xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ปากีสถานเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยว ด้วยการบูรณะพระพุทธรูปหินแกะสลัก ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในเดือนมีนาคม 2001 หรือเมื่อ 11 ปีแล้ว ที่กลุ่มตอลิบาน ได้ช็อคคนทั้งโลก ด้วยการระเบิดพระพุทธรูปประทับยืนขนาดใหญ่ 2 องค์ ที่แกะสลักอยู่บนหน้าผาสูง 2,500 เมตรในหุบผาบามิยัน ทางตอนกลางของอัฟกานิสถาน ซึ่งมีอายุราว 1,500 ปี และนับเป็นพระพุทธรูปประทับยืนหินแกะสลักที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ต่อมา ในปี 2007 กลุ่มตอลิบานก็ได้เข้าไประเบิดทำลายพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ ซึ่งแกะสลักบนหน้าผาสูง 6 เมตร อายุราว 1,500 ปี ในเมืองจาฮานาบัด ซึ่งอยู่บริเวณหุบเขาสวัต ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน พระพุทธรูปองค์นี้จึงได้รับการเรียกขานกันว่า “พระพุทธรูปแห่งจาฮานาบัด” เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยคันธาระ และเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปประทับนั่งหินแกะสลักที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียใต้

“ลูคา โอลิเวียรี”
นักโบราณคดีชาวอิตาลี วัย 49 ปี ผู้นำภารกิจโครงการด้านโบราณคดีของอิตาลีในปากีสถาน ซึ่งก่อตั้งในปี 1955 เล่าว่า เขาทำงานด้านโบราณคดีในหุบเขาสวัต มากว่า 20 ปีแล้ว แต่ต้องย้ายออกไปในปี 2008 และกลับเข้ามาทำงานอีกครั้งในปี 2010

ภารกิจของโอลิเวียรีได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอิตาลี ซึ่งร่วมมือกับกองงานโบราณคดีท้องถิ่นของปากีสถาน โดยที่ผ่านมา ได้ขุดพบพุทธสถานกว่า 120 แห่ง และพระพุทธรูปหินแกะสลักบนหน้าผาราว 200 องค์ ในหุบเขาสวัต ซึ่งพระพักตร์ของพระพุทธรูปส่วนใหญ่ ถูกทำลายเมื่อหลายร้อยปีก่อน คงเหลือเพียงพระพุทธรูปไม่กี่องค์ที่รอดพ้นมาได้ และหนึ่งในนั้นคือพระพุทธรูปแห่งจาฮานาบัด ซึ่งยังคงสภาพสมบูรณ์

นักโบราณคดีหนุ่มใหญ่เล่าว่า กลุ่มตอลิบานใช้วิธีไต่เชือกโรยตัว เพื่อหย่อนระเบิดตามรูต่างๆที่ถูกเจาะขึ้นบริเวณพระพักตร์(ใบหน้า) และพระอังสา(ไหล่) ของพระพุทธรูปแห่งจาฮานาบัด จากนั้นจึงได้ทำการระเบิดองค์พระ แรงระเบิดได้ทำลายบางส่วนของพระพักตร์ตั้งแต่เหนือพระโอษฐ์ขึ้นไป ซ้ำยังเกิดรอยแตกร้าวไปทั่วองค์พระและผนังหินโดยรอบ แต่โชคดีที่ระเบิดตรงพระอังสาไม่ทำงาน

ในเดือนมิถุนายน 2012 ลูคา โอลิเวียรี และทีมงาน ได้เริ่มซ่อมแซมส่วนพระพักตร์ของพระพุทธรูป และรอยร้าวต่างๆ แต่ไม่สามารถบูรณะทั้งหมดได้ เนื่องจากขาดพิมพ์เขียว(เอกสารต้นแบบของสิ่งก่อสร้าง) ที่ระบุรายละเอียดดั้งเดิม และเศษชิ้นส่วนพระพักตร์ก็ขาดหายไป

“หากบูรณะโดยขาดข้อมูลที่ถูกต้อง จะกลายเป็นของปลอม” โอลิเวียรี กล่าว

หนุ่มใหญ่ที่ยังคงมุ่งมั่นทำงานอย่างมีความสุขจนทุกวันนี้ เล่าว่า เขาใฝ่ฝันอยากเป็นนักโบราณคดีตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ต่อมา ในปี 1987 ขณะเป็นนักศึกษา เขาได้เดินทางมายังปากีสถาน เป็นครั้งแรก และรู้สึกตื่นตาตื่นใจเมื่อได้มาเยือนหุบเขาสวัต ซึ่งในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางอารยธรรมของพุทธศาสนาและการค้าขาย และเป็นบ้านเกิดของท่านคุรุปัทมสมภพ พระสงฆ์ผู้นำพุทธศาสนาไปเผยแพร่ในทิเบต

หุบเขาสวัต (“สวัต” เพี้ยนมาจากคำเดิมคือแม่น้ำสุวัสตุ-Suvastu) ขึ้นชื่อว่าเป็น “สวิตเซอร์แลนด์ของปากีสถาน” เพราะเต็มไปด้วยแหล่งธรรมชาติที่งดงาม มีทั้งภูเขาสูงและแม่น้ำลำธารไหลผ่านภูเขาอย่างสวยงาม รวมถึงโบราณสถานทางพุทธศาสนา จึงเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวเชิงศาสนาจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

แม้ว่าปัจจุบัน ทหารปากีสถานได้เข้าขับไล่กลุ่มตอลิบานออกจากบริเวณดังกล่าวไปได้แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่อาจเรียกความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อให้กลับมาเยือนใหม่ได้เหมือนเคย รัฐบาลปากีสถานจึงหวังว่า การบูรณะพระพุทธรูปแห่งจาฮานาบัด จะช่วยจุดประกายฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่นี่ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

“เมาลานา แชมเซอร์ เรห์มัน” ผู้นำการเมืองชาวมุสลิมในหุบเขาสวัต กล่าวว่า การโจมตีพุทธสถานไม่ควรบังเกิดขึ้น ศาสนาอิสลามสอนเรื่องอิสรภาพและการคุ้มครองสาวกของทุกศาสนา และเพื่อให้เป็นไปตามหลักของศาสนาอิสลาม จึงไม่ควรมีผู้ใดคัดค้านการบูรณะพระพุทธรูปที่ได้รับความเสียหาย

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงปากีสถาน ระบุว่า กลุ่มตอลิบานพยายามแทรกซึมเข้ามาในหุบเขาสวัตตลอดเวลา แต่พวกนี้ไม่ใช่ภัยของแหล่งโบราณคดีเพียงกลุ่มเดียว ยังมีพวกโจรขโมย ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าด้วยซ้ำ เพราะปัจจุบัน มีวัตถุโบราณจำนวนมากจากหุบเขาสวัต ตกอยู่ในมือของนักสะสมทั่วทุกมุมโลก ทั้งที่เป็นส่วนตัวและสาธารณะ

เช่นที่สถูปอัมลุกทาระ (Amlukdara) ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาสวัต ถูกพวกขโมยทุบทำลาย เพื่อค้นหาพระพุทธรูป และนำไปขาย

โอลิเวียรีบอกว่า ตนได้จัดตั้งเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัย คอยเฝ้าดูแลตามแหล่งโบราณสถานที่สำคัญๆ และฝึกให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นเป็นมัคคุเทศก์ไปในตัว

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 140 สิงหาคม 2555 โดย บุญสิตา)


สภาพองค์พระเดิมก่อนถูกพวกตอลิบานระเบิดทำลาย
สภาพสถูปอัมลุกทาระที่ถูกพวกขโมยสมบัติ ขุดค้นทำลาย
ลูคา โอลิเวียรี นักโบราณคดีชาวอิตาลี
กำลังโหลดความคิดเห็น