xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : อ่านตรงนี้!! ก่อนกินยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บนซองยาแต่ละชนิดที่ได้จากแพทย์หรือเภสัชกร มักจะมีข้อความบางอย่างระบุไว้ไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนต้องอ่านให้เข้าใจและปฏิบัติตามนั้นอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การใช้ยาเกิดผลดีมากที่สุดในการรักษาโรค

มาดูกันว่าข้อความแต่ละอย่างนั้น มีความหมายอะไรบ้าง

“รับประทานทุกวันจนยาหมด” เพื่อให้การรักษาได้ผลดี ยาบางประเภทต้องรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือครบจำนวนที่แพทย์สั่ง แม้ว่าอาการของโรคจะทุเลาลง หรือไม่มีอาการแล้วก็ตาม ยารักษาโรคติดเชื้อ เช่น เพนนิซิลลิน วี เตตร้าซัยคลิน ถ้าหากรับประทานไม่ครบกำหนดเวลา จะทำให้การรักษาไม่ได้ผลและอาจเกิดการดื้อยาขึ้นได้

ยาพวกสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซโลน ซึ่งใช้รักษาโรคเรื้อรังบางชนิด ต้องรับประทานเป็นเวลานาน ผู้ป่วยหยุดยาเองไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะอาการของโรคอาจกำเริบหรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

“ก่อนอาหาร” อาหารอาจลดการดูดซึมหรือยับยั้ง ทำให้ยาบางชนิดออกฤทธิ์น้อยลง เช่น เพนนิซิลลิน จึงควรรับประทานก่อนอาหาร 1 ชม. หรือยาบางชนิดที่ต้องการให้ออกฤทธิ์ก่อนอาหารเพื่อผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ดอมเพอริโดน, ซิซาไพรด์ ควรรับประทานก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง

“หลังอาหาร” โดยทั่วไปควรรับประทานยาหลังอาหารราว 15 นาที ยกเว้นถ้ามีคำสั่งให้รับประทานหลังอาหาร 2 ชม. หรือตามคำแนะนำอื่น

“หลังอาหารทันที” “พร้อมอาหาร” ยาที่มักทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร อาจคลื่นไส้อาเจียนได้ จึงควรรับประทานยาทันทีที่รับประทานอาหารแล้ว หรือพร้อมอาหาร เพื่อลดปัญหาดังกล่าว ได้แก่ ยาแอสไพริน เพรดนิโซโลน ฯลฯ

“เฉพาะเวลามีอาการ....” ยาที่ใช้บรรเทาอาการต่างๆ เช่น ยาลดไข้ แก้ปวด แก้ท้องเสีย แพทย์อาจสั่งให้รับประทานเป็นช่วงๆ เช่น ทุก 4 ชม. เฉพาะเวลามีอาการ เมื่ออาการทุเลาลงจึงหยุดยาได้

“รับประทานยานี้แล้วปัสสาวะอาจมีสีแดง” ยาพวกไรแฟมพิซิน ทำให้ปัสสาวะเป็นสีแดง ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเลือด ไม่ต้องตกใจเพราะเป็นสีจากยา

“ควรดื่มน้ำตามมากๆ” ยาพวกซัลฟาซึ่งละลายได้น้อย อาจตกตะกอนในไต หรือยาถ่ายที่ทำให้อุจจาระเกาะตัวเป็นก้อน หรือยาถ่ายที่ทำให้อุจจาระนิ่ม ควรดื่มน้ำตามมากๆ

“เคี้ยวยาให้ละลายก่อนกลืน” ยาลดกรดชนิดเม็ดหรือยาบางชนิดต้องเคี้ยวก่อน เพื่อให้ยากระจายได้ทั่วกระเพาะอาหาร และออกฤทธิ์ดีขึ้น

“ห้ามเคี้ยว” ยาที่เคลือบแบบพิเศษไม่ต้องการให้แตกตัวที่กระเพาะอาหาร หรือเพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ต้องกลืนทั้งเม็ด

“รับประทานยานี้แล้วห้ามดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์” ยาพวกสงบระงับประสาท ยานอนหลับ ยาแก้ปวด และยากดประสาทต่างๆ ตลอดจนยาแก้แพ้ จะเสริมฤทธิ์แอลกอฮอล์ ทำให้เกิดอันตรายได้

“อย่ารับประทานยานี้ร่วมกับยาลดกรด, นม หรือยาบำรุงที่ผสมเกลือแร่” ยาบางชนิด เช่น เตตร้าซัยคลิน เมื่อรับประทานร่วมกับ นม ยาลดกรด หรือยาบำรุงที่มีส่วนผสมเกลือแร่ เพราะจะมีผลต่อการดูดซึมยา อาจทำให้ผลการรักษาของยานั้นๆลดลง

“รับประทานยานี้แล้วอาจง่วงนอน ควรระวังเมื่อขับรถ หรือใช้เครื่องจักร” ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ และยาอื่นๆ ที่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงนอน หรือมึนงง ผู้ใช้ควรระวังในการขับรถ หรือใช้เครื่องจักร

“เก็บในตู้เย็น” โดยทั่วไปหมายถึงการเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ควรเก็บในตู้เย็น (แต่ไม่ต้องใส่ช่องทำน้ำแข็ง) หรือเก็บในกระติกน้ำแข็งตลอดเวลา เช่น ยาอินซูลิน, วัคซีน

(ข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 145 มกราคม 2556 โดย กองบรรณาธิการ)

กำลังโหลดความคิดเห็น