xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : กินอยู่แบบพุทธ = การหยุดความทุกข์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในปัจจุบันถึงแม้โลกจะมีความก้าวหน้าในด้านวัตถุในทุกแขนง รวมทั้งในด้านการแพทย์

แต่สิ่งหนึ่งที่มนุษย์พบว่าเป็นสาเหตุความทุกข์ อันเกิดจากการเจ็บป่วย ก็คือพฤติกรรมการกินและการอยู่ของมนุษย์ นอกเหนือจากพันธุกรรม เช่น โรคอ้วน และโรคเบาหวาน เป็นต้น ล้วนแล้วแต่มีพฤติกรรมการกินเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยแทบทุกคน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ถ้าท่านผู้อ่านเป็นชาวพุทธหรือมิใช่ชาวพุทธ แต่สนใจเรียนรู้คำสอนของพระพุทธเจ้าในแง่ของปรัชญาชีวิต ก็จะพบว่ามีคำสอนอย่างน้อย 2 ข้อ ที่สอนเกี่ยวกับการกินและการอยู่ เพื่อให้การดำรงชีวิตพ้นทุกข์จากการเจ็บป่วยได้

คำสอนประการแรกที่เกี่ยวกับการกิน ก็คือ

1. โภชนสัปปายะ หมายถึง การกินอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย เกื้อกูลต่อสุขภาพ

2. โภชนมัตตัญญุตา หมายถึง การรู้จักประมาณในการกิน ไม่กินมากเกินไปหรือน้อยเกินไป แต่ให้กินพอดีกับที่ร่างกายต้องการ

จากธรรม 2 ประการนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า พระพุทธเจ้าได้ค้นพบคุณและโทษของการกินอาหาร รวมไปถึงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารด้วย

แต่ในปัจจุบัน ถึงแม้ผู้คนจะเจริญแล้วด้วยวิทยาการแขนงต่างๆ รวมทั้งแขนงโภชนาการด้วย แต่มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนไม่น้อย เป็นทาสของการกิน จนเป็นเหตุให้เกิดการเจ็บป่วยก่อนวัยอันควร อันได้แก่ โรคอ้วน อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการกินที่เกินพอดี ผสมกับมีโรคอ้วนทางพันธุกรรมอยู่ด้วยในบางราย

ถ้าทุกคนที่เจ็บป่วย อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการกิน ได้ศึกษาและปฏิบัติตามธรรม 2 ประการนี้ รับรองได้ว่า อาการเจ็บป่วยก็จะทุเลาลง และคนที่ยังไม่ป่วยก็มีโอกาสป้องกันจากการป่วยด้วยโรคนี้ได้ แม้กระทั่งในบุคคลที่ป่วยด้วยมีผลสืบเนื่องจากพันธุกรรม แต่ถ้าปฏิบัติตามก็สามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง แม้ในแนวทางการดำเนินชีวิตทั่วๆไป ก็ได้วางหลักการในการกินการอยู่ไว้ค่อนข้างจะแยบยล ประกอบด้วย 4 อ. 1 ส.

4 อ. คือ 1. อาหาร 2. อากาศ 3. อารมณ์ 4. ออกกำลังกาย

และ 1 ส. คือ สถานที่อยู่อาศัย จะต้องเหมาะแก่การดำรงชีวิต หรือที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า อาวาสสัปปายะ ที่อยู่อันเหมาะสม ไม่แออัดและพลุกพล่าน จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกาย

จากธรรมและหลักการดำเนินชีวิตดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่า ถ้าจะให้ชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากทุกข์ ทั้งทางกาย อันได้แก่ การเจ็บป่วย และทุกข์ใจ อันได้แก่ ความเดือดร้อนวุ่นวายไม่สงบ ทุกคนในสังคมจะต้องกินอย่างมีธรรม และอยู่อย่างมีธรรม

โดยยึดหลักสันโดษ คือยินดีในสิ่งที่เป็นของตน และได้มาด้วยความชอบธรรม ก็จะช่วยให้อายุยืนยาว และไม่เดือดร้อน ทำให้การอยู่การกินมีค่า ทั้งแก่ตนเอง และสังคมโดยรวมได้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย สามารถ มังสัง)
กำลังโหลดความคิดเห็น