xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : พยุหยาตราทางชลมารค “ถวายผ้าพระกฐิน” สุดยอดความสง่างามแห่งลำน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ ที่เป็นราชประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ โดยมีหลักฐานชัดเจนตั้งแต่สมัยอยุธยา เรือในกระบวนมีการสลักโขนเรือเป็นรูปสัตว์ในเทพนิยาย มีการจัดกระบวนหลายแบบ ที่รู้จักกันดีก็คือ “กระบวนพยุหยาตราเพชรพวง” ในสมัยพระนารายณ์มหาราช เป็นริ้วกระบวนยิ่งใหญ่ 4 สาย พร้อมริ้วเรือพระที่นั่ง ตรงกลางอีก 1 สาย มีเรือทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 100 ลำ ซึ่งนับเป็นกระบวนพยุหยาตราฯที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และนับเป็นต้นแบบสำคัญของกระบวนพยุหยาตราฯในสมัยต่อๆมา

เมื่อ ปี พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สำหรับเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ตามราชประเพณีที่เคยมีมาแต่เก่าก่อน

และเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2554 รัฐบาลได้มอบหมายให้กองทัพเรือรับผิดชอบการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สำหรับการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ เป็นการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคใหญ่ มีเรือในขบวนจำนวน 52 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือรูปสัตว์ จำนวน 8 ลำ และเรือพระราชพิธีอื่น ๆ จำนวน 40 ลำ โดยใช้กำลังพลจากหน่วยต่างๆ ในกองทัพเรือ เป็นฝีพายเรือพระราชพิธี รวมถึงกำลังพลในส่วนอื่นๆ กว่า 2,311 นาย

การจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ ได้มีการประพันธ์กาพย์เห่เรือขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ประพันธ์โดย นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ข้าราชการบำนาญ สังกัดกองทัพเรือ มีทั้งสิ้น 3 บท ได้แก่ บรรสรรเสริญพระบารมี บทชมเมือง และบทชมเรือขบวน โดยมี นาวาโทณัฐวัฎ อร่ามเกลื้อ เป็นพนักงานเห่

อนึ่ง การจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 16 ซึ่งครั้งหลังสุดเป็นการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ประจำปี 2550 ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย กองบรรณาธิการ)


กำลังโหลดความคิดเห็น