xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : โทษของการถือฤกษ์ยาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คำว่า “ฤกษ์” แปลว่า การมองดู การตรวจดู การพิจารณาดูคราวที่เหมาะ เวลาที่เหมาะ จังหวะที่เหมาะแก่การประกอบการงานที่เป็นมงคลนั้นๆ หมายความว่า ก่อนที่คนเราจะประกอบการงานที่เป็นมงคลอย่างใดอย่างหนึ่ง สมควรจะต้องพินิจพิจารณาเลือกหากำหนดวันเวลาที่เหมาะแก่การประกอบพิธีมงคลนั้นๆ โดยไม่รีบด่วนจนเกินไป จนกระทั่งตระเตรียมอะไรไม่ทัน และโดยไม่ล่าช้าจนเกินไป จนกระทั่งเกิดความเอือมระอาใจที่ต้องเฝ้ารอคอยวันเวลาฤกษ์กว่าจะถึง

• ฤกษ์งามยามดีทางคดีธรรม

ในทางคดีธรรม คือ ตามคำสอนทางพระพุทธศาสนาสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนพุทธบริษัทเรื่องฤกษ์งามยามดี ความเป็นจริง ไว้ใน ‘สุปุพพัณหสูตร’ โดยใจความว่า

“คนเราประพฤติกายสุจริต (คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ประพฤติวจีสุจริต (คือไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อเรื่องที่เหลวไหลไร้สารประโยชน์) ประพฤติมโนสุจริต(คือไม่โลภอยากได้ของคนอื่นในทางทุจริต ไม่พยาบาทปองร้ายเขา ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดเป็นชอบ กล่าวคือ การกระทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ในเวลาเช้า สาย บ่าย เย็น เวลาค่ำคืน หรือเวลาใดก็ตาม เวลานั้นแหละ ชื่อว่า “เป็นฤกษ์งามยามดี” สำหรับผู้ทำความดีนั้น

รวมความว่า ฤกษ์งามยามดีนั้น ในทางคดีโลกนิยมยึดถือวันเวลาที่ดีเป็นสำคัญ ส่วนในทางคดีธรรม คือทางพระพุทธศาสนานิยมยึดถือการทำความดีเป็นสำคัญ ที่เป็นเหตุทำให้คนเรามีความเจริญรุ่งเรือง

• การดูฤกษ์งามยามดีตามหลักเหตุผล


- มนุษย์เราถือว่าเป็นผู้มีสติปัญญาสูงกว่าบรรดาสรรพสัตว์ เพราะเหตุนี้ เมื่อจะทำอะไรก็ตาม จึงต้องใช้สติปัญญาพินิจพิจารณาใคร่ครวญ ตรวจดูทางได้ทางเสียอย่างรอบคอบเสียก่อน แล้วจึงจะเริ่มดำเนินการ กิจกรรมที่ทำแล้วจึงปรากฏผลเป็นความดีมากกว่าเสีย

- การพินิจพิจารณาใคร่ครวญตรวจดูทางได้ทางเสีย ความพร้อมเพรียง และความขาดตกบกพร่องในทางทำพิธีงานนั้นๆ อย่างนี้แหละเรียกว่า “การตรวจดูฤกษ์ การหาฤกษ์ หรือการดูฤกษ์”

- เมื่อได้พินิจพิจารณาดูวัน เวลา สถานที่ บุคคล และสิ่งของเครื่องประกอบการทั้งหลายโดยถี่ถ้วนกระบวนความแล้ว ถ้าเห็นว่าไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง ไม่มีอะไรขัดข้อง มีสมบูรณ์ดีทุกประการ อย่างนี้แหละเรียกว่า “ฤกษ์งามยามดี”

- ถ้าเห็นว่ายังมีอะไรบางอย่างหรือหลายอย่างยังไม่พร้อม เรียกว่า “ฤกษ์ยังไม่งาม ยามยังไม่ดี”

• โทษของการถือฤกษ์ทางคดีโลก


- บุคคลผู้ยึดมั่นเชื่อมั่นในเรื่องฤกษ์ทางคดีโลกมากเกินไป จะทำอะไร จะต้องคอยหาฤกษ์อยู่เสมอ มัวแต่เฝ้ารอคอยเวลาฤกษ์อยู่นั่นเอง เมื่อถึงคราวเหมาะที่ควรทำก็ไม่ทำ เพราะยังไม่ได้ฤกษ์ ฤกษ์ยังไม่ดี เช่นนี้ ผลประโยชน์ที่ตนควรได้ควรถึงย่อมผ่านพ้นบุคคลนั้นไปอย่างน่าเสียดาย

- เมื่อมีความจำเป็นจะต้องทำอะไร หรือจะต้องเดินทางไปในเวลาที่ตนรู้แน่อยู่แก่ใจว่า “ฤกษ์ไม่ดี” ย่อมไม่มีความสบายใจ เฝ้าแต่ครุ่นคิดตำหนิตัวเองและแช่งตัวเองอยู่ตลอดเวลา “เดี๋ยวจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้” ผลที่สุดก็เกิดความเสียหายขึ้นจนได้ เพราะใจตัวเองเฝ้าเรียกร้องถึงอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

- บุคคลผู้ถือฤกษ์จัด มัวแต่รอคอยฤกษ์ดีอยู่ มักจะทำอะไรไม่ทันเพื่อน ถ้าเป็นผู้น้อย ก็เป็นที่ขวางหูขวางตาของผู้ใหญ่ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ ก็มักทำความลำบากใจให้เกิดแก่ผู้น้อย

(ข้อมูลจากหนังสือระเบียบปฏิบัติของชาวพุทธ
โดย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 145 มกราคม 2556 โดย กองบรรณาธิการ)

กำลังโหลดความคิดเห็น