xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : อันตรายจากการใช้ "ภาชนะเมลามีน" ที่ผิดวิธี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาชนะเมลามีนจัดเป็นภาชนะอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยม เพราะมีคุณสมบัติที่ทนกรด ด่าง ทนทาน (ไม่แตกง่าย)แล้ว ยังมีน้ำหนักเบา มีลวดลายสวยงาม จึงทำให้มีผู้นิยมใช้กันมาก

แต่ในข้อดีดังกล่าว ก็มีข้อจำกัดบางประการของการใช้ภาชนะและเครื่องใช้เมลามีน อย่าง จาน ชาม ทัพพี ช้อน ถ้วยกาแฟ ที่ต้องสัมผัสกับอาหารที่เราบริโภคเข้าไป

เพราะเนื่องจากภาชนะและเครื่องใช้เมลามีนผลิตจากสารอัดแบบเมลามีนฟอร์มาลดีไฮด์ โดยผ่านกระบวนการอัดขึ้นรูปด้วยความร้อนจนกลายมาเป็นภาชนะและเครื่องใช้ที่เราใช้กันอยู่นี้ ซึ่งจากกระบวนการผลิตที่ต้องใช้ความร้อน ภาชนะดังกล่าวก็น่าจะมีข้อดีอีกหนึ่งประการ คือ ทนความร้อนในอุณหภูมิสูงๆ ได้มากกว่า 100 องศาเซลเซียส

จากคุณสมบัติทางกายภาพของภาชนะเมลามีนที่สามารถทนความร้อนในอุณหภูมิที่สูงถึง 125 องศาเซลเซียส ภาชนะจะยังคงรูปทรง ไม่บิดเบี้ยว แต่ถ้านำมาใส่อาหารที่มีความร้อนสูงเกิน 100 องศาเซลเซียส จะมีการแพร่กระจายของสารฟอร์มาลดีไฮด์ออกมาเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากสะสมในร่างกายในปริมาณมาก จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร และหากสูดดมเข้าไปมากจะมีผลต่ออวัยวะในระบบทางเดินหายใจและปอดเกิดเป็นโรคมะเร็ง

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ไม่สมควรนำภาชนะเมลามีนมาใช้กับเตาไมโครเวฟ เพราะความร้อนจากไมโครเวฟจะทำให้มีสารฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อนเกินมาตรฐานที่กำหนด (กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้แพร่กระจายได้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/ลิตร) หรือนำภาชนะเมลามีนใช้ใส่อาหารที่ร้อนจัด เช่น ใส่น้ำขณะที่เดือดจัด ของทอดที่ร้อนจัดที่อุณหภูมิเกิน 100 องศาเซลเซียส

ถ้าจะต้องใช้ภาชนะในการอุ่นหรือปรุงอาหารด้วยเตาไมโครเวฟ ควรใช้ภาชนะที่ระบุว่าใช้กับไมโครเวฟหรือภาชนะประเภทเซรามิก แต่สำหรับอาหารที่ร้อนจัดควรทิ้งไว้ 2-3 นาที จึงค่อยนำมาใส่ในภาชนะ

ส่วนอาหารประเภท ก๋วยเตี๋ยว แกง ที่เพิ่งยกออกจากเตา ควรพักไว้สักระยะจะไม่เป็นอันตราย เพราะอาหารดังกล่าวมีอุณหภูมิไม่เกิน 100 องศาเซลเซียส สำหรับอุณหภูมิที่ปลอดภัยควรใช้งานที่อุณหภูมิไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส

นอกจากข้อควรระวังในการใช้ภาชนะและเครื่องใช้เมลามีนในเรื่องความร้อนแล้ว ขอแนะนำว่าเมื่อผู้บริโภคต้องเลือกซื้อภาชนะเมลามีน ควรดูฉลากข้อแนะนำ คำเตือน และต้องมีเครื่องหมาย มอก. กำกับ เพราะภาชนะและเครื่องใช้เมลามีน มีแหล่งผลิตหลายที่ หากไม่มีเครื่องหมาย มอก.กำกับ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจไม่มีคุณภาพ และมักมีสารฟอร์มาลดีไฮด์แพร่กระจายออกมามากกว่าปกติ

ดังนั้น ก่อนนำมาใช้งานครั้งแรก ควรล้างด้วยน้ำร้อน เพื่อชะล้างสิ่งสกปรกและสารฟอร์มาลดีไฮด์ที่ติดอยู่ผิวนอกของภาชนะออกไปก่อน อีกทั้งในการล้างทำความสะอาด ไม่ควรใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะแข็ง เช่น ใยเหล็ก แปรงขัด แผ่นขัดที่มีผิวหยาบ เพราะจะทำให้ภาชนะเกิดรอยขีดข่วน และทำให้สารฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อนในอาหาร ควรใช้ฟองน้ำอ่อนนิ่มในการล้างทำความสะอาดภาชนะเมลามีนทุกครั้ง

(ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการ
คุ้มครองผู้บริโภค)


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 139 กรกฎาคม 2555 โดย กองบรรณาธิการ)

กำลังโหลดความคิดเห็น