เมื่อพูดถึงเรื่องซึมเศร้ากันแล้ว เรามักจะคิดกันว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากความผิดหวัง การสูญเสียสิ่งของ หรือบุคคลอันเป็นที่รัก มากกว่าที่จะเป็นโรค ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเองก็มักไม่รู้ตัว ว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี จนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
โรคซึมเศร้าต่างจากอารมณ์ซึมเศร้าตามปกติที่เราพบกันในชีวิตประจำวัน ภาวะอารมณ์ซึมเศร้ามักเกิดขึ้นได้ตามสถานการณ์ทั่วไป เช่น อกหัก ตกงาน เงินหาย ฯลฯ ซึ่งพอเวลาผ่านไป เมื่อเหตุการณ์ได้รับการแก้ไข อารมณ์ซึมเศร้าก็จะค่อยๆ หายไปได้เอง
อย่างไรก็ตาม ในบางสถานการณ์ ถ้าอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอยู่นานมากกว่า 2 สัปดาห์ โดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือกลับเป็นรุนแรงขึ้น และมีอาการต่างๆ ร่วมด้วย เช่น นอนหลับๆ ตื่นๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก หมดความสนใจต่อโลกภายนอก ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป บุคคลนี้ก็อาจจะเข้าข่ายกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ก็เป็นได้
• การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของคนเป็นโรคซึมเศร้า
ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า มักมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ความคิด ความรู้สึก ฯลฯ ในทางที่แย่ลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆนี้ อาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปนานเป็นเดือนๆ หรือเป็นอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์เลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยร่วมหลายอย่าง เช่น บุคลิกเดิมของตัวผู้ป่วยความรุนแรงของเหตุการณ์ที่มากระทบ การช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เป็นต้น
โดยผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่จำเป็นต้องมีอาการตามนี้ทั้งหมด แต่ก็จะมีอาการหลักคล้ายๆ กัน เช่น รู้สึกเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า และนอนไม่หลับ อาจนอนหลับๆ ตื่นๆ หรือนอนหลับมากเกินไป เป็นต้น
• ลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
ของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า
1. อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป
ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะกลายเป็นคนเศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย มีเรื่องอะไรมากระทบจิตใจนิดหน่อย ก็บ่อน้ำตาแตก
บางคนอาจไม่แสดงอารมณ์เศร้าออกมาชัดเจน แต่คนใกล้ชิดจะดูออกว่าคนนี้จิตใจหม่นหมอง ไม่สดชื่นแจ่มใสเหมือนก่อน บางคนออกอาการเบื่อหน่ายไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่กิจกรรมที่ตนเองเคยชอบทำก็หมดความรู้สึกอยากที่จะทำ บางคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย มองอะไรก็ดูขวางหูขวางตาไปหมด จากคนใจเย็นก็เปลี่ยนกลายเป็นคนอารมณ์ร้าย ไม่ใจดีเหมือนก่อน
2. ความคิดเปลี่ยนไป
ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามองอะไรก็รู้สึกว่าแย่ไปหมด วันๆ นั่งคิดถึงแต่ความล้มเหลวของตัวเอง ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคตเห็นแต่อุปสรรค ความล้มเหลว บางคนกลายเป็นคนไม่มั่นใจตนเอง ขาดความคิดการตัดสินใจ รู้สึกว่าตนเองเป็นคนไร้ความสามารถ ไร้คุณค่า อยู่ไปก็เป็นภาระให้กับผู้อื่น
ความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ต่ำต้อย ล้มเหลว เหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยคิดถึงเรื่องการตายอยู่บ่อยๆ แรกๆ ก็อาจคิดเล่นๆ เพียงแค่อยากไปให้พ้นจากสภาพตอนนี้ ต่อมาเริ่มมีความคิดอยากตายบ่อยขึ้น แต่ก็ไม่ได้คิดถึงแผนการตายที่แน่นอน
เมื่ออารมณ์เศร้าหรือความรู้สึกหมดหวังมีมากขึ้น ก็จะเริ่มคิดเป็นเรื่องเป็นราวว่าจะทำอย่างไร จะตายอย่างไร ในช่วงนี้เป็นระยะอันตราย เพราะหากมีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนจิตใจแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจเป็นชนวนให้เกิดการทำร้ายตนเอง หรือฆ่าตัวตายได้จากอารมณ์เพียงชั่ววูบ
3. การเรียน การงานแย่ลง
ความรับผิดชอบต่อการงานก็ลดลง เพราะจิตใจมัวจดจ่อกับเรื่องซึมเศร้าของตัวเอง ทำให้ไม่มีสมาธิในการทำงาน หลายคนเบื่อหน่าย ไม่อยากไปเรียนหรือไปทำงาน แรกๆ ก็อาจจะลาป่วย ลากิจ บ่อยครั้งเข้าก็จะทำให้คิดลาออกจากงาน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
4. สมาธิ ความจำแย่ลง
หลงลืมง่าย จิตใจเหม่อลอยบ่อย ทำอะไรไม่ได้นาน เนื่องจากไม่มีสมาธิ อ่านหนังสือหรือดูโทรทัศน์ไม่รู้เรื่อง ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานผิดพลาดบ่อยๆ
5. ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลง
จากลักษณะของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าที่เก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร บางคนอาจกลายเป็นคนใจน้อย อ่อนไหว หงุดหงิดง่าย ทำให้คนรอบข้างที่ไม่เข้าใจว่า ทำไมเขาถึงเปลี่ยนไป รู้สึกไม่อยากเข้าใกล้
6. อาการทางร่างกาย
ที่พบบ่อยคือจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ส่วนหนึ่งเนื่องจากการนอนหลับได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเมื่อพบร่วมกับอารมณ์เบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร ก็จะทำให้ผู้คนรอบข้างมองว่าเป็นคนเกียจคร้าน
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่จะรู้สึกเบื่ออาหาร ทำให้น้ำหนักลดลงมาก บางคนลดลงหลายกิโลกรัมภายใน 1 เดือน นอกจากนี้ยังอาจมีอาการท้องผูก ท้องอืด แน่นท้อง ปากคอแห้ง บางคนอาจมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวร่วมด้วย
7. อาการโรคจิต
จะพบในรายที่เป็นโรคซึมเศร้าแบบรุนแรง ซึ่งนอกจากจะมีอาการซึมเศร้าอย่างมากแล้ว ยังพบว่ามีอาการของโรคจิต ได้แก่ อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วย ที่พบบ่อยคือจะเชื่อว่ามีคนคอยกลั่นแกล้ง หรือประสงค์ร้ายต่อตนเอง อาจมีหูแว่วเสียงคนมาพูดคุยด้วย หรือได้ยินคนนินทา อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้มักจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อได้รับการรักษาอารมณ์เศร้าดีขึ้น อาการโรคจิตก็จะดีขึ้นด้วย
(ข้อมูลจากโครงการจิตอาสาช่วยเหลือผู้มีภาวะซึมเศร้า)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 140 สิงหาคม 2555 โดย กองบรรณาธิการ)