือ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) และวาโยธาตุ (ธาตุลม)
โดยการพิจารณาร่างกายของเรา บุคคลอื่น และสรรพสัตว์สักแต่ว่าเป็นเพียงธาตุมาประชุมกันเท่านั้น อย่าหมายมั่นว่าเป็นร่างกายของเรา ไม่ควรยึดมันถือมั่น เนื่องด้วยการไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้เอง เป็นตัวละตัณหาความอยาก และทำให้เห็นตามความเป็นจริงได้
จตุธาตุววัฏฐานนี้มีปรากฏอยู่หลายพระสูตร ได้แก่ มหาสติปัฏฐานสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐) มหาหัตถิปโทปมสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒) มหาราหุโลวาทสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓) และธาตุวิภังคสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔)
เมื่อพิจารณาด้วยจตุธาตุววัฏฐานโดยรอบคอบแล้ว จักเห็นความจริงว่า อาการส่วนต่าง ๆ ในร่างกายนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นสักว่าธาตุทั้ง ๔ มาประชุมกัน คือสภาพที่แข็งและอ่อนเป็นธาตุดิน สภาพที่ไหลและเกาะกุมเป็นธาตุน้ำ สภาพที่ร้อนและเย็นเป็นธาตุไฟ สภาพที่เคลื่อนไหวและค้ำจุนเป็นธาตุลม
เมื่อได้เหตุปัจจัยพร้อมมาประชุมกันขึ้นเท่านั้น เมื่อสิ้นเหตุปัจจัยแล้วก็ต้องเสื่อมสลายแตกดับไปเป็นธรรมดา จักห้ามมิให้เสื่อมสลายแตกดับไปนั้น ห้ามไม่ได้เลยเป็นอันขาด
โดยเฉพาะในคัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆษาจารย์ได้กล่าวถึงวิธีการปฏิบัติจตุธาตุววัฏฐานไว้ ๒ รูปแบบ กล่าวคือ โดยย่อ และโดยพิสดาร ดังนี้
การพิจารณาโดยย่อ ให้กำหนดธาตุอย่างนี้ว่า ผมเป็นปฐวีธาตุ ขนเป็นปฐวีธาตุ เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีปัญญาเฉียบแหลมพิจารณาอยู่อย่างนี้ว่า
สิ่งใดมีลักษณะแข้นแข็ง สิ่งนี้คือปฐวีธาตุ
สิ่งใดมีลักษณะเอิบอาบ สิ่งนี้คืออาโปธาตุ
สิ่งใดมีลักษณะอบอุ่น สิ่งนี้คือเตโชธาตุ
สิ่งใดมีลักษณะเคลื่อนไหว สิ่งนี้คือวาโยธาตุ
เมื่อพิจารณาตามลำดับอย่างนี้แล้ว กัมมัฏฐานย่อมปรากฏแจ่มชัดสำหรับผู้ที่มีปัญญาเฉียบแหลม
แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญาไม่เฉียบแหลมนัก พิจารณาอยู่อย่างนี้แล้ว กัมมัฏฐานยังมืดมัวไม่แจ่มแจ้ง จำเป็นต้องพิจารณาโดยพิสดาร กัมมัฏฐานจึงจะปรากฏได้ชัดเจน
เบื้องต้นให้เริ่มเรียนการพิจารณาธาตุอย่างพิสดารในสำนักของอาจารย์ก่อน จากนั้นให้ไปอยู่ในเสนาสนะอันสงัดแล้วเจริญกัมมัฏฐานโดยพิจารณาตามลำดับต่อไปนี้
กำหนดพิจารณาอาการที่แข้นแข็ง ที่กระด้างทั่วร่างกายมีอาการ ๒๐ ว่าเป็นปฐวีธาตุ ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง ด้วยเหตุนี้ อาการ ๒๐ ประการจึงจัดเป็นปฐวีธาตุ
กำหนดพิจารณาอาการที่เอิบอาบ ที่ซึมซาบทั่วร่างกายมีอาการ ๑๒ ว่าเป็นอาโปธาตุ ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ด้วยเหตุนี้ อาการ ๑๒ ประการจึงจัดเป็นอาโปธาตุ
กำหนดพิจารณาสภาพที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น ๔ ว่าเป็นเตโชธาตุ ได้แก่ สภาพที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น สภาพที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม สภาพที่เผาอาหารในร่างกายให้ย่อยสลายไป และสภาพที่ทำให้ร่างกายกระวนกระวาย ด้วยเหตุนี้ สภาพของร่างกาย ๔ ประการจึงจัดเป็นเตโชธาตุ
กำหนดพิจารณาอาการพัดกระพือในส่วนทั้ง ๖ ว่าเป็นวาโยธาตุ ได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมพัดอยู่ในท้อง ลมพัดอยู่ตามไส้ ลมพัดตามร่างกาย และลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ด้วยเหตุนี้ อาการพัดกระพือตามร่างกาย ๖ ส่วนจึงจัดเป็นวาโยธาตุ
เมื่อกำหนดมนสิการอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ธาตุทั้งหลายย่อมปรากฏชัดขึ้น พึงพิจารณาใส่ใจในธาตุนั้นบ่อยๆ อุปจารสมาธิ (สมาธิจวนจะแน่วแน่) ย่อมปรากฏเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐานได้ในเร็ววัน ทำให้เกิดปัญญาเครื่องสอดส่องประเภทแห่งธาตุชัดเจนยิ่งขึ้น และเพื่อให้ผู้บำเพ็ญเพียรจดจำไปใช้ปฏิบัติได้อย่างขึ้นใจ จึงควรพิจารณาปฏิบัติให้มากครั้งยิ่งขึ้นเพื่ออบรมกัมมัฏฐานให้เจริญในจิตอย่างต่อเนื่อง
การเจริญจตุธาตุววัฏฐานมีอานิสงส์มากมายหลายประการ มีผลอย่างต่ำ คือ ผู้เจริญกัมมัฏฐานย่อมเป็นผู้อดทนต่อความยินดียินร้าย ไม่ถึงความฟุ้งซ่านอึดอัดใจในอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา มีจิตใจผ่องใส จะนอนก็เป็นสุข จะหลับก็เป็นสุข สามารถบรรเทากามราคะลงได้
และผลอย่างสูง คือ ผู้เจริญกัมมัฏฐานจะเป็นผู้มีปัญญามาก มีพระนิพพานเป็นที่สุด หากไม่บรรลุพระนิพพานก็เป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เป็นการเจริญวิปัสสนาสามารถรู้แจ้งชัดในทุกสิ่งตามความเป็นจริงได้
(อ่านต่อฉบับหน้า)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 145 มกราคม 2556 โดย พระมหาอดิเดช สติวโร(สุขวัฒนวดี) วัดเกตุมดีศรีวราราม จ.สมุทรสาคร)